ในแวดวงธุรกิจนั้นมีการศึกษาถึงความสำคัญของความไว้เนื้อเชื่อใจหรือความไว้วางใจที่พนักงานมีต่อองค์กรและที่ผู้นำองค์กรมีต่อพนักงานมานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดกรณีของการทำงานจากที่บ้าน (work from home) ประเด็นนี้ก็ได้ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอีก เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจที่หัวหน้ามีต่อลูกน้องจะช่วยลดต้นทุนในการตรวจสอบติดตาม ในขณะที่ความไว้วางใจที่พนักงานมีต่อองค์กรก็จะส่งเสริมให้พนักงานทำงานอย่างทุ่มเท เพราะเชื่อมั่นว่า ตนจะได้รับโบนัสที่ดีเมื่อสิ้นปี
น่าเสียดายที่แวดวงเศรษฐศาสตร์ในสังคมไทยไม่ค่อยมีการศึกษาถึงความสำคัญของความไว้เนื้อเชื่อใจ (trust) ของผู้คนในสังคมที่มีต่อกันและที่มีต่อรัฐ แม้กระทั่งกลุ่มของผู้แสดงตนอย่างชัดแจ้งว่าสนับสนุนรัฐสวัสดิการเองก็ตาม ทั้งที่ความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นองค์ประกอบสำคัญกับการสร้างรัฐสวัสดิการ และมักเป็นข้อโต้แย้งจากฝั่งตรงข้ามเสมอๆ เมื่อมีการเสนอให้ใช้สวัสดิการแบบถ้วนหน้า เช่นเดียวกันกับกรณีของตู้ปันสุขที่เกิดข้อถกเถียงว่าเหมาะที่จะนำมาใช้กับสังคมไทยหรือไม่
พลันที่สื่อสังคมออนไลน์และสื่อกระแสหลักเผยแพร่เรื่องราวของการหยิบของจากตู้ปันสุขแบบไม่เหลือไว้เผื่อแผ่คนข้างหลัง ก็เกิดกระแสการตั้งคำถามว่า กิจกรรม "ตู้ปันสุข" ยังควรทำต่อไปหรือไม่ เนื่องจากเหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า กิจกรรมแบ่งปันและส่งต่อลักษณะนี้อาจไม่เหมาะกับสังคมไทย เพราะยังมีคนบางกลุ่มรอแต่จะฉวยโอกาสและหยิบของแบบไม่รู้จักพอ
"ผมสั่งให้ติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อเฝ้าดูพฤติกรรมคนที่มารับของ ว่ามีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง ไม่ใช่การมุ่งเอาผิด แต่ไม่อยากให้มีการเห็นแก่ตัว ให้นึกถึงคนอื่นด้วย"
อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้ว สังคมไทยในปัจจุบันมิได้เป็นสังคมที่มีความคิดต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเอกภาพไปในทางใดทางเดียว เรื่องนี้ก็เช่นกัน โดยหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้านพรรคหนึ่งกล่าวว่า
"การที่ได้เห็น พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาแสดงความคิดเห็นแบบนี้ รวมถึงเสนอให้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อสอดแนมประชาชนดูว่าใครหยิบอะไรไปมากน้อยขนาดไหนนั้น แสดงให้เห็นถึงแนวความคิดและภาพสะท้อนปัญหาในตัวของนายกรัฐมนตรีว่า มองประชาชนอย่างไร ดูถูกพวกเขาขนาดไหน โดยที่ไม่เคยมองว่าการบริหารจัดการของตนเองมีปัญหาเลย"
ความเห็นนี้สามารถถือเป็นตัวแทนความคิดอีกสายหนึ่งในสังคมไทยที่มุ่งคัดค้านความคิดกระแสแรก
บทความนี้มิได้ต้องการจะชี้ว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องมีกลไกการตรวจสอบควบคุม เพราะกลไกการตรวจสอบควบคุมเป็นสิ่งที่จะขาดเสียมิได้ในทุกๆ สังคม ไม่ว่าจะเป็นกลไกทางกฎหมายหรือกลไกที่เป็นลักษณะกระบวนการทางสังคม หากแต่ต้องการที่จะเตือนให้คนกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยได้ยอมรับในข้อเท็จจริงที่ว่า ในเวลานี้กระแสความคิดในเรื่องการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนจนละเลยความสงบสุขเรียบร้อยในสังคมมีอยู่จริง และการยอมรับว่ามีคนจำนวนไม่น้อยมีพฤติกรรมเช่นนั้นก็มิได้เป็นการดูถูกดูแคลนกันแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันก็ต้องการที่จะเตือนให้คนอีกกลุ่มได้มองไปให้ไกลกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการจับผิด ลงโทษ และการประณามว่าเป็นความเลวร้ายส่วนบุคคล เพราะแม้ว่าการลงโทษหรือการจับจ้องจะสามารถช่วยป้องกันมิให้เกิดการหยิบของออกจากตู้ในปริมาณมากๆ ได้ในสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่ไม่สามารถที่จะช่วยสร้างความไว้วางใจและความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งให้เกิดขึ้นในสังคมได้ ตรงกันข้าม ยิ่งถ้าหากหลังการติดกล้องแล้วภาพจากกล้องแสดงให้เห็นว่า คนหยิบของในตู้ไปครั้งละน้อย แตกต่างไปจากก่อนที่จะมีการติดกล้องที่มีการหยิบของไปจนเกลี้ยงตู้ ภาพนั้นก็จะยิ่งเป็นการย้ำให้คนกลุ่มนี้เชื่อมั่นว่า เราไม่สามารถที่จะไว้เนื้อใจคนบางกลุ่มได้เลยหากไม่มีการสอดส่องควบคุม
หากมองภาพความไว้เนื้อเชื่อใจที่กว้างขึ้นกว่ากรณีตู้ปันสุข ในต่างประเทศมีการศึกษาและคำอธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความไว้เนื้อเชื่อใจกันในสังคมกับการเป็นรัฐสวัสดิการอยู่พอสมควร ยกตัวอย่างเช่น บทความเรื่อง Interpersonal trust and welfare state support ที่ชี้ให้เห็นว่า ความไว้เนื้อเชื่อใจกันในหมู่ประชาชนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเป็นรัฐสวัสดิการ เพราะประชาชนจะมั่นใจได้ว่าจะไม่มีใครใช้สวัสดิการที่ได้รับจากรัฐไปอย่างไม่สมควรและไม่เหมาะสมเพื่อประโยชน์ส่วนตน (Daniele and Geys, 2015) เช่นเดียวกับบทความเรื่อง Trust and the welfare state: The twin-peaked curve ที่อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า แม้ว่าในด้านหนึ่งผู้คนจะสนับสนุนรัฐสวัสดิการเพราะพวกเขาคาดหวังสวัสดิการที่ดีจากรัฐโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ในอีกด้านหนึ่งพวกเขาเหล่านั้นจะยอมจ่ายภาษีในอัตราที่สูงมากก็ต่อเมื่อพวกเขาอยู่ในสังคมที่แวดล้อมไปด้วยผู้คนที่พวกเขาไว้วางใจและมีรัฐที่โปร่งใสตรวจสอบได้ เพราะพวกเขาต่างก็ตระหนักดีว่าหากสังคมเต็มไปด้วยคนขี้โกงและมีรัฐที่ไม่โปร่งใส เงินภาษีของพวกเขาก็จะถูกนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสมทั้งจากเพื่อนร่วมสังคมและจากรัฐ (Algan, Cahuc, and Sangnier, 2016)
ความไว้เนื้อเชื่อใจกันมิอาจสร้างขึ้นได้ภายใต้สถานการณ์ที่สังคมเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้งและความคิดแบบเจ้าขุนมูลนาย ดังนั้น ไม่ว่าเราจะต้องการที่จะสร้างรัฐสวัสดิการหรือไม่ แต่เราก็จะต้องให้ความสำคัญกับการปลูกฝังความคิดว่า ทุกคนล้วนเป็นสมาชิกที่สำคัญของสังคมที่เท่าเทียมกัน ทุกคนล้วนเป็นเพื่อนร่วมสังคมที่อาศัยอยู่ร่วมกัน ร่วมทำงานและสร้างคุณูปการให้กับสังคมไม่แตกต่างกัน แต่ละคนไม่ได้ทำหน้าที่ไปตามบทบาทที่สูงต่ำและมีความสำคัญแตกต่างกัน แต่เป็นการทำตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนที่เท่าเทียมและสนับสนุนซึ่งกันและกัน
ดังนั้น สวัสดิการทางสังคมที่ใครก็ตามจะได้รับไปในแต่ละโอกาสก็จะเป็นการรับในฐานะที่สมาชิกในสังคมทสมควรจะได้รับ ไม่ใช่การรับในฐานะผู้รับที่ต่ำต้อยที่จะต้องสำนึกถึงบุญคุณ ในขณะเดียวกันทุกคนในสังคมก็จะต้องมีส่วนร่วมในการให้ในฐานะที่เป็นผู้ทำหน้าที่ ไม่ใช่ในฐานะของผู้มีพระคุณ
การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นสิ่งที่มีความสำคัญทั้งในระดับองค์กรและในระดับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปรารถนาจะเห็นสังคมที่มีความสมานฉันท์เอื้ออาทรต่อกันแบบเท่าเทียมกัน ความไว้วางใจกันเป็นองค์ประกอบแรกๆ ที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้นให้ได้ เราจึงต้องมองให้ไกลและเห็นภาพให้กว้างกว่าภาพจากกล้องวงจรปิดหน้าตู้ปันสุข
มิเช่นนั้นสังคมไทยก็จะก้าวไม่พ้นคำก่นด่ากันว่า "ไม่ต้องมีหรอกตู้น้ำใจน่ะ ปล่อยให้อดตายเถอะคนแบบนี้" หรือไม่ก็ปลาบปลื้มไปกับกระแสชื่นชม 2 พ่อลูกหยิบของจากตู้ปันสุขแต่พอดี พร้อมไหว้ขอบคุณผ่านกล้องวงจรปิด
รายการอ้างอิง
Daniele, G., & Geys, B. (2015). Interpersonal trust and welfare state support. European Journal of Political Economy, 39, 1-12.
Algan, Y., Cahuc, P., & Sangnier, M. (2016). Trust and the welfare state: The twin peaks curve. The Economic Journal, 126(593), 861-883.