วิกฤติการณ์น้ำมันและความคิดทางเศรษฐศาสตร์

2 มิถุนายน 2566
2282 views
ด้วยนิสัยส่วนตัวของผู้เขียนที่เป็นนักเรียนเศรษฐศาสตร์ แต่มีความสนใจทางประวัติศาสตร์อยู่บ้าง ผู้เขียนจึงรำลึกว่า พ.ศ. 2566 เป็นปีที่ครบรอบอะไรบ้าง  แวบแรกที่ผู้เขียนนึกถึงคือ เหตุการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่เปรียบเสมือนภาพสรุปการจัดวางดุลอำนาจในสังคมไทยใหม่ และครบรอบครึ่งศตวรรษของเหตุการณ์การรัฐประหารในประเทศชิลีโดยนายพลออกุสโต ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) ที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลของซัลวาดอร์ อัลเยนเด (Salvador Allende) ผู้นำรัฐบาลที่ใช้นโยบายเศรษฐกิจแนวสังคมนิยม โดยการรัฐประหารปิโนเชต์ได้ทำให้ชิลีเป็นประเทศแรกในโลกที่เป็นห้องทดลองของลัทธิเศรษฐกิจอย่างเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) ที่ผลักดันโดยกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์อย่าง “เด็กหนุ่มชิคาโก (Chicago Boys)

นอกเหนือจากการครบรอบของวาระการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศไทย พ.ศ. 2566 ยังเป็นช่วงเวลาของการครบรอบ 50 ปี ของเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนโฉมหน้าของระบบเศรษฐกิจโลกไปพร้อมกับความรู้ในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ เหตุการณ์ดังกล่าวคือวิกฤติการณ์น้ำมัน (Oil Shock) ที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973)  เหตุการณ์นี้มีสาเหตุจากกลุ่มประเทศอาหรับในฐานะสมาชิก Organization of Petroleum Exporting Countries (OPEC) ห้ามส่งออกน้ำมันไปยังประเทศที่เป็นผู้สนับสนุนอิสราเอลในสงครามระหว่างกลุ่มประเทศอาหรับกับอิสราเอล  การห้ามส่งออกน้ำมันมีผลทำให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น  การเพิ่มขึ้นของต้นทุนพลังงานอย่างรวดเร็วยังผลให้ระดับเงินเฟ้อถีบตัวสูงขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก อันนำไปสู่การลดลงของค่าจ้างที่แท้จริง (real wage) และราคาพลังงานที่สูงขึ้นยังนำไปสู่การขยายตัวของการว่างงานไปพร้อมกับผลผลิตของอุตสาหกรรมที่ลดลง

ก่อนหน้าการอุบัติขึ้นของวิกฤติการณ์น้ำมัน หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร เผชิญกับปัญหา “ฝืดเฟ้อ (stagflation) มาก่อนแล้ว นั่นคือ สภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง (stagnation) อันนำไปสู่ระดับการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมกับภาวะเงินเฟ้อ (inflation) ที่ รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นได้สมาทานแนวทางการจัดการทางเศรษฐกิจมหภาคแบบเคนส์ (Keynesianism) ที่เน้นการจัดการอุปสงค์มวลรวม (aggregate demand) เพื่อควบคุมระบบเศรษฐกิจไม่ให้ร้อนแรงหรือซบเซาเกินไป กล่าวคือ รัฐใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว เช่น การเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ ในยามที่ระบบเศรษฐกิจเผชิญกับความฝืดเคือง และรัฐใช้นโยบายการคลังแบบหดตัว เช่น การเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ในช่วงที่ระบบเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วเกินไป  แนวทางเศรษฐกิจแบบเคนส์มีความแพร่หลายเป็นอย่างมากดังที่ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ประธานาธิบดีคนที่ 37 ของสหรัฐอเมริกาเคยกล่าวไว้ว่า “พวกเราเป็นผู้ยึดถือแนวคิดแบบเคนส์ทั้งหมด (We are all Keynesian now)”  

การจัดการอุปสงค์มวลรวมเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายทางเศรษฐกิจมหภาควางอยู่บนข้อสมมติที่แสดงผ่าน “เส้นฟิลลิปส์ (Phillips Curve)” ที่เสนอว่า เป้าหมายของการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและการรักษาภาวะเงินเฟ้อให้โตอย่างคงที่เป็นเป้าหมายที่ได้อย่างเสียอย่าง (trade-off) ในระยะสั้น เพราะในด้านหนึ่ง การกระตุ้นการเติบโตของระบบเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของระดับราคาเสมอ และในอีกด้านหนึ่ง การรักษาเสถียรภาพของระดับราคามักแลกมาด้วยการเติบโตที่ช้าลงของระบบเศรษฐกิจ  แต่สภาวะฝืดเฟ้อขัดแย้งกับข้อสมมติของเส้นฟิลลิปส์เนื่องจากสภาวะนี้บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจฝืดเคืองและเงินเฟ้อเกิดขึ้นพร้อมกัน และรัฐบาลในตอนนั้นที่ใช้แนวคิดเคนส์ก็เริ่มเจอทางตันในการใช้การจัดการอุปสงค์มวลรวม  สถานการณ์เช่นนี้ทำให้สังคมเริ่มมองหาความคิดทางเศรษฐศาสตร์ประการใหม่ที่สามารถใช้ในการวินิจฉัยและเสนอทางแก้ปัญหาได้

รัฐบาลและกลุ่มพลังทางสังคมในประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรได้เข้าไปสมาทานแนวคิดเสรีนิยมใหม่และแนวคิดเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิก ที่ป่าวประกาศถึงความล้มเหลวของการจัดการระบบเศรษฐกิจที่นำโดยรัฐ พร้อมไปกับเชิดชูประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรของกลไกตลาด  กระนั้น แนวคิดทางเศรษฐกิจข้างต้นไม่ได้ผงาดขึ้นมาทันทีทันใดพร้อมกับการอุบัติของขึ้นของวิกฤติการณ์น้ำมันหรือสภาวะทางเศรษฐกิจแบบฝืดเฟ้อ แนวคิดเหล่านี้ปรากฏขึ้นก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงเสียด้วยซ้ำ โดยในปี 1944 นักเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรีย (Austrian school) ชื่อว่า ฟรีดริช วอน ฮาเย็ก (Friedrich von Hayek) ดีพิมพ์หนังสือ The Road to Serfdom ที่ประณามวิธีการจัดการทางเศรษฐกิจโดยรัฐของแนวคิดเคนส์เซียนว่า ปลายทางของมันคือการนำพาสังคมไปสู่ระบบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ (totalitarianism) ดังที่เกิดขึ้นภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ในโซเวียตและระบอบนาซีในเยอรมนี  

ความเสื่อมถอยของแนวคิดเคนส์เซียนอันเป็นผลจากปัญหาฝืดเฟ้อที่ถูกซ้ำเติมจากวิกฤติการณ์น้ำมันปูทางให้แนวคิดทางเศรษฐกิจที่เชิดชูกลไกตลาดและเสรีภาพทางเศรษฐกิจของปัจเจกชนได้ผงาดอีกครั้ง  การกลับมาผงาดสอดคล้องกับการสถาปนารางวัลโนเบล (Nobel Prize) ในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ที่เปรียบเสมือนกับการสนับสนุนอุดมการณ์ข้างต้น โดยนักเศรษฐศาสตร์รายแรกๆ ที่ได้รับรางวัลโนเบลในสาขานี้อย่าง ไฮเยค หรือ มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) ล้วนเป็นผู้ที่พยายามโจมตีวิธีการการจัดการระบบเศรษฐกิจแบบเคนส์เซียนที่มุ่งเน้นบทบาทของรัฐในการบรรลุถึงเป้าหมาของการสร้างรัฐที่ดูแลสวัสดิการผ่านการยกระดับการจ้างงานและค่าจ้างแรงงานให้สูง  ในขณะที่แนวทางเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกให้ความสำคัญกับการต่อสู้ภาวะเงินเฟ้อ และการตัดค่าใช้จ่ายทั้งของภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมกำไรของบริษัทเอกชนที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ โดยเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจสร้างความมั่งคั่งได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อรัฐปลดปล่อย “มือล่องหน (invisible hand)” ของกลไกตลาดได้ทำงานอย่างเต็มที่เพื่อชักนำพฤติกรรมให้ปัจเจกตัดสินใจอย่างมีเหตุผล

นักเศรษฐศาสตร์การเมืองอย่าง มาร์ค ไบลท์ (Mark Blyth) ได้บรรยายว่า แนวคิดเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกไม่ได้เป็นการเคลื่อนไหวของความรู้ทางเศรษฐศาสตร์สายเดียว หากแต่ประกอบไปด้วยสามสายธาร ได้แก่ (1) สำนักคิดการเงินนิยม (Monetarism) ที่มีฟรีดแมนดำรงสถานะเจ้าสำนัก (2) สำนักที่เชื่อในการคาดการณ์อย่างมีเหตุผล (Rational Expectations) และ (3) สำนักที่เสนอกลุ่มทฤษฎีที่มุ่งเน้นการจัดการด้านอุปทานและทางเลือกสาธารณะ (Supply-Side and Public Choice Theories) 

สำนักการเงินนิยมได้ทำการโจมตีข้อเสนอของเส้นฟิลิปส์ในเรื่องของการแลกเปลี่ยนระหว่างอัตราการว่างงานกับระดับเงินเฟ้อที่สูง เพราะสำนักนี้เชื่อว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจมีผลต่อการลดระดับการว่างงานแค่เพียงชั่วคราวเท่านั้น  ในช่วงแรกของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผู้คนขยันทำงานมากขึ้นด้วยแรงขับจากค่าจ้างที่สูงขึ้น แต่พอเศรษฐกิจดำเนินไปได้ซักระยะ ผู้คนตระหนักว่า ค่าจ้างที่แท้จริงของพวกเขาไม่ได้ขยับไปไหนอันเป็นผลจากระดับราคาที่สูงขึ้นตามไปด้วย พวกเขาจึงถอนตัวจากตลาดแรงงาน สำนักการเงินนิยมจึงเสนอว่า แนวทางการจัดการระบบเศรษฐกิจที่ดีคือการทำให้ปริมาณเงินขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป  ส่วนสำนักที่เชื่อในการคาดการณ์อย่างมีเหตุผลเสนอว่า การแทรกแซงระบบเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ได้ส่งผลอะไรเลยนอกเสียจากบิดเบือนการตัดสินใจอันมีเหตุผลของปัจเจก การตัดสินใจที่ถูกบิดเบือนนำไปสู่สภาวะที่ระบบเศรษฐกิจไร้เสถียรภาพ  ในขณะที่สำนักที่เสนอกลุ่มทฤษฎีที่มุ่งเน้นการจัดการด้านอุปทานและทางเลือกสาธารณะยืนยันว่า หน้าที่หลักของรัฐบาลคือ การสร้างแรงจูงใจให้ปัจเจกเข้าร่วมในกิจการทางเศรษฐกิจ ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การลดภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนอยากทำงานเพิ่มขึ้น ไปพร้อมกับการลดค่าใช้จ่ายของรัฐเพื่อหลีกเลี่ยงการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายเพื่อคะแนนเสียงทางการเมือง  ถึงแม้แนวคิดเศรษฐศาสตร์ทั้งสามสายธารมีความแตกต่างในรายละเอียด แต่ทั้งสามสายธารมีจุดร่วมกันในข้อเสนอทางนโยบายที่ต้องการลดบทบาทของภาครัฐในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการใช้จ่ายและการเก็บภาษีที่สูงขึ้น เพื่อส่งเสริมการทำงานของกลไกตลาด

อย่างไรก็ตาม วิกฤติการณ์น้ำมันไม่ได้ทำให้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกกลายเป็นความคิดที่รัฐบาลในประเทศตะวันตกสมาทานอย่างทันทีทันใด ต้องรอถึงช่วงเริ่มต้นของพุทธทศวรรษ 2520 (คริสตทศวรรษ 1980) แนวคิดข้างต้นจึงสามารถเข้าไปเป็นอุดมการณ์การจัดการของรัฐได้  แนวทางข้างต้นได้แพร่หลายไปในระดับโลกหลังจากการชนะเลือกตั้งของพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative Party) ที่นำโดย มาร์กาเรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) ในสหราชอาณาจักร และโรนัลด์ เรย์แกน (Ronald Reagan) พรรครีพับบิคัล (Republican Party) ในสหรัฐอเมริกา ณ ช่วงปี พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) และ พ.ศ. 2524 (ค.ศ. 1981) ตามลำดับ  

เราคงยากที่จะปฏิเสธว่า วิกฤติการณ์น้ำมันเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ทำให้แนวคิดทางเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการแทรกแซงของภาครัฐอย่างชัดเจนแบบแนวคิดเคนส์เซียนเสื่อมความศรัทธาไปพร้อมกับสร้างสภาพแวดล้อมให้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกเติบโตขึ้น โดยแนวคิดอย่างหลังเป็นหนึ่งในอุดมการณ์ที่นำไปสู่การสร้างสถาบันและแนวทางทางเศรษฐกิจใหม่อันได้รับการยอมรับจากองค์การระหว่างประเทศและรัฐต่างๆ เป็นเวลามากกว่าสามทศวรรษ พร้อมกับเป็นรากฐานของการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ โดยเฉพาะวิชาพื้นฐานอย่าง เศรษฐศาสตร์จุลภาค (microeconomics) ที่อิงกับข้อสมมุติเรื่องความเป็นตัวแสดงที่มีเหตุผลของมนุษย์และการบรรยายความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับตัวแบบของตลาดแข่งขันสมบูรณ์ในอุดมคติ และเศรษฐศาสตร์มหภาค (macroeconomics) ที่ถึงแม้ว่าสถาบันการศึกษาบางแห่งยังสอนพื้นฐานความคิดของแนวคิดเคนส์เซียนอยู่บ้างบางประการ แต่เนื้อหาที่กล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกได้กลายเป็นแนวคิดกระแสหลักในโลกวิชาการ เช่น การวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคที่อิงกับการศึกษาระดับย่อยจากปัจเจกที่มีเหตุผล (micro foundations)  
 
เอกสารอ่านเพิ่มเติม
  • Blyth, Mark. 2002. Great Transformation: Economic Ideas and Institutional Change in the Twentieth Century. New York, N.Y.: Cambridge University Press (อ่าน Chapter 5 – Disembedding Liberalism: Ideas to Break a Bargain)
  • Hobsbawm, Eric. 1994. The Age of Extremes: A History of the World, 1914-1991. New York, N.Y.: Vintage Books. (อ่าน Chapter 14 – The Crisis Decades)
  • Skidelsky. Robert. 2018. Money and Government: A Challenge to Mainstream Economics. London: Allen Lane. (อ่าน Chapter 6 – The Keynesian Ascendancy และ Chapter 7 – The Theory and Practice of Monetarism)
ตฤณ ไอยะรา
อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์