โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนกับการประชุมเอเปค 2022

1397 views
ปัจจุบันเรามักจะรับรู้ปัญหาสาธารณสุข การรับมือและการจัดการกับโรค ปัญหาความถดถอยทางเศรษฐกิจ ความชะงักงันทางการค้าจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งในยูเครน เป็นต้น  ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่เรากำลังเผชิญคือ ปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะ  ปัญหาขยะดังกล่าวได้รับการให้ความสนใจอย่างมากทั้งในการประชุมเอเปค เปี 2020 ที่มาเลเซีย และปี 2021 ที่นิวซีแลนด์  สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าภาพในการประชุมเอเปค 2022 นี้ ก็ได้ชูโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy) เป็นประเด็นหารือสำคัญ ภายใต้หัวข้อเปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล (Open, Connect, Balance)  บทความฉบับนี้นำเสนอมุมมองและแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ทั้งเอเปคและประเทศไทยพยายามสนับสนุนให้สมาชิกเอเปคนำไปประยุกต์ใช้เพื่อความยั่งยืนของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) กับเอเปค

รายงานการคาดการณ์ของเอเปคระบุว่า ปริมาณขยะระหว่างปี 2016-2050 จะมีปริมาณเพิ่มมากถึง 69% ซึ่งจะอยู่ในพื้นที่ภูมิภาคเอเปคถึง 37% โดยปริมาณขยะในเอเปคกว่า 59% ไม่ผ่านกระบวนการกำจัดที่ถูกวิธี และ 66% เพิ่มขึ้นในกลุ่มสมาชิกที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา (APEC, 2020a)  ดร.เดนนิส ฮิว (Denis Hew) ผู้อำนวยการหน่วยสนับสนุนนโยบายของเอเปค (APEC Policy Support Unit) ให้ความเห็นต่อปัญหาขยะที่เกิดขึ้นว่า ปัญหาขยะเกิดจากรูปแบบทางเศรษฐกิจที่เราคุ้นเคยคือ รูปแบบการผลิตทางตรง หรือการผลิตแบบใช้แล้วทิ้ง (Linear economy model) ซึ่งเป็นรูปแบบการผลิตที่ไม่ได้นำวัสดุหรือสินค้าที่ใช้แล้ว มาใช้ใหม่ในระบบการผลิต ทรัพยากรจะถูกรวบรวม ผลิต และบริโภค ส่วนที่เหลือจะถูกกำจัดเป็นของเสียและไม่นำมาใช้ซ้ำในห่วงโซ่การผลิต (single use)  ทางออกของปัญหานี้คือ การนำเอาหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้ในทางปฏิบัติมากขึ้น  แนวคิดดังกล่าวได้รับความสนใจอยากมากในการประชุมสุดยอดเอเปคที่มาเลเซียในปี 2020 เป็นอย่างมาก  ในการเปลี่ยนมาใช้ระบบหมุนเวียน หลายภาคส่วนคงจะต้องออกจากบรรทัดฐานที่ปฏิบัติกันมายาวนาน และการเปลี่ยนแปลงมีขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา  ถ้าหากเศรษฐกิจหมุนเวียนบรรลุผลได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือทำได้ในเชิงหลักการพื้นฐานแล้ว ไม่เพียงส่งผลต่อสภาพแวดล้อมจากปัญหาขยะในเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นผลดีกับสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย (Hew, 2020)

เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นรูปแบบทางเศรษฐกิจแบบหนึ่งที่ให้ความสำคัญการการใช้ซ้ำ (reusing) การประยุกต์ใช้ใหม่ (repurposing) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจจากขยะ  การคิดใหม่ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนเปิดโอกาสให้เพิ่มประสิทธิภาพนวัตกรรมและความยั่งยืน เช่น แพลตฟอร์มการแบ่งปัน (Sharing platforms) ช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงและแบ่งปันผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ผลิตภัณฑ์ในฐานะการบริการ (Product as a Service) ขายการใช้ผลิตภัณฑ์แทนตัวผลิตภัณฑ์ การผลิตหมุนเวียน (Circular supplies) พัฒนาส่วนประกอบที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิลได้เมื่อสิ้นสุดอายุของผลิตภัณฑ์ การยืดอายุผลิตภัณฑ์ (Product life extension) ช่วยยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นและการบำรุงรักษาในระยะยาว การกู้คืนทรัพยากร (Resource recovery) นำผลพลอยได้และของเสียจากการผลิตไปใช้ในกระบวนการผลิตอื่น ๆ (APEC, 2020b)

เอเปคพยายามวางบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยสนับสนุนให้มีมาตรฐานของกระบวนการเทคโนโลยีและวัสดุที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนและยกระดับการอภิปรายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนระหว่างสมาชิก รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้า ตลอดจนกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเปคในภาวการณ์ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19

ประเทศไทย โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และการประชุมเอเปค 2022

ประเทศไทยได้เน้นย้ำความสำคัญของโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อกำหนดทิศทางการประชุมเอเปคในปี 2022 โดยโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นประเด็นที่ไทยต้องการขับเคลื่อน พัฒนาความยั่งยืน และสนับสนุนการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการเร่งการดำเนินการงานที่มีอยู่ในปัจจุบันและต่อยอดจากความก้าวหน้าในอดีต (APEC, 2021)  โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติของประเทศไทยในปี 2021 (โครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน, 2022) ประกอบไปด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) ซึ่งมีเป้าหมายสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด (Eco-design & Zero-Waste)  ส่งเสริมการใช้ซ้ำ (Reuse, Refurbish, Sharing) และให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ (Recycle, Upcycle) ซึ่งต่างจากระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมที่เป็นการผลิตแบบใช้แล้วทิ้ง (สอวน., ม.ป.ป.)  ในส่วนที่เกี่ยวกับเอเปค สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค (APEC Center for Technology Foresight) ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการคาดการณ์เทคโนโลยีรองรับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Technology Foresight Workshop) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 โดยมีการหารือเกี่ยวกับวิสัยทัศน์สำหรับอนาคต แผนงานปัจจุบัน รวมทั้งการสรุปบทเรียนจากประเทศต่าง ๆ ที่มีการนำโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปรับใช้ (กรุงเทพธุรกิจ, 2565)

ในการประชุมหลักของเอเปค 2022 นี้ ประเทศไทยได้บรรจุโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ในหัวข้อที่ 3 สร้างสมดุลในทุกด้าน (Balance)  ไทยพยายามใช้โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นแนวคิดพื้นฐานของหัวข้อหลักและเป็นประเด็นสำคัญเพื่อเร่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในเอเปคอย่างเป็นระบบและบูรณาการกับแผนงานเดิมจากทั้งการประชุมเอเปค ที่มาเลเซีย เมื่อปี 2020 และที่นิวซีแลนด์ เมื่อปี 2021  จากการประชุมที่ผ่านมาทั้งการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค (APEC Senior Officials’ Meeting: SOM) ครั้งที่ 1 (14-25 กุมภาพันธ์ 2022) และครั้งที่ 2 (9-19 พฤษภาคม 2022) ได้เห็นชอบให้จัดทำเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้ชื่อ “เป้าหมายกรุงเทพเรื่องเศรษฐกิจบีซีจี” (Bangkok Goals on BCG Economy) เพื่อกำหนดเป้าหมายและทิศทางการขับเคลื่อนความยั่งยืนในภูมิภาค (กระทรวงการต่างประเทศ, 2565ก, 2565ข; เอเปค ประเทศไทย 2022, 2022ก, 2022ข)  นอกจากนี้ ไทยยังมีการจัดการหารือเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี โดยเน้น 3 สาขาหลัก คือ การเกษตรและระบบอาหาร พลังงาน และการบริหารจัดการทรัพยากร รวมทั้งจะมีการหารือรายละเอียดเพิ่มเติมในการประชุมครั้งต่อไป ทั้งในส่วนของการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสและคณะทำงานต่าง ๆ ของเอเปค ก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคในเดือนพฤศจิกายน 2022
 
สรุป

ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจในการประชุมเอเปค 2022 คือ การหาหนทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เนื่องจากเศรษฐกิจแบบเดิมสร้างปริมาณขยะจำนวนมหาศาล  ไทยจึงได้เสนอประเด็นดังกล่าวให้เป็นส่วนหนึ่งของการหารือเพื่อส่งเสริมแนวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และสานงานเดิมที่มีของเอเปคจากการประชุมครั้งก่อน ๆ  ในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสที่ผ่านมา ไทยได้กำหนดเป้าหมายและจะจัดทำเอกสารแนวคิดเศรษฐกิจบีซีจีเพื่อขับเคลื่อนแผนงานสร้างความยั่งยืนในเอเปคอย่างเป็นระบบ  อย่างไรก็ตาม ในเชิงรายละเอียดแล้ว ยังคงต้องติดตามต่อไป โดยไทยจะมีการจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งที่ 3 (SOM 3) ระหว่างวันที่ 16-31 สิงหาคม 2022 ซึ่งจะมีการหารือประเด็นสืบเนื่องต่าง ๆ รวมทั้งเป้าหมายกรุงเทพเรื่องเศรษฐกิจบีซีจีสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคในเดือนพฤศจิกายน 2022

รายการอ้างอิง

• กระทรวงการต่างประเทศ. (25 กุมภาพันธ์ 2565ก). ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 1 เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง และสมดุลในเอเปค. เข้าถึงจาก https://www.mfa.go.th/th/content/apecsom1250265?cate=5d5bcb4e15e39c306000683d
• กระทรวงต่างประเทศ. (20 พฤษภาคม 2565ข). ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 2 และพัฒนาการสำคัญในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย. เข้าถึงจาก https://www.mfa.go.th/th/content/apecsom2-pr6
• กรุงเทพธุรกิจ. (26 พฤษภาคม 2565). สอวช. ชู ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ ขับเคลื่อนบีซีจี. เข้าถึงจาก https://www.bangkokbiznews.com/tech/1006590
• สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวน.). (ม.ป.ป.). โมเดลเศรษฐกิจ บีซีจี. เข้าถึงจาก https://www.nxpo.or.th/th/bcg-economy/
• โครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน. (12 มกราคม 2565). เมื่อโลกต้องการโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ไทยจึงมี ‘BCG’ (Bio-Circular-Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติปี 2564. เข้าถึงจาก https://www.sdgmove.com/2021/04/14/bcg-economy-model-trend-th-national-agenda-2021/
• เอเปค ประเทศไทย 2022. (15 กุมภาพันธ์ 2022ก). การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 1 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (APEC First Senior Officials’ Meeting – SOM1 and Related Meetings) ระหว่างวันที่ 14-25 กุมภาพันธ์ 2565. เข้าถึงจาก https://www.apec2022.go.th/th/apec-meeting-som1-th/
• เอเปค ประเทศไทย 2022. (5 พฤษภาคม 2022ข). การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 2 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (APEC Second Senior Officials’ Meeting – SOM2 and Related Meetings) ระหว่างวันที่ 9-19 พฤษภาคม 2565. เข้าถึงจาก https://www.apec2022.go.th/th/apec-senior-officials-meeting-th/
• APEC. (27 May 2020a). Infographic: Pivoting to a Circular Economy. Retrieved from https://www.apec.org/Press/Infographics/2020_0527_Dont-let-your-waste-go-to-waste
• APEC. (2020b). APEC Regional Trends Analysis – What Goes Around Comes Around: Pivoting to a Circular Economy; Uncertainty Tests APEC’s Resilience amid COVID-19. Retrieved 15 July 2020 from https://www.apec.org/docs/default-source/publications/2020/5/apec-regional-trends-analysis---what-goes-around-comes-around/220_psu_arta_may-2020.pdf?sfvrsn=fe64a1ab_1
• APEC. (03 December 2021). APEC’s Agenda in 2022. Retrieved from https://www.apec.org/press/news-releases/2021/apec-s-agenda-in-2022
• Hew, Dennis. (29 May 2020). COVID-19 and the Circular Economy. Retrieved from https://www.apec.org/Press/Blogs/2020/0528_COVID

บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับเอเปค ศูนย์ศึกษาเอเปค สถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศิวศิลป์ จุ้ยเจริญ
นักวิจัยประจำสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจัยที่กำลังศึกษาและพยายามหาประเด็นหลักสำหรับชีวิตวิชาการ