แนวโน้มความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food Security)

3900 views
ความมั่นคงทางอาหารเป็นประเด็นร้อนแรงที่องค์กรโลกบาลหลายองค์กรจับตามองเป็นพิเศษ แม้ว่าเรา ๆ ท่าน ๆ อาจไม่สนใจเรื่องนี้มากเท่าไหร่นัก  บทความนี้ ผู้เขียนจะวิเคราะห์แนวโน้ม ‘ความมั่นคงทางอาหารโลก’ จากสาเหตุหรือปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจแม้นดูเหมือนไกลตัวในวันนี้ แต่อาจจะถึงตัวในวันข้างหน้า 

ความมั่นคงทางอาหารคืออะไร ? 

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization : FAO) ได้พิจารณาความมั่นคงทางอาหาร 4 มิติ ได้แก่ มิติแรกคือ ความพอเพียง (Availability) หมายถึงมีปริมาณอาหารอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ผลิตได้ภายในประเทศหรือนำเข้าจากต่างประเทศก็ตาม  มิติที่สองคือ การเข้าถึงอาหาร (Access) หมายถึง ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร ไม่ว่าจะยากจนเพียงใด ตามสิทธิภายใต้กฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมแล้ว บุคคลนั้นย่อมมีสิทธิได้รับอาหาร  มิติที่สามคือ การใช้ประโยชน์ (Utilization) หมายถึง อาหารที่รับประทานต้องมีความสะอาด ถูกสุขอนามัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ  และมิติสุดท้ายคือ เสถียรภาพ (Stability) หมายถึง นอกจากจะเข้าถึงอาหารหรือได้รับอาหารแล้ว ประชากรทุกคนต้องเข้าถึงอาหารที่เพียงพอตลอดเวลาด้วย ไม่ต้องเสี่ยงกับการขาดแคลนอาหาร อันเป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจหรือวิกฤตการณ์ด้านต่าง ๆ 

ในปี 2566 นี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร คงหนีไม่พ้นปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ โรคระบาด COVID-19 จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน  ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร ทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหาร (food supply chain) ทั้งขั้นตอนทางการผลิตอาหาร ซึ่งเป็นขั้นตอนต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทานอาหาร ขั้นตอนการจัดจำหน่ายหรือการขนส่งอาหาร (Logistic & Trade) และขั้นตอนการบริโภคอาหาร ซึ่งเป็นขั้นตอนปลายน้ำในห่วงโซ่อุปทานอาหาร  ขั้นตอนเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นมิติความเพียงพอ(Availability) มิติการเข้าถึงอาหาร (Access) มิติการใช้ประโยชน์ (Utilization) และมิติด้านเสถียรภาพ (Stability) 

โรคระบาด COVID - 19 

COVID-19 โรคระบาดที่เปลี่ยนชีวิตมนุษย์ไปตลอดกาล  รัฐบาลหลายประเทศได้ประกาศภาวะฉุกเฉินตั้งแต่ราวเดือนมีนาคม 2563  มีการปิดประเทศและจำกัดการเคลื่อนย้ายทั้งสินค้าและแรงงานระหว่างประเทศหรือระหว่างเมือง เช่น มาตรการเคอร์ฟิว หรือมาตรการปิดสถานประกอบการทุกประเภท  เมื่อต้องถูกสั่งให้กักบริเวณ หลายคนเกิดจึงความตื่นตระหนกและกักตุนอาหาร  ร้านค้าบางร้านสบช่องฉวยขึ้นราคาสินค้าเอากำไรกับผู้บริโภค  พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนบางกลุ่มในสังคมที่มีปัญหา “การเข้าถึงอาหาร” แต่เดิมอยู่แล้ว ปัญหาการเข้าถึงอาหารยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น  มิหนำซ้ำ โควิดทำให้เกิดพิษเศรษฐกิจ กิจการหลายกิจการปิดตัวลง ลูกจ้างหลายคนตกงานหรือบางคนก็ถูกลดเงินเดือนลง  เมื่อหลายคนขาดรายได้ไป ประชาชนกลุ่มนี้จากที่เคย “เข้าถึงอาหาร” กลับกลายเป็นกลุ่มคนเปราะบางที่ “ไม่สามารถเข้าถึง” ได้เช่นกัน 

มาตรการป้องกัน COVID-19  อย่างเช่น การล็อกดาวน์ในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศเกษตรกรรม ทำให้ต้องชะลอการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรออกไป  มาตรการจำกัดการนำเข้า-ส่งออก รวมถึงการตรวจสอบสินค้าเกษตรอย่างเข้มงวดจนเกิดความล่าช้า ทำให้ผู้ส่งออกหลายรายต้องยอมปล่อยให้ผลผลิตทางการเกษตรเน่าเสีย  หรือในประเทศผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลกหลายประเทศ ได้ออกมาตรการจำกัดการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์  จะเห็นได้ว่า มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ซึ่งเป็นขั้นตอนต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทานอาหาร ผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์มีจำนวนลดลง และขั้นตอนการขนส่งและจัดจำหน่ายอาหารที่ล่าช้า  เส้นทางการขนส่งและจำหน่ายอาหาร (Logistic & Trade) ไม่ว่าจะเป็นขนส่งทางทะเล ทางบก หรือทางอากาศข้ามพรมแดน ต่างมีมาตรการเพิ่มอุปสรรคการขนส่งระหว่างประเทศทั้งสิ้น  จำนวนผลิตผลทางการเกษตรที่ลดลงและอุปสรรคการขนส่งและจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้นย่อมส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านอาหารในมิติความเพียงพอ (Availability) และมิติการเข้าถึงอาหาร (Access) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชากรในประเทศที่ต้องพึ่งพาอาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศและประชาชนในประเทศที่มีระดับรายได้ต่ำ ย่อมมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางด้านอาหารเพิ่มมากขึ้น   

ประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้น 

แม้ว่าหลายประเทศจะมีอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่หลายประเทศก็กำลังเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุ   รายงานแนวโน้มประชากรโลก ปี 2562 (The World Population Prospects 2019) ของสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ประชากรโลกจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 9.7 พันล้านคนภายในปี 2593 หรือราวอีก 30 ปีข้างหน้า และอาจเพิ่มขึ้นเกือบ 1.1 หมื่นล้านคนในช่วงปี 2643 โดยมีแนวโน้มที่โลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากชีวิตที่ยืนยาวขึ้น วิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีการแพทย์ รวมถึงอัตราการเกิดที่ลดลงในหลายประเทศ 

เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่อขั้นตอนบริโภคสินค้าหรือช่วงปลายน้ำในห่วงโซ่อุปทานอาหาร  ในขณะที่ปริมาณอาหารเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด แต่จำนวนผู้บริโภคที่มีจำนวนมากขึ้น ย่อมส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านอาหารในมิติการเข้าถึงอาหาร (Access) ได้  แม้ว่าอนาคตโลกจะมีนวัตกรรมในการผลิตอาหารที่ยอดเยี่ยมแค่ไหนเพื่อเพิ่มปริมาณอาหาร แต่ความต้องการของมนุษย์ที่มีอย่างไม่จำกัด ปัญหาความมั่นคงทางด้านอาหารในมิติการเข้าถึงอาหารย่อมเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประชากรที่มีรายได้น้อย  ความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงอาหารจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

สงครามรัสเซีย - ยูเครน 

รัสเซียและยูเครน เป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกสินค้าการเกษตรที่สำคัญ เช่น ธัญพืช ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ และน้ำมันดอกทานตะวัน โดยส่งออกไปจำหน่ายในประเทศแถบยุโรปและแอฟริกา  รายงานประจำปีของ FAO พบว่า ในปี 2564 มีประเทศในภูมิภาคแอฟริการมากกว่า 25 ประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าข้าวสาลีจากรัสเซียและยูเครนมากกว่ากึ่งหนึ่งของการนำเข้าทั้งหมด (ดูภาพประกอบที่ 1)  ประเทศเหล่านี้ย่อมมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหาร

ภาพประกอบที่ 1
ประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าข้าวสาลีจากรัสเซียและยูเครนมากที่สุด ปี 2564
ที่มา World Food and Agriculture Statistic Yearbook 2022
การสู้รบในภูมิภาคตะวันออกของยูเครนซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ ทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกทางการเกษตรได้ อีกทั้งการส่งออกผ่านทางท่าเรือในทะเลดำต้องยุติลง เนื่องจากเรือรบของรัสเซียปิดล้อมน่านน้ำ  ขั้นตอนการจัดจำหน่ายและขนส่งอาหาร (Logistic & Trade) ในห่วงโซ่อุปทานอาหารต้องหยุดชะงักลง  โดยเฉพาะการขนส่งทางเรือเดินสมุทร  ยูเครนไม่สามารถส่งออกสินค้าการเกษตร หลายประเทศต้องเปลี่ยนมาใช้น้ำมันปาล์มทดแทนน้ำมันดอกทานตะวันอยู่ช่วงหนึ่ง เนื่องจากความล่าช้าในการขนส่งสินค้าจากประเทศยูเครนและรัสเซีย  หลายประเทศที่ต้องหาสินค้าเกษตรอื่นทดแทนกำลังเผชิญกับปัญหาความมั่นคงทางอาหารด้านเสถียรภาพ (Stability)  ส่วนประชากรในประเทศที่มีระดับรายได้ต่ำในแถบแอฟริกาก็มีความเสี่ยงอย่างรุนแรงที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ (Access)  รายงานของ FAO พบว่า แอฟริกาเป็นภูมิภาคที่มีความไม่มั่นคงทางด้านอาหารอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นมากที่สุดในปี 2564 (ดูภาพประกอบที่ 2)

ภาพประกอบที่ 2
ระดับความไม่มั่นคงทางด้านอาหาร (Food Insecurity Levels) ในภูมิภาคต่าง ๆ ปี 2557 และปี 2564

ที่มา World Food and Agriculture Statistic Yearbook 2022

แม้ว่าในเวลานี้หลายประเทศตระหนักถึงวิกฤตความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น แต่ผู้เขียนกลับมองว่าปี 2566 ความมั่นคงทางด้านอาหารยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น  ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรยังคงอยู่ในระดับต่ำไปอีกสักพักใหญ่ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ และสภาพอากาศที่แปรปรวนจากภาวะโลกร้อน  ความมั่นคงทางด้านอาหารในมิติความเพียงพอ (Available) มิติด้านการเข้าถึง (Access) และมิติด้านเสถียรภาพ (Stability) ยังมีความเปราะบาง และต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วนและอย่างต่อเนื่อง  นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายในอนาคตเพิ่มเติมอีกว่า เราจะสามารถทำให้ประชากรในอนาคตสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการตามมิติการใช้ประโยชน์ (Utilization) ได้อย่างยั่งยืนด้วยวิธีใด  

บางทีปัญหาความมั่นคงทางอาหารกำลังอยู่ในระยะฟักตัวเหมือนเชื้อโควิดที่ฟักตัวอยู่ในร่างกายมนุษย์ 1-2 วัน อาจไม่แสดงอาการ แต่ถ้าใช้เวลาอีกสัก 10-20 ปี ปัญหาขาดแคลนอาหารจึงแสดงผลเป็นบวกในเครื่องตรวจ ATK  เมื่อถึงเวลานั้น มนุษย์จะมียาดีหรือแนวทางที่สามารถแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางด้านอาหารได้อย่างยาฟ้าทะลายโจรที่รักษาโควิดให้หายได้หรือไม่  นอกจากนี้ หากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังคงยืดเยื้อและลุกลามขยายวงกว้าง  ณ เวลานั้น วิกฤตความมั่นคงทางอาหารก็จะกลายร่างเป็นวิกฤตการดำรงชีวิตของมนุษยชาติ  มนุษย์จะสูญสิ้นทั้งอาหารเพื่อการดำรงอยู่ของชีวิตและสูญสิ้นทั้งรายได้เพื่อมาใช้จ่ายดำเนินกิจกรรมของชีวิตไปอย่างน่าสลดใจ 

แหล่งอ้างอิง 
• วิรัลพัชร ประเสริฐศักดิ์. แนวคิดและคำนิยามของความมั่นคงทางอาหาร. สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2566 สืบค้นจาก : http://www.polsci.tu.ac.th/fileupload/36/24.pdf
• ธนาคารแห่งประเทศไทย. กลัวเงินเฟ้อ VS กลัวเศรษฐกิจถดถอย. สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2566. สืบค้นจาก : https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_13Aug2022-2.aspx. 
• Food and Agriculture Organization (FAO). STATISTICAL YEARBOOK 2022. Retrieved 10th January 2023, from https://www.fao.org/3/cc2211en/cc2211en.pdf
• Department of Economic and Social Affairs, United Nations (UN). The World Population Prospects 2019 (Highlights). Retrieved 10th January 2023, from  https://population.un.org/wpp/publications/files/wpp2019_highlights.pdf
• U.S. GLOBAL LEADERSHIP COALITION. COVID-19 Brief : Impact on Food Security. Retrieved 10th January 2023, from https://www.usglc.org/coronavirus/global-hunger/
• INSIGHT DRIVES INNOVATION. GEP Worldwide. RUSSIA-UKRAINE WAR : GLOBAL IMPACT ON LOGISTICS. Retrieved 10th January 2023, from https://www.gep.com/blog/mind/russia-ukraine-war-logistics-impact
• International Finance Corporation (IFC). The Impact of COVID-19 on Logistics. Retrieved 10th January 2023, from https://www.ifc.org/wps/wcm/connect/2d6ec419-41df-46c9-8b7b-96384cd36ab3/IFC-Covid19-Logistics-final_web.pdf?MOD=AJPERES&CVID=naqOED5
• Food and Agriculture Organization (FAO). Rising uncertainties from COVID-19 cloud medium-term agricultural prospects. Retrieved 10th January 2023, from https://www.fao.org/news/story/en/item/1298333/icode/
• Food and Agriculture Organization (FAO). Novel Coronavirus (COVID-19). Retrieved 10th January 2023, from https://www.fao.org/2019-ncov/q-and-a/impact-on-food-and-agriculture/en/
• Joe Hasell. (2018). Does population growth lead to hunger and famine ?.Our World in Data.Retrieved 10th January 2023, from https://ourworldindata.org/population-growth-and-famines
• Population Reference Bureau (2008). Population’s Role in the Current Food Crisis : Focus on East Africa. Retrieved 10th January 2023, from https://www.prb.org/resources/food-security-east-africa/
สายเงิน คณากรณ์
นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ที่คิดว่าเศรษฐศาสตร์มีอยู่ในชีวิตจริง ไม่ใช่มีเเค่เพียง Demand เเละ Supply ที่ทุกคนรู้จัก