โควิด กับ “แผลเป็น” ด้านพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน: ความเหลื่อมล้ำ เทคโนโลยีการศึกษา และบทเรียนเชิงนโยบายสําหรับอนาคต

2433 views
สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีการใช้นโยบายต่าง ๆ เพื่อชะลอการแพร่ระบาดของโรค  หนึ่งในนโยบายที่มีการนำมาใช้ คือ การประกาศปิดโรงเรียนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนักในแต่ละประเทศ จากรายงานขององค์การสหประชาชาติ มีการประเมินว่า ร้อยละ 95 ของกลุ่มประชากรในช่วงวัยเรียนทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากการใช้นโยบายนี้ ซึ่งเป็นผลกระทบที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การศึกษาของโลก (UN Policy Briefs, 2020)  

ภาพที่ 1 แสดงให้เห็นถึงจำนวนและร้อยละของประเทศทั่วโลกที่มีการประกาศปิดโรงเรียนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจะพบว่าประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกจะมีการปิดโรงเรียนบางส่วนหรือทั้งหมดในช่วงเดือนเมษายน ถึงเดือนมิถุนายน ปีพ.ศ. 2563 หลังจากนั้น  ร้อยละของประเทศที่มีการประกาศปิดโรงเรียนจะมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 30-50 โดยประมาณ

ที่มา:  UIS (2020). Access: https://en.unesco.org/covid19/educationresponse.

แม้ว่าการปิดโรงเรียนจะได้ประโยชน์ในบริบททางด้านสาธารณสุข แต่หากว่าการปิดโรงเรียนก็ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงการศึกษาและส่งผลต่อสภาพจิตใจ ตลอดจนสุขภาวะของเด็กและเยาวชนอย่างมาก  โดยมีตัวทวีความรุนแรงของผลกระทบคือ มิติของความแตกต่างทางสถานะทางเศรษฐกิจครัวเรือน สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ภาวะผลกระทบต่อการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัยของนักเรียน ก่อให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss)

งานศึกษาส่วนหนึ่งพบว่า การปิดโรงเรียนและอยู่บ้านเป็นระยะเวลานานจะส่งผลต่อระดับการเรียนรู้สภาพจิตใจและสุขภาวะของเด็กและเยาวชน  ตัวอย่างเช่นงานของ Jefsen et al. (2020) และ Loades et al. (2020) พบว่า การปิดโรงเรียนทำให้เด็กเล็กที่อยู่ในช่วงต้นของการศึกษาพบกับความยากลำบากในการเรียน เนื่องจากความไม่พร้อมในการเปิดสื่อการเรียนออนไลน์ (E-learning) ส่งผลต่อระดับความกลัว ความโดดเดี่ยว ความกระวนกระวาย และความวิตกกังวลต่ออนาคตของตน นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบทางอ้อมผ่านสถานะภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัวของเด็กและเยาวชนอีกด้วย 

สำหรับในกรณีของประเทศไทย ในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยหอการค้าร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่าการปิดโรงเรียนในประเทศไทยทำให้การเรียนรู้ของเด็กเล็ก ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1-2 จากการเรียนรู้ทั้งหมดหากมีการเปิดเรียนปกติ นอกจากนี้ ในรายงานการศึกษาผลกระทบของสหประชาชาติ ในเดือน ก.ค. ปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นการศึกษาผลกระทบทางสังคมในมิติต่าง ๆ จากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย รวมถึงมิติทางด้านการศึกษา มีการวิเคราะห์ว่า สถานการณ์การปิดโรงเรียนในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา จะส่งผลทำให้ผู้เรียนมีการเรียนรู้ที่ถดถอย (Learning Loss) โดยสถานการณ์จะทวีความรุนแรงในกลุ่มผู้เรียนที่มีความเปราะบาง (Vulnerable Students) 

ทั้งนี้ หากมีปัจจัยของสภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่ดีจากสถานการณ์โควิด-19 มากระทบ ยิ่งจะส่งผลทำให้ผู้เรียนในช่วงต่าง ๆ ของการศึกษาหลุดออกจากระบบมากขึ้น (Drop out) โดยเป็นผลที่ส่งผ่าน 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ ผลทางตรง (Direct Effect) จากการที่ครอบครัวของผู้เรียน มีรายได้น้อยลง ไม่สามารถที่จะส่งเสียบุตรหลานให้เรียนต่อได้ และ ผลทางอ้อม (Indirect Effect)  คือ ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ของการศึกษามีค่าสูงขึ้น ผู้เรียนบางคนอาจมีความจำเป็นต้องออกจากระบบการเรียนเพื่อมาช่วยครอบครัวในการหารายได้

ในบริบทของการศึกษาในประเทศไทย ในปัจจุบันมีงานศึกษาภาวะเรียนรู้ถดถอยของนักเรียนอยู่จำนวนหนึ่ง  เช่น งานของสหประชาชาติ United Nations (2020) ที่ทำการศึกษาภาวะการเรียนรู้ถดถอยในกรณีของประเทศไทยในภาพของทั้งประเทศ หรือ งานศึกษาของ Kilenthong et al. (2022) ซึ่งศึกษาข้อมูลสำรวจในกลุ่มนักเรียนระดับอนุบาล พบว่า การปิดเรียนในช่วง COVID-19 ส่งผลให้เกิดการสูญเสียการเรียนรู้ในทักษะการเรียนรู้ โดยเฉพาะในรายวิชาคณิตศาสตร์ และระบบความจำ (Working memory)

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ปรากฏงานศึกษาภาวะการเรียนรู้ถดถอยในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายของประเทศไทย โดยเฉพาะการศึกษาที่เจาะไปดูในมิติของผลกระทบที่แตกต่างกัน เมื่อพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อาทิ เช่น ขนาดของโรงเรียน ผลกระทบเชิงพื้นที่ที่เกิดจากการปิดโรงเรียนที่แตกต่างกัน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะข้อจำกัดของชุดข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการศึกษา

ดังนั้น ทางผู้เขียนและคณะวิจัย จึงเล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ตลอดจนมองเห็นประโยชน์ต่อการทำชุดนโยบายการศึกษาของประเทศไทย สำหรับในการศึกษาภาวะการเรียนรู้ถดถอยในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายของประเทศไทย โดยใช้ชุดข้อมูลของการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET: Ordinary National Educational Test)   ซึ่งเป็นการทดสอบเพื่อวัดความรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ (และสังคมศึกษา สำหรับนักเรียนชั้น ม.6) 

ในประเด็นศึกษาแรก เราสามารถเข้าใจภาวะการเรียนรู้ถดถอยจากสองวิธี สองมุมมอง วิธีแรก คือวิธีผลต่างสองขั้น (Difference in differences) และวิธีที่สอง คือการใช้แบบจำลองภาคตัดขวาง (Cross-sectional model)  วิธีผลต่างสองขั้น ให้มุมมองของพัฒนาการทางการเรียนรู้ที่แตกต่างกันระหว่างนักเรียนรุ่นปิดโรงเรียนในช่วงโควิด และนักเรียนรุ่นก่อนหน้า ส่วนวิธีแบบจำลองภาคตัดขวาง เป็นการหยิบยกนักเรียนรุ่นปิดโรงเรียนมาเพียงรุ่นเดียว แล้วศึกษาผลของการปิดโรงเรียนในระดับจังหวัด ต่อการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีโรงเรียนตั้งอยู่ในจังหวัดนั้น ๆ  นั่นคือ ในขณะที่วิธีแรกให้ภาพของการเรียนรู้ถดถอยโดยเปรียบเทียบระหว่างรุ่น วิธีที่สองจะให้มุมมองของความสำคัญของหนึ่งวันที่ปิดโรงเรียน

การวิเคราะห์โดยใช้วิธีผลต่างสองขั้นเพื่อประมาณภาวะการเรียนรู้ถดถอยจากการปิดโรงเรียน ในงานศึกษานี้ทำโดยใช้นักเรียนที่มีการสอบ O-NET ทั้งในช่วง ม.3 และ ม.6 สำหรับการวิเคราะห์ในชั้นมัธยมปลาย (กลุ่มวัยรุ่น) และ ที่มีการสอบ O-NET ทั้งในช่วง ป.6 และ ม.3 สำหรับการวิเคราะห์ในชั้นมัธยมต้น (กลุ่มวัยเด็ก) ข้อมูลจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ข้อมูลปีการศึกษา 2560 และปีการศึกษา 2561 เป็นข้อมูลพื้นฐานก่อนสถานการณ์โควิด-19  (Pre-Event) และข้อมูลปีการศึกษา 2563 และปีการศึกษา 2564 เป็นข้อมูลหลังสถานการณ์โควิด-19 (After-Event: School Closing) ทั้งนี้ข้อมูลในปีการศึกษา 2563 อาจมองว่าเป็นปีการศึกษาที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียน เพราะช่วงที่ปิดเมืองครั้งแรกตรงกับการปิดภาคเรียนพอดี ในขณะที่ปีการศึกษา 2564 เป็นปีการศึกษาที่มีประกาศปิดโรงเรียนในระหว่างเปิดภาคเรียน


ผลการศึกษาในภาพรวมโดยวิธีผลต่างสองขั้น พบภาวะการเรียนรู้ถดถอยเทียบกับรุ่นก่อนหน้าในวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ภาวะการเรียนรู้ถดถอยในระดับ ม.ต้น มีระดับรุนแรงกว่าในระดับ ม.ปลาย นอกจากนี้นักเรียนที่เรียนในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองจะมีระดับการเรียนรู้ถดถอยมากกว่าในเขตชนบท โดยเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยในระดับที่สูงสุดในกลุ่มนักเรียน ม.ต้น ในเขตเมือง ในวิชาคณิตศาสตร์ และหากมองในเชิงภูมิภาคจะพบว่า เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยในระดับที่สูงที่สุด ในกลุ่มนักเรียน ม.ต้น ในเขตกรุงเทพมหานคร ในวิชาคณิตศาสตร์

ผลการศึกษาจากแบบจำลองภาคตัดขวางพบว่า การประกาศปิดโรงเรียนเพิ่มขึ้นหนึ่งวัน มีความเกี่ยวเนื่องกับภาวะการเรียนรู้ถดถอยในทุกวิชาทั้งในระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย  กล่าวคือนักเรียนในจังหวัดที่มีประกาศปิดโรงเรียนในช่วงปีการศึกษา 2564 มากกว่า โดยเฉลี่ยแล้วมีแนวโน้มที่นักเรียนจะทำคะแนนได้ในลำดับที่ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับนักเรียนในจังหวัดที่ประกาศปิดโรงเรียนน้อยกว่า

ภาวะการเรียนรู้ถดถอยที่ประเมินได้ในงานศึกษานี้ ถือเป็นค่าการประมาณที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากสาเหตุหลายประการ ได้แก่ การประเมินเป็นการประเมินเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เลือกมาสอบ O-NET ในปี พ.ศ. 2564 และ พ.ศ. 2565  การประเมินไม่ได้รวมถึงกลุ่มเด็กปฐมวัยที่อาจได้รับผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาวจากการปิดโรงเรียนในระดับที่รุนแรงกว่าเด็กในชั้น ม.3 และ ม.6  นอกจากนี้การวิเคราะห์นี้ไม่สามารถเจาะลึกการเรียนรู้ถดถอยในเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางในด้านต่าง ๆ 

ประเด็นศึกษาที่สอง ในการศึกษานี้ คือ หากหลักฐานเชิงประจักษ์ในส่วนที่หนึ่ง พบว่าประเทศไทยมีการเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยจริง ในช่วงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายของประเทศไทย ภาวะดังกล่าวจะส่งผลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทยโดยภาพรวมอย่างไร

ทั้งนี้ผลการวิเคราะห์ภาวะการเรียนรู้ถดถอยของนักเรียนในช่วงในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายของประเทศไทย ถูกนำมาประเมินเป็นความสูญเสียในมิติของค่าจ้างของแรงงานในระยะยาวจากการสูญเสียช่วงเวลาในการศึกษา โดยจะใช้ชุดข้อมูลจาก โครงการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร (Labor Force Survey) มาทำการเชื่อมโยงจำนวนวันที่ปิดไปจากสถานการณ์โควิด -19 ในโรงเรียนที่หายไป จากการปิดโรงเรียน และประเมินรายได้ที่จะขาดหายไปตลอดช่วงชีวิตการทำงานของหลังจากออกจากระบบการศึกษา โดยใช้แนวทางในการศึกษาเช่นเดียวกันกับงานของ Pscharopoulos et.at (2020) 

ผลการศึกษาพบว่า ในกรณีที่ แรงงานจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น กำหนดให้ช่วงเวลาในการทำงานเริ่มต้นตั้งแต่อายุ 15-60 ปี จากการเปรียบเทียบมูลค่าปัจจุบันของการสูญเสียค่าจ้างจากการปิดโรงเรียน พบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว จะมีมูลค่าความสูญเสียประมาณ 610,199.41 บาทต่อคน โดยความสูญเสียคำนวณมาจากประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลดเมื่อเทียบกับกลุ่มแรงงานที่จบในช่วงระดับการศึกษาเดียวกัน 
สำหรับกรณีแรงงานจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย กำหนดให้ช่วงเวลาในการทำงานเริ่มต้นตั้งแต่อายุ 18-60 ปี จากการเปรียบเทียบมูลค่าปัจจุบันของการสูญเสียค่าจ้างจากการปิดโรงเรียน พบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว จะมีมูลค่าความสูญเสียประมาณ 531,799.95 บาทต่อคน 

ในงานศึกษาส่วนสุดท้ายเป็นการถอดบทเรียนจากการใช้เทคโนโลยีการศึกษาในช่วงโควิด-19  ซึ่งภาวะวิกฤติโควิด-19 ผลักให้ระบบการศึกษาจำต้องใช้วิธีการเรียนทางไกล เด็กและเยาวชนได้ก้าวผ่านระยะเวลาที่ต้องเล่าเรียนในสภาวะปิดโรงเรียนด้วยประสบการณ์และผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน บ้างเป็นเรื่องราวของความสำเร็จ บ้างเป็นเรื่องราวของการอดทนเพื่อไม่ให้จำต้องหลุดออกนอกระบบการศึกษา 

ความหลากหลายของผลกระทบนี้ ตอกย้ำภาพความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีอยู่เป็นทุนเดิม วิกฤติโควิดได้ฉายให้เห็นถึงช่องว่างในการเข้าถึงสารสนเทศ (digital divide) อันประกอบไปด้วย ช่องว่างในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่นการเชื่อมต่อสัญญาณอินเตอร์เน็ต ช่องว่างในโครงสร้างพื้นฐานเชิงทุนมนุษย์ เช่น ศักยภาพครู ผู้ปกครอง รวมถึงช่องว่างในระบบบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา ช่องว่างเหล่านี้นำไปสู่ปฏิทรรศน์ของการเรียนระยะไกล ซึ่งเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อมีการเลือกใช้วิธีการเรียนระยะไกลที่ไม่เหมาะสม ไม่สามารถตอบโจทย์และไม่สามารถเพิ่มความรู้ ความเข้าใจให้แก่ผู้เรียน อันอาจจะนำไปสู่ความยากจนในการเรียนรู้ที่เพิ่มสูงขึ้น 

บทบาทของการใช้เทคโนโลยีการศึกษาในโลกแห่งอนาคตอาจจะประกอบไปด้วยสองภาคส่วนใหญ่ ๆ ด้วยกัน ภาคส่วนแรก คือการใช้เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของนักเรียนควบคู่ไปกับการเรียนในห้องเรียนในช่วงเวลาปกติ ภาคส่วนที่สองคือ การใช้เทคโนโลยีการศึกษาในการเรียนระยะไกลในช่วงเวลาฉุกเฉินที่ระบบการศึกษาจำต้องถูกผลักเข้าสู่ระบบสำรองโดยการเรียนออนไลน์ 

บทบาททั้งสองด้านนี้มีความสำคัญยิ่ง ดังนั้นบทเรียนที่ได้จากวิกฤติโควิด-19 นี้จึงมีความสำคัญยิ่งเช่นกัน บทเรียนหนึ่งจากการวิเคราะห์กรณีศึกษาต่าง ๆ ในงานศึกษานี้ คือ การเรียนระยะไกลที่มีประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นได้ จะต้องประกอบไปด้วยปัจจัยสำคัญ 3 ประการ คือ (1) ครูที่มีประสิทธิภาพ (2) เทคโนโลยีที่เหมาะสม และ (3) นักเรียนที่สนใจเรียน หากขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งในสามปัจจัยนี้ไป การเรียนระยะไกลที่มีประสิทธิภาพจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ กล่าวคือ เทคโนโลยีการศึกษาที่ดีเยี่ยมจะต้องไปด้วยกันกับบทบาทของครูที่สามารถใช้เทคโนโลยีนั้น ๆ เพื่อสร้างความสนใจอย่างต่อเนื่องจากนักเรียน

จากการสัมภาษณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผลการศึกษาที่ได้กับคุณครูและผู้บริหาร นักวิชาการ ในกลุ่มโรงเรียนประเภทต่าง ๆ พบว่า มีความแตกต่างเรื่องการนำเอาเทคโนโลยีทางด้านการศึกษามาใช้ในการเรียนการสอนในช่วงเวลาที่มีการประกาศปิดโรงเรียน อย่างเห็นได้ชัด  

ในกลุ่มโรงเรียนขนาดใหญ่และโรงเรียนนานาชาติ มีการเตรียมความพร้อมในการเรียนการสอนมาโดยตลอดก่อนที่จะปิดโรงเรียน ตัวอย่างเช่นในกลุ่มโรงเรียนสาธิต มีการนำเอา Platform ที่มีการพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยที่สังกัด มาใช้ประกอบการจัดทำการเรียนการสอน และพัฒนาแนวทางการประเมินโดยพิจารณาความเท่าเทียมของการจัดทำชุดข้อสอบ ในขณะเดียวกันก็สามารถป้องกันการทุจริตในการทำข้อสอบด้วย 

ในกลุ่มโรงเรียนนานาชาติ มีการใช้ Platform ในการเป็นช่องทางในการเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่าง ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครอง ตัวอย่างเช่น การใช้ platform ที่เรียกว่า Seesaw ในการประเมินผล เรียนรู้และเป็นช่องทางในการสื่อสารกันทั้งสามฝ่าย โดยตั้งอยู่บนข้อสมมติฐานที่ว่า ผู้ปกครองของผู้เรียน จะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้การเรียนการสอน ผ่านระบบออนไลน์ เป็นไปได้ดีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนการสอนสำหรับเด็กเล็ก 

ในทางตรงกันข้าม โรงเรียนขนาดกลาง และกลุ่มโรงเรียนที่อยู่นอกเขตจังหวัด พบว่าครูอาจจะยังขาดความรู้ ความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนแบบทางไกล ตลอดจนยังพบข้อจำกัดในการใช้เทคโนโลยีจากฝั่งผู้เรียนควบคู่กันไปด้วย เช่น พบว่านักเรียนไม่ได้มีความพร้อมสำหรับการเรียนแบบทางไกลทุกคน  ในบางครอบครัวขาดแคลนอุปกรณ์ในการเรียน เช่น ทั้งครัวเรือนมี มือถือ เพียง 1 เครื่องแต่มีเด็กและเยาวชนที่อยู่ในวันเรียนมากกว่า 1 คน

รายชื่อเอกสารอ้างอิง
วศิน ศิวสฤษดิ์
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชญานี ชวะโนทย์
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สัณห์สิรี โฆษินทร์เดชา
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์