หลังจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ครั้งใหญ่ ประเทศญี่ปุ่นกลับมาเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศได้อีกครั้งอย่างเสรีในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 โดยไม่จำเป็นต้องขอวีซ่าล่วงหน้า นักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศทั่วโลกหลั่งไหลกลับเข้ามาสร้างความคึกคักในเมืองใหญ่อย่างโตเกียว โอซากะ ซัปโปโร ฟุกุโอกะ ความต้องการท่องเที่ยวทำให้สายการบินสามารถขึ้นราคาตั๋วเครื่องบินไปกลับจากประเทศไทยถึง 1-4 เท่าจากช่วงก่อนวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงซากุระบานที่กำลังจะมาถึงในปลายเดือนมีนาคมและต้นเมษายนนี้
ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งที่เคยได้มาท่องเที่ยวสองครั้งจึงไม่รู้สึกประหลาดใจว่าทำไมคนทั่วโลกถึงได้หลงรักการท่องเที่ยวในประเทศนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เหมาะกับการท่องเที่ยวเป็นอย่างมากทั้งในแง่การเดินทางจากเมืองสู่เมือง สภาพอากาศ ความสวยงามและความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรม ภาษา รวมถึงกริยาของผู้คนที่แสดงความตื่นเต้นและกระตือรือร้นเวลาได้พูดคุย อาหารที่มีรสชาติถูกปากคนจำนวนมาก
นอกจากนั้นยังมีเรื่องความ “น่ารัก” ในประเทศญี่ปุ่นที่พบเห็นได้ทั่วไป ผู้เขียนได้มีโอกาสมาศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงเปิดประเทศแล้ว ในฐานะผู้อยู่อาศัยก็คงเห็นไม่ต่างจากนักท่องเที่ยวมากนัก ญี่ปุ่นเป็นแหล่งรวมตัวการ์ตูน อนิเมะ เกม มาตั้งแต่ศตวรรษก่อนหน้า ปัจจุบันธุรกิจเหล่านี้ก็ยังแพร่หลาย เห็นได้จากจำนวนของตู้กาชาปองและร้านขาย figure จำนวนมาก โฆษณาเกมบนรถไฟ การเล่นเกมของทั้งวัยรุ่นและผู้สูงอายุที่ผู้เขียนเคยเห็นว่าเอาโทรศัพท์มาวางบนถาดรวมกันสามสี่เครื่องเพื่อจับโปเกมอน ยังไม่นับรวมผลผลิตต่อเนื่องจากสื่อต้นทางเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเพลงจากเกมที่วงออเคสตราสามารถหยิบมาบรรเลงได้ สถานที่ท่องเที่ยวและของฝากจากตัวละครในการ์ตูนหลากหลายเรื่อง
ผู้เขียนเชื่อว่าความน่ารักเหล่านี้ จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่ล้วนสอดประสานกันเป็น “พลังอ่อน” หรือ Soft Power ที่ได้รับการพูดถึงในสังคมไทยช่วงที่ผ่านมาพอสมควร คำนี้ถูกนิยามโดย Joseph Nye เพื่อใช้เป็นกรอบในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่นัยของอำนาจเชื้อเชิญที่ปราศจากการบังคับขู่เข็ญถูกขยายออกไปและนำไปใช้ในบริบทของวัฒนธรรมจำนวนมาก (อย่างน้อยที่สุดในแง่ความเข้าใจทั่วไปภายในประเทศไทย)
เป็นต้นว่าเกาหลีใต้ใช้ซีรีส์ (Series) เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสามีที่ใช้ความรุนแรงในครอบครัว [1] หรือเมื่อครั้งที่ ลิซ่า มโนบาล สาวไทยแห่งวง Black Pink ที่มาทานลูกชิ้นยืนกินในจังหวัดบุรีรัมย์แล้วภาครัฐรวมถึงสื่อต่าง ๆ ก็ฉวยว่าเป็นปรากฏการณ์ Soft Power อย่างหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าหากต้องการเปลี่ยนแปลงผลในเชิงเศรษฐกิจและพฤติกรรมของคนในสังคมได้อย่างยั่งยืน พลังอำนาจนี้ไม่สามารถสร้างได้ในชั่วข้ามคืนแต่เป็นกระบวนการที่ใช้เวลาจนกว่าจะฝังรากลึกลงไปในวิถีชีวิต และประเทศญี่ปุ่นนับว่าเป็นประเทศลำดับต้น ๆ ที่ได้รับการยกย่องว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมากเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมและโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ
การท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นนั้นเปรียบเสมือนการล่าสมบัติ เมืองเล็กเมืองใหญ่นั้นกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศตั้งแต่เหนือจรดใต้ แต่ละเมืองล้วนมีเอกลักษณ์ สถานที่ท่องเที่ยว และอาหารการกินเฉพาะถิ่น หรือแม้แต่สิ่งละอันพันละน้อยอย่างฝาท่อระบายน้ำในแต่ละเมืองมีลวดลายการออกแบบไม่เหมือนกัน ลวดลายบนบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างกันบนขนมชนิดเดียวกัน ภาพวาดในแต่ละวัดที่มีลายเส้นไม่เหมือนกัน
หรือหากใครชื่นชอบการเสี่ยงดวงกับกาชาปองก็ต้องส่งข่าวต่อกันว่ากาชาปองแบบนั้นแบบนี้ตั้งอยู่ที่ใด และญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใช้เทศกาลผูกโยงกับผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี อย่างเช่นในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ปัจจุบันเป็นปีกระต่าย เครื่องรางและของฝากที่หาซื้อได้จากวัดก็มีบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระต่าย หรือในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็เป็นวันแมวแห่งชาติ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่จัดทำมาเป็นพิเศษสำหรับเดือนนี้เท่านั้น
เราสามารถไปท่องเที่ยวตามลายแทงต่าง ๆ ได้อย่างคล่องตัวด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวกสบายทั้งรถไฟและรถบัส โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งนี้ไม่เพียงแต่อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายนักท่องเที่ยว แต่ยังมีส่วนช่วยหนุน (enabler) ให้ระบบเศรษฐกิจในประเทศหมุนเวียนได้มาก
เราอาจเคยได้ยินว่าญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุแต่เศรษฐกิจภายในประเทศนั้นก็ยังคึกคักอยู่ทุกวัน ร้านรวงเล็ก ๆ ในท้องถิ่นมีอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งรอบ ๆ สถานีรถไฟ ผู้สูงอายุหลายคนแข็งแรงและพึ่งพาตนเองได้ บางส่วนสามารถออกมาจับจ่ายใช้สอยได้ด้วยตนเอง นอกจากระบบขนส่งที่สะดวกสบายแล้ว การยึดถือกฎจราจรและการต่อคิวที่เคร่งครัด รถโดยสารประจำทางที่รอให้ผู้โดยสารนั่งก่อนออกรถ โครงสร้างของสถานีรถไฟและรถโดยสารที่ออกแบบมารองรับผู้พิการ ถนนหนทางที่สะอาดและเป็นระเบียบล้วนทำให้การเดินเหินปลอดภัยและเข้าถึงได้สำหรับกลุ่มคนส่วนใหญ่ในสังคม
นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ความน่ารักและเอกลักษณ์ยังถูกนำมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งของคนในชาติและนักท่องเที่ยวอีกด้วย อย่างเช่นการว่ากล่าวตักเตือนนักท่องเที่ยวชาวไทยไม่ให้ส่งเสียงดังในห้องซาวน่าที่เพิ่งเป็นกระแสไม่นานมานี้ ก็ยังใช้ตัวการ์ตูนที่ดูน่ารักแต่ก็มีความทะเล้นทะลึ่งจึงทำให้มีการแชร์ต่อ ๆ กันไปในโซเชียลมีเดียจำนวนมาก
ป้ายห้ามในที่สาธารณะบางที่ใช้ภาพการ์ตูนเพื่อสร้างบรรทัดฐานทางสังคม ดังเช่นตัวอย่างในภาพด้านล่างนี้ อย่างป้ายห้ามนำจักรยานเข้าไปขี่ในบางส่วนในสวนสาธารณะ หรือป้ายที่เชื้อเชิญให้คนญี่ปุ่นไปทำบัตร My Number [2] ก็มีการออกแบบการ์ตูนกระต่ายเป็นสัญลักษณ์โดยเฉพาะ ป้ายเชิญชวนให้คนดาวน์โหลดแอพลิเคชันจากสำนักงานดับเพลิงก็ใช้ภาพการ์ตูน หรือแม้กระทั่งไซต์ก่อสร้างในบางจุดมีการตั้งป้ายเตือนที่เป็นการ์ตูน Hello Kitty ฯลฯ