การถกเถียงเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ บทบาทของสตรีและเด็กในทางเศรษฐกิจ รวมทั้งในทางสังคม เกิดขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน ทั้งระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศ สำหรับระหว่างประเทศแล้ว ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศและบทบาทของสตรีในทางเศรษฐกิจและสังคมได้รับการบรรจุไว้ในวาระต่าง ๆ ที่หลากหลาย ทั้งในองค์การระดับโลกอย่างสหประชาชาติ (UN) หรือในระดับภูมิภาคอย่างเอเปค (APEC) บทความชิ้นนี้จะพาผู้อ่านไปสำรวจมุมมองต่าง ๆ โดยเฉพาะบทบาทการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และบทบาทของสตรีในทางเศรษฐกิจของเอเปค
การส่งเสริมบทบาทของสตรีในทางเศรษฐกิจและสังคมในเวทีระหว่างประเทศ
รายงานของธนาคารโลกชี้ให้เห็นว่า สตรีจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในอนาคต ทั้งในส่วนปัจจัยที่เป็นเรื่องของสัดส่วนของประชากรสตรีที่จะมีมากกว่าบุรุษ การมีสัดส่วนในการบริโภคของตลาดมากขึ้น สตรีจึงเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกและกำลังเป็นกลุ่มเป้าหมายที่น่าจับตามอง (มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ, 2561) ปัญหาความเท่าเทียมทางเพศและบทบาทของสตรีในทางเศรษฐกิจและสังคมก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ และได้รับการให้ความสนใจจากประชาคมโลก จากการรายงานของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ในปี 2017 ความเหลื่อมล้ำระหว่างบุรุษกับสตรีในทางเศรษฐกิจมีมากถึง 59% และ 29% ในทางการเมือง และยังแสดงให้เห็นอีกว่าในหลายภูมิภาคยังต้องใช้เวลานานอย่างมากในการลดความเหลื่อมล้ำดังกล่าว (กานท์กลอน รักธรรม, 2017) นอกจากนี้ เอมเนสตี้ (2019) ยังชี้ให้เห็นว่า สตรีต้องเผชิญกับปัญหาความไม่เท่าเทียมในเรื่องของรายได้ การปกป้องสิทธิแรงงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำงานดูแลที่ไม่ได้รับรายได้ สตรีต้องทำงานบ้านและการดูแลโดยไม่มีค่าตอบแทนมากกว่าบุรุษ เป็นต้น
ในเวทีระหว่างประเทศที่สำคัญอย่างองค์การสหประชาชาติ (UN) จึงมีการบรรจุปัญหาเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศไว้ทั้งในเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs) ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาของมนุษยชาติ 8 เป้าหมายระหว่างปี 2000-2015 และได้รับการสานต่อมาในการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ระหว่างปี 2015-2030 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ถูกพัฒนาบนความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จำนวน 17 เป้าหมาย (ณัชฎา คงศรี, 2020) ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศเป็นเป้าหมายพัฒนาที่ 5 คือ บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิง (Achieve gender equality and empower all women and girls) เป้าหมายหมายดังกล่าวครอบคลุมทั้งเรื่องการยุติการเลือกปฏิบัติและขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบต่อสตรีและเด็กหญิง การยอมรับและให้คุณค่าต่อการดูแลและทำงานบ้านแบบไม่ได้รับค่าจ้าง การมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลในการเป็นผู้นำและการตัดสินใจในทุกระดับ การเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า นอกจากนี้ เป้าหมายนี้ยังเน้นว่าควรมีการดำเนินการปฏิรูปเพื่อให้สตรีมีสิทธิเท่าเทียมกันในทรัพยากรทางเศรษฐกิจและความเสมอภาคทางเพศด้านอื่น ๆ ในทุกระดับ และการเพิ่มพูนการใช้เทคโนโลยีที่ส่งเสริมสตรีและเด็กหญิง (สหประชาชาติ, ม.ป.ป.) เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อครบกำหนดในปี 2030 แล้ว ประชาคมโลกจะสามรถบรรลุเป้าหมายตามเป้าหมายดังกล่าวได้มากน้อยอย่างไร
เอเปคกับการส่งเสริมบทบาทของสตรีและความเท่าเทียมทางเพศในทางเศรษฐกิจและสังคม
เอเปคเองก็ตระหนักดีถึงบทบาทของสตรีที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีแรงงานสตรีมากถึง 600 ล้านคน โดยกว่าร้อยละ 60 ทำงานอยู่ในภาคทางทาง (formal sector) ดังนั้น การไม่ส่งเสริมบทบาทของสตรีในทางเศรษฐกิจจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจหลายหมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี ด้วยเหตุนี้ วิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค (APEC Putrajaya 2040) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างความอยู่ดีกินดี เศรษฐกิจที่ยั่งยืน เข้มแข็ง และครอบคลุม ก็ได้รวมเอาประเด็นการส่งเสริมและสร้างความเท่าเทียมทางเพศและบทบาทของสตรีเข้าไว้ในวิสัยทัศน์ด้วย (APEC, n.d.)
ในปี 2011 เอเปคได้จัดทำนโยบายและเป้าหมายการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับสตรีและเศรษฐกิจขึ้นในการประชุมที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ เอเปคได้ประกาศนโยบายหุ้นส่วนว่าด้วยสตรีและเศรษฐกิจ (Policy Partnership on Women and the Economy: PPWE) ในเวทีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสครั้งที่ 2 ในเดือนพฤษภาคม 2011 ประกาศดังกล่าวเป็นการเริ่มสร้างเครือข่ายผู้นำสตรีจากภาคเอกชน เพื่อยกระดับความร่วมมือในการส่งเสริมบทบาทของสตรีในทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีกุญแจสำคัญ 5 ประการ คือ การเข้าถึงเงินทุน (Access to capital), การเข้าถึงตลาด (Access to market), การส่งเสริมทักษะและศักยภาพ (Skills and capacity building), ความเป็นผู้นำและตัวแทนของสตรี (Women’s leadership and agency) และนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Innovation and technology) นอกจากนี้ เพื่อติดตามการทำงานว่ามีความคืบหน้าอย่างไรแล้ว เอเปคได้จัดทำ APEC Women and the Economy Dashboard เพื่อประเมินการทำงาน โดยหน่วยสนับสนุนนโยบายของเอเปค (APEC Policy Support Unit) ได้มีการออกรายงาน The APEC Women and the Economy Dashboard ครั้งแรกในเดือนกันยายน 2015 และยังมีการดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบัน (APEC, 2022b)
แม้ว่าเอเปคจะมีการออกตัวชี้วัดและการรายงานการทำงานตามกุญแจสำคัญ 5 ประการข้างต้นก็ตาม แต่แผนงานที่ชัดเจนในเรื่องการส่งเสริมบทบาทของสตรีก็ยังไม่มีชัดเจน จนกระทั่งในปี 2019 การประชุมเอเปคที่ประเทศชิลีได้มีการรับรองแผนงาน The La Serena Roadmap for Women and Inclusive Growth (2019-2030) เพื่อสร้างแนวทางการทำงานการพัฒนาความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจของสตรีที่เป็นรูปธรรม โดยแผนงานของเอเปคมีการดึงเอาหลักการของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของภูมิภาค โดยมีเป้าหมาย ดังนี้ (APEC, 2019)
1) ส่งเสริมการเข้าถึงเงินทุนและตลาดของสตรี (Empowering women through access to capital and markets) โดยการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมให้สตรีในภาคส่วนต่าง ๆ สามารถเข้าถึงเงินทุนและตลาดได้มากขึ้น ส่งเสริมการเป็นเจ้าของกิจการ โดยเฉพาะในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) รวมทั้งส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาทักษะและศักยภาพ การให้คำปรึกษา โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัล และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในตลาดต่าง ๆ ของภูมิภาคระหว่างกัน
2) เสริมสร้างความเข้มแข็งของการมีส่วนร่วมของแรงงานสตรี (Strengthening women’s labor force participation) เป้าหมายนี้เป็นเป้าหมายส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิแรงงานของสตรี การส่งเสริมความก้าวหน้าในการทำงาน ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างเพศ รวมทั้งการป้องกันความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติทางเพศในที่ทำงาน
3) การปรับปรุงการเข้าถึงตำแหน่งผู้นำในการตัดสินใจทุกระดับของสตรี (Improving access of women to leadership positions in all levels of decision making) เป้าหมายนี้เป็นเป้าหมายที่ต้องการให้สตรีมีบทบาทในฐานะผู้นำองค์กร การอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจตัดสินใจที่เท่าเทียมกับบุรุษมากขึ้นทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน
4) การสนับสนุนการศึกษา การฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะของสตรี รวมทั้งการเข้าถึงต่าง ๆ ในโลกของการทำงานที่เปลี่ยนแปลง (Support women’s education, training and skills development and access in a changing world of work) เป้าหมายนี้เป็นเป้าหมายการส่งเสริมการลดทัศนคติการต่อต้านเพศในทางการศึกษา ลดอุปสรรคการเข้าถึงการศึกษาและการประกอบอาชีพของสตรีและเด็กหญิง โดยเฉพาะในการศึกษาและอาชีพด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ (STEM) ส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การฝึกอบรมทักษะดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น สตรีที่ยากจน ทุพพลภาพ หรืออยู่ในพื้นที่ชนบท รวมทั้งส่งเสริมการลดการก่อความรุนแรงทางเพศ การล่วงละเมิดและการกลั่นแกล้งทางออนไลน์
5) ส่งเสริมพลังทางเศรษฐกิจของสตรีด้วยการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล (Advancing women’s economic empowerment through data collection and analysis) ในส่วนนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลทางสถิติมาวิเคราะห์ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะข้อมูลที่สามารถวิเคราะห์ในระดับที่แบ่งแยกเพศได้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการส่งเสริมเชิงนโยบายและการวางแผนนโยบายในอนาคต
เอเปคยังมีการจัดตั้งทุนย่อยสำหรับสตรีและเศรษฐกิจ (APEC Women and the Economy Sub-fund) ซึ่งมีเป้าหมายในการเพิ่มการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสตรีที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น นอกจากแผนงานและการจัดตั้งกองทุนแล้ว ในแต่ละปีเอเปคจะมีการจัดเวทีการประชุมว่าด้วยสตรีกับเศรษฐกิจอยู่เสมอ (Women and the Economy Forum: WEF) ครั้งล่าสุดจัดเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2022 ที่ผ่านมา ณ กรุงเทพมหานคร โดยมีนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ของประเทศไทยเป็นประธาน ในที่ประชุมที่ผ่านมาได้มีการหารือเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการ Aotearoa ซึ่งเป็นแผนงานสำคัญในการบรรลุวิสัยทัศน์ปุตราจายา ซึ่งประเด็นความเท่าเทียมทางเพศและบทบาทของสตรีก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนงาน (APEC, 2022a)
กล่าวโดยสรุป เอเปคให้ความสำคัญกับการส่งเสริมบทบาทของสตรีและให้ความสนใจประเด็นความเท่าเทียมทางเพศในทางเศรษฐกิจและสังคม ดังจะเห็นได้จากแผนงานต่าง ๆ ที่เอเปคได้พยายามจัดทำขึ้น ทั้งประกาศนโยบาย แผนปฏิบัติงาน การจัดตั้งกองทุน การกำหนดตัวชี้วัดต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า แผนงานต่าง ๆ ของเอเปคเป็นการนำเอาแผนงานขององค์การสหประชาชาติมาปรับใช้เป็นส่วนใหญ่ และการรายงานตัวชี้วัดต่าง ๆ ก็อิงกับรายงานขององค์การในลักษณะภาครัฐเป็นหลัก แม้ว่าจะมีความพยายามดึงความร่วมมือจากภาคเอกชนก็ตาม จึงต้องติดตามต่อไปในอนาคตว่าเอเปคจะบรรลุเป้าหมายของตนเองอย่างไร รวมทั้งเอเปคจะสามารถพัฒนาเป้าหมาย นโยบายในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและบทบาทของสตรีในทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีลักษณะเฉพาะสำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้อย่างไร
รายการอ้างอิง