ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 28 เมื่อวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการนำเสนอข่าวการนำปลากุเลาเค็มตากใบ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ มาเป็นวัตถุดิบในประกอบการอาหารสำหรับการจัดเลี้ยงอาคารค่ำอย่างเป็นทางการ [1] นายชุมพล แจ้งไพร ซึ่งเป็นเชฟที่รังสรรค์เมนูอาหารไทยในงานเลี้ยง อธิบายว่า การนำปลากกุเลาเค็มจากตากใบมาใช้ในอาหารจานนี้ ไม่ใช่การนำเนื้อปลาเค็มมาเสิร์ฟเป็นชิ้นๆ แต่เป็นการใช้ "ปลากุเลาเค็มตากใบ" มาใช้เป็นเครื่องชูรสในอาหารไทย โดยเฉพาะในเครื่องแกง และเมนูอาหารที่จะเสิร์ฟให้ผู้นำเอเปคครั้งนี้ “จะนำเอามาปลากุเลาเค็มตากใบ มาอบกับข้าวอบตะไคร้ เพื่อจะให้ข้าวมีรสชาติและมีกลิ่นที่หอมเบาๆ" ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณ เพราะปลากุเลาเค็มของตากใบมีความอุมามิสูง มีเนื้อที่ละเอียด และมีความนวล จึงเลือกใช้นำมาเป็นส่วนประกอบของอาหาร เป็นการแต่งรส และแต่งกลิ่นอาหาร [2]
นอกจากปลากุเลาเค็มตากใบแล้ว ยังมีสินค้าที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อีกหลายรายการ ที่ได้นำมาจัดเลี้ยงในการประชุมครั้งนี้ ทั้งข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ของจังหวัดศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ และมหาสารคาม เนื้อโคขุนโพนยางคำ จังหวัดสกลนคร ไวน์เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ส้มโอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และไข่เค็มไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมถึงกล้วยหอมทองพบพระ จังหวัดตาก ที่กำลังขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ นอกจากอาหารแล้ว ยังมีการนำผ้าไหมปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา มาทำเป็นของที่ระลึกแก่ผู้นำเอเปค เช่น เนคไท ผ้าคลุมไหล่ ฯลฯ ด้วย
[3]
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์คืออะไร
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GIs) คือ ชื่อ สัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใด ที่ใช้เรียกหรือใช้แทนแหล่งภูมิศาสตร์ และที่สามารถบ่งบอกว่าสินค้าที่เกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว [4] โดยคำว่า แหล่งภูมิศาสตร์ หมายถึง พื้นที่ของประเทศ เขต ภูมิภาค และท้องถิ่น และให้หมายความถึงทะเล ทะเลสาบ แม่น้ำ ลำน้ำ เกาะ ภูเขา หรือพื้นที่อื่นทำนองเดียวกันด้วย [5]
จากรายการสินค้าข้างต้น สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของปลากุเลาเค็มตากใบคือ ตากใบ ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกท้องถิ่น คือ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ที่เป็นแหล่งผลิตสินค้า และเป็นชื่อที่บ่งบอกว่าปลากุเลาเค็มจากตากใบนั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีชื่อเสียง หรือมีคุณลักษณะเฉพาะของตากใบ ในทำนองเดียวกัน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของผ้าไหมปักธงชัยคือ ปักธงชัย ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกท้องถิ่นคือ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าดังกล่าว และเป็นชื่อที่บ่งบอกว่าผ้าไหมจากปักธงชัยนี้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีชื่อเสียง หรือมีคุณลักษณะเฉพาะของปักธงชัย
ทำไมต้องขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นมาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และผู้ประกอบการในท้องถิ่น กล่าวคือ เพื่อมิให้ผู้บริโภคหลงเชื่อว่าสินค้าที่ผลิตจากที่อื่นเป็นสินค้าที่ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และเพื่อมิให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มีสิทธิใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เกิดความเสียหาย
ในทางเศรษฐศาสตร์ อธิบายการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ว่าเป็นการให้การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เช่นเดียวกันกับการให้การคุ้มครองเครื่องหมายการค้า การใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และเครื่องหมายการค้านี้เกิดจากปัญหาข้อมูลคุณภาพสินค้าที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย (Asymmetry Information) และการสร้างชื่อเสียง (Reputation)
ปัญหาข้อมูลคุณภาพสินค้าที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย (Asymmetry Information)
ปัญหาหนึ่งที่ทำให้ตลาดทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพคือ ผู้ซื้อและผู้ขายมีข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่ซื้อขายไม่เท่ากัน โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพสินค้า โดยทั่วไปแล้ว ฝั่งผู้ขายมักมีข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพสินค้ามากกว่าฝั่งผู้ซื้อ สินค้าบางอย่าง ผู้ซื้อยังพอแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพสินค้าก่อนการตัดสินใจซื้อได้ (search goods) เช่น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ผู้ซื้อตรวจสอบคุณภาพเนื้อหาและการตัดเย็บได้ก่อนการตัดสินใจซื้อ แต่สินค้าอีกหลายอย่าง ผู้ซื้อไม่ทราบถึงคุณภาพสินค้าได้เลย จนกว่าจะได้ซื้อและใช้สินค้านั้นแล้ว (experience goods) เช่น ปลากุเลาเค็ม ข้าวหอมมะลิ เนื้อโคขุน ส้มโอ ไวน์ และไข่เค็ม ผู้ซื้อจะทราบคุณภาพสินค้าได้หลังจากลองชิมสินค้าแล้ว นอกจากนี้ ยังมีสินค้าและบริการบางชนิดที่ผู้ซื้อไม่ทราบคุณภาพได้เลย แม้ว่าจะได้ซื้อและใช้สินค้าหรือบริการนั้นแล้วก็ตาม (credence goods) เช่น พระเครื่อง และหมอดู ปัญหาที่ว่าผู้ซื้อมีข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพสินค้าน้อยกว่าผู้ขายนี้นำไปสู่ปัญหาคุณภาพสินค้าที่จำหน่ายในตลาด เพราะในที่สุดแล้ว สินค้าที่จำหน่ายในตลาดจะเหลือแต่สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีสินค้าที่มีคุณภาพจำหน่ายในตลาดอีกต่อไป เมื่อผู้ซื้อไม่ทราบว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพหรือไม่ก่อนการซื้อ ผู้ซื้อจึงไม่ยอมจ่ายเงินซื้อสินค้าในราคาที่แพงกว่าราคาสินค้าไร้คุณภาพที่จำหน่ายกันโดยทั่วไปในตลาด หรือที่เรียกว่าปัญหา Adverse selection เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลคุณภาพของสินค้าแล้ว ผู้บริโภคมักมีพฤติกรรมเลือกซื้อสินค้าจากผู้ขายเจ้าประจำ มีพฤติกรรมจงรักภักดีกับตรายี่ห้อสินค้า และยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อสินค้าที่มีชื่อเสียง
การสร้างชื่อเสียง (Reputation)
ในด้านผู้ประกอบการแล้ว ผู้ประกอบการจะตัดสินใจสร้างและรักษาชื่อเสียงด้านคุณภาพสินค้าก็ต่อเมื่อผู้บริโภคมีพฤติกรรมการเรียนรู้เรื่องคุณภาพสินค้า ผู้บริโภคใช้คุณภาพสินค้าที่เคยซื้อจากผู้ประกอบการในอดีต มาคาดหมายคุณภาพสินค้าที่จะซื้อต่อไปในอนาคต ถ้าหากผู้บริโภคพบว่า สินค้าที่เคยซื้อไปแล้วมีคุณภาพไม่ดี ผู้บริโภคก็จะคาดหมายว่าสินค้าที่จะซื้อจากผู้ประกอบการรายนั้นก็คงมีคุณภาพไม่ดีอย่างเคย ในทางตรงกันข้าม หากผู้บริโภคซื้อสินค้าแล้วพบว่า สินค้าที่ซื้อไปนั้นมีคุณภาพที่ดี ผู้บริโภคก็คาดหมายว่าจะได้คุณภาพสินค้าดี เช่นกันกับที่เคยซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการรายนั้นมาแล้ว พฤติกรรมของลูกค้าเช่นนี้ย่อมจูงใจให้ผู้ประกอบการสร้างและรักษาชื่อเสียงเอาไว้ ชื่อเสียงของผู้ประกอบการจึงกลายเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าในราคาที่สูงกว่าเจ้าอื่นได้
การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กับการแก้ไขปัญหาคุณภาพสินค้าในตลาด
เนื่องจากลูกค้ามีพฤติกรรมคาดหมายคุณภาพสินค้าโดยอาศัยข้อมูลจากการซื้อที่ผ่านมา ผู้ประกอบการจึงมีแรงจูงใจที่จะสร้างและรักษาชื่อเสียงเอาไว้ อีกทั้งผู้บริโภคยอมจ่ายเงินซื้อสินค้าที่มีชื่อเสียงในราคาที่แพง เพื่อแก้ไขปัญหาข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพสินค้า ชื่อเสียงสินค้าจึงช่วยแก้ไขปัญหาคุณภาพสินค้าที่ซื้อขายกันในตลาดได้ ชื่อเสียงนี้เป็นทั้งแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเพิ่มคุณภาพสินค้าเพื่อจะได้จำหน่ายสินค้าได้ราคาแพง และยังเป็นสัญญาณบอกคุณภาพสินค้าไปด้วยในตัว อย่างไรก็ตาม การสร้างชื่อเสียงเพื่อแก้ไขปัญหาความล้มเหลวของตลาดจากข้อมูลไม่เท่าเทียมกันยังขึ้นอยู่กับว่า มีการคุ้มครองชื่อเสียงให้ผู้ประกอบการด้วยหรือไม่ หากไม่มีการคุ้มครองชื่อเสียงของผู้ประกอบการแล้ว ผู้ประกอบการที่สร้างและรักษาชื่อเสียงอาจเสียประโยชน์ไป จากผู้ประกอบการรายอื่นที่ปลอมหรือแอบอ้างชื่อเสียงที่ผู้ประกอบการนั้นได้สร้างขึ้น ในกรณีเช่นนี้ ผู้ประกอบการคงไม่มีแรงจูงใจในการรักษาชื่อเสียงอีกต่อไป ในทางตรงกันข้าม หากมีการคุ้มครองชื่อเสียงของผู้ประกอบการ ห้ามมิให้ผู้ประกอบการรายอื่นแอบอ้างใช้ประโยชน์จากชื่อเสียงนั้น ผู้ประกอบการก็ย่อมมีแรงจูงใจสร้างและรักษาชื่อเสียงต่อไป เพื่อเป็นการคุ้มครองชื่อเสียงของผู้ประกอบการแล้ว การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ก็เป็นวิธีการหนึ่งเพื่อคุ้มครองชื่อเสียงดังกล่าว ดังเห็นได้จากบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546 ที่ว่า การใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพื่อหลอกลวงบุคคลอื่นให้เข้าใจผิดว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ผลิตในสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้นก็ดี หรือการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ทำให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้าและในคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะอื่นของสินค้านั้น เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบการค้ารายอื่นก็ดี ล้วนเป็นการกระทำโดยมิชอบ [6] ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท [7]
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จะคล้ายกับเครื่องหมายการค้า แต่สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มีลักษณะบางอย่างที่แตกต่างไปจากเครื่องหมายการค้าออกไป สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นเครื่องหมายที่สะท้อนถึงคุณภาพของสินค้าร่วมกัน (collective) ของผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าในแหล่งภูมิศาสตร์นั้นและได้ผลิตสินค้าตามกระบวนการการผลิตที่ได้ร่วมตกลงกันไว้ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จึงเป็นทรัพยากรร่วม (common resources) ของชุมชน ด้วยเหตุนี้ การรักษาความน่าเชื่อถือของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพื่อบอกถึงคุณภาพสินค้าของผู้ประกอบการในพื้นที่จึงต้องการการดำเนินการร่วมกัน (collective action) จากผู้ประกอบการในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของการกำหนดขอบเขตแหล่งภูมิศาสตร์ กระบวนการผลิต สเปคสินค้า และการประกันคุณภาพ (quality assurance)
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กับการพัฒนาท้องถิ่น
นอกจากการเป็นมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคจากการหลอกลวงและแก้ไขปัญหาคุณภาพสินค้าที่จำหน่ายในตลาด และเป็นการคุ้มครองผู้ประกอบการจากการถูกแอบอ้างใช้ชื่อเสียงที่ได้สร้างและรักษามาแล้ว ที่ผ่านมา ยังมีการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นเครื่องมือพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอีกด้วย
ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ช่วยสร้างความแตกต่างให้ผลิตภัณฑ์ (Product differentiation) คุณลักษณะและคุณภาพของสินค้าแตกต่างกันไปตามแหล่งภูมิศาสตร์ที่ผลิตสินค้านั้น สภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิ ความชื้น ความสูงจากระดับน้ำทะเล ตลอดจนความรู้ของคนท้องถิ่นในการผลิตสินค้า ทำให้สินค้าที่ผลิตในแหล่งภูมิศาสตร์มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนี้ เมื่อได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แล้ว จะมีเฉพาะผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้ผลิตตามกระบวนการที่กำหนดเท่านั้นที่จะมีสิทธิใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ [8] การกำหนดเช่นนี้ยังเป็นการให้อำนาจผูกขาดกับผู้ประกอบการดังกล่าวอีกด้วย
ด้วยลักษณะที่ว่าผู้บริโภคยอมจ่ายเงินมากขึ้นซื้อสินค้าที่มีชื่อเสียง การสร้างความแตกต่างให้ผลิตภัณฑ์ และการกีดกันผู้ประกอบการอื่นจากการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นี้ ผู้ประกอบการในแหล่งภูมิศาสตร์ย่อมสามารถจำหน่ายสินค้าได้ราคาที่สูงขึ้น หรือเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าจากการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั่นเอง การจำหน่ายสินค้าได้ราคาที่สูงขึ้นจึงทำให้ผู้ประกอบการในพื้นที่มีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
ในด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นเครื่องมือสร้างความแตกต่างให้ผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างออกไปนี้เปิดโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ และสร้างตลาดสินค้าเฉพาะกลุ่ม (niche market) ขึ้น ประกอบกับคุณลักษณะและคุณภาพของสินค้าขึ้นอยู่กับแหล่งภูมิศาสตร์ที่ผลิตสินค้า ทั้งลักษณะทางกายภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ชุมชนจึงได้อาศัยกลไกตลาดขยายปริมาณการผลิตและสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อไปได้
แม้ว่าการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ช่วยพัฒนาท้องถิ่น แต่การพัฒนาท้องถิ่นทั้งทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านวัฒนธรรมได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับว่าความสามารถของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในการสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ อำนาจผูกขาดของผู้ประกอบการในแหล่งภูมิศาสตร์ในการกำหนดราคาสินค้าให้เพิ่มสูงขึ้น และความเต็มใจของผู้บริโภคที่ยอมจ่ายเงินซื้อสินค้าที่มีชื่อเสียง หากสินค้าที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จำหน่ายได้ราคาที่สูงกว่าสินค้าในท้องที่อื่นอย่างมากแล้ว ก็มีโอกาสการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาท้องถิ่นได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพียงอย่างเดียวไม่ได้ประกันว่า ราคาสินค้าที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้นจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นกับอีกหลากหลายปัจจัย เช่น การทำการตลาดร่วมกัน การออกแบบบรรจุภัณฑ์ สินค้าที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ การรับรู้ของผู้บริโภค และข้อมูลจากฉลากต่าง ๆ นอกจากนี้ การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ยังมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม โดยเฉพาะต้นทุนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินการร่วมกัน (collective action) ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ในการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ทั้งเรื่องการกำหนดขอบเขตแหล่งทางภูมิศาสตร์ ขั้นตอนการผลิต และการประกันคุณภาพสินค้า ราคาสินค้าที่ได้รับเพิ่มมากขึ้นนี้จึงอาจไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นตลอดทั้งกระบวนการการขึ้นทะเบียนและให้การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ก็ได้ อีกทั้ง ในส่วนของการขึ้นทะเบียนนั้น ในด้านหนึ่ง การกำหนดรายละเอียดขั้นตอนการผลิตสินค้า เปิดโอกาสให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตระหว่างผู้ประกอบการในพื้นที่ พัฒนานวัตกรรม และช่วยยกระดับคุณภาพสินค้าในพื้นที่ แต่อีกด้านหนึ่งนั้น การกำหนดขั้นตอนการผลิตและแหล่งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตนั้น อาจทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ตัดโอกาสปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต ไม่สามารถเลือกใช้วัตถุดิบจากท้องที่อื่นที่มีราคาถูกมาทดแทน และไม่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ใหม่ก็ได้
บรรณานุกรม
- Cerkia Bramley, Estelle Biénabe and Johann Kirsten (2009), 'The Economics of Geographical Indications: Towards a Conceptual Framework for Geographical Indication Research in Developing Countries', in Economics of Intellectual Property, Chapter 4, Geneva, Switzerland: World Intellectual Property Organization (WIPO), 109-141.
- Julia Rzepecka and Others (2020), ‘Economic Aspects of Geographical Indication Protection at EU Level for Non-agricultural Products in the EU’, European Union.
อ้างอิง
[1] https://www.thansettakij.com/apec-2022/547327
[2] https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2554700
[3] https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1038495
[4] มาตรา 3 พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546
[5] มาตรา 3 พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546
[6] มาตรา 27 พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546
[7] มาตรา 37 พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546
[8] มาตรา 24 พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546