ตารางที่ 1 แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนที่เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดในสังคมไทย คือกลุ่มคนในช่วงอายุ 25-54 ปี หรือประชากรวัยทำงาน ที่มีสัดส่วนประชากรสูงถึงร้อยละ 45.10 คิดเป็นจำนวนประชากรประมาณ 29.7 ล้านคน ในขณะที่กลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปี ขึ้นไป ครอบครองสัดส่วนประชากรรวมกันในสัดส่วนร้อยละ 25.69 หรือหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมด คิดเป็นประชากรจำนวนประมาณ 16.9 ล้านคน ส่วนประชากรของผู้เยาว์ที่มีอายุไม่เกิน 24 ปี ครอบครองส่วนแบ่งประชากรในสัดส่วนร้อยละ 29.22 หรือประมาณหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมด คิดเป็นประชากรจำนวนประมาณ 19.2 ล้านคน
ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ประชากรกลุ่มอายุ 25-54 ปี น่าจะเป็นกลุ่มตัวละครหลักที่มีผลชี้ขาดในการตัดสินผลการเลือกตั้งปี 2566 ส่วนกลุ่มอายุ 0-24 ปี และกลุ่มอายุ 55 ปี ขึ้นไป คงเล่นบทบาทกลุ่มที่สามารถสอดแทรกให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงได้บ้าง กระนั้นก็ตาม ทั้งสองกลุ่มมีอำนาจปรับเปลี่ยนทิศทางผลลัพธ์ในการเลือกตั้งต่างกัน ถึงแม้ว่าสองกลุ่มนี้มีอัตราส่วนในโครงสร้างประชากรและจำนวนประชากรที่ใกล้เคียงกันก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ด้วยกติกาเช่นนี้ เสียงและอุปสงค์ทางการเมืองของกลุ่มเยาวชนที่มีอายุ 0-24 ปี บางส่วนจึงไม่ได้ถูกนำมาคำนวณในการเลือกตั้ง ในทางตรงกันข้าม กติกาเช่นนี้สามารถคำนวณเสียงของกลุ่มผู้สูงวัยที่อายุ 55 ปีขึ้น ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จากข้อมูลข้างต้น บทความจึงขอสรุปอย่างไม่รัดกุมนักว่า กลุ่มทางสังคมที่สามารถกำหนดความเป็นไปของการเลือกตั้งในครั้งนี้คือ กลุ่มประชากรวัยทำงานและกลุ่มผู้สูงวัย อันเป็นผลลัพธ์จากการผนวกรวมของปัจจัยด้านโครงสร้างประชากร และกติกาในการนับว่าใครบ้างที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช (2562) ได้ทำการศึกษาเชิงสถิติที่อิงกับผลการเลือกตั้งในปี 2562 แล้วพบว่า สัดส่วนประชากรที่แบ่งตามอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ได้มีความสัมพันธ์กับการพรรคการเมืองบางพรรคนัก โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐและพรรคอนาคตใหม่ เช่น พรรคที่ได้รับเลือกตั้งในจังหวัดที่มีสัดส่วนผู้เลือกตั้งที่เป็นคนรุ่นใหม่สูง อย่างปัตตานี (มีสัดส่วนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งรุ่นใหม่ 43.61%) ยะลา (มีสัดส่วนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งรุ่นใหม่ 42.81%) และนราธิวาส (มีสัดส่วนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งรุ่นใหม่ 42.70%) ไม่ใช่พรรคอนาคตใหม่ แต่เป็นพรรคประชาชาติที่ชูเรื่องการส่งเสริมศาสนาอิสลาม ในขณะเดียวกัน พรรคที่ชนะในจังหวัดที่มีสัดส่วนผู้เลือกตั้งที่เป็นคนรุ่นใหม่ต่ำ อย่างสิงห์บุรี (มีสัดส่วนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งรุ่นใหม่ 27.92%) แพร่ (มีสัดส่วนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งรุ่นใหม่ 28.06%) และชัยนาท (มีสัดส่วนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งรุ่นใหม่ 28.07%) มีทั้งพรรคพลังประชารัฐและเพื่อไทย โดยสรุปแล้ว ข้อมูลสถิติของการเลือกตั้งปี 2562 ที่วิเคราะห์โดยพีรพัฒน์ ชี้ให้เห็นว่า ช่วงอายุอาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ชี้ขาดผลการเลือกตั้งในแต่ละเขต
ข้อสังเกตของพีรพัฒน์ อาจสามารถประยุกต์ใช้ได้หรือไม่ได้กับการเลือกตั้งปี 2566 ก็ได้ เนื่องจากการเลือกตั้งปี 2566 มีเงื่อนไขต่างไปจากการเลือกตั้งปี 2562 หากพิจารณาจากแง่มุมทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีความเปลี่ยนแปลงบางประการเกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2563 อันเป็นช่วงเวลาที่ไวรัสโคโรนาระบาดอย่างรุนแรงในประเทศไทย การระบาดของไวรัสโคโรนานี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ได้จุดปะทุให้พลังทางสังคมได้เผยตัวขึ้นมา พร้อมกับการนำพาสมาชิกของหลายครัวเรือนในสังคมให้เผชิญกับความเปราะบางและไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
สำหรับปริมณฑลด้านสังคมและวัฒนธรรม สังคมไทยได้ประสบพบเห็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มเยาวชนที่แสดงออกทั้งความกระตือรือร้นที่เปี่ยมด้วยความหวังในการผลักให้ประเทศไทยเข้าสู่อุดมคติของพวกเขา และความโกรธเกรี้ยวที่มีต่อสภาพสังคมไทยในปัจจุบันและอนาคตจากมุมมองของพวกเขาและเธอ การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เปี่ยมไปด้วยความหวังและความโกรธเกรี้ยวของกลุ่มเยาวชนได้กระทุ่งให้สังคมไทยรับรู้เรื่องความขัดแย้งระหว่างรุ่น (generational conflicts) ที่ชัดเจนและแหลมมากขึ้น ที่เกิดจากผู้สูงอายุและเยาวชนมีความความแตกต่างทางอุดมคติและโลกทัศน์ในประเด็นของการจัดสรรอำนาจทางการเมืองและทรัพยากรทางเศรษฐกิจ (อ่านเพิ่มเติมในประเด็นได้จากงานของกนกรัตน์ (2564) ที่ถ่ายทอดความรู้สึกของเยาวชนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง) จนความขัดแย้งระหว่างรุ่นกลายเป็นหนึ่งในประเด็นการถกเถียงในมิติทางการเมืองที่แพร่หลายทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน ผู้เขียนคงไม่มีความสามารถในการคาดเดาอนาคตว่า ความขัดแย้งในทางอุดมคติและโลกทัศน์ระหว่างรุ่นนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเมืองในช่วงหลังการเลือกตั้งปี 2566 อย่างไร นอกเสียจากวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งได้เสร็จสิ้นแล้ว
ส่วนเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ การระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นหนึ่งในสาเหตุที่นำพาสมาชิกในสังคมไทยเผชิญกับความกังวลและเปราะบางทางเศรษฐกิจ ดังเห็นได้จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2562 ทั้งการขยายตัวของมูลค่าหนี้ครัวเรือนทั้งระบบเศรษฐกิจและสัดส่วนของหนี้ครัวเรือนต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product – GDP) โดยบทความนี้ใช้สถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนในประเทศไทยที่รวบรวมโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นภาพแสดงแทนของปัญหาหนี้ครัวเรือน เพราะการกู้ยืมของภาคครัวเรือนแสดงให้เห็นว่า ครัวเรือนประสบกับปัญหารายได้ไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตประจำวันจึงต้องใช้เงินในอนาคตผ่านการกู้ยืมมา
ตารางที่ 2 สถานการณ์เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนในประเทศไทย
ตารางที่ 3 สถานการณ์เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนในประเทศไทย (แยกตามวัตถุประสงค์)

ตารางที่ 2 แสดงให้เห็นว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนตั้งแต่ปี 2562-2565 ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าของเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้นจากมูลค่าประมาณ 12.9-13.5 ล้านล้านบาท ในช่วงไตรมาสแรกของ ปี 2562-2563 ไปเป็นประมาณ 14 ล้านล้านบาท ในปี 2565 และสัดส่วนของมูลค่าของเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนประมาณร้อยละ 80 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562-2563 ไปเป็นร้อยละ 87-90 ในช่วงปี 2564-2565 ยิ่งกว่านั้น ตารางที่ 3 แสดงให้เห็นว่า มูลค่าของเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนในทุกประเภท โดยเฉพาะเงินให้กู้ยืมเพื่อการบริโภค/อุปโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยครัวเรือนไทยมักกู้ยืมไปเพื่อรักษาคุณภาพชีวิตผ่านการอุปโภค/บริโภคส่วนบุคคล เพราะเงินกู้ยืมในส่วนนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณสามในสี่ของเงินให้กู้ยืมทั้งหมดในช่วงปี 2562-2565
สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ขยายตัวเป็นหนึ่งในสาเหตุของความบรรจบกันของประเด็นทางนโยบายพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงกันในขณะนี้ (มกราคม-มีนาคม 2566) ที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคต่างยึดถืออุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันออกไปบ้าง แต่ล้วนนำเสนอเกี่ยวกับนโยบายในการส่งเสริมการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย และการยกระดับคุณภาพชีวิตทางเศรษฐกิจ เช่น มาตรการพักชำระหนี้ ทั้งในส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ย การสานต่อสวัสดิการขั้นพื้นฐานบางประการที่รัฐเป็นผู้จัดสรรให้แก่ประชาชน การประกันราคาสินค้าเกษตรไปพร้อมกับจัดหาทรัพยากรให้แก่เกษตรกร จนไปถึงการประกาศสถาปนารัฐที่จัดสรรสวัสดิการให้พลเมืองอย่างถ้วนหน้า
นอกจากสถานการณ์หนี้ครัวเรือน การเลือกตั้งปี 2566 ยังเกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศที่ผู้เลือกตั้งรุ่นใหม่จำนวนมากเผชิญกับความสิ้นหวังทางเศรษฐกิจ อันเป็นเหตุผลให้พรรคการเมืองที่พยายามเก็บคะแนนเสียงจากกลุ่มผู้สิทธิ์เลือกตั้งอายุน้อยเหล่านี้เสนอนโยบายในแนวทางที่ส่งเสริมการพัฒนาความสามารถของมนุษย์ไปพร้อมกับการสร้างความมั่นคงในยามที่ต้องเผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งการลดรายจ่ายจิปาถะในชีวิตประจำวัน สถานการณ์ความสิ้นหวังทางเศรษฐกิจของคนรุ่นใหม่เห็นได้จากสถานการณ์การว่างงานในหมู่ผู้ที่มีอายุน้อย (youth unemployment) ที่มีอายุอยู่ระหว่าง 14-25 ปี ต่อกำลังแรงงานที่อยู่ในช่วงอายุเดียวกัน จากสถิติของ The World Bank (2023a) อัตราการว่างงานของคนกลุ่มนี้อยู่ในระดับร้อยละ 4-5 ในช่วงปี 2560-2564 โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้าการระบาดของไวรัสโคโรนา ที่อัตราการว่างงานประเภทนี้อยู่ในระดับร้อยละ 1-3 เท่านั้น ดังเห็นได้จากตารางที่ 4
ตารางที่ 4 อัตราการว่างงานในหมู่ผู้ที่มีอายุน้อย (14-25 ปี) ต่อกำลังแรงงานที่อยู่ในช่วงอายุเดียวกัน

ยิ่งกว่านั้น กลุ่มคนรุ่นใหม่หลายรายยังไม่สามารถเข้าถึงระบบการจ้างงาน ระบบการฝึกงาน และระบบการศึกษาได้ สถิติของ The World Bank (2023b) ระบุว่า อัตราส่วนของเยาวชนที่มีอายุ 14-25 ปี ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ระบบการทำงาน และระบบการฝึกงาน (หรือกลุ่ม NEET – Youth not in Education, Employment, or Training) ต่อเยาวชนทั้งหมด มีแนวโน้มที่สูงร้อยละ 14-15 ตั้งแต่ปี 2559 เอาเข้าจริง สภาวะเช่นนี้เป็นปัญหามานานก่อนการระบาดของไวรัสโคดรนาเสียด้วยซ้ำ เพราะอัตราส่วนของเยาวชนกลุ่มนี้ต่อเยาวชนทั้งหมดสูงกว่าระดับร้อยละ 10 เป็นเวลาเกือบทศวรรษ ดังเห็นได้จากสถิติที่แสดงไว้ในตารางที่ 5 โดยสรุปแล้ว ข้อมูลจากตารางที่ 3 และ 4 แสดงว่าให้เห็นว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง (และรวมถึงกลุ่มที่อายุยังไม่เกณฑ์มีสิทธิ์เลือกตั้ง) เผชิญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในมิติของการเข้าถึงงานที่สร้างรายได้และความมั่นคงให้กับชีวิตพวกเขา/เธอ ไปพร้อมกับขาดโอกาสเข้าสู่ระบบเพื่อพัฒนาระดับความสามารถในการเข้าไปมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจ
ตารางที่ 5 อัตราส่วนของเยาวชนกลุ่ม NEET ต่อเยาวชนทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม บทความนี้อยากชวนท่านผู้อ่านขบคิดไปด้วยกันว่า พรรคการเมืองที่มุ่งหวังชนะเลือกตั้งสนใจประเด็นปัญหาการว่างงานในเยาวชนและกลุ่ม NEET มากน้อยแค่ไหน เพราะปัญหาเหล่านี้เกิดกับกลุ่มคนที่สมาชิกจำนวนหนึ่งไม่ได้ถูกนับให้เป็นส่วนหนึ่งของคะแนนเสียงเลือกตั้ง และคำถามที่บทความนี้สนใจอีกประการหนึ่งคือ สำหรับเยาวชนผู้ยังไม่ถึงอายุที่มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ประสบปัญหาการว่างงานและการเข้าไม่ถึงโอกาสในการพัฒนาความสามารถ พวกเขา/เธอใช้กระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบใด เพื่อให้พรรคการเมืองหันมาสนใจประเด็นข้างต้น
ในท้ายที่สุดแล้ว บทความชิ้นนี้คงไม่มีความสามารถอะไรไปฟันธงว่า เงื่อนไขทางสังคมและเศรษฐกิจที่เป็นอยู่อย่างต่อเนื่องกำหนดความเป็นไปของการเลือกตั้งปี 2566 ได้อย่างไรบ้าง สิ่งที่บทความชิ้นนี้ทำค่อยข้างจำกัดจำเขี่ยมากคือ การฉายภาพภูมิทัศน์ทางสังคมและเศรษฐกิจของไทยบางส่วนตั้งแต่ปี 2562 ว่ามีหน้าตาอย่างไร เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถเห็นมุมมองการเลือกตั้งที่ต่างไปจากความสนใจเรื่องการเมือง เช่น การย้ายพรรค การแตกค่าย หรือการต่อรองเพื่อเป็นรัฐบาล บทความชิ้นนี้เชื่อว่า ความเข้าใจด้านสังคมและเศรษฐกิจช่วยให้ผู้อ่านระลึกถึงความสำคัญของการเลือกตั้งในฐานะเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นเพื่อบรรลุชีวิตอันพึงปรารถนาอย่างสันติด้วยต้นทุนต่ำที่สุด ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เกมแย่งชิงอำนาจของนักการเมืองผ่านการให้ผู้คนมาร่วมเล่นเกมประชาธิปไตยสามนาทีอย่างที่บางคนกล่าวอ้างกัน
หมายเหตุ บทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่สังกัดอยู่
บรรณานุกรม
• กนกรัตน์ เลิศชูสกุล. (2564). สงครามเย็น (ใน) ระหว่างโบว์ขาว. กรุงเทพฯ: มติชน.