โลกหลังเรียนจบ ในอีก 4-5 ปีข้างหน้าที่พวกเราต้องเจอมีความท้าทายอย่างน้อย 4 เรื่อง
ท่ามกลางโลกที่ท้าทาย เศรษฐกิจโตต่ำ งานหายาก เทคโนโลยีแย่งงานคน แต่โลกนี้มีโอกาสสำหรับคนเก่งเต็มไปหมด
แม้เศรษฐกิจบ้านเราโตต่ำ ถ้าเราเก่ง ก็สามารถไปทำงานต่างประเทศได้ ขณะนี้หลายประเทศออกวีซ่าดึงดูดคนเก่งให้ไปอยู่กับเค้า มีมาตรการดึงดูดใจหลายอย่าง ลดภาษี ให้ค่าตอบแทนสูง เช่น Tech.Pass Program ของสิงคโปร์ที่อยากได้คนเก่งๆ ด้านเทค เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า ถ้าเราเตรียมตัวดี แม้โลกข้างหน้าท้าทาย แต่โอกาสยังเป็นของคนเก่ง
ดังนั้น หน้าที่หลักของเราในรั้วมหาวิทยาลัยคือ ต้องเรียนให้ดี ต้องเป็นคนเก่งให้ได้
สำหรับผม คนเก่งแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ เก่งงาน กับ เก่งคน ระหว่างเรียนในมหาวิทยาลัย เราควรฝึกทั้ง 2 อย่างนี้
การเป็นคนเก่ง ที่น่ารัก และเป็นประโยชน์ จะช่วยแยกเรา ให้ต่างจากคนเก่งทั่วไป โดยเราสามารถฝึกได้ตั้งแต่วันนี้
เช่น คนเรียนเก่ง อย่าเอาตัวรอดคนเดียว ช่วยติวเพื่อน สอนเพื่อน ช่วยให้เพื่อนเรียนเก่งไปด้วย เราก็จะเป็นคนเก่งที่น่ารักและเป็นประโยชน์ สำหรับคนเก่ง การติวเพื่อน นอกจากช่วยให้เพื่อนสอบผ่าน เรียนดีไปกับเรา ตัวเรายังจะเก่งขึ้น เพราะยิ่งติว เรายิ่งแม่นยำ เข้าใจลึกซึ้ง ดังนั้นจงช่วยกันเรียน อย่าหวงวิชาความรู้
บทเรียนที่สี่ รู้หน้าที่และรักษาหน้าที่ให้ดี
ยิ่งโตขึ้น เราจะมีหน้าที่มากขึ้น ในวัยนี้ หน้าที่ยังน้อย หลักๆ คือเรียน เราก็ต้องดูแลรักษาหน้าที่ให้ดี โตไปเราจะมีหน้าที่อีกหลายอย่าง ทั้งต่อการงาน ต่อครอบครัว เราจึงต้องฝึกรักษาหน้าที่ให้ดีตั้งแต่วันนี้
ในชีวิตมหาวิทยาลัย เราจะเที่ยวเล่นแค่ไหนก็ได้ แต่ต้องไม่เสียหน้าที่ เช่น ตอนผมเป็นนักศึกษา ถ้าใกล้สอบ ไปเที่ยว กลับดึกแค่ไหน ตีสอง ก็ต้องมาทบทวน ทำข้อสอบ ทั้งที่ตาจะปิด จะหลับ ก็ต้องทำ ถึงทำให้เราเรียนดี
อยากบอกพวกเราว่า จะเรียนดี ไม่ได้มาแบบฟลุ๊คๆ ต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น
เช่นเดียวกับการใช้ชีวิต อยากมีชีวิตที่ดี ก็ต้องจริงจัง ประณีต และทำงานหนักกว่าคนอื่นเหมือนกัน
ทั้งหมดนี้คือการรักษาหน้าที่ให้ดี แล้วหน้าที่จะช่วยรักษาเรา
บทเรียนที่ห้า โอกาสเป็นของคนที่พร้อม
ทุกคนอยากมีโอกาส อยากได้รับโอกาสในชีวิต
..เชื่อเถอะว่า โอกาสเป็นของทุกคน
พวกเราทุกคนจะเจอโอกาสในชีวิตบ่อยๆ
แต่คนที่คว้าโอกาสได้ คือคนที่เตรียมตัวเองให้พร้อมเท่านั้น
ที่ผมเล่าให้พวกเราฟัง ว่าโลกหลังเรียนจบเป็นอย่างไร ก็เพราะอยากให้เราเตรียมตัวให้พร้อม
ดีกว่าฟังในงานปัจฉิมนิเทศก่อนเรียนจบ ที่หลายครั้งเชิญคนมาพูดหัวข้อต่างๆ บางครั้งผมได้รับเชิญไป ก็มักคิดว่า มาพูดตอนนี้ จะไปทันอะไร ทำไมไม่บอกเรื่องเหล่านี้ ให้เร็วกว่านี้ จะได้มีเวลาเตรียมตัว
คิดอย่างนี้ เลยบอกพวกเราในสิ่งที่ควรบอก ตั้งแต่วันนี้เลยดีกว่า
เรื่องแรก ตลาดแรงงานใน 4 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร มีงานสำรวจชิ้นหนึ่ง ดูอาชีพที่ทั่วโลกต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้นใน 10 ปีข้างหน้า มีการแย่งตัว ให้ค่าจ้างเพิ่ม ผลสำรวจพบว่ามีหลายอาชีพ แต่เมื่อจัดหมวดหมู่ ปรากฏอยู่ในแค่ 3 กลุ่ม คือ พลังงาน สุขภาพ และ Data นั่นหมายความว่า เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว หากเป็นไปได้ เรามีความสนใจและมีความสามารถมากพอ ก็ควรพัฒนา พาตัวเองหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้จบแล้ว มีตลาดแรงงานดีๆ รองรับ
นอกจากนี้ ในอนาคตนายจ้างไม่ได้สนแต่ทักษะความรู้ในห้องเรียนเท่านั้น นายจ้างยังสนใจ Soft Skills หรือทักษะทางสังคม/ทางอารมณ์ ด้วย เช่น ทักษะภาษา ทักษะสื่อสาร ทักษะจัดการเวลา
ผลสำรวจพบว่า 93% ของนายจ้าง ถามหาทักษะเหล่านี้จากคนที่มาสมัครงาน นายจ้างให้ความสำคัญกับทักษะเหล่านี้มากกว่าประสบการณ์เสียอีก เรียกว่าจบแบบไม่มีประสบการณ์ ถ้ามีทักษะเหล่านี้ ก็เป็นแต้มต่อมากกว่าคนที่ทำงานมาก่อนเรา
..สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างว่า เมื่อรู้แล้ว เป็นไปได้ไหมที่จะใช้เวลาในรั้วมหาวิทยาลัย เตรียมตัวเราให้พร้อมเพื่อแสดงให้นายจ้างเห็นว่าเรามีของ มีทักษะเหล่านี้
และทุกคนไม่ต้องกลัวว่า เราโง่กว่าเพื่อน มาจากต่างจังหวัด อ่อนภาษาอังกฤษ ฐานะไม่ดี ครอบครัวไม่พร้อม สี่ปีข้างหน้า ยาวพอให้เราเปลี่ยนตัวเองในทุกเรื่องจริงๆ
และเมื่อเราเตรียมตัวพร้อม เราก็จะคว้าโอกาสที่เข้ามาในอนาคตได้
บทเรียนที่หก ทัศนคติคือทุกอย่าง
อะไรสำคัญที่สุดในการกำหนดชีวิตคนเรา
สำหรับผม ทัศนคติสำคัญที่สุด ทัศนคติคือทุกอย่าง (Attitude is everything) ทัศนคติคือเครื่องกำหนดชีวิต
เพราะทัศนคติ จะพัฒนาเป็นการกระทำ จนกลายเป็นอุปนิสัยของตัวเรา
อยากเป็นคนขยัน เป็นคนแข็งแรง เป็นคนเรียนเก่ง เป็นคนตื่นเช้า เป็นคนชอบออกกำลังกาย กระทั่งเป็นคนดี เป็นคนน่ารัก ล้วนมาจากทัศนคติทั้งนั้น
โดยเฉพาะสำหรับพวกเรา ที่ยังวัยรุ่น สี่ปีในมหาวิทยาลัย ทัศนคติสำคัญต่อเรามากๆ ในอย่างน้อย 2 เรื่อง
1. เพื่อนที่เราคบ
2. วิธีรับมือปัญหา
- ทัศนคติ กับ เพื่อนที่เราคบ
ทัศนคติเป็นตัวกำหนดคนที่เราคบ เราอยากได้เพื่อนแบบไหน จงมีทัศนคติแบบนั้น และพาตัวเองไปอยู่กับคนแบบนั้น คนที่มีทัศนคติแบบเดียวกัน มักดึงดูดกัน ในทางกลับกัน เราอยู่กับคนแบบไหน คนมีทัศนคติอย่างไร เราก็มักกลายเป็นคนแบบนั้น ดังนั้นจงระวังทัศนคติของเรา และคนที่เราอยู่ด้วยให้ดี
ในอนาคต ยิ่งเราโตขึ้น เราจะสนใจกับคำว่า Network หรือเครือข่ายมากขึ้น หลายคนเชื่อว่า Network นำมาซึ่งโอกาส หลายคนอยากมี Network ดีๆ ทั้งหมดนี้ผมบอกได้เลยว่า มาจากทัศนคติของเรา เราสามารถฝึกกำหนดวงเพื่อน หรือสร้าง Network ที่ดีของเราตั้งแต่วันนี้
- ทัศนคติ กับ วิธีรับมือปัญหา
นอกจากนี้ ตลอด 4 ปีข้างหน้า เราต้องเจอปัญหาอีกหลายอย่าง สอบตก แฟนทิ้ง เพื่อนไม่รัก ปัญหาครอบครัว ปัญหาการเงิน ฯลฯ เราต้องเจอปัญหาอีกหลายๆๆๆอย่างไปตลอดชีวิต
ทัศนคติสำคัญมากสำหรับการรับมือปัญหา ก่อนอื่น คิดเสมอเราไม่ใช่คนเดียวที่มีปัญหาในชีวิต ทุกคนต่างมีปัญหาในแบบของตัวเอง
ในวัยเรา ปัญหาที่เผชิญ อาจรู้สึกใหญ่มาก แก้ไม่ไหว แย่แน่ๆ
จำไว้ อย่าจมกับมัน ปัญหาที่เราว่าใหญ่ หลายเรื่องเล็กมากสำหรับคนที่ผ่านมาก่อน ดังนั้นอย่าเก็บไว้คนเดียว มีคนพร้อมช่วยเราแน่นอน พ่อแม่ช่วยได้ ครูบาอาจารย์ช่วยได้
จำไว้นะ เมื่อไหร่มีปัญหา ถ้าพยายามแก้เต็มที่แล้ว แต่ไม่ไหว หาตัวช่วยซะ ที่สำคัญหายใจเข้าไว้ อย่าคิดสั้นหรือทำร้ายตัวเอง มีคนช่วยเราได้แน่
.. ดังนั้น ในวัยพวกเรา ทัศนคติจึงสำคัญมาก เร่งสร้างรากฐานทัศนคติให้แข็งแรง จะช่วยทำให้เรามีหลักในชีวิต
บทเรียนที่เจ็ด ความรู้ที่ไม่มีประโยชน์ที่สุด คือ “รู้แต่ไม่ทำ” และ “รู้งี้”
ความรู้ที่ไม่มีประโยชน์ที่สุด มี 2 เรื่อง
1. รู้แต่ไม่ทำ ..ความรู้อะไร ดีแค่ไหน ถ้ารู้แล้วไม่ทำ สุดท้ายก็อยู่ที่เดิม ไม่มีประโยชน์ มีคนเยอะบนโลกนี้ รู้นู่นนี่นั่น รู้ทุกเรื่อง แต่ไม่ทำอะไร สุดท้ายก็ไม่ไปไหน จำไว้รู้ว่าอะไรดี ต้องลงมือทำด้วย
2. รู้งี้ ..คนเรารู้งี้บ่อย และมักเสียดายทีหลัง รู้งี้น่าจะตั้งใจเรียน รู้งี้น่าพยายามอีกนิด รู้งี้น่าจะไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศ รู้งี้น่าจะฝึกงาน รู้งี้น่าทำอย่างนั้นอย่างนี้ วันนี้หลายสิ่งที่ผมเอามาคุยกับพวกเรา ความตั้งใจคือเพื่อให้เราไม่ต้อง “รู้งี้” ในอนาคต

บทเรียนที่แปด วินัยทำให้เราเป็นของจริง
ทุกคนครับ
อยากเป็นคนเก่ง ไม่ยาก ..ถ้าอยากเก่งแป๊บเดียว
อยากเป็นคนดี ก็ไม่ยาก ..ถ้าอยากเป็นคนดีแป๊บเดียว
แต่ถ้าอยากเป็นคนเก่งจริง ดีจริง ..นี่สิยาก
ที่ยาก เพราะต้องรักษาความสม่ำเสมอ ต้องมีวินัยกับตัวเอง ทำชั่วครั้งชั่วคราวไม่ได้
ดังนั้น ความสม่ำเสมอ หรือวินัย (discipline) จึงเป็นตัวตัดว่าใครเป็นของจริง ของปลอม
ขยันตอนปี 1 ปี 2 แต่ ปี 3 ปี 4 เลิกขยัน สุดท้ายก็ไม่ใช่ของจริง
เป็นคนดี มีน้ำใจ ก็ต้องรักษาคุณลักษณะนี้ไปให้ได้ตลอด
เรื่องดีทุกเรื่อง ต้องทำให้สม่ำเสมอ จึงเห็นผล เช่น การอ่านหรือหาความรู้ การจะเรียนเศรษฐศาสตร์ให้ดี ต้องติดตามข่าว ต้องอ่านหนังสือพิมพ์ เพราะช่วยให้เรา ปะติดปะต่อทฤษฎีกับโลกแห่งความจริงได้ แต่ถ้าทำชั่วครั้งชั่วคราว ก็ไม่เห็นประโยชน์
ทุกอย่างที่ดีๆ จึงต้องทำให้สม่ำเสมอ ถึงเห็นผลและได้ประโยชน์จากมัน
ดังนั้น พวกเราจะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จ ต้องมีวินัย
บทเรียนที่เก้า ฝึกเป็นผู้ใหญ่ที่ดีตั้งแต่วันนี้
ปีที่แล้ว มีกระแส #ย้ายประเทศกันเถอะ
พวกเราหลายคนในวัยนี้ รู้สึกผิดหวังกับประเทศนี้ อยากย้ายประเทศ เรียนจบ อยากไปทำงานต่างประเทศ
เอาจริง พวกเราไม่ได้ผิดหวังกับประเทศนี้หรอก เราผิดหวังกับผู้ใหญ่ในประเทศนี้มากกว่า
สิ่งที่ผมอยากฝากคือ เราไม่ชอบผู้ใหญ่แบบไหน อย่าโตไปเป็นผู้ใหญ่แบบนั้น อย่าเพิ่มจำนวนผู้ใหญ่แบบที่เราไม่ชอบให้กับประเทศนี้ จงโตไป เป็นผู้ใหญ่แบบที่เราอยากเห็น หรือภูมิใจ
ทั้งนี้ พวกเราสามารถฝึกเป็นผู้ใหญ่ที่ดีตั้งแต่วันนี้
ฝึกอย่างไร ฝึกทำตัวให้เป็นคนน่าเชื่อถือ เป็นคนมีเกียรติ เป็นคนมีน้ำใจ เป็นคนที่คนอื่นพึ่งพาได้ ทั้งหมดเราสามารถฝึกได้ ตั้งแต่วันนี้ อายุเท่านี้เลย
จำไว้เสมอ ความเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้วัดกันที่อายุ แต่วัดที่การกระทำ หรือที่ในทางศาสนาพุทธเรียกว่า พรหมวิหาร ..เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่เราเรียนแต่เด็ก ใครมีพรหมวิหารครบกว่า ก็เป็นผู้ใหญ่มากกว่า
ดังนั้น จงฝึกเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ตั้งแต่วันนี้
บทเรียนที่สิบ เราเปลี่ยนโลกได้ (ถ้าอยากนะ)
เราในที่นี้โชคดีกว่าคนอื่นอีกมาก หลายคนในวัยเราไม่มีโอกาสเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ไม่มีโอกาสกินอิ่มนอนหลับ เมื่อเราได้รับโอกาสที่ดีกว่าคนอื่น จงใช้ให้ดี แบ่งปัน หรือมีส่วนทำให้โลกนี้ดีขึ้นบ้าง
อยากให้กำลังใจว่า พวกเราแม้อยู่วัยนี้ ก็เปลี่ยนโลกได้จริงๆ ถ้าอยากทำ
ยกตัวอย่าง ผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิชา TU100 ให้ นศ.คณะพาณิชย์ฯ นศ.ไปช่วยวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตข้าวแต๋นขาย เอาความรู้ที่เรียนและทักษะที่มี ไปร่วมพัฒนาสินค้า รสชาติ แพคเกจจิ้ง หาช่องทางขายใหม่ๆ ผ่านไปสองปี ชุมชนสามารถส่งสินค้าเข้าห้างได้ยอด 20 ล้านบาท คิดดูเราช่วยพลิกชุมชน ช่วยให้ชาวบ้านมีชีวิตดีขึ้นขนาดไหน
ดังนั้น อยากให้ทุกคนเห็นว่า ความรู้เป็นของดี ของมีประโยชน์ นอกจากเราเองได้ประโยชน์จากมัน เรายังใช้มัน เพื่อเปลี่ยนแปลงโลก เปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้
….
สุดท้ายอยากเป็นกำลังใจให้ทุกคน พวกเรากำลังวิ่งออกจากจุดสตาร์ทเดียวกัน เราไม่ได้แข่งกับใคร เราจะวิ่งได้ไกลแค่ไหน ขึ้นกับตัวเอง เราเป็นผู้กำหนดชีวิตตัวเอง และสี่ปีข้างหน้าคือโอกาสสำคัญ ที่เปลี่ยนชีวิตเราได้ ทั้ง
จากมืด ไปสว่าง
จากไม่เก่ง ไปเก่ง
หรือ จากสว่าง ไปมืด
จากคนเก่ง เป็นไม่เก่งก็ได้
ดังนั้น จงใช้ชีวิตให้ดี
สุดท้ายขออวยพรทุกคนในที่นี้
โดยยกคำพูด อ.ป๋วย บุคคลที่เราชาวเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์นับถือ

อ.ป๋วย พูดไว้ว่า
“คนเราจะเป็นคนดีที่สมบูรณ์ได้ต้องระลึกเสมอถึงคุณธรรม 3 ข้อ คือ ความจริง ความงาม ความดี
… ความจริง หมายถึง สัจธรรมและหลักวิชาต่าง ๆ
… ความงาม หมายถึง สิ่งต่าง ๆที่ทำให้มนุษย์มีวัฒนธรรม และความเพลิดเพลิน เป็นงานดิเรก รวมทั้งกีฬาประเภทต่าง ๆ
… ความดี นั้นหมายถึง การไม่เบียดเบียนประทุษร้ายต่อกัน ความสัตย์สุจริตและบำเพ็ญประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ถ้าขาดคุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะทำให้มนุษย์นั้นๆ บกพร่องไป”
(ป๋วย อึ๊งภากรณ์, เหลียวหลัง แลหน้า, 2519)
อยากขยายความจากที่ อ.ป๋วย พูดสักหน่อย เพราะถ้าเราไปอ่านเอง เจอคำว่า ความจริง สัจธรรม ความดี คำเหล่านี้ฟังดูไกลตัว น่าปวดหัว
สั้นๆ คือ อ.ป๋วย บอกว่า คนที่สมบูรณ์ต้องมี 3 ส่วน 1) มีความจริง ในที่นี้ก็คือความรู้ 2) ความงาม ในที่นี้อาจเป็น ดนตรี กีฬา ศิลปะ อะไรก็ได้ และ 3) ความดี คือมีน้ำใจ
ดังนั้น สุดท้ายนี้ นอกจากขอแสดงความยินดี และต้อนรับพวกเราสู่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์แห่งนี้ ขออวยพรให้สี่ปีในรั้วมหาวิทยาลัย ทุกคนได้เข้าถึงความจริง ความงาม ความดี เพื่อออกไปเป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์
ขอบคุณครับ
หมายเหตุ กล่าวในงานปฐมนิเทศ นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ วันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ณ อาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต