การใช้ e-commerce เพื่อเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันให้กับธุรกิจโรงแรมและที่พัก

2161 views
ภาคบริการของไทยมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เป็นอุตสาหกรรมสร้างรายได้สำคัญ อุตสาหกรรมโรงแรมและที่พักมีมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) สูงมากเป็นอันดับ 2 รองจากอุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง  แต่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมโรงแรมและที่พัก เนื่องจากนักท่องเที่ยวลดลง รวมถึงจากมาตรการจำกัดการแพร่ระบาดและมาตรการจำกัดการเดินทาง  มูลค่า e-commerce ของอุตสาหกรรมโรงแรมและที่พักจึงลดลงถึงร้อยละ 54.1 (สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, 2564)

ด้วยความสำคัญของมูลค่า e-commerce และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ข้างต้น บทความนี้จะวิเคราะห์ความสามารถด้านการแข่งขันของอุตสาหกรรมโรงแรมและที่พักในธุรกิจ e-commerce ตามแนวคิดการวิเคราะห์ Porter’s Diamond Model  แนวคิด Diamond Model นี้วิเคราะห์ความสามารถด้านการแข่งขันของอุตสาหกรรมจาก 6 ปัจจัย คือ (1) สภาพปัจจัยการผลิต (2) อุปสงค์สินค้า (3) อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องและสนับสนุน (4) กลยุทธ์ โครงสร้าง และสภาพการแข่งขันของผู้ผลิต (5) บทบาทของรัฐ และ (6) โอกาสและเหตุสุดวิสัย 

จากกรอบแนวคิด Diamond Model ดังกล่าว e-commerce ส่งผลโดยตรงกับปัจจัยด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและสนับสนุน และปัจจัยด้านอุปสงค์สินค้า โดยมีโรงแรมและที่พักตัวกลางเชื่อมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนเข้ากับนักท่องเที่ยวและผู้เข้ามาพัก ผ่านระบบหลังบ้านและระบบหน้าบ้านของ e-commerce (ดูรูปที่ 1) 

รูปที่ 1 ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตลาด E-commerce ในอุตสาหกรรมโรงแรม
ที่มา: ดัดแปลงและเพิ่มเติมจาก Awadallah and Saad (2017)


อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องและสนับสนุน  ประเทศไทยเป็นจุดมุ่งหมายอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รัฐบาลมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ และมีชื่อเสียงด้านอาหารทำให้มีรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอาหาร แต่อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอย่างการขนส่งนักท่องเที่ยวในพื้นที่ยังไม่ครอบคลุมหรือสะดวกสบายเพียงพอ  

ในส่วนของ e-commerce แม้ว่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องและสนับสนุนจะใช้ e-commerce เชื่อมโยงอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อออกแพ็คเกจการท่องเที่ยว ให้โรงแรมนำเสนอต่อนักท่องเที่ยวและผู้มาพัก  แต่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องและสนับสนุนนี้ ยังมีการใช้แอปพลิเคชันหลังบ้าน (Back-end Applications) เพื่อสั่งซื้อสินค้าและวัตถุดิบสำหรับดำเนินธุรกิจ ค่อนข้างน้อย

สภาพของความต้องการของนักท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปจากการปิดประเทศ ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยยังมีความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยวในประเทศ โดยพฤติกรรมการท่องเที่ยวเป็นไปตามช่วงวัย (Generation) ของนักท่องเที่ยว  

ในส่วนของ e-commerce มีผู้ให้บริการ e-commerce หลายรูปแบบ อาทิ Metasearch สำหรับค้นหาแหล่งท่องเที่ยวและพัก, OTA ให้บริการด้านการจองที่พักโรงแรม, Hotel Direct Channel หรือช่องทางการสื่อสารของโรงแรมที่นักท่องเที่ยวสามารถจองที่พักโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง และ Property Management System หรือ PMS ซึ่งเป็นระบบการจัดการห้องพักที่ผู้ประกอบการสามารถใช้บริหารจัดการธุรกิจ  ผู้ประกอบการโรงแรมและที่พักมักเน้นการใช้ e-commerce กับการจองที่พักซึ่งเป็นส่วนปลายน้ำของกิจกรรมฝั่งนักท่องเที่ยวและผู้มาเข้าพักผู้บริโภค 

นอกจากขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องและสนับสนุน และด้านสภาพความต้องการของนักท่องเที่ยว ที่ e-commerce เกี่ยวข้องโดยตรงแล้ว ความสามารถด้านการแข่งขันของธุรกิจโรงแรมและที่พักยังต้องพิจารณาปัจจัยด้านสภาพปัจจัยการผลิต กลยุทธ์ โครงสร้าง และการแข่งขันของผู้ผลิต โอกาสและเหตุสุดวิสัย และบทบาทของภาครัฐ อีกด้วย  

สภาพปัจจัยการผลิตของธุรกิจโรงแรมและที่พักในประเทศไทย  ประเทศไทยมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์และมีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม ค่าครองชีพต่ำ  ธุรกิจเริ่มมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการบริหารจัดการภายในโรงแรม ผู้ประกอบการโรงแรมส่วนใหญ่ใช้บริการตัวแทนการท่องเที่ยว หรือ OTA (Online Travel Agency) เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น แต่ SMEs มีการพึ่งพา OTA มากทำให้มีอำนาจต่อรองต่ำ ขณะที่จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็ส่งผลกระทบให้มีการปรับลดพนักงาน 

กลยุทธ์ โครงสร้าง และสภาพการแข่งขันของผู้ผลิต อุตสาหกรรมโรงแรมในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง ธุรกิจโรงแรม SMEs มักใช้กลยุทธ์ด้านราคาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน ธุรกิจโรงแรม SMEs ก็มีความยืดหยุ่นสูงและปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการปรับตัวของผู้ประกอบการโรงแรมและที่พักหลายแห่งที่ทำการลดต้นทุนในหลาย ๆ ส่วน

ด้านโอกาส/เหตุสุดวิสัย ธุรกิจโรงแรมและที่พักเป็นธุรกิจแรก ๆ ที่นำ e-commerce มาปรับใช้กับรูปแบบการจองที่พัก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่หลายประเทศทั่วโลกมีมาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 นักท่องเที่ยวมีความกังวลและความหวาดกลัวต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19  

บทบาทของภาครัฐ  รัฐบาลมีบทบาทอย่างยิ่งในการกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยมีโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ  นอกจากนี้ยังมีการจัดทำมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย “Amazing Thailand Safety & Health Administration หรือ SHA” เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้บริการโรงแรมและที่พัก

จากการวิเคราะห์ความสามารถด้านการแข่งขันของธุรกิจโรงแรมและที่พัก ตามแนวคิด Diamond Model ข้างต้นพบว่า การใช้ e-commerce พัฒนาความสามารถด้านการแข่งขันของธุรกิจโรงแรมและที่พักมีอุปสรรค อย่างน้อย 3 ประการ คือ 

1. ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและที่พักยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐไม่ตรงกับความต้องการ โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เอื้ออำนวย เครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียรหรือไม่ครอบคลุมเพียงพอ ระบบไฟฟ้าไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล เป็นอุปสรรคที่จะใช้ประโยชน์จาก e-commerce ซึ่งส่งผลไปจนถึงระบบการชำระเงิน  

2. ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs และผู้ประกอบการรายใหม่ต้องพึ่งพา OTA อย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการมีอำนาจต่อรองกับ OTA ต่ำ เนื่องจากรายได้หลักของผู้ประกอบการเหล่านี้ได้จาก OTA 

3. มีโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตและที่พักส่วนบุคคลซึ่งเข้ามาแข่งขันบนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นทางเลือกของผู้บริโภคด้วยราคาที่ต่ำกว่าเนื่องจากต้นทุนการประกอบการที่น้อยกว่า ก็เป็นปัญหาแข่งขันในตลาด E-commerce ของธุรกิจโรงแรมและที่พัก

เพื่อพัฒนาความสามารถด้านการแข่งขันในธุรกิจ e-commerce ของอุตสาหกรรมโรงแรมและที่พัก นอกจากการขยายโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนธุรกรรมผ่าน e-commerce เช่น เครือข่ายระบบอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมและมีเสถียรภาพแล้ว ยังต้องพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและเพิ่มอำนาจต่อรองกับ OTA และลดการพึ่งพาแพลตฟอร์ม OTA โดยอาจดำเนินการจากการพัฒนา Hotel Direct Channel เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถจองและชำระเงินโดยตรงกับโรงแรม และการแสวงหารายได้เพิ่มเติมจากช่องทางอื่น โดยเฉพาะระหว่าง B2B จากต่างประเทศ รวมถึงร่วมกับอุตสาหกรรมอื่นในพื้นที่ในการนำเสนอคุณค่าใหม่เพื่อพัฒนาธุรกิจในพื้นที่ไปด้วยกัน พร้อมกันนี้ ควรสนับสนุนการใช้แพลตฟอร์มการท่องเที่ยว และ OTA สัญชาติไทยควบคู่กันด้วย


*หมายเหตุ บทความนี้เรียบเรียงจากการศึกษาวิจัย โครงการแนวทางการปรับตัวและแสวงประโยชน์และโอกาสของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมจากตลาดอีคอมเมิร์ซ โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) (สคพ.) 
คณะนักวิจัยประกอบด้วย นายวิมล ปั้นคง (สคพ.) นางสาวภัชชา ธำรงอาจริยกุล (สคพ.) รองศาสตราจารย์ ดร.แก้วขวัญ ตั้งติพงศ์กูล (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ดร.อัครพล ฮวบเจริญ (สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า) อาจารย์ สุกฤษฏิ์ วินยเวคิน (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) อาจารย์ ดร.ปภาวดี ธโนดมเดช (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และนายสุรวุฒิ แสงแก้ว ผู้ช่วยวิจัย

รายการอ้างอิง
• Awadallah N, Saad SG (2017) E-Procurement as a New Trend in Hospitality Industry: A Descriptive Study in Egyptian Hotels. J Hotel Bus Manage 6: 168. doi: 10.4172/2169-0286.1000168
• สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์. (2564). เอกสารแถลงผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ปี 2564. https://www.etda.or.th/th/Useful-Resource/publications/Value-of-e-Commerce-Survey-in-Thailand-2021-Slides.aspx
ภัชชา ธำรงอาจริยกุล
นักวิจัย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ศึกษาวิจัยประเด็นด้านกฎหมาย