การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาวะเศรษฐกิจโลก โดยวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งนี้ไม่เหมือนดังเช่นครั้งก่อน ๆ เนื่องจากภาครัฐในทุกประเทศจำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดทั้งมาตรการ lockdown และ social distancing ซึ่งมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจในระดับสูง และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดแรงงานทั่วโลก นอกจากแรงงานจะประสบกับการสูญเสียรายได้จากจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ลดลงแล้วนั้น แรงงานยังประสบกับภาวะการว่างงานเป็นจำนวนมาก
ผลการศึกษาจากงานวิจัยหลายชิ้นมีข้อสรุปที่ตรงกันว่า วิกฤติการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลกระทบที่แตกต่างกันต่อแรงงานแต่ละกลุ่มและมีระดับความรุนแรงที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีระดับความเสี่ยงต่อโควิด-19 สูง (high COVID-19 risk exposure) หรืออยู่ในอาชีพที่มีความยืดหยุ่นของเวลาการทำงานต่ำ (occupations with less flexibility) มีแนวโน้มที่ได้รับผลกระทบที่สูงมาก นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบเชิงลบต่อกลุ่มแรงงานผู้หญิงมากที่สุด จนกระทั่งมีการขนานนามวิกฤติการณ์ครั้งนี้ว่า ‘She-cession’
She-cession?
วิกฤติครั้งนี้ถูกเรียกว่า ‘She-cession’ เนื่องจากเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1948 เป็นต้นมา ที่อัตราการว่างงานของผู้หญิงในสหรัฐอเมริกาอยู่ในระดับสูง โดยแรงงานผู้หญิงคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่ง (55%) ของจำนวนการสูญเสียงาน (job loss) มากกว่า 20 ล้านตําแหน่ง เนื่องจากลักษณะงานของแรงงานผู้หญิงส่วนมากเป็นงานในภาคบริการที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เป็นงานที่ไม่สามารถทำที่บ้าน (work from home) ได้ เช่น อุตสาหกรรมสันทนาการ (leisure) การบริการ (hospitality) และการศึกษา (education) ทำให้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการจำกัดการแพร่ระบาด (Pesce, 2020)
กรณี ‘She-cession’ ในประเทศไทย Paweenawat and Liao (2021, Forthcoming (a)) พบว่า วิกฤติการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อแรงงานไทย เนื่องจากระบบเศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาภาคบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยวในสัดส่วนที่สูง และพบความไม่เท่าเทียมของผลกระทบเชิงลบต่อแรงงานในแต่ละกลุ่ม โดยพบว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการผลิตเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
นอกจากนี้ ยังพบว่าแรงงานผู้หญิงได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ครั้งนี้มากกว่าแรงงานผู้ชาย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการจ้างงานสูงในภาคที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการจำกัดการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าส่งและการค้าปลีก กิจกรรมด้านที่พักและบริการด้านอาหาร
ในปัจจุบัน สัดส่วนแรงงานหญิงไทยที่ประกอบอาชีพในภาคบริการอยู่ที่ประมาณ 55-60% ของแรงงานหญิงทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจ ข้อค้นพบดังกล่าวสอดคล้องกับ การศึกษาขององค์การแรงงานสากล (International Labour Organization) (ILO, 2020) ที่พบว่าในภาคส่วนที่มีความเสี่ยงสูง มีสัดส่วนจำนวนแรงงานผู้หญิงมากกว่าแรงงานผู้ชาย
เมื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของการว่างงานจากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร (Labor Force Survey – LFS) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติในช่วงก่อนการแพร่ระบาดและในช่วงระหว่างการแพร่ระบาดโควิดของประชากรกลุ่มต่าง ๆ (ภาพที่ 1) พบว่า การว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสำหรับทุกกลุ่มแรงงานในช่วงวิกฤติการณ์โควิด-19 โดยอัตราการว่างงานของผู้หญิงเพิ่มมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงปานกลางและความเสี่ยงสูงมีการเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงานมากที่สุด นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบอีกว่าแรงงานผู้หญิงในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงประสบปัญหาการลดลงของค่าจ้างมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น
ภาพที่ 1 การเปลี่ยนแปลงการว่างงานในช่วง 2018-2019 เทียบกับช่วง 2019-2020
ที่มา - Paweenawat and Liao (Forthcoming (a))
นอกจากมิติทางเพศแล้ว Paweenawat and Liao (Forthcoming (a)) ยังได้นำสถานภาพสมรสมาประกอบการวิเคราะห์ด้วย โดยพบว่า แรงงานที่มีลูกได้รับผลกระทบเชิงลบจากวิกฤติการณ์โควิด-19 มากกว่าแรงงานที่ไม่มีลูก และแรงงานผู้หญิงที่มีลูกได้รับผลกระทบสูงกว่าแรงงานผู้ชายที่มีลูก โดยจำนวนลูกที่แรงงานมีเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อค่าจ้าง โดยแรงงานผู้หญิงที่มีลูกอายุน้อย (0-5 ปี) เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชิงลบต่อค่าจ้างแรงงานสูง
ผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าแรงงานผู้หญิงที่แต่งงานและมีลูกเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางลบจากวิกฤติในครั้งนี้สูงกว่าแรงงานกลุ่มอื่น ๆ โดยมีสาเหตุมาจากมาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐนำมาใช้ ทั้งมาตรการ lockdown การปิดสถานศึกษา สถานเลี้ยงดูเด็กเล็ก ส่งผลให้ภาระในครัวเรือนของผู้หญิงเพิ่มสูงขึ้น
ซึ่งในช่วงก่อนวิกฤติ ผู้หญิงไทยต้องรับภาระการดูแลบุตรและภาระอื่น ๆ ในครัวเรือนมากกว่าผู้ชายอยู่แล้ว สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดยิ่งซ้ำเติมทำให้ความไม่เท่าเทียมดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น โดยคุณแม่ในประเทศไทยประสบปัญหา (struggle) ในการสร้างสมดุลระหว่างงานและครอบครัวในช่วงแพร่ระบาด เหตุการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับผลการศึกษาในหลายประเทศทั้งในทวีปยุโรปและอเมริกา (Alon et al. 2021)
Unlucky Generation?
ภาพที่ 2 อัตราการว่างงานแบ่งตามเพศและอายุ (รายเดือนในปี 2020-2021)
ที่มา - Paweenawat and Liao (Forthcoming (b))
นอกจากนี้ กลุ่มแรงงานหญิงไทยที่อายุน้อย (15-24 ปี) เป็นอีกหนึ่งกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์โควิด-19 ครั้งนี้ แรงงานกลุ่มนี้ประสบกับการว่างงานที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงวิกฤติโควิด โดย Paweenawat and Liao (Forthcoming (b)) เรียกแรงงานกลุ่มนี้ว่า ‘Unlucky Generation’ และได้ศึกษาผลกระทบของโควิด-19 ต่อสถานการณ์ในตลาดแรงงานไทย
ซึ่งพบว่า อัตราการว่างงานของแรงงานอายุน้อย (15-24 ปี) อยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับแรงงานกลุ่มอื่น ๆ (25-60 ปี) ที่มีแนวโน้มคงที่ นอกจากนี้ ยังพบว่าอัตราการว่างงานของแรงงานผู้หญิงอายุน้อยเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 2 เท่าในช่วงการแพร่ระบาดและมีความผันผวนของอัตราการว่างงานมากกว่ากลุ่มแรงงานผู้ชายอายุน้อย (ภาพที่ 2)
ทั้งนี้ ผลการศึกษาที่พบว่าแรงงานอายุน้อยประสบกับความผันผวนของการว่างงานสูงในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีสาเหตุมาจากการที่แรงงานกลุ่มนี้อยู่ในกลุ่มอาชีพและอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดสูง โดยในกรณีของประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมค้าปลีก การเดินทาง ที่พักและท่องเที่ยว
จากงานศึกษา พบว่า กลุ่มแรงงานหญิงอายุน้อยมีสัดส่วนการจ้างงานสูงกว่าค่าเฉลี่ย (overrepresented) ในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง (25%) และความเสี่ยงปานกลาง (42%) ซึ่งเป็นค่าที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยรวมและมากกว่ากลุ่มแรงงานชายอายุน้อง (ภาพที่ 3) โดย 56% ของแรงงานกลุ่มนี้เป็นลูกจ้างในภาคธุรกิจเอกชนและ 39% ประกอบอาชีพด้านบริการ ทำให้การจ้างงานของแรงงานหญิงกลุ่มนี้มีความผันผวนในระดับสูงในช่วงวิกฤติและได้รับผลกระทบที่สูงจากหยุดชะงักของระบบเศรษฐกิจ (economic disruption) และมาตรการ social distancing
ภาพที่ 3 สัดส่วนจำนวนแรงงาน (%) ในแต่ละอุตสาหกรรมแบ่งตามระดับความเสี่ยง
ที่มา - Paweenawat and Liao (Forthcoming (b))
บทสรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
บทความนี้ได้นำเสนอผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อกลุ่มแรงงานผู้หญิงไทย โดยพบว่าแรงงานผู้หญิงเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการจ้างงานสูงในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้แรงงานผู้หญิงมีการเพิ่มของอัตราการว่างงานสูงกว่าแรงงานผู้ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงงานผู้หญิงในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังแสดงให้เห็นว่า แรงงานที่มีลูกจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากวิกฤติการณ์โควิด-19 มากกว่าแรงงานที่ไม่มีลูก โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานผู้หญิงที่มีลูกอายุน้อย (0-5 ปี) ที่ได้รับผลกระทบเชิงลบต่อค่าจ้างสูงสุด
ดังนั้น มาตรการให้ความช่วยเหลือแรงงานในช่วงวิกฤติของภาครัฐ ควรที่จะนำมิติทางเพศมาประกอบการพิจารณาด้วย โดยงานวิจัยของ Hidrobo et al. (2020) พบว่า ในช่วงระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีมาตรการช่วยเหลือออกมามากกว่า 564 โครงการทั่วโลก อย่างไรก็ตาม มีเพียง 11% ที่นำมิติทางเพศมารวมไว้ในมาตรการช่วยเหลือนี้ นอกจากนั้น มีเพียง 40 ประเทศทั่วโลกที่มีมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่คุณพ่อคุณแม่ (World Bank, 2021)
ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานภาครัฐในประเทศไทยควรพิจารณาเพิ่มสวัสดิการคุณพ่อคุณแม่ ทั้งการลาดูแลบุตรโดยได้รับค่าจ้าง ความช่วยเหลือในช่วงวิกฤติ การชดเชยค่าจ้างและการให้เงินช่วยเหลือแก่คุณพ่อคุณแม่ที่สูญเสียรายได้เนื่องจากความจำเป็นในการดูแลเด็ก รวมถึง การสนับสนุนให้มีการทํางานที่ยืดหยุ่นด้านเวลามากขึ้น เป็นต้น
หมายเหตุ – บทความนี้สรุปจากบทความวิจัย 3 บทความของ Paweenawat and Liao (2021, forthcoming (a) (b)) ที่ศึกษาประเด็นผลกระทบโควิด-19 ต่อตลาดแรงงานในประเทศไทย ดังนี้
อ้างอิงเพิ่มเติม