ปัจจุบันนี้ในโลกยุคดิจิทัล การซื้อขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์หรือที่เรียกว่า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ประกอบกับโควิด-19 ที่เข้ามาเป็นตัวเร่ง ส่งผลให้ E-commerce ยิ่งมีบทบาทเพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs จำเป็นต้องปรับตัวมาใช้ช่องทาง E-commerce เพื่อเป็นทางรอดของธุรกิจ เนื่องจาก E-commerce ช่วยลดอุปสรรคและเพิ่มการเข้าถึงผู้บริโภค


ที่มา: Savrul et al., 2014

มูลค่า E-commerce ของไทยจากรายงานของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (2564) พบว่า ในภาพรวม มูลค่า E-commerce มีการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปีระหว่างปี 2559-2562 โดยปี 2562 มีมูลค่า E-commerce 4.05 ล้านล้านบาท อุตสาหกรรมที่มีมูลค่า E-commerce สูงที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก และอุตสาหกรรมการผลิต  ขณะที่ปี 2563 การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่อธุรกิจโรงแรมและที่พักซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีตลาด E-commerce ใหญ่เป็นอันดับสอง ทำให้มูลค่า E-commerce ที่ลดลงถึงร้อยละ 6.68 เหลือ 3.78 ล้านล้านบาท จากที่เคยเติบโตเพิ่มขึ้นตลอดมา แต่ในปี 2564 ก็คาดการณ์ว่ามูลค่า E-commerce จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้  นอกจากนี้ ยังพบว่า SMEs เข้าสู่ตลาด E-commerce เพิ่มมากขึ้น โดยมูลค่า E-commerce ของธุรกิจ SMEs เติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19

ตลาด E-commerce ของไทยพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ส่วนสำคัญมาจากปัจจัยด้านต่าง ๆ รวมเรียกว่าระบบนิเวศ (ecosystem) ที่เอื้อให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคสามารถใช้ประโยชน์ E-commerce  ทิศทางการเติบโตของ E-commerce นั้นขึ้นอยู่กับระบบนิเวศโดยไม่อาจแยกจากกัน ระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อ E-commerce จะทำให้ E-commerce ไทยเติบโตและพัฒนาไปได้อย่างดี โดยปัจจัยระบบนิเวศของ E-commerce ไทยในการศึกษานี้แบ่งออกเป็น 8 ด้าน ได้แก่

ที่มา: คณะผู้ดำเนินงานวิจัย

1. โครงสร้างพื้นฐานและการเข้าถึงเทคโนโลยี รวมตั้งแต่ไฟฟ้า ไปจนถึงโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต สัญญาณเครือข่าย ซึ่งจะต้องครอบคลุมและเสถียร ในราคาที่เข้าถึงได้ แม้ว่าในภาพรวมประเทศไทยจะอยู่ในระดับที่ดี แต่ยังคงพบปัญหาความไม่ครอบคลุมของสัญญาณอินเตอร์เน็ตและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าคง E-commerce โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ทำให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่ครอบคลุมหรือไม่มีความเสถียรมากพอมีอุปสรรคในการใช้ประโยชน์จาก E-commerce อย่างเต็มที่

2. บทบาทภาครัฐ ภาครัฐเป็นผู้กำหนดนโยบายที่จะกระทบในวงกว้าง ทั้งผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป โครงการของรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน กระตุ้นการใช้เทคโนโลยีและระบบการชำระเงินออนไลน์ของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ มาตรการเพื่อสนับสนุน SMEs ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจูงใจให้ SMEs เข้าสู่ E-commerce ในอีกด้าน นโยบายของภาครัฐที่สร้างอุปสรรคหรือเงื่อนไขการประกอบการในตลาด E-commerce ก็จะส่งผลกระทบวงกว้างเช่นกัน

3. กฎหมายและกฎระเบียบ รากฐานความเชื่อมั่นของการซื้อขายผ่าน E-commerce คือ การมีกฎหมายรองรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมช่วยคุ้มครองประชาชนทั้งในด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ และคุ้มครองผู้บริโภค สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค ขณะเดียวกันกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็จะสร้างภาระกับผู้ประกอบการ และหากสร้างภาระมากจนเกินไป ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของ E-commerce

4. ช่องทาง E-commerce ในประเทศไทยมีช่องทาง E-commerce ที่หลากหลาย เช่น E-marketplace โซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ของตัวเอง แต่ละช่องทางสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ต่างกันและกลุ่มเป้าหมายต่างกัน  ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรายใหญ่ที่เป็นผู้เล่นสำคัญในตลาด E-commerce ของไทยมักเป็นผู้ให้บริการต่างชาติ

5. บทบาทภาคเอกชน มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่มีบทบาทสนับสนุนหรือช่วยเหลือการดำเนินธุรกิจ E-commerce เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น เช่น การตลาด ให้คำปรึกษา และมีการรวมตัวกันของผู้ประกอบการเป็นเครือข่าย สมาคม สมาพันธ์ ที่สร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการในตลาด E-commerce ด้วย

6. การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผู้ประกอบการที่ใช้ E-commerce มีต้นทุนในส่วนระบบ เทคโนโลยี การตลาด และการประกอบธุรกิจ ธุรกิจจะโตได้ในตลาด E-commerce ผู้ประกอบการต้องสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจได้ 

7. ระบบการชำระเงิน เป็นปัจจัยไทยทำได้ดีมาก ระบบการชำระเงินทางออนไลน์ แอพพลิเคชัน QR Code มีการใช้อย่างแพร่หลาย รวมไปถึง non-bank ที่เป็นกระเป๋าตังหรือตัวกลางชำระเงิน หรือการชำระเงินปลายทางเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค เอื้อให้มีการซื้อขายในรูปแบบ E-commerce อย่างสะดวก

8. การขนส่ง ภาคขนส่งสินค้าไทยเติบโตรวดเร็วควบคู่กับการเติบโตของตลาด E-commerce เลย ซึ่งทั้งความปลอดภัย การรับประกัน การบริการ โดยเฉพาะราคา  สิ่งเหล่านี้ส่งผลกับการตัดสินใจของผู้ประกอบการและผู้บริโภคในการใช้บริการขนส่งสินค้า และเป็นปัจจัยประการหนึ่งที่มีอิทธิพลในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าออนไลน์หรือเดินทางไปเลือกซื้อด้วยตัวเอง

การดำเนินธุรกิจ E-commerce จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค เพื่อทำให้ธุรกิจ E-commerce ในประเทศไทยเติบโตได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน  ในการพัฒนา E-commerce จึงต้องดำเนินการอย่างเป็นองค์รวมผ่านการเสริมสร้างความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ (ecosystem) ของ E-commerce ให้ครอบคลุมและเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ โดยใช้ E-commerce เป็นเครื่องมือนอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิม เช่น การพัฒนาความครอบคลุมและความเสถียรของโครงสร้างพื้นฐานในประเทศโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล การดำเนินนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมและผ่อนปรนการควบคุมตลาด E-commerce การสนับสนุนผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสัญชาติไทย พร้อมกันนี้ ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ต้องเข้าใจและใช้ประโยชน์จากปัจจัยที่เป็นระบบนิเวศ E-commerce ของไทยอย่างเต็มที่เพื่อการเข้าถึงตลาด E-commerce และการดำเนินธุรกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพ

หมายเหตุ บทความนี้เรียบเรียงจากการศึกษาวิจัย โครงการแนวทางการปรับตัวและแสวงประโยชน์และโอกาสของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมจากตลาดอีคอมเมิร์ซ โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) (สคพ.) คณะนักวิจัยประกอบด้วย นายวิมล ปั้นคง หัวหน้าโครงการ (สคพ.) นางสาวภัชชา ธำรงอาจริยกุล นักวิจัย (สคพ.) รองศาสตราจารย์ ดร.แก้วขวัญ ตั้งติพงศ์กูล (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ดร.อัครพล ฮวบเจริญ (สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า) อาจารย์ สุกฤษฏิ์ วินยเวคิน (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) อาจารย์ ดร.ปภาวดี ธโนดมเดช (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) นายสุรวุฒิ แสงแก้ว ผู้ช่วยวิจัย 


รายการอ้างอิง

  • Savrul M., Incekara A., and Sener S. (2014). The Potential of E-commerce for SMEs in a Globalizing Business Environment, 10th International Strategic Management Conference.  Procedia - Social and Behavioral Sciences, 150, 35 – 45. doi: 10.1016/j.sbspro.2014.09.005
  • สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์. (2564). เอกสารแถลงผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ปี 2564. https://www.etda.or.th/th/Useful-Resource/publications/Value-of-e-Commerce-Survey-in-Thailand-2021-Slides.aspx
ภัชชา ธำรงอาจริยกุล
นักวิจัย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ศึกษาวิจัยประเด็นด้านกฎหมาย