วิกฤติการขาดแคลนกิมจิในเกาหลีใต้ : สาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา

1712 views
“กิมจิ” เป็นอาหารประจำชาติของเกาหลีใต้ที่นับว่าเป็นเครื่องเคียงสำคัญเมื่อรับประทานอาหารเกาหลี  กิมจิมีหลายชนิดขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ใช้ทำ  กิมจิส่วนใหญ่ที่ผู้บริโภคคุ้นเคยและเห็นอยู่เป็นประจำในซีรีส์เกาหลีหรือร้านอาหารเกาหลีมักจะเป็นกิมจิที่ทำมาจากผักกาดขาว (배추김치)  กิมจินอกจากจะเป็นเครื่องเคียงอาหารเกาหลีแล้ว ยังสามารถรังสรรค์เป็นเมนูอาหารอื่น ๆ ได้ เช่น ซุปกิมจิเต้าหู้อ่อน ข้าวผัดกิมจิ เป็นต้น ดังนั้นกิมจิจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับคนเกาหลีทุกเพศทุกวัย 

กิมจิหรือผักดองเป็นภูมิปัญญาของชาวเกาหลีในการถนอมอาหาร  สันนิษฐานกันว่าการดองผักคล้ายกิมจิมีมาตั้งแต่สมัยยุคสามอาณาจักรของเกาหลี  การริเริ่มทำกิมจิมาจากเหตุผลด้านสภาพภูมิอากาศของเกาหลีที่มีฤดูหนาวยาวนานทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกได้ตลอดปี ชาวเกาหลีจึงต้องคิดค้นวิธีถนอมอาหารให้สามารถเก็บรักษาได้นาน  ชาวเกาหลีมีประเพณีการลงแขกทำกิมจิที่จะต้องร่วมมือกันทำกิมจิในฤดูหนาว ที่เรียกว่า “คิมจัง (김장)”  เนื่องจากชาวเกาหลียังคงทำกิมจิรับประทานกันเองในบ้าน คิมจังจึงเป็นกิจกรรมประจำปีที่มีความสำคัญมากสำหรับสมาชิกในครอบครัวและชุมชนทั่วทั้งประเทศ และยังสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการแบ่งปันที่สืบทอดมาอย่างยาวนานของชาวเกาหลี  ประเพณีคิมจังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติขององค์การยูเนสโกในปี 2013  แม้ว่าเกาหลีใต้จะเป็นดินแดนประเทศต้นกำเนิดกิมจิ แต่ในปัจจุบันกลับต้องเผชิญความท้าทายอย่างวิกฤติขาดแคลนกิมจิครั้งใหญ่ 

กระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการชนบทของเกาหลีใต้ระบุว่า เกาหลีใต้ส่งออกกิมจิไปยัง 89 ประเทศทั่วโลก  มูลค่าการส่งออกกิมจิในปี 2022 อยู่ที่ประมาณ 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 5.3 พันล้านบาท  นอกจากกิมจิแล้ว เครื่องปรุงเกาหลีก็มียอดการส่งออกสูงขึ้นเช่นเดียวกัน  ตั้งแต่ปี 2009 เกาหลีใต้ส่งออกกิมจิเกินดุลเป็นครั้งแรก ทำให้เกาหลีใต้ต้องนำเข้ากิมจิจากประเทศจีนมาบริโภคในประเทศเป็นหลัก  

จากรูปที่ 1 มูลค่าการนำเข้ากิมจิของเกาหลีใต้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นสวนทางกับมูลค่าการส่งออกกิมจิของเกาหลีใต้ที่ลดลง  ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของกรมศุลกากรเกาหลีใต้ที่ระบุว่า ในปี 2022 เกาหลีใต้นำเข้ากิมจิมูลค่า 169 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.97 พันล้านบาท) ซึ่งมากขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 20 และส่งออกกิมจิลดลงจาก 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.65 พันล้านบาท) เป็น 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.97 พันล้านบาท) ถือว่าเป็นการส่งออกกิมจิลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี (Kanyanat Techotiussanee, 2566)  การนำเข้ากิมจิจากจีนจึงเป็นสัญญาณเตือนให้เกาหลีใต้เห็นถึงศักยภาพในการผลิตกิมจิของจีน ทั้งในเรื่องของปริมาณและราคาที่ถูกกว่ากิมจิของเกาหลีใต้ 

วิกฤติการขาดแคลนกิมจิเป็นผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนโดยมีสาเหตุมาจากปัญหาภาวะโลกร้อน อุณหภูมิที่สูงขึ้น และฝนไม่ตกตามฤดูกาล ทำให้ผักกาดขาวมีผลผลิตลดลง และผักต่าง ๆ ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตกิมจิ ก็ล้วนมีราคาแพงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อผู้บริโภคในครัวเรือนและบริษัทผู้ผลิตกิมจิ  วัตถุดิบการผลิตกิมจิที่มีราคาแพงนี้ทำให้ผู้ผลิตกิมจิรายย่อยไม่สามารถจัดหาวัตถุดิบในการผลิตได้ ผู้ประกอบการมากกว่าหนึ่งพันแห่งจึงต้องเลิกกิจการไป  เกษตรกรเริ่มเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่สามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้มากกว่า  ผู้บริโภคและร้านอาหารในเกาหลีใต้เลือกที่จะซื้อกิมจิสำเร็จรูปที่ผลิตจากประเทศจีนซึ่งมีราคาที่ถูกกว่า มาใช้แทนกิมจิที่ผลิตในประเทศ  วิกฤติการขาดแคลนกิมจินี้จึงเป็นช่วงเวลาที่แสดงให้เห็นว่า “จีน” ได้กลายเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดผักดอง ที่ครองส่วนแบ่งตลาดกิมจิในเกาหลีใต้มากถึงร้อยละ 40  ด้วยเหตุนี้การเกิดวิกฤติการขาดแคลนกิมจิจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ปัญหาเล็ก ๆ อีกต่อไป แต่ได้กลายเป็น “วิกฤติระดับชาติ” เมื่อผักดองในจานเครื่องเคียงขาดแคลนนำไปสู่ผลกระทบด้านรายได้จากการส่งออกกิมจิในระดับประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกาหลีใต้ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้มีแนวทางการแก้ปัญหาการขาดแคลนกิมจิในประเทศคือ การวางแผนสร้างโรงเก็บผักกาดขนาดใหญ่จำนวน 2 โรงในต่างจังหวัด มูลค่า 58,000 ล้านวอนหรือประมาณ 1,500 ล้านบาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย และคาดว่าจะใช้เวลาในการสร้างประมาณ 3 ปี  โกดังนี้สามารถรองรับการเก็บผักกาดขาวสดได้ประมาณ 10,000 ตันต่อวัน และรองรับกิมจิได้อีก 50 ตันต่อวัน  อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการสร้างโกดังเก็บผักกาดขาวเป็นโครงการในระยะยาวที่จะต้องใช้เวลาในการสร้างค่อนข้างนาน มาตรการแก้ไขปัญหาเช่นนี้อาจไม่ทันการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่แปรปรวนในปัจจุบัน และปริมาณความต้องการซื้อกิมจิที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยข้อมูลจาก Hanaro Mart พบว่ายอดขายกิมจิเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า  นอกจากนี้ กิมจิจากจีน ที่มีราคาถูกกว่ามาก ซึ่งมีราคาราว 1 ใน 3 ของราคากิมจิของเกาหลี ได้เข้ามาตีตลาดกิมจิในเกาหลีใต้แล้ว ผู้บริโภคชาวเกาหลีจำนวนมากได้เลือกที่จะซื้อกิมจิสำเร็จรูปจากจีนทดแทนการทำกิมจิเอง แม้ว่ายังมีผู้บริโภคชาวเกาหลีบางส่วนเลือกที่ยังซื้อกิมจิที่ผลิตโดยผู้ผลิตชาวเกาหลี มากกว่ากิมจิสำเร็จรูปจากจีน เพราะคุณภาพและรสชาติที่ดีกว่า ทั้งที่ราคาแพงกว่าก็ตาม 

นอกจากการก่อสร้างโรงเก็บผักกาดขนาดใหญ่ดังกล่าวแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าการแก้ไขปัญหาวิกฤติการขาดแคลนกิมจิ ยังมีอีก 2 แนวทาง คือ แนวทางแรก การจำกัดโควตาปริมาณการซื้อกิมจิสำเร็จรูปไม่เกินจำนวนที่กำหนดต่อครั้ง เพื่อป้องกันปัญหาการกักตุนกิมจิในช่วงสินค้าขาดตลาด  แนวทางนี้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนในระยะสั้นได้อย่างรวดเร็ว แต่มิใช่การแก้ไขปัญหาในระยะยาว  ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกิมจิ อีกแนวทางหนึ่งคือ ภาครัฐอาจแทรกแซงตลาดกิมจิ โดยการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนผู้ผลิตกิมจิให้ยังคงประกอบกิจการต่อไปได้ เพื่อให้มีปริมาณกิมจิที่ผลิตในประเทศและในตลาดเพิ่มมากขึ้น  การอุดหนุนการผลิตกิมจิภายในประเทศนี้ นอกจากทำให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการร้านอาหารจะได้รับประโยชน์จากกิมจิที่มีราคาถูกลงแล้ว ยังเป็นการสงวนรักษาประเพณี “คิมจัง” อันเป็นมรดกทางด้านวัฒนธรรมของชาติอีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารัฐบาลเกาหลีจะเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกิมจิอย่างไร การแก้ปัญหาการขาดแคลนกิมจิเหล่านี้ ควรเกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เกษตรกร และโรงงานผู้ผลิตกิมจิ เพื่อร่วมกันพิจารณาปัญหาของแต่ละฝ่ายอย่างเร่งด่วน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกิมจิภายในประเทศ เช่น หน่วยงานของภาครัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรควรให้คำปรึกษาและเสนอแนะแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยให้ปรับปรุงกระบวนการผลิตกิมจิ ตั้งแต่การเพาะปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวและขนส่ง  มีวิธีการใดบ้างที่จะเป็นการลดต้นทุนตลอดกระบวนการผลิตหรือห่วงโซ่อุปทานดังกล่าว เช่น การให้เงินสนับสนุนการลงทุนเทคโนโลยีทางการเกษตร และการสนับสนุนเกษตรกรในการปลูกพืชและพัฒนาสายพันธุ์พืชที่มีความคงทนต่อสภาพอากาศที่แปรปรวนมากยิ่งขึ้น เป็นต้น เพื่อขยายการผลิตกิมจิให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกิมจิในระยะยาว

แหล่งอ้างอิง
  • มณีเนตร วรชนะนันท์. (6 ตุลาคม 2565). Kimchi Crisis วิกฤตกิมจิในเกาหลีใต้ จากโลกร้อน กิมจิจากจีน และเกษตรกรหันไปปลูกแอปเปิลแทนผักกาด. Capital. https://capitalread.co/kimchi-crisis/Bnomics.(10 พฤศจิกายน 2565). สรุปวิกฤติ “อุตสาหกรรมกิมจิ”. https://www.bnomics.co/industry- kimchi-production-crisis-korea/

ชินาภา อิศรางกูร ณ อยุธยา
นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ผู้หลงใหลในโลกเกาหลีศึกษา