ไทยกับเอเปค 2022 : วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนและความท้าทายของเอเปคในอนาคต

1456 views
การจัดประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน ปี 2022 ที่ผ่านมา  ที่ประชุมทั้งระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจและระดับรัฐมนตรีของเขตเศรษฐกิจต่างปรึกษาหารือและหาแนวทางดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนการค้าเสรี ความร่วมมือแบบพหุภาคี และการให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนกับปัญหาหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรกของเอเปค  บทความฉบับนี้จะพาผู้อ่านไปสำรวจวาระต่าง ๆ ที่สมาชิกเอเปคให้ความสำคัญผ่านแถลงการณ์จากที่ประชุมทั้งระดับรัฐมนตรีและผู้นำเศรษฐกิจเอเปค เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG และส่วนสุดท้ายจะเป็นการชวนขบคิดถึงความท้าทายที่ไทยและเอเปคอาจจะต้องพบในอนาคต

Open Connect Balance จากที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคและที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค

ในสัปดาห์การประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคมีทั้งการประชุมในระดับผู้นำและระดับรัฐมนตรี  นอกจากการรับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG แล้ว การแถลงการณ์ของกลุ่มประชุมทั้ง 2 กลุ่มยังช่วยชี้ให้เห็นทิศทางการทำงานของเอเปคและการให้ความสำคัญต่อวาระต่าง ๆ ของที่ประชุม

การประชุมสุดยอดผู้นำเศรษฐกิจเอเปค (APEC, 2022 c) และการประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC, 2022 b) แถลงการณ์ของที่ประชุมทั้ง 2 เวทีได้แสดงให้เห็นถึงประเด็นภาพรวมที่เอเปคให้ความสำคัญอยู่ 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ

ประการแรก เรื่องของการเปิดกว้าง การสนับสนุนการค้าและการลงทุนเสรี การสร้างความร่วมมือแบบพหุภาคีที่สอดคล้องกับแนวทางขององค์การการค้าโลก (WTO) โดยเป้าหมายสำคัญของเอเปค คือ การพัฒนาตามวิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040 และโดยเฉพาะการดำเนินงานตามปฏิญญาลิมา (Lima Declaration) และแผนงานปักกิ่ง (Beijing Roadmap) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นแนวทางดั้งเดิมที่เอเปคยึดถือมาโดยตลอด แต่ประเด็นที่เพิ่มขึ้นมาคือ การสนใจความยั่งยืนในการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ และการรับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG

ประการที่สอง เรื่องของการเชื่อมโยงและการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19  เอเปคให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างที่มุ่งเน้นการเติบโตที่ครอบคลุม ยั่งยืน และขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม รวมถึงการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสำหรับธุรกิจทุกประเภท โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดย่อม (MSMEs)  นอกจากนี้ เอเปคยังต้องการให้การเดินทางข้ามพรมแดนกลับมาเป็นปกติ โดยมีการสร้างศูนย์ข้อมูลและการอำนวยความสะดวกให้ทั้งภาครัฐและเอกชน  เอเปคยังต้องการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคบริการและขนส่งที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก ซึ่งจะส่งเสริมประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ  นอกจากนี้ การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนก็เป็นแนวทางหนึ่งที่เอเปคต้องการส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจของภาคส่วนต่าง ๆ และการปรับปรุงโครงสร้างเพื่อรับมือปัญหาทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินเฟ้อ การยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชน การปฏิรูปโครงสร้างตามวาระการปฏิรูปโครงสร้างของเอเปค (EAASR) การสร้างและการส่งเสริมความสามารถด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี 

ประการที่สาม เรื่องการพัฒนาที่สมดุลและการรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ โรคระบาด ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความเท่าเทียมทางเพศ เป็นต้น  เอเปคให้ความสำคัญอย่างมากกับความร่วมมือเพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ที่แม้ว่าจะบรรเทาลงในปัจจุบัน แต่ในภาพรวมแล้ว การกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบก็ยังไม่สามารถดำเนินได้อย่างเต็มที่  เอเปคยังมีความกังวลกับปัญหาจากโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต  ส่วนในเรื่องของภัยธรรมชาติ ปัญหาสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เอเปคได้รับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG  เอเปคยังต้องการให้มีการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืนเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารที่มีอย่างเพียงพอสำหรับทุกคนในภูมิภาค รวมทั้งการส่งเสริมบทบาทของสตรีและเยาวชนให้มีความสามารถเป็นผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจระหว่างชาย-หญิงตามแนวทาง La Serena เพื่อสตรีและการเติบโตที่ครอบคลุม (2019-2030) เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมของสุดยอดผู้นำเอเปคยังแสดงความเสียใจและกล่าวถึงปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน  ที่ประชุมเห็นว่า แม้เอเปคจะไม่ใช่เวทีที่จะมาแก้ไขปัญหาด้านการเมืองและความมั่นคง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนและเศรษฐกิจของโลกอย่างเป็นลูกโซ่  การกล่าวถึงปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนนี้ เป็นการกล่าวถึงปัญหาความมั่นคงที่เกิดขึ้นน้อยครั้งมากในเวทีของเอเปค นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของปัญหาการก่อการร้ายข้ามชาติในช่วงต้นทศวรรษ 2000

เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG : แผนงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

วิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040 (APEC Putrajaya Vision 2040) เป็นหมุดหมายสำคัญปัจจุบันของเอเปค  ภายหลังที่เป้าหมายโบกอร์ (Bogor Goals) ครบกำหนดในปี 2020 วิสัยทัศน์ปุตราจายามีเป้าหมายส่งเสริมการเติบโตที่เข้มแข็ง ยั่งยืน และครอบคลุมภายใต้ระเบียบเศรษฐกิจแบบเสรี โดยเฉพาะการขยายเป้าหมายการพัฒนาที่ครอบคลุมความท้าทายใหม่ ๆ ของเอเปค ทั้งเรื่องการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของสตรี ภัยธรรมชาติ โรคระบาด (APEC, 2020) ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องการความร่วมมือระหว่างสมาชิกอย่างมากในปัจจุบัน  อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเอเปคยังไม่มีแผนงานการพัฒนาตามเป้ามายอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน แม้ว่าจะมีการประชุมและปรึกษาหารือถึงกิจการที่เกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา  ดังนั้น ในวาระการประชุมเอเปค 2022 จึงเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยในการผลักดันวาระดังกล่าว  ไทยได้เสนอแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) ต่อที่ประชุมเอเปค ซึ่งที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคมีมติรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว” (Bangkok Goals on Bio-Circular-Green (BCG) Economy)

เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG มีเป้าหมายสำคัญ 4 ประการ (APEC, n.d.) คือ

1) การจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุม ทั้งประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติเพื่อโลกที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการสร้างมาตรการที่มีความยืดหยุ่น การปรับตัว และการบรรเทาปัญหาสภาพอากาศในปัจจุบัน  ซึ่งเอเปคจะสร้างแผนงานและความร่วมมือที่สอดคล้องกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (SDGs) และเป้าหมายปารีส (Paris Agreement) รวมทั้งการส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นต้น

2) การส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน ครอบคลุม และสอดรับกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการดำเนินงานช่วยเพิ่มเสถียรภาพ ความยืดหยุ่น และความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานและการดำเนินงานตาม APEC Connectivity Blueprint และการพัฒนาความร่วมมือและการแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเสริมสร้างบทบาทและการสร้างความสามารถของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) เพื่อสร้างธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

3) การส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การใช้และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ตลอดจนการยับยั้งและฟื้นฟูการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งการส่งเสริมการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์และการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลและระบบนิเวศที่ยั่งยืน รวมถึงการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน  นอกจากนี้เอเปคจะทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันและลดขยะและมลพิษจากพลาสติกในทะเล รวมถึงการดำเนินการตามแผนงานเอเปคเกี่ยวกับขยะในทะเล

4) การบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการของเสียอย่างยั่งยืนมุ่งสู่เป้าหมายไม่เหลือทิ้ง

นอกจากเป้าหมายตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG แล้ว เอเปคได้ออกแนวทางขับเคลื่อนสู่เป้าหมายข้างต้น 4 แนวทาง (APEC, n.d.) ได้แก่

1) การปฏิรูปโครงสร้างและการสร้างความร่วมมือทางกฎระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้างตามวาระการปฏิรูปโครงสร้างของเอเปค (EAASR) และรายงานนโยบายเศรษฐกิจเอเปค 2022 (AEPR) ซึ่งแนะนำให้สมาชิกมีการปฏิรูปโครงสร้างและการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  รายงานฉบับดังกล่าวได้ชี้เห็นความท้าทาย 2 ประการที่เอเปคต้องเผชิญในปัจจุบัน คือ ความท้าทายใหม่นอกเหนือจากการรักษาระเบียบการค้าเสรี โดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และการเผชิญหน้าและการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ (APEC, 2022)

2) การขับเคลื่อนความร่วมมือในทางปฏิบัติและทางเศรษฐกิจที่ส่งเสริมศักยภาพความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางที่ดีที่สุดระหว่างสมาชิก การถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยสมัครใจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการส่งเสริมแรงงาน โดยเฉพาะการส่งเสริมด้านดิจิทัล

3) การสร้างและอำนวยให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ การเงิน และการลงทุน ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และ

4) การสร้างความร่วมมือร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคที่ส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและส่งเสริมเป้าหมายทั้ง 4 ประการข้างต้น

ข้อกังวล ความท้าทาย และอนาคตของไทยและเอเปค

การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของไทยในปี 2022 นับเป็นโอกาสสำคัญของไทยในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเรียกความเชื่อมั่นสำหรับการเปิดประเทศอีกครั้งหลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านการกระจายการจัดประชุมไปยังจังหวัดท่องเที่ยวต่าง ๆ นอกเหนือไปจากกรุงเทพมหานคร ทั้งภูเก็ต เชียงใหม่ และประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการผลักดันเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG และอาจจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเจรจาทางเศรษฐกิจเวทีอื่น ๆ ได้ เช่น การเจรจา PCA กับสหภาพยุโรปที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมาก แต่ประเด็นสำคัญคือ ในทางปฏิบัติแล้วแผนงาน BCG ของไทยยังไม่มีการปฏิบัติเป็นรูปธรรมนัก นับตั้งแต่การวิจัยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และการเกิดขึ้นของคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวของรัฐบาลไทย (สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี, 2022) ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้และในทางปฏิบัติแล้ว เราก็อาจยังไม่เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรมหรือการปฏิบัติตามวาระ BCG ที่รัฐบาลไทยผลักดัน ซึ่งอาจจะกลับมาบั่นทอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลทั้งปัจจุบันและอนาคตได้  นอกจากนี้ การประชุมเอเปคที่เกิดขึ้นยังมีภาพซ้อนของวาระทางการเมืองภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการใช้เวทีการประชุมนานาชาติส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของรัฐบาล แต่ในช่วงของการประชุมได้เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคง มีผู้บาดเจ็บทั้งผู้ชุมนุมและผู้ทำงานสื่อ (วีโอเอ, 2022) ดังนั้น ภาพลักษณ์ของการเป็นเวทีที่เปิดกว้างและเวทีสำหรับการปรึกษาหารือของเอเปคจึงกลายเป็นเวทีสำหรับกลุ่มคนเฉพาะกลุ่ม ซึ่งตัดขาดออกจากประชาชน  นอกจากนี้ ยังตอกย้ำภาพวาระทางการเมืองของรัฐบาลในสายตาผู้เห็นต่างทางการเมืองไปโดยปริยาย และสามารถส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของเอเปคในพื้นที่สาธารณะไปด้วยได้

สำหรับเอเปคแล้ว การประชุมครั้งนี้ถือว่าเป็นการจัดประชุมในครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความตึงเครียดบริเวณช่องแคบไต้หวัน และผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จนส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนของผู้นำที่จะเข้าร่วมประชุมอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งการจัดประชุมก็เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการประชุมของอาเซียนและ G-20 ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเอเปคจะทำอะไร? จะพูดคุยอะไรกัน? และภาพของการหลีกเลี่ยงการพูดคุยเรื่องการเมืองและความมั่นคง แต่เน้นเรื่องเศรษฐกิจมากกว่าที่เกิดขึ้นจากเจ้าภาพจัดการประชุมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา และอินโดนีเซีย (James Guild, 2022)  อย่างไรก็ตาม จากการประชุมจะเห็นได้ว่า อย่างน้อยที่ ประชุมของเอเปคก็บรรลุเป้าหมายของตนเองได้ในระดับหนึ่ง คือ การมีแผนงานการพัฒนาที่ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนที่เป็นรูปธรรมขึ้น ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าสมาชิกของเอเปคจะสามารถดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร และในฐานะ “เวทีที่ปรึกษาหารือ” เรื่องเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนเสรีของเอเปคจะสามารถแนะนำและจูงใจให้สมาชิกเชื่อและปฏิบัติตามแนวทางเศรษฐกิจการค้าเสรีอย่างสมัครใจได้อย่างไร ท่ามกลางการเริ่มแบ่งส่วนของโลกาภิวัตน์  ประเทศต่าง ๆ ซึ่งอาจจะให้ความสำคัญและความเชื่อถือการค้าเสรี เริ่มแบ่งฝั่งฝ่ายและมีความขัดแย้งทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศกันมากขึ้น

ในปี 2023 สหรัฐอเมริกาจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมต่อจากประเทศไทยภายใต้หัวข้อ “การสรรค์สร้างอนาคตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนสำหรับทุกคน” (Creating a Resilient and Sustainable Future for All)  สหรัฐอเมริกาแถลงประเด็นสำคัญ ๆ เบื้องต้นที่ตนให้ความสำคัญ เช่น ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน การค้าดิจิทัล โอกาสสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ส่วนประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร สาธารณสุข การต่อต้านการทุจริต การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจของสตรี และการสนับสนุนชุมชนที่ด้อยโอกาสจะอยู่ในวาระการประชุมเช่นกัน โดยมีพื้นฐานจากการเชื่อมโยงถึงกัน ความสร้างสรรค์ และความครอบคลุม (APEC, 2023)  เราต้องติดตามต่อไปว่าการจัดประชุมที่สหรัฐอเมริกาจะเป็นอย่างไร ในเมื่อสหรัฐอเมริกาแตกต่างจากไทยอย่างมาก ทั้งในฐานะของรัฐมหาอำนาจ และรัฐคู่กรณีในความขัดแย้งระหว่างประเทศที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน

รายการอ้างอิง
ศิวศิลป์ จุ้ยเจริญ
นักวิจัยประจำสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจัยที่กำลังศึกษาและพยายามหาประเด็นหลักสำหรับชีวิตวิชาการ