ความหลงผิดในองค์ประกอบ (fallacy of composition)

2765 views
ความหลงผิดในองค์ประกอบ (fallacy of coposition) คือ การเข้าใจผิดว่าสิ่งที่เป็นจริงสำหรับส่วนย่อย ก็เป็นจริงสำหรับส่วนรวมด้วย  คำนี้ไม่ใช่ศัพท์เฉพาะทางเศรษฐศาสตร์ แต่เป็นคำที่ใช้กันโดยทั่วไป เช่น ในห้องที่มีคนชมละครบนเวทีจำนวนมาก ถ้ามีคนหนึ่งยืนบนเก้าอี้ เขาจะเห็นการแสดงบนเวทีได้ดีกว่าคนอื่น เพราะไม่ต้องถูกคนอื่นบัง  แต่ถ้าทุกคนในห้องยืนอยู่บนเก้าอี้ คนจำนวนมากก็ไม่สามารถชมการแสดงบนเวทีได้ชัด ยกเว้นคนสูงกว่าคนอื่น  ประเทศในโลกต่างแข่งขันกันทุ่มเทงบประมาณสร้างแสนยานุภาพ เพื่อให้ประเทศตนมีความสามารถในการสู้รบที่ดีกว่าประเทศอื่น แต่ถ้าหากมีประเทศหลายประเทศพากันสร้างแสนยานุภาพแล้ว ความได้เปรียบของประเทศใดประเทศหนึ่งก็จะลดลง  การแข่งขันสร้างแสนยานุภาพของประเทศต่าง ๆ สักแต่ทำให้โลกสุ่มเสี่ยงต่อการทำสงครามมากขึ้น

คำว่า “ความหลงผิดในองค์ประกอบ” นี้ ใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจได้ดี  มีตัวอย่างอยู่มาก เช่น ถ้าหน่วยผลิตรายใดรายหนึ่งลงทุนมาก จ้างคนงานมากขึ้น ซื้อวัตถุดิบมากขึ้น ก็จะผลิตสินค้าได้มากขึ้น มีรายได้และกำไรมากขึ้น  แต่ถ้าทุกหน่วยผลิตต่างพากันลงทุนผลิตเพิ่ม คนงานและวัตถุดิบก็จะเกิดการขาดแคลน สินค้าอาจล้นตลาด มีผลทำให้หน่วยผลิตที่ขยายการลงทุนเกิดการขาดทุน  อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งทำการลดค่าเงินของตนเทียบกับเงินตราต่างประเทศ จะมีผลทำให้สินค้าส่งออกของตน เมื่อคิดเป็นเงินตราต่างประเทศแล้วมีราคาลดลง ประเทศนั้นจะส่งสินค้าออกได้มากขึ้น  แต่ถ้าหลายประเทศหรือทุกประเทศลดค่าเงินพร้อมกัน การลดค่าเงินของประเทศใดประเทศหนึ่งก็ไม่เป็นประโยชน์

ตัวอย่างความหลงผิดในองค์ประกอบมีการกล่าวถึงมากในทางเศรษฐศาสตร์ คือ “ความขัดแย้งของการประหยัด” (paradox of thrift) คือ ถ้าบุคคลใดบุคคลหนึ่งมีการประหยัด ซื้อของน้อยลง ออมเงินมากขึ้น ก็จะใช้เงินออมนี้ไปลงทุนหรือฝากไว้ในธนาคารเพื่อให้ได้ดอกเบี้ย คนนั้นก็จะมีความมั่งคั่งมากขึ้น  แต่ถ้าทุกคนประหยัด ลดการใช้จ่ายลงมาก ก็ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ  ถ้าความต้องการสินค้าลดลงไปมากจนทำให้รายได้ประชาชาติลดลง  ผลของการประหยัดมากเกินไปของคนจำนวนมากก็จะทำให้ทุกคนจนลงกว่าเดิม

ทรัพยากรบางอย่างเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป แต่เป็นของสาธารณะที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าไปใช้ได้ (non-excludable) ศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “ทรัพยากรที่ใช้ร่วมกัน” (common pool resource)  ทรัพยากรเหล่านี้เป็นสิ่งที่ใช้ได้โดยไม่ต้องถูกเรียกเก็บเงินหรือมีค่าใช้จ่ายใด ๆ ถ้าทุกคนแห่กันไปใช้ “ของฟรี”เหล่านี้ ก็อาจทำให้ทรัพยากรเหล่านี้ร่อยหรอลง  ตัวอย่างเช่น ในหลายประเทศ การใช้พื้นที่สาธารณะใช้ได้โดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ พื้นที่ป่าอันกว้างใหญ่เป็นพื้นที่ส่วนรวมที่ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ การเข้าถึงและการใช้ทรัพยากรที่อยู่ในป่ามีการเปิดกว้าง  ผู้ใช้ก็ไม่มีพันธะและไม่มีสิ่งจูงใจใด ๆ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรที่อยู่ในป่า  ปรากฏการณ์ที่ทุกคนสามารถใช้ทรัพยากรตามความต้องการนี้ ในที่สุดอาจส่งผลทำให้ทรัพยากรในป่ามีน้อยลง จนเกิดผลเสียต่อประเทศชาติโดยรวม

ตัวอย่างการใช้แม่น้ำลำคลอง ป่าไม้ และมหาสมุทรสาธารณะอย่างเกินขอบเขตมีให้เห็นอยู่เนือง ๆ  การตกปลาในแม่น้ำ การตัดไม้ทำลายป่า และการขับรถในถนนสาธารณะ หากทำมากไปก็จะส่งผลเสียต่อผู้อื่น ทำให้คนที่มาทีหลังไม่สามารถใช้ทรัพยากรเหล่านี้ได้  ปรากฏการณ์ดังกล่าว เศรษฐศาสตร์เรียกว่า “โศกนาฎกรรมของสาธารณสมบัติ” (tragedy of the commons) ซึ่งอธิบายว่า ทรัพยากรที่ทุกคนใช้ร่วมกันได้ หากไม่มีการทะนุถนอม ก็จะเกิดผลเสียแก่สังคมได้

การเลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้าสาธารณะ การจับปลาในแม่น้ำลำคลอง หรือการเก็บของป่า คนทำมากจะได้ผลประโยชน์มาก แต่ถ้าหากทุกคนต่างทำงานมากขึ้น ขยายกิจกรรมของเขา ผลสุดท้ายจะมีผลทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์น้อยลง  การขยายกิจกรรมของคนหนึ่งส่งผลกระทบต่อผู้อื่น (externalities) ทำให้ทรัพยากรที่เป็นของส่วนรวมลดน้อยลง  ด้วยเหตุนี้ ในสิ่งสาธารณะที่ใช้ร่วมกันได้ บางประเทศจะมีการกำหนดเงื่อนไขการใช้ เช่น จำกัดการใช้ถนนในบางเวลา ห้ามจับสัตว์นำ้ในทะเลหรือแม่น้ำลำคลองในบางฤดู จำกัดจำนวนคนเข้าสวนสาธารณะในช่วงเทศกาล ของบางอย่าง  แม้เป็นสิ่งที่ทุกคนใช้ร่วมกันได้ ก็อาจมีกฎระเบียบที่จำกัดการใช้  นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่ส่งเสริมให้มีการสร้างทรัพยากรที่มีประโยชน์ขึ้นมาใหม่ เพื่อเสริมเติมหรือชดเชยส่วนที่สูญเสียไปจากการใช้ที่เกินขอบเขต  ปรากฎการณ์ “โศกนาฏกรรมของสาธารณสมบัติ” แม้มีความหมายที่แตกต่างกับ “ความหลงผิดในองค์ประกอบ” แต่ก็แสดงถึงปรากฏการณ์ที่พฤติกรรมของแต่ละคน ส่งผลแตกต่างกันแก่ประเทศชาติหรือสังคมโดยรวม โดยผลประโยชน์ของแต่ละคน อาจไม่สอดคล้องกับประโยชน์ของส่วนรวม

ความคิดเศรษฐศาสตร์ที่กล่าวว่า ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด แต่ความต้องการของคนมีไม่จำกัด ถึงทุกวันนี้ ยังคงเป็นหลักการที่เป็นจริง  ในเศรษฐศาสตร์ ความหายาก (scarcity) มีส่วนในการกำหนดราคาสิ่งของ  มีคนตั้งคำถามว่า ทำไมเพชรมีราคากว่าน้ำ ทั้งที่น้ำใช้ประโยชน์ได้มากกว่า  หลักความหายากอธิบายว่า เพชรหามาได้ยากกว่าน้ำ จึงมีราคาแพงกว่า  อากาศก็มีลักษณะเดียวกัน แม้มีประโยชน์ต่อมนุษย์มาก แต่ก็หาได้ไม่ยาก จึงใช้ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ (ยกเว้นสถานที่ที่อากาศมีความขาดแคลน)

คำกล่าวที่ว่า ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด และทรัพยากรแต่ละอย่างล้วนมีความขาดแคลน รวมทั้งความคิดที่กล่าวว่า สิ่งที่เป็นจริงสำหรับแต่ละคน อาจไม่เป็นจริงสำหรับส่วนรวมนั้น  ในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่มีความก้าวหน้าในวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมาก ควรมีการอธิบายหรือขยายความมากขึ้น  ทุกวันนี้ เราได้เห็นสินค้าและบริการบางอย่างที่ยิ่งมีมาก หรือยิ่งมีคนใช้มาก ก็ยิ่งมีคุณค่ามาก  ตัวอย่างเช่น ถ้าในโลกนี้ มีเครื่องโทรสารหรือแฟกซ์ (facsimile) เพียงเครื่องเดียว ก็ไม่มีประโยชน์ใด ๆ และถ้ามีไม่กี่เครื่อง ก็มีคนใช้ได้เพียงไม่กี่คน  แต่ถ้ามีคนใช้กันกว้างขวาง ก็จะยิ่งมีประโยชน์มากขึ้น  การติดต่อสื่อสารด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน  ยิ่งมีผู้ใช้กันมาก หรือมีอยู่อย่างแพร่หลาย ก็ยิ่งมีประโยชน์มาก  ดังนั้น สิ่งที่เป็นจริงสำหรับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ก็เป็นจริงสำหรับสังคมโดยส่วนรวมได้ด้วยเช่นกัน  ความคิดเรื่องความหลงผิดในองค์ประกอบ จึงต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบมากขึ้นกว่าเดิม

ติดตามอ่านบทความของอาจารย์สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย ได้ที่ laymaneconomics
สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย
อดีตรองศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม เศรษฐกิจจีน