มอง "ตู้ปันสุข" ผ่านแว่นเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
"ตู้ปันสุข" มีที่มาจากตู้ใส่อาหาร (Food pantry) ในต่างประเทศ ซึ่งมีไว้สำหรับแจกจ่ายผู้ยากไร้หรือคนตกทุกข์ได้ยาก ต่อมาจึงมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม โดยรูปแบบหนึ่งที่พบเห็นในหลายประเทศคือ โครงการธนาคารอาหาร (Foodbank) ซึ่งในช่วงที่ผู้เขียนศึกษาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ ครั้งหนึ่งมีโอกาสเข้าไปดูงานโครงการธนาคารอาหารที่โบสถ์คริสต์แห่งหนึ่ง โดยมีอาสาสมัครที่ทำงานอยู่ที่นั่นเล่าถึงเรื่องราวต่าง ๆ ให้ฟัง
ธนาคารอาหารมีหน้าที่เป็นตัวกลางในการรวบรวมสิ่งของอุปโภคบริโภคจากผู้บริจาค ซึ่งส่วนใหญ่นำมาจากซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ทั่วเมือง เพื่อจัดการและแจกจ่ายให้แก่ผู้คนทั่วไป โดยยินดีต้อนรับทุกคน ทุกเพศทุกวัย และไม่เกี่ยงเรื่องเชื้อชาติหรือศาสนา
ในขณะที่ผู้เขียนสังเกตการณ์อยู่นั้นก็มีผู้รับบริจาคเดินเข้ามาเลือกสิ่งของอย่างไม่ขาดสาย ชายร่างใหญ่คนหนึ่งเดินเข้ามาพร้อมถุงผ้าใบหนึ่ง หลังจากกล่าวทักทายกับเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร เขาก็เดินเข้าไปหยิบเอาสิ่งของที่วางอยู่เรียงรายตามชั้นวางของคล้ายซูเปอร์มาร์เก็ต และเมื่อได้สิ่งของที่ต้องการแล้ว ชายคนนั้นจึงเดินตรงไปเขียนบางอย่างในสมุดลงทะเบียน ก่อนจะเดินออกจากโบสถ์ไป ผู้เขียนทราบในเวลาต่อมาว่า ทางโครงการฯ ต้องการทราบข้อมูลของผู้รับบริจาคเล็กน้อย เช่น ผู้รับบริจาคเป็นใคร มาจากไหน มีเหตุฉุกเฉินอย่างไร และได้รับของอุปโภคบริโภคอะไรไปบ้าง
อาสาสมัครเล่าอย่างภูมิใจว่า ธนาคารอาหารมีส่วนช่วยผู้คนจำนวนมากในแต่ละปี บางคนเพิ่งตกงานกะทันหัน บางคนไม่มีที่อยู่อาศัย บางคนเพิ่งมีสมาชิกครอบครัวเพิ่มขึ้นจึงมีรายได้ไม่พอยังชีพ ธนาคารอาหารยินดีเป็นที่พึ่งสุดท้ายสำหรับคนตกทุกข์ได้ยากเหล่านี้ เพื่อช่วยให้พวกเขาไม่ต้องเผชิญกับความอดอยาก สิ้นไร้หนทาง และในอนาคตเมื่อเขารอดพ้นจากภาวะฉุกเฉิน เขาก็อาจจะเป็นผู้ให้แก่คนอื่นๆ เช่นเดียวกัน
กรณี "ตู้ปันสุข" ก็ประกอบด้วยผู้ให้ (Donor) และเป็นผู้รับ (Recipient) เช่นเดียวกันกับโครงการธนาคารอาหารที่กล่าวมาข้างต้น ในบทความนี้ ผู้เขียนจะอธิบายมุมมองผ่านแว่นเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioural Economics) เพื่ออธิบายเหตุผลและแรงจูงใจของการเป็นผู้ให้และผู้รับ
การศึกษาตามแนวทางแบบเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมนั้นแตกต่างไปจากเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิม (Conventional Economics) เพราะเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิมนั้นมีข้อสมมติที่สำคัญคือ คนจะคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตน (Self-regarding preference) เป็นที่ตั้ง แต่ถ้ายึดถือข้อสมมตินี้อย่างเคร่งครัด เราจะไม่สามารถอธิบายพฤติกรรมความเอื้ออารีต่อบุคคลอื่นในสังคมได้เลย แม้ว่าพฤติกรรมเหล่านี้จะพบเห็นได้อยู่บ่อยครั้ง ทั้งการบริจาคโลหิต การทำงานอาสาสมัคร รวมถึงการเป็นผู้ให้ผ่านตู้ปันสุขที่มีอยู่ทั่วไปในสังคมไทยปัจจุบัน
ดังนั้น นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม จึงต่อยอดแนวคิดของสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิม เพื่อให้สามารถอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ได้รอบด้านยิ่งขึ้น โดยเพิ่มข้อสมมติว่า นอกจากจะสนใจผลประโยชน์ส่วนตนแล้ว คนเรายังคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนกลุ่มอื่นในสังคม (Other-regarding behaviour) อีกด้วย การศึกษาประเด็นนี้ถูกจัดอยู่ในสาขาย่อยทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่ศึกษาเกี่ยวกับ "ความพอใจต่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวม" (Social preference)
แบบจำลองที่อธิบายเหตุผลของการเป็นผู้ให้และผู้รับนี้เรียกว่า "Inequity Aversion Model" ซึ่งนำเสนอโดย Fehr and Schidt (1999) โดยคำอธิบายที่เป็นสาระสำคัญคือ คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า จะรู้สึกไม่ยุติธรรมที่คนอื่นในสังคมมีฐานะทางเศรษฐกิจแย่กว่า ดังนั้น อย่างน้อยที่สุดการได้มีส่วนช่วยเหลือ เช่น การบริจาค จะช่วยลดความรู้สึกที่ไม่ยุติธรรมนั้นลงได้ ความรู้สึกนี้เรียกว่า Advantageous inequity aversion ในขณะที่ผู้รับจะมีความรู้สึกไม่ยุติธรรมที่ตนเองมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ต่ำต้อยกว่า การได้รับความช่วยเหลือจึงลบความรู้สึกที่ช่วยไม่ให้ตนเองมีสถานการณ์ที่แย่ไปกว่าเดิม ความรู้สึกนี้เรียกว่า Disadvantageous inequity aversion
อย่างไรก็ดี หากเราพิจารณาบทบาทของผู้ให้ในรายละเอียดจะพบว่า คนเรามีทั้งที่อยากเป็นผู้ให้เพราะต้องการให้บุคคลอื่นได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง ซึ่งเรียกว่าความเอื้ออารีโดยบริสุทธิ์ใจ (Pure altruism) แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่ต้องการบริจาคเพราะต้องการชดเชยความรู้สึกของตนเอง (Warm glow giving) ซึ่งการบริจาคในแบบ Warm glow giving นี้เปรียบเสมือนการซื้อสินค้าเอกชน (Private good) ประเภทหนึ่ง (Crumpler & Grossman, 2008) เพราะผู้ให้ต้องการเพียงเพื่อบรรลุความอิ่มเอมใจ แต่ไม่ได้ต้องการยกระดับสวัสดิการของผู้รับอย่างแท้จริง โดยผู้ให้ในแบบหลังนี้อาจมีแรงจูงใจในการให้เพิ่มขึ้น ถ้ากิจกรรมนั้นเป็นที่รับรู้และเผยแพร่ผ่านทางช่องทางสาธารณะโดยทั่วไป (Baddeley, 2017)
เพื่อให้เกิดความเข้าใจในประเด็นนี้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้เขียนขอขยายความแบบจำลอง Impure Altruism ของ Andreoni (1989) ผ่านฟังก์ชันอรรถประโยชน์
ฟังก์ชันอรรถประโยชน์ในสมการ (1) นี้อธิบายว่า อรรถประโยชน์ของบุคคลขึ้นอยู่กับตัวแปรดังต่อไปนี้
คนที่มีความเอื้ออารีโดยบริสุทธิ์ใจ (Pure altruism) นั้นจะบริจาคหรือสร้างประโยชน์แก่สังคมก็ต่อเมื่อกิจกรรมนั้น ๆ ช่วยยกระดับสวัสดิการของคนอื่นในสังคมให้สูงขึ้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับความรู้สึกหรืออรรถประโยชน์ที่ได้รับเป็นการส่วนตัว ฟังก์ชันอรรถประโยชน์แบบ Pure altruism
สำหรับปรากฏการณ์ตู้ปันสุขในสังคมไทยนั้น ถ้าเราวิเคราะห์ตามทฤษฎีดังที่กล่าวมาข้างต้นจะพบว่า คนเราอาจเป็นผู้ให้โดยมีวัตถุประสงค์และแรงจูงใจที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นไปได้ทั้งแบบ Pure altruism, Pure egoist หรืออาจจะเรียกรวม ๆ กันว่าเป็น Impure altruism แต่การจะสรุปมูลเหตุจูงใจในทางปฏิบัตินั้นจำเป็นต้องออกแบบการศึกษาและเก็บข้อมูลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์เชิงลึกต่อไป อย่างไรก็ตาม ถ้ามองผลลัพธ์ของโครงการในภาพรวมแล้ว หากทั้งผู้ให้และผู้รับมีสวัสดิการที่ดีขึ้น (Pareto improvement) ย่อมดีกว่าไม่มีโครงการอย่างแน่นอน แต่ถ้าในท้ายที่สุด โครงการนี้ไม่อาจไปต่อได้ด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม การพิจารณารูปแบบโครงการแบบธนาคารอาหาร โดยมีองค์กรอาสาสมัครคอยจัดการก็นับว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
เอกสารอ้างอิง
Andreoni, J. (1989). Giving with Impure Altruism: Applications to Charity and Ricardian Equivalence. Journal of Political Economy, 97(6), 1447-1458. doi:10.1086/261662
Baddeley, M. (2017). Behavioural Economics: A Very Short Introduction. Oxford, United Kingdom: Oxford University Press.
Crumpler, H., & Grossman, P. J. (2008). An experimental test of warm glow giving. Journal of Public Economics, 92(5), 1011-1021. doi:https://doi.org/10.1016/j.jpubeco.2007.12.014
Fehr, E., & Schmidt, K. M. (1999). A Theory of Fairness, Competition, and Cooperation. The Quarterly Journal of Economics, 114(3), 817-868. doi:10.1162/003355399556151