เกณฑ์ยกเว้นภาษีการรับมรดกขั้นต่ำของประเทศไทยในปัจจุบันเหมาะสมหรือไม่

2959 views
ภาษีมรดกเป็นภาษีทางตรงที่จัดเก็บบนฐานความมั่งคั่ง ซึ่งในปัจจุบันภาษีมรดกจัดเก็บจากผู้รับมรดกสำหรับมรดกที่มูลค่าสุทธิรวมเกิน 100 ล้านบาท โดยจัดเก็บภาษีในอัตราสูงสุด 10% หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมเราจึงต้องจ่ายภาษีให้แก่รัฐเมื่อทำการโอนทรัพย์สินผ่านมรดกด้วย ซึ่งสามารถตอบคำถามได้ผ่านหลักการจัดเก็บ 3 ข้อของภาษีมรดกได้แก่ 
1.การไม่ส่งเสริมให้คนสะสมหรือมีทรัพย์สินมากเกินพอดี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างภาษีชนิดนี้ขึ้นมาคือการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เกิดจากการถ่ายโอนทรัพย์สินผ่านทางมรดกจึงทำการเก็บภาษีจากการรับมรดกที่มีมูลค่าสูงเพื่อนำไปพัฒนาประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม 
2.หลักผลประโยชน์ (Benefit Principle) คือการที่มรดกสามารถตกทอดมาถึงลูกหลานได้นั้นก็เนื่องมาจากการที่รัฐให้ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การจ่ายภาษีจึงเป็นสิ่งที่สมควร 
3.หลักความสามารถของการจ่าย (Ability-to-pay Principle) ลูกหลานที่ได้รับมรดกจำนวนมาก ถือว่ามีรายได้และกำลังทรัพย์ที่มากพอ ทำให้สามารถจ่ายภาษีบำรุงรัฐได้มากด้วย
ในอดีตประเทศไทยเคยมีการจัดเก็บภาษีมรดกมาก่อน โดยมีการประกาศใช้ในปี พ.ศ.2476 หลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ก็การประกาศใช้ได้เพียง 11 ปี ก็ทำการเลิกจัดเก็บไปในปี พ.ศ.2487 จากปัญหาความซ้ำซ้อนและยุ่งยากในการจัดเก็บ ความยากในการประเมินมูลค่า และช่องโหว่ที่ก่อให้เกิดปัญหาการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี 

ในปี พ.ศ.2559 ประเทศไทยได้มีการนำภาษีมรดกกลับมาใช้อีกครั้ง แต่ภาษีมรดกฉบับใหม่นั้นจะต่างจากที่เคยใช้ในอดีต คือปัจจุบันจะทำการเก็บภาษีจากผู้รับมรดกเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากที่เคยปฏิบัติในอดีตที่จะทำการจัดเก็บภาษีทั้งจากกองมรดกก่อนทำการถ่ายโอนมรดกและจากผู้รับมรดกหลังได้รับมรดกจากกองแล้ว ทำให้ภาษีมรดกในปัจจุบันเรียกว่า “ภาษีการรับมรดก” แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือตั้งแต่มีการเริ่มเก็บภาษีการรับมรดกในปี พ.ศ.2560 จนถึงปี พ.ศ.2564 ตลอดระยะเวลา 5 ปี รัฐบาลสามารถเก็บภาษีการรับมรดกได้เฉลี่ยเพียงปีละ 261 ล้านบาท ซึ่งรายได้รวมจากการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลตลอด 5 ปีดังกล่าวโดยเฉลี่ยคือ ประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท หมายความว่าภาษีการรับมรดกสร้างรายได้จากภาษีได้ให้แก่รัฐบาลเพียงร้อยละ 0.01 จากภาษีทั้งหมดที่รัฐเก็บได้เท่านั้น 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าภาษีการรับมรดกนั้นสามารถสร้างรายได้ให้แก่รัฐในสัดส่วนที่น้อยมาก โดยสาเหตุนั้นมีหลายประการ ได้แก่ การที่จะเก็บภาษีมรดกได้นั้นขึ้นอยู่กับการเสียชีวิตของผู้ที่เป็นเจ้ามรดกส่งผลให้ปริมาณภาษีที่เก็บได้ในแต่ละปีจะมีความแตกต่างกันมาก เพราะขึ้นอยู่กับจำนวนของผู้ที่เสียชีวิตในปีนั้น หรือการที่รัฐไม่สามารถติดตามและประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริงของกองมรดกได้ถูกต้อง แต่ปัญหาที่สำคัญก็คือการที่เกณฑ์ยกเว้นภาษีการรับมรดกของประเทศไทยนั้นค่อนข้างสูง โดยมีเกณฑ์ยกเว้นอยู่ที่มูลค่า 100 ล้านบาท ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับมรดกจากกองมรดกไม่ถึง 100 ล้านบาท ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี

หากพิจารณาว่าตัวเลข 100 ล้านบาทนั้นเป็นตัวเลขที่สูงเกินไปหรือไม่สำหรับครัวเรือนในประเทศไทย จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยแสดงให้เห็นว่า บัญชีธนาคารที่มียอดเงินฝากมากกว่า 100 ล้านบาทในประเทศไทยนั้นมีเพียง 10,753 บัญชี จากจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งหมดที่มีจำนวน 114,639,168 บัญชี (ข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2565) หรือมีเพียงสัดส่วนร้อยละ 0.01 จากทั้งหมดเท่านั้น หรือหากมาวิเคราะห์ด้วยข้อมูลการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี พ.ศ.2562 (SES) พบว่าครัวเรือนไทยมีทรัพย์สินหลังหักหนี้สิน ณ เปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 50 อยู่ที่ประมาณ 7 แสนบาทต่อครัวเรือนเท่านั้น และแม้จะเป็นที่ ณ เปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 99 ก็มีทรัพย์สินหลังหักหนี้สินที่ประมาณ 11.5 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งก็ยังคงน้อยกว่าตัวเลข 100 ล้านบาทกว่า 9 เท่าตัวอยู่ดี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกณฑ์ยกเว้นภาษี 100 ล้านบาทนั้นไม่เหมาะสมกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศจะไม่ได้เข้ามาอยู่ในฐานภาษี จึงไม่แปลกที่ภาษีมรดกจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่รัฐบาลในแต่ละปีในสัดส่วนที่น้อยมาก 

หากนำเกณฑ์ยกเว้นภาษีการรับมรดกที่มูลค่า 100 ล้านบาทของประเทศไทยไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ที่มีการใช้ภาษีการรับมรดกเช่นเดียวกับประเทศไทย เพื่อนำมาพิจารณาว่าเกณฑ์การยกเว้นภาษีของประเทศอื่นนั้นมีความแตกต่างหรือใกล้เคียงกับเกณฑ์ของประเทศไทยหรือไม่ โดยเกณฑ์ยกเว้นภาษีการรับมรดกที่จะนำมาใช้เปรียบเทียบนั้นจะเป็นเกณฑ์ที่ใช้กับความสัมพันธ์ที่ผู้รับมรดกเป็นทายาทโดยตรงของเจ้าของมรดกเท่านั้น ซึ่งใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2565
1.ประเทศญี่ปุ่น มีเกณฑ์ยกเว้นภาษีการรับมรดกอยู่ที่ 10 ล้านเยนหรือประมาณ 2.63 ล้านบาท 
2.ประเทศเกาหลีใต้ มีเกณฑ์ยกเว้นภาษีการรับมรดกอยู่ที่ 100 ล้านวอน หรือประมาณ 2.7 ล้านบาท 
3.ประเทศกรีซ มีเกณฑ์ยกเว้นภาษีการรับมรดกอยู่ที่ 150,000 ยูโร หรือประมาณ 5.4 ล้านบาท 
4.สหราชอาณาจักร มีเกณฑ์ยกเว้นภาษีการรับมรดกอยู่ที่ 325,000 ปอนด์สเตอร์ลิง หรือประมาณ 14 ล้านบาท 
การนำเกณฑ์การยกเว้นภาษีการรับมรดกของประเทศเหล่านี้มาเปรียบเทียบ พบว่าเกณฑ์ยกเว้นภาษีการรับมรดกของประเทศไทยนั้นสูงกว่าประเทศอื่นมากถึงระดับหลายเท่าตัว แม้ประเทศเหล่านี้จะจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ประชาชนมีรายได้สูงแล้วก็ตาม

โดยสรุป คือการวิเคราะห์เกณฑ์ยกเว้นภาษีการรับมรดกของประเทศไทย โดยเปรียบเทียบกับข้อมูลความมั่งคั่งของประชาชนในประเทศ หรือเปรียบเทียบกับเกณฑ์ยกเว้นภาษีการรับมรดกของต่างประเทศ ต่างก็บ่งชี้ว่า เกณฑ์ยกเว้นการรับภาษีมรดกของประเทศไทยที่มูลค่า 100 ล้านบาทนั้นยังไม่เหมาะสม เพราะเป็นเกณฑ์ยกเว้นภาษีที่มีมูลค่าสูงเกินไป ส่งผลให้รัฐบาลไม่สามารถสร้างรายได้จากภาษีชนิดนี้ได้ดีเท่าที่ควร และอาจทำให้วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ในการประกาศใช้ภาษีชนิดนี้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำจากถ่ายโอนทรัพย์สินผ่านทางมรดก แล้วนำภาษีที่ได้รับจากส่วนนี้ไปพัฒนาประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม ไม่ประสบความสำเร็จดังที่ตั้งวัตถุประสงค์

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนคาดหวังว่า เกณฑ์การยกเว้นภาษีการรับมรดกของประเทศไทยจะได้รับการแก้ไขให้เหมาะสมกับสภาพความมั่งคั่งจริงของครัวเรือนไทย โดยเกณฑ์ยกเว้นการเสียภาษีการรับมรดกควรทำการปรับลดให้อยู่ที่ระดับไม่เกิน 10 ล้านบาท เพื่อที่อย่างน้อยเกณฑ์การยกเว้นภาษีการรับมรดกของไทยจะได้ใกล้เคียงกับเกณฑ์ของต่างประเทศ 

นอกจากเรื่องเกณฑ์ยกเว้นภาษีแล้วนั้นภาษีการรับมรดกของไทยก็ควรได้รับการแก้ไขในเรื่องอัตราภาษีซึ่งปัจจุบันของประเทศไทยยังคงเป็นแบบอัตราภาษีคงที่ เปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราภาษีแบบขั้นบันไดที่คำนึงถึงความสัมพันธ์ของเจ้ามรดกกับผู้รับมรดกและมูลค่าของมรดกที่ได้รับเหมือนกับในต่างประเทศ รวมไปถึงการแก้ไขช่องโหว่อื่นที่เป็นปัญหาของภาษีชนิดนี้ที่ยังรอได้รับการแก้ไขเช่นกัน เพื่อที่ภาษีการรับมรดกจะได้เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการคลังที่มีประสิทธิภาพ ที่ช่วยรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังคอยบั่นทอนสภาพเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน

อ้างอิง
  • ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย และคณะ. (2565). การวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลัง แหล่งรายได้ และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ โดยคำนึงถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ. (มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย).
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2565). ยอดคงค้างเงินรับฝากแยกตามขนาดและอายุของเงินฝากของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ กุมภาพันธ์, 2565. สืบค้นเมื่อวันที่1 พฤษภาคม 2565, จาก https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/BOTWEBSTAT.aspx?reportID=188&language=th
  • พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558. (29 กรกฎาคม พ.ศ.2558). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่132 ตอนที่72 ก, หน้า1-11
  • สรชน บุญสอง และปัญญา สิทธิสาครศิลป์. (2560). กฎหมายภาษีมรดก และ กฎหมายภาษีกับเบี้ยประกันภัย. (Baker Mckenzie). สืบค้นเมื่อวันที่1 พฤษภาคม 2565, จาก shorturl.at/fgGKP
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2562). การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปีพ.ศ.2562. สืบค้นเมื่อวันที่1 พฤษภาคม 2565, จาก shorturl.at/anDOQ
  • สำนักงานเศรษฐกิจ กระทรวงการคลัง. ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาล. สืบค้นวันที่ 30 เมษายน 2565, จาก https://www.fpo.go.th/main/Statistic-Database.aspx
  • สุธีรา ชูบัณฑิต. (2557). รัฐกับการจัดเก็บภาษีมรดก. สืบค้นวันที่ 29 เมษายน 2565, จาก http://61.19.241.96/w3c/senate/pictures/content/file_1412324918.pdf
  • เอื้อมพร พิชัยสนิธ, (2557). การคลังประยุกต์กับเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนแปลงไป. (กรุงเทพ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2557). หน้า153 - 157 
  • Alan Cole. (2015). Estate and Inheritance Taxes around the World. Retrieved 1st May 2022, from https://files.taxfoundation.org/legacy/docs/TaxFoundation_FF458.pdf
  • ATOM Legal Professional Corporation. Inheritance tax in Japan. Retrieved 1st May 2022, from https://englishlawyersjapan.com/inheritance-tax-in-japan/
  • GlobalPropertyGuide. (2016). Inheritance tax and inheritance law in South Korea. Retrieved 1st May 2022, from https://www.globalpropertyguide.com/Asia/South-Korea/Inheritance
  • GOV.UK. How inheritance tax works: thresholds, rule and allowance Retrieved 1st May 2022, from  https://www.gov.uk/inheritance-tax 
  • Ilaw. (2562). ขั้นตอนการออกกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ 2560. สืบค้นวันที่ 1 พฤษภาคม 2565, จาก https://ilaw.or.th/node/5343
  • Judicare. Inheritance Tax for Greek Property. Retrieved 1st May 2022, from https://www.judicaregroup.com/site/country/lawyers-in-greece/buying-property-in-greece/inheritance-tax-greek-property/
  • OECD. (2021). Inheritance taxation in OECD countries. Retrieved 1st May 2022, from https://www.oecd.org/tax/tax-policy/inheritance-taxation-in-oecd-countries-brochure.pdf
กิตติภพ จุฑารัตนากูล
นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์