ความเหลื่อมล้ำกับความเป็นพวกเขา

พลันที่มีการนำเสนอข้อมูลผ่านสื่อในช่วงปลายปี พ.ศ. 2561 ว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกกระแสความสนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยก็พุ่งขึ้นอยู่ในระดับสูงในทันใด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์หลายคนต้องทำหน้าที่ให้คำอธิบายกับสังคมถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวเลขและวิธีการวัดความเหลื่อมล้ำที่ว่านั้น ตัวอย่างเช่น บทความเรื่อง \'รวยกระจุกจนกระจาย\'ระดับสาหัส : ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยในศตวรรษที่ 21\' ของ ธนสักก์ เจนมานะ ซึ่งพยายามอธิบายวิธีการวัดความเหลื่อมล้ำแบบต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวเลขลำดับหนึ่งในโลกนั้นยังอาจมีความคลาดเคลื่อน แต่ธนสักก์ก็ปิดท้ายบทความว่า

"ทั้งตัวชี้วัดตามระเบียบวิธีวิจัยเชิงวิชาการและความรู้สึกของผู้คนต่างบอกตรงกันว่าประเทศไทยเป็นผู้ป่วยโรค \'รวยกระจุกจนกระจาย\'ระดับสาหัสของโลกจริง"

เช่นเดียวกับบทความเรื่อง \'ทำความเข้าใจ \'ความเหลื่อมล้ำ\' (แบบไม่ดราม่า)\' ของอิสร์กุล อุณหเกตุก็มีลักษณะคล้ายกับบทความของธนสักก์คือ พยายามอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจลักษณะ วิธีการ และความหมายของการวัดความเหลื่อมล้ำแบบต่างๆ และปิดท้ายด้วยการกล่าวว่า หากต้องการจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ต้องเข้าใจความเหลื่อมล้ำแบบไม่ดราม่าเสียก่อน อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของบทความทั้งสองนั้นมุ่งเน้นไปที่การอธิบายเทคนิควิธีการวัดความเหลื่อมล้ำ บทความทั้งสองจึงมิได้นำเสนอถึงผลสืบเนื่องของความเหลื่อมล้ำเท่าใดนัก

หนึ่งปีต่อมา สมชัย จิตสุชน เขียนบทความเรื่อง \'ความเหลื่อมล้ำ 2020 เรารู้อะไร เราควรรู้อะไร\' เผยแพร่ในทีดีอาร์ไอชวนอ่านประจำเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 โดยกล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นรากเหง้าของอีกหลากปัญหาตั้งแต่ปัญหาระดับโครงสร้าง เช่น ความไม่มีเสถียรภาพทางสังคมและการเมือง ประชาธิปไตยไร้คุณภาพ หรือปัญหาที่ใกล้ตัว เช่น การขายบริการทางเพศ อาชญากรรม ซึ่งสมชัยเห็นว่าสังคมไทยมีองค์ความรู้เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำอยู่ไม่น้อยแล้ว

ต่อมาอีกสองอาทิตย์ สมชัยเขียนบทความเรื่อง \'ความเหลื่อมล้ำ 2020 (ตอน 2) เราควรทำอะไร\' ซึ่งเป็นเสมือนตอนต่อจากบทความแรกลงในทีดีอาร์ไอชวนอ่าน โดยกล่าวว่า ในบทความนี้จะพูดถึงสิ่งที่สังคมไทยควรทำ แต่ยังไม่ได้ทำ สิบประการ ข้อที่หนึ่งถึงแปดเป็นประเด็นที่เป็นเกี่ยวพันกับเศรษฐศาสตร์อย่างชัดเจน เช่น ลดบทบาทในการผลิตของภาครัฐ ส่งเสริมบทบาทของเอกชน กระจายอำนาจการเมืองและการคลัง ลดระดับช่องว่างทางการศึกษา และสุขภาพส่งเสริมและดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เตรียมความพร้อมด้านสังคมผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องการหยิบยกมาอภิปรายในที่นี้คือ สิ่งที่สมชัยเขียนไว้เป็นข้อที่เก้า ความว่า

"ประการที่เก้า สังคมต้องเปลี่ยนทัศนคติต่อ \'คนจนและผู้ด้อยโอกาส\' เสียใหม่ ไม่มองว่าเขาเหล่านั้นเป็นคนขี้เกียจ ไม่รักดี เอาแต่แบมือ ต้องมองว่าเขาก็เป็นคนเหมือนเรา หากเราอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกับเขาก็อาจทำตัวเหมือนเขาเช่นกัน ต้องทำความรู้จักและเข้าใจเขาเหล่านั้นให้มากขึ้น"

คำแนะนำประการที่เก้าของสมชัยในการช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำมีความน่าสนใจตรงที่มีการกล่าวถึงทัศนคติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรกติแล้วไม่ค่อยกล่าวถึงนักในทางเศรษฐศาสตร์ แต่เมื่อมีการกล่าวถึงคราใดก็มักจะเป็นดังที่สมชัยกล่าวถึงคือ มองว่าคนจนเป็นคนที่มีผลิตภาพแรงงานต่ำกล่าวคือเป็นคนขี้เกียจ ไม่รักดี และดังนั้นจึงมักจะเอาแต่แบมือขอ การที่สมชัยเสนอว่า "หากเราอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกับเขาก็อาจทำตัวเหมือนเขาได้เช่นกัน" จึงมีนัยที่ต้องการสร้างความเท่าเทียมทางโอกาสให้เกิดขึ้น

นอกจากนี้ สมชัยได้เปิดประเด็นให้เราคิดต่อว่า "เขาก็เป็นคนเหมือนเรา" พวกเราจึงต้อง "ทำความรู้จักและเข้าใจเขาเหล่านั้นให้มากขึ้น" ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากเพราะจะเป็นการป้องกันไม่ให้ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่สูงยิ่งนำสังคมไทยไปสู่สังคมแบบพวกเราพวกเขา ในประเด็นนี้มีการกล่าวถึงไว้บ้าง เช่น งานศึกษาเรื่อง \'How Social Inequalities Affect Sustainable Development\' ของ Bettina Schorr

ปรากฎการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ กรณีแรงงานไทยในเกาหลีใต้เดินทางกลับไทยเพราะเกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักของไวรัสโควิด-19 ในประเทศเกาหลีใต้ สะท้อนให้เห็นถึงประเด็นสำคัญนี้

วันที่ 3 มีนาคม 2563 เว็บไซต์ JS100.com พาดหัวข่าวว่า "โซเชี่ยลวอนรัฐกักตัว #ผีน้อยป้องกัน #COVID19 ระบุไม่มั่นใจหากให้อยู่บ้านเอง 14 วัน" โดยมีเนื้อข่าวความว่า "...JS100 จึงได้จัดทำโพลล์สำรวจความคิดเห็นว่า #ผีน้อยหรือแรงงานไทยที่กำลังจะกลับจากเกาหลีใต้ควรกักตัว 14 วันเพื่อควบคุมและป้องกันการระบาด #COVID19 อย่างไร?' ผลปรากฏว่าชาวโซเชียลต่างลงความเห็นอย่างขาดลอยกว่า 98% เห็นว่ารัฐควรใช้มาตรการกักตัว และมีเพียง 2% เท่านั้นที่ให้อยู่บ้านรับผิดชอบตนเอง

ในวันเดียวกันนี้เอง เว็บไซต์มติชนออนไลน์ก็ลงพาดหัวข่าวในทำนองเดียวกันว่า "เดือดโลกออนไลน์ถกปม \'ผีน้อย\'กลับไทยมาตรการกักตัวเองใช้กับคนไร้ความรับผิดชอบ" วันถัดมาเว็บไซต์มติชนออนไลน์ทำโพลในประเด็นเดียวกันนี้บ้าง ผลปรากฏว่าผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นทางทวิตเตอร์ร้อยละ 75.9 และผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นผ่านเฟสบุ๊คร้อยละ 82 ไม่เห็นด้วยกับมาตรการให้แรงงานกลุ่มนี้กักตัวเอง โดยมีส่วนหนึ่งแสดงความคิดเห็นดังนี้

"คิดเหรอว่าคนพวกนี้จะกักตัวอยู่บ้าน ขนาดหนีไปทำงานมันยังทำกันมาแล้ว"

"การบอกให้คนเหล่านั้นกักตัวอยู่บ้าน14วันนั้น ไม่เชื่อว่าทุกคนมีวินัยทำได้"

"คนพวกนี้เวลาไม่สบายไปโรงพยาบาลจะยิ่งจะตอบว่าไม่เคยไปต่างประเทศ"

ในขณะที่มีดารานักร้องนักแสดงหลายคนที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากต่างประเทศที่มีการแพร่ระบาดเช่น อิตาลี ญี่ปุ่น ต่างก็ประกาศกักตัวเอง 14 วัน เว็บไซต์ของสำนักข่าวทีเอ็นเอ็นพาดหัวข่าวเมื่อวันที่ 6มีนาคมว่า "เพื่อร่วมรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมเหล่าคนบันเทิงกักตัวเฝ้าระวังไวรัส COVID-19 เพื่อป้องกันการระบาด" โดยไม่มีสำนักข่าวใดทำโพลสำรวจความคิดเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้เหล่าดารากักตัวเอง

ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่รับสื่อออนไลน์ ผู้ที่ใช้ทวิตเตอร์และเฟซบุคที่มักเรียกกันว่าชาวโซเชียลในสังคมไทย มีความไม่ไว้วางใจกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าผีน้อยว่าจะกักตัวเองได้จริง ในขณะเดียวกัน กลับให้ไว้วางใจดารานักร้องที่บอกว่าจะกักตัว 14 วัน แม้ในชั้นนี้จะยังไม่ได้มีการศึกษาอย่างเป็นวิชาการว่า เพราะเหตุใดชาวโซเชียลจึงเชื่อใจดารานักร้องมากกว่าผู้ใช้แรงงาน แต่ปรากฎการณ์มากมายหลายอย่างในอดีตที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า ผู้ใช้แรงงานไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ทำงานอยู่ในเมืองไทยหรือผู้ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปทำงานในต่างประเทศ หากคนเหล่านั้นเป็น "ผู้ใช้แรงงาน" หรือ "แรงงานไร้ฝีมือ" ซึ่งหมายถึงเป็นคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับล่างแล้วละก็ ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ ความเป็น \'พวกเขา\' ก็มักจะปรากฎขึ้นในใจพวกเราอยู่เสมอๆ

เอกสารอ้างอิง

ธนสักก์ เจนมานะ \'รวยกระจุกจนกระจาย\'ระดับสาหัส: ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยในศตวรรษที่ 21\' https://www.the101.world/inequality-in-the-21st-century/

สมชัย จิตสุชน \'ความเหลื่อมล้ำ 2020 เรารู้อะไร เราควรรู้อะไร\' https://tdri.or.th/2020/01/what-we-dont-know-about-thai-disparity/

สมชัย จิตสุชน \'ความเหลื่อมล้ำ 2020 เราควรทำอะไร\' https://tdri.or.th/2020/01/thai-inequality-what-we-should-do/

อิสร์กุล อุณหเกตุ \'ทำความเข้าใจ \'ความเหลื่อมล้ำ\' (แบบไม่ดราม่า)\' https://themomentum.co/global-wealth-report-thailand-inequality-2018/

ตะวัน วรรณรัตน์
อาจารย์ประจำ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร