ก่อนการประชุมใหญ่เอเปค : บทสำรวจวาระการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งสุดท้าย และคณะทำงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

1982 views
การประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 กำลังใกล้เข้ามาทุกที โดยจะมีการจัดประชุม ณ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2022  การประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมแบบพบหน้ากันเต็มรูปแบบ (physical meeting) ครั้งแรก หลังจากต้องจัดประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (video conference) เมื่อปีที่ผ่านมา เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 3 (APEC Third Senior Officials’ Meeting : SOM3) เมื่อวันที่ 16-31 สิงหาคม ที่ผ่านมา จึงเป็นการประชุมหลักครั้งสุดท้าย เพื่อสรุปวาระและประเด็นขับเคลื่อนของไทย  นอกจากนี้ในช่วงเวลาเดียวกัน ยังมีการประชุมรัฐมนตรีเอเปค อีก 4 สาขา ที่ครอบคลุมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว สุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และป่าไม้  บทความฉบับนี้จะพาผู้อ่านไปสำรวจวาระต่าง ๆ ของการประชุมในช่วงเดือนสิงหาคม และเตรียมนำเสนอเป็นวาระการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในเดือนพฤศจิกายน 2022 ต่อไป

การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ที่ยั่งยืน ยืดหยุ่นและครอบคลุม

เป็นเรื่องสำคัญของเราที่จะสานต่อการเจรจาและทำงานเพื่อค้นหาเป้าหมายร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉากทัศน์ของความท้าทายที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งวิกฤตสุขภาพ เศรษฐกิจ และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม” (APEC, 2022 f )

ความข้างต้น นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย กล่าวในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งที่ 3  ข้อความดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น  การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะหลังจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจซบเซาอย่างหนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งวิกฤติการเมืองระหว่างประเทศทั้งในยุโรปและเอเชียในปัจจุบัน  สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้หน่วยสนับสนุนนโยบายเอเปค (APEC Policy Support Unit) ออกรายงานปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของภูมิภาค เหลือร้อยละ 2.5 ในปี 2022 ซึ่งลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ร้อยละ 3.2 ขณะที่การคาดการณ์การเติบโตในปี 2023 ก็ถูกปรับลดลงจากร้อยละ 3.4 เหลือร้อยละ 2.6 (APEC, 2022 c )

การประชุมครั้งนี้มีการหารือสำคัญ 3 ประเด็นใหญ่ คือ 1. ความตกลงเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) 2. การอำนวยความสะดวกและรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ (APEC Safe Passage Taskforce) และ 3. การจัดทำเป้าหมายกรุงเทพเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) (เอเปค 2022 ประเทศไทย, 2022)  การหารือทั้ง 3 เรื่องมีเป้าหมายสำคัญคือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้การติดต่อข้ามพรมแดนมีข้อจำกัดจากมาตรการทางสาธารณสุข 

จากการประชุมระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ สำนักเลขาธิการเอเปค ที่มี ดร.รีเบคกา สตา มาเรีย (Dr. Rebecca Sta Maria) เป็นผู้แทน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ผลสรุปวาระที่จะเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในเดือนพฤศจิกายน ดังนี้ (กระทรวงการต่างประเทศ, 2022; APEC, 2022 f )

ประการแรก การสานต่อการเจรจาและการปรับปรุงแผนดำเนินงานความตกลงเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดประการหนึ่งของเอเปคในการส่งเสริมการค้าแสรีแบบพหุภาคี  ที่ประชุมเห็นชอบให้ส่งเสริมการเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะให้มีแผนงานเกี่ยวกับกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมากขึ้น  ที่ประชุมสนับสนุนให้เริ่มจัดทำแผนงานขับเคลื่อนระยะยาวตามความร่วมมือ 3 เสาหลัก คือ การค้าการลงทุน นวัตกรรมและดิจิทัล และการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามวิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040 และสอดคล้องกับสถานการณ์ยุคหลังโควิด-19  ที่ประชุมจะเสนอแผนงานดังกล่าวให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคเห็นชอบในเดือนพฤศจิกายน

ประการที่สอง การส่งเสริมความเชื่อมโยงการเดินทางข้ามพรมแดนที่สะดวกและปลอดภัย  ในการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจ APEC Safe Passage Taskforce (SPTF) ครั้งที่ 3 มีประเด็นหารือสำคัญคือ การผลักดันข้อเสนอต่าง ๆ ตามแผนงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรม  เอเปคพยายามจัดทำฐานข้อมูลเอเปค เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการเดินทางอย่างปลอดภัย ซึ่งเริ่มใช้ในเดือนกันยายน 2022 รวมทั้งสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปในอนาคต ได้แก่ การขยายกลุ่มผู้ใช้บัตรเดินทางนักธุรกิจเอเปค (ABTC) ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งร่วมกันหากลไกที่เหมาะสมเพื่อสานต่อการทำงานนี้ต่อไป เพื่อให้เอเปคพร้อมรับมือกับวิกฤตใหม่ในอนาคต โดยยังสามารถรักษาการเดินทางข้ามพรมแดนไว้ได้ หลังจากที่การปิดกั้นพรมแดนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่อการเคลื่อนย้ายสินค้าและการลงทุนอย่างมาก รวมทั้งความช่วยเหลือทางสาธารณสุขระหว่างกันด้วย

ประการสุดท้าย การนำเสนอรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ของไทย  ที่ประชุมสานต่อการจัดทำเป้าหมายกรุงเทพฯ เรื่องเศรษฐกิจ BCG  การผลักดันการเจรจาวาระความยั่งยืนของเอเปคในลักษณะองค์รวมและบูรณาการ เพื่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ การค้าและการลงทุน การจัดการทรัพยากรและการอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ และประสิทธิภาพของการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน (APEC, 2022 f ) ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่ไทยผลักดันภายใต้ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ดังนั้น เป้าหมาย BCG จึงเป็นกลไกขับเคลื่อนหลักที่จะส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างครอบคลุม สมดุล และยั่งยืน  เอกสารดังกล่าวจะนำเสนอเพื่อให้ที่ประชุมสุดยอดผู้นำเศรษฐกิจเอเปคในเดือนพฤศจิกายนพิจารณาเห็นชอบต่อไป

การท่องเที่ยว สุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และป่าไม้ กับการดำเนินงานของเอเปค

นอกจากการประชุมของกลุ่มเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคแล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ได้มีการประชุมคณะทำงานอื่น ๆ อีก 4 สาขา คือ ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว สุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และป่าไม้ ซึ่งจะทำให้เราเห็นความพยายามและความเชื่อมโยงกันระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับปัญหาความมั่นคงด้านสาธารณสุข สังคม และสิ่งแวดล้อม

การท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างมาก  การสำรวจของสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (WTTC) แสดงให้เห็นว่า จากการจ้างงานกว่า 162 ล้านตำแหน่งในปี 2019 ลดลงเหลือ 131 ล้านตำแหน่งในปี 2020 และ 138.7 ล้านตำแหน่งในปี 2021  ที่ประชุมรัฐมนตรีการท่องเที่ยวของเอเปค ครั้งที่ 11 (the 11th APEC Tourism Ministerial Meeting) ให้ความเห็นตรงกันว่า การฟื้นฟูการท่องเที่ยวเป็นกุญแจสำคัญดอกหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาค  โดยมีปัจจัยสำคัญคือ การผลักดันให้การเดินทางข้ามพรมแดนกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง  เอเปคจะอำนวยความสะดวกในการเดินทางท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและครอบคลุม  และมีนโยบายที่ตอบสนองต่อเพศสภาพเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้หญิงมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และเท่าเทียมกันในภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการการท่องเที่ยวทุกด้าน (APEC, 2022 b )

เมื่อพิจารณาด้านการท่องเที่ยวแล้ว จะเห็นได้ว่ามีความสัมพันธ์กับงานด้านสาธารณสุข  ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 12 (the 12th APEC High-Level Meeting on Health and the Economy) ผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้หารือเกี่ยวกับผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 และแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจ  ที่ประชุมเห็นว่า การค้าเสรีมิใช่เรื่องของชุมชนทางธุรกิจอย่างเดียว แต่การค้าเสรียังช่วยให้การเคลื่อนย้ายวัคซีน เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ระหว่างประเทศสะดวกยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงวัคซีนและยารักษาโรค โดยมีแนวทางสำคัญคือ การดำเนินการอย่างครบวงจร (whole-of-APEC approach) ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ทำให้การผลิตและการจัดจำหน่ายวัคซีนและสินค้าอื่น ๆ ทั่วภูมิภาคเกิดขึ้นได้ จนนำไปสู่การเปิดพรมแดนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ (APEC, 2022 b )

ในขณะเดียวกัน ภายใต้การนำเสนอรูปแบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เอเปคยังมีการจัดประชุมด้านความมั่นคงทางอาหารครั้งที่ 7 (the 7th APEC Food Security Ministerial Meeting)  รายงานล่าสุดขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (United Nation's Food and Agriculture Organisation) ได้นำเสนอข้อมูลที่น่ากังวลคือ ประชากรกว่า 2.3 พันล้านคน หรือร้อยละ 30 ทั่วโลก อยู่ในภาวะไม่มีความมั่นคงทางอาหาร  ประชากรกว่า 702-828 ล้านคนตกอยู่ในภาวะหิวโหยในปี 2021 และมีการคาดการณ์ว่าประชากรเกือบ 670 ล้านคนจะยังคงขาดสารอาหารภายในปี 2030 (APEC, 2022 e )  ที่ประชุมยังรับรองแผนปฏิบัติการตามแผนงานความมั่นคงด้านอาหาร 2030 (Plan of Food Security Roadmap Towards 2030) เพื่อเป็นแนวทางและช่วยประสานงานการดำเนินการโครงการและกิจกรรมเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค  อย่างไรก็ตาม แผนงานดังกล่าวเป็นการดำเนินการโดยสมัครใจของสมาชิก  การตกลงกันเช่นนี้ทำให้ต้องติดตามต่อไปว่าจะมีประสิทธิภาพและผลลัพธ์อย่างไรในอนาคต

การประชุมอีกกลุ่มในช่วงเดือนสิงหาคมเป็นการประชุมเกี่ยวกับการป่าไม้  ที่ประชุมรัฐมนตรีด้านการป่าไม้ครั้งที่ 5 (5th APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry) มีเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของเอเปค คือ การเพิ่มพื้นที่ป่าอย่างน้อย 20 ล้านเฮกตาร์ภายในปี 2020 ซึ่งเอเปคบรรลุเป้าหมายดังกล่าวแล้ว โดยพื้นที่ป่าได้เพิ่มขึ้น 27.9 ล้านเฮกตาร์ระหว่างปี 2007-2020  ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศไทย ได้แก่ เศรษฐกิจหมุนเวียนสีเขียว (BCG) เพื่อเอาชนะภัยคุกคามปัจจุบัน  แนวคิดนี้รวมเอาแนวทางทางเศรษฐกิจ 3 วิธี ซึ่งใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าและส่งเสริมรูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืนในทุกภาคการผลิต ซึ่งรวมถึงป่าไม้ (APEC, 2022 c )

สรุป

จากการประชุมกลุ่มต่าง ๆ ของเอเปค โดยเฉพาะการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นการประชุมสรุปวาระสำคัญที่จะเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำเศรษฐกิจเอเปคในเดือนพฤศจิกายน จะเห็นได้ว่า วาระสำคัญของการหารือ คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง  ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพได้ผลักดันแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนสีเขียว (BCG) ให้เป็นกลไกหลักเพื่อฟื้นฟูและสร้างความยั่งยืนในระยะยาว  ที่ประชุมยังให้ความสำคัญกับการเปิดพรมแดนกันอีกครั้ง หลังจากที่หลายประเทศปิดพรมแดนกันอันเป็นผลจากโควิด-19  นอกจากนี้ สิ่งสำคัญอีกประการคือ การหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) อันเป็นเป้าหมายหลักของเอเปคในการส่งเสริมการค้าเสรีแบบพหุภาคี ซึ่งต้องปรับปรุงการดำเนินการให้เข้ากับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป  เป็นที่น่าสนใจและต้องติดตามต่อไปว่า ประเทศไทยจะสามารถผลักดันและสร้างฉันทมติในที่ประชุมเดือนพฤศจิกายนได้อย่างไร  การมีฉันทมติในการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 นี้ นอกจากจะสร้างสถานะและภาพลักษณ์ของไทยในเวทีเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศแล้ว การออกฉันทมติในประชุมเอเปคยังจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลกับการเมืองภายในประเทศไม่มากก็น้อย

แม้ว่าการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคเพื่อสรุปวาระการทำงานก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำในเดือนพฤศจิกายนจะเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่เอเปคก็ยังมีการจัดประชุมด้านต่าง ๆ ในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคมอีก เช่น การประชุมรัฐมนตรีกับกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Ministerial Meeting and APEC SME Week) การประชุมว่าด้วยสตรีกับเศรษฐกิจ (Women and the Economy Forum: High-Level Policy Dialogue on Women and the Economy: HLPDWE) เพื่อส่งเสริมบทบาทของผู้ประกอบการสตรี การประชุมรัฐมนตรีคลังเอเปค (Finance Ministers’ Meeting: FMM)  การประชุมเหล่านี้เป็นความพยายามของเอเปค ให้มีการดำเนินงานที่หลากหลายประเด็น ส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม ยืดหยุ่น และยั่งยืน

รายการอ้างอิง
• กระทรวงการต่างประเทศ. (31 สิงหาคม 2022). ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 3. สืบค้นจาก 
• เอเปค 2022 ประเทศไทย. (15 สิงหาคม 2022). การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (APEC Third Senior Officials’ Meeting – SOM3 and Related Meetings) ระหว่างวันที่ 16-31 สิงหาคม 2565. สืบค้นจาก https://www.apec2022.go.th/th/apec-third-senior-officials-meeting-som3-th/
• APEC. (5 August 2022 a ). APEC Region’s Growth to Slow Amid Uncertainties and Crises. Retrieved from https://www.apec.org/press/news-releases/2022/apec-region-s-growth-to-slow-amid-uncertainties-and-crises
• APEC. (19 August 2022 b ). APEC Ministers: Regenerate Tourism Markets. Retrieved from  
• APEC. (25 August 2022 c ). APEC to Strengthen Cooperation in Sustainable Forest Management. Retrieved from https://www.apec.org/press/news-releases/2022/apec-to-strengthen-cooperation-in-sustainable-forest-management
• APEC. (26 August 2022 d ). APEC Seeks to Balance Health and Economic Policy. Retrieved from https://www.apec.org/press/news-releases/2022/apec-seeks-to-balance-health-and-economic-policy
• APEC. (26 August 2022 e ). Ensuring Food Security is Top Priority for APEC Ministers. Retrieved from https://www.apec.org/press/news-releases/2022/ensuring-food-security-is-top-priority-for-apec-ministers
• APEC. (31 August 2022 f ). APEC Cultivates Common Goals Ahead of November’s Meeting. Retrieved from https://www.apec.org/press/news-releases/2022/apec-cultivates-common-goals-ahead-of-november-s-meeting

หมายเหตุ บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับเอเปค ศูนย์ศึกษาเอเปค สถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศิวศิลป์ จุ้ยเจริญ
นักวิจัยประจำสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจัยที่กำลังศึกษาและพยายามหาประเด็นหลักสำหรับชีวิตวิชาการ