ในการอภิปรายหัวข้อ “รัฐสวัสดิการ ความหวัง มายาคติ ข้อถกเถียงและบทเรียน” เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2565 เวลา 10.45-12.45 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร ที่กลุ่ม We Fair จัดขึ้น เพื่อถกประเด็นรัฐสวัสดิการในสังคมไทย โดยเรียนเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ และมีความตั้งใจผลักดันให้ประเทศไทยไปสู่รัฐสวัสดิการ อันได้แก่ ดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร คุณศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการแรงงานอิสระ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเสวนา
ข้อท้าทายรัฐสวัสดิการ : ฐานคิดและการศึกษาสังคมสงเคราะห์
ดร. กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ ระบุว่าช่วงทศวรรษ 2490 คำว่า “Social welfare” สามารถแปลได้ทั้ง “สวัสดิการสังคม” และ “สังคมสงเคราะห์” แนวคิดนี้กลายมาเป็นรากฐานความคิดของคนยุคปัจจุบันที่ให้ความหมาย “Social work” ว่า “สังคมสงเคราะห์” โดยแปลอ้างอิงมาจากความเป็นจริงในสังคม ซึ่งให้สวัสดิการเพื่อคนยากไร้ แม้ควรจะมีความหมายว่า “การปฏิบัติงานสังคมเชิงวิชาชีพ” มากกว่า จึงเกิดภาพจำว่าสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์เป็นคำเดียวกัน ทั้งนี้ผู้ที่ทำงานด้านนี้และจบการศึกษาจากต่างประเทศส่วนใหญ่อ้างอิงแนวคิดจากระบบสวัสดิการสังคมของอังกฤษ แต่หากเป็นข้าราชการจบการศึกษาที่ไทยมักสร้างประวัติศาสตร์ให้งานสังคมสงเคราะห์ โดยแนวคิดที่อ้างอิงจากพระพุทธศาสนา บทบาทกษัตริย์ การช่วยเหลือกันเองของชุมชน และลัทธิชาตินิยม
อย่างไรก็ตาม ชนชั้นนำยุคนี้มีความคิดเหมือนกับคนยุคปัจจุบันว่ารัฐสวัสดิการ (Welfare state) เป็นการสงเคราะห์จากรัฐบาล ซึ่งรัฐมองเป็นภาระทางการคลังไม่สามารถจัดสวัสดิการให้ประชาชนทุกคนได้ เพราะงบประมาณไม่เพียงพอจึงสงเคราะห์ให้เพียงผู้ยากไร้ โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวมักไม่ให้ความร่วมมือ เห็นได้จากปี 2497 ที่ไม่อนุญาตให้เปิดเผยเอกสารเกี่ยวกับการสำรวจภาวะกรรมกร ส่งผลให้หน่วยวัฒนธรรมเคลื่อนที่และการปฏิบัติงานซึ่งเป็นกลไกสำคัญของสภาวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นเพียงเสือกระดาษ สมาคมสังคมสงเคราะห์จึงถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนยากจนเท่านั้น
ในเรื่องของการต่อตั้งคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ (ปี 2497-2504) ประภาพรรณ วิจิตรวาทการ เคยเสนอให้จัดตั้งที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม แต่ภายหลังถูกย้ายไปที่กระทรวงมหาดไทย โดยปกรณ์ อังศุสิงห์ เป็นผู้กำหนดหลักสูตร การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสะท้อนการช่วงชิงพื้นที่ทางอำนาจและการครอบงำของเครือข่ายราชการในระบบการศึกษาสังคมสงเคราะห์ไทย
ที่มา FB: We Fair
ดร. กฤษฎา เห็นว่า เมื่อ จอมพล ป. ถูกโค่นอำนาจลง ส่งผลให้สมาคมสังคมสงเคราะห์ซึ่งเป็นกลไกสำคัญทางอำนาจถูกยุบไปในปี 2502 ทว่าปีต่อมา ได้มีการจัดตั้งสมาคมสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้น แสดงให้เห็นถึงการถ่ายโอนอำนาจงานสังคมสงเคราะห์แบบการกุศลมาสู่เครือข่ายสถาบันกษัตริย์ อีกทั้งเครือข่ายอำนาจของจอมพล ป. ยังถูกลบออกไป แม้ระบบสวัสดิการสังคมในยุคนี้จะมีความก้าวหน้าขึ้นก็ตาม เห็นได้จากระบบประกันสังคม 2497 ซึ่งไม่ถูกบังคับใช้ เพราะขัดแย้งกับผลประโยชน์ของชนชั้นนำ
สังคมนิยมประชาธิปไตย สหภาพแรงงาน และรัฐสวัสดิการ
อาจารย์ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ระบุว่าประเทศไทยมี “วงจรอุบาทว์แห่งความเหลื่อมล้ำ” ช่องว่างระหว่างผู้มีฐานะสูงกับผู้ยากไร้จึงขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ความเหลื่อมนี้เป็นผลจากสังคมศักดินาที่เชื่อว่าคนไม่เท่ากัน กล่าวคือผู้มีอำนาจอยู่เหนือคนทั่วไปและอุปถัมภ์ผู้มีฐานะด้อยกว่า แนวคิดนี้ถูกผลิตซ้ำมานานถึง 90 ปี ผู้มีฐานะสูงจึงมักสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลพวกพ้องตนเอง ผลที่เกิดขึ้นคือนโยบายจากภาครัฐมีแนวโน้มเอื้อประโยชน์ให้กับชนชั้นนำ 1% บนเท่านั้น
หลัง 2475 ปรีดี พนมยงค์ ผลักดันสมุดปกเหลืองอันเป็นข้อเสนอในการพัฒนารัฐสวัสดิการ แต่ถูกต่อต้านจากผู้มีอำนาจ รัฐบาลสมัยต่อมาจึงเลือกใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบประนีประนอม อย่างเช่นเศรษฐกิจทุนนิยมโดยรัฐสมัยจอมพล ป. ภายหลังเมื่อจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจสำเร็จได้มีการใช้แนวทางแบบตลาดเสรีที่ชนชั้นนำได้รับประโยชน์ ยิ่งไปกว่านั้น วิกฤติต้มยำกุ้งส่งผลให้ไทยจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ และจำต้องดำเนินตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ที่เข้มข้นขึ้น ผลที่ตามมาคือ ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น รัฐบาลลดบทบาทในระบบเศรษฐกิจ และฝ่ายแรงงานอ่อนแอ
ที่มา FB: We Fair
ในประการสุดท้าย อาจารย์ศักดินา ย้ำว่าประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการร่วมกับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ส่งผลให้ประชาชนถูกขูดรีดซ้อนทับกันหลายชั้นจนกระทั่งอ่อนแอ จึงไม่สามารถต่อต้านวงจรอุบาทว์แห่งความเหลื่อมล้ำนี้ได้ เห็นจากไทยมีจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานเพียง 1.5 % ซึ่งน้อยที่สุดในโลก ดังนั้นการสร้างภาคประชาชนที่เข้มแข็งจำเป็นอย่างมาก เพราะขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งก่อให้เกิดสังคมนิยมประชาธิปไตยอันมีรัฐสวัสดิการที่ดีซึ่งเป็นการทำลายความเหลื่อมล้ำ
What is to Be Done? โลกหลังรัฐสวัสดิการ
รศ.ดร. ษัษฐรัมย์ ธรรมนุษดี ระบุว่าความเปราะบางทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาหลักของสังคมไทยที่ไม่มีรัฐสวัสดิการ ประเทศไทยมีประชากรถึง 10 ล้านคนที่ได้รับค่าแรงน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ส่งผลให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หายไป ลำดับชั้นของสวัสดิการเพิ่มขึ้น และไม่มีอำนาจต่อรอง ซึ่งทำให้เสรีภาพในชีวิตถูกจำกัด อีกทั้งประชาชนยังเผชิญกับการถูกกังขังด้วยชาติกำเนิด และไม่สามารถเลื่อนลำดับขั้นทางสังคมได้ ด้วยเหตุนี้ หากมีรัฐสวัสดิการย่อมสามารถบรรเทาปัญหาข้างต้นได้ ยกตัวอย่างเช่น
1. สวัสดิการเงินเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน สำหรับเด็กอายุ 0-18 ปี ส่งผลให้เด็กที่ถูกทอดทิ้งหมดไป การใช้แรงงานเด็กลดลงร้อยละ 70 เนื่องจากไม่จำเป็นต้องทำงานเพื่อยังชีพตนเอง และเด็กทุกคนสามารถจบการศึกษาภาคบังคับได้ ทว่าปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 76-80 เท่านั้น อีกทั้งเด็กยังมีอำนาจต่อรองในระบบการศึกษามากขึ้น ช่องว่างระหว่างชนชั้นในโรงเรียนก็ลดลงเช่นกัน
2. เรียนมหาวิทยาลัยฟรี มีเงินเดือน 3,000 บาท สวัสดิการนี้ทำให้เด็กสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่ตนชอบและถนัดได้โดยไม่กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ผลคือการกระจายตัวของอาชีพหลังจบการศึกษาและบุคลากรดีขึ้น แรงงานสามารถกลับภูมิลำเนาของตน ธุรกิจเกิดความหลากหลาย และความเหลื่อมล้ำระหว่างอาชีพลดลง นอกจากนี้หนี้ครัวเรือนจะลดลงกว่าร้อยละ 50 เพราะสัดส่วนครึ่งหนึ่งของหนี้ดังกล่าวมาจากการการกู้ยืมเพื่อการศึกษา
3. ประกันสังคมถ้วนหน้าที่รัฐเป็นผู้สบทบให้สำหรับฐานเงินเดือนสิทธิประโยชน์เริ่มต้น 10,000 บาท จะทำให้รายได้ของคนร้อยละ 50 ล่าง (รายได้ต่ำกว่า 13,000 บาท) สูงขึ้นร้อยละ 55 จากการที่ไม่สูญเสียรายได้เมื่อเกิดวิกฤติในชีวิต รวมไปถึงมีการเพิ่มขึ้นของทุนทางสังคมและการรวมตัวกันของสหภาพแรงงาน
4. บำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาท ส่งผลให้บุตรมีภาระค่าใช้จ่ายน้อยลงและหมดกังวลเกี่ยวกับชีวิตหลังเกษียณของบิดามารดา มีแรงจูงใจในการทำงานและวางแผนชีวิตของตนได้ อีกทั้งกิจกรรมทางสังคมของผู้สูงอายุยังเพิ่มขึ้น
ที่มา FB: We Fair
รศ.ดร. ษัษฐรัมย์ ยังกล่าวว่างานวิจัยของ IMF ที่โจมตีรัฐสวัสดิการนั้นเป็นการอธิบายโดยใช้ตัวเงินเพียงอย่างเดียว (เมื่อเพิ่มงบสวัสดิการ 1 บาท จะถูกส่งถึงประชาชน 0.7 บาท) ขณะที่ทฤษฎี Cost of illness ชี้ให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายยามเจ็บป่วยไม่ได้มีแค่ค่าบริการทางการแพทย์ แต่ยังมีค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่เกิดขึ้น เช่น การสูญเสียรายได้จากการไม่ได้ทำงาน ความวิตกกังวล หรือกิจกรรมทางสังคมที่หายไป ดังนั้น รัฐสวัสดิการจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเมื่อพิจารณาตัวทวีคูณทางสังคม การใช้จ่ายสวัสดิการระยะสั้นที่เพิ่มขึ้น 1 บาทจะทำให้ประชาชนมีชีวิตดีขึ้น 1.3 เท่า ขณะเดียวกันสวัสดิการระยะยาว เช่น การศึกษา และการรักษาพยาบาล จะส่งผลให้ผู้คนมีชีวิตดีขึ้น 3 เท่า
รัฐสวัสดิการจากมุมมองมาร์กซิสต์
รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ได้กล่าวถึงทฤษฎีการผลิตซ้ำทางสังคม (Social Reproduction Theory) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าคนใช้เวลาทำงานประมาณ 8 ชั่วโมง อีก 16 ชั่วโมงคือเวลาพักผ่อน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวลาอยู่กับครอบครัว การนอน หรือการเที่ยว เพื่อให้สามารถกลับไปทำงานต่อได้ ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการคนอื่นในการดำเนินชีวิต ทว่าระบบทุนนิยมกลับผลักให้กระบวนการผลิตซ้ำที่อยู่นอกเหนือการทำงานเป็นสิ่งที่ไม่มีมูลค่าและไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแล ตัวอย่างเช่น มารดาทำอาหารเย็นให้บุตรที่กลับมาจากทำงานทานทุกวัน แต่กลับไม่ได้รับค่าจ้างหรือสวัสดิการใด ๆ ดังนั้น จากมุมมองมาร์กซิสต์ มูลค่าของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเกิดขึ้นจากการผลิตในระบบทุนนิยมที่ต้องพึ่งพาการผลิตซ้ำทางสังคม
การต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเต็มไปด้วยมิติอันหลากหลาย เช่น มิติทางเพศ วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อม ระบบสวัสดิการจึงไม่สามารถแยกออกจากประชาธิปไตยอันเป็นหลักการของความเสมอภาคได้ ทว่าระบบทุนนิยมกำลังทำให้สวัสดิการเป็นเรื่องของการเงิน กล่าวคือต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อสวัสดิการนั้น ตัวอย่างเช่นประกันภัยรูปแบบต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม กระบวนการเติบโตทางการเงิน (Financial capitalism) ขับเคลื่อนจากการทำให้คนเป็นหนี้ หากเป็นหนี้ 30 ปี สมมติปัจจุบันอายุ 40 ปี ต้องใช้คืนอีกจนกระทั่งอายุ 70 ปี แสดงถึงการขูดรีดแรงงานในระยะยาว ทั้งนี้เทคโนโลยีที่พัฒนายังทำให้การกู้ยืมเงินง่ายขึ้น หนี้ครัวเรือนของไทยจึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสะท้อนว่าระบบสวัสดิการแย่ และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันของหนี้ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น
ที่มา FB: We Fair
รศ.ดร.เก่งกิจ ได้สรุปว่า การพัฒนาที่เหลื่อมล้ำของระบบทุนนิยมส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทางการเมืองเพียงมิติเดียวไม่พอ เนื่องจากประชาธิปไตยครอบคลุมทุกมิติของชีวิตอย่างเป็นองค์รวม ด้วยเหตุนี้รัฐสวัสดิการจึงเป็นเรื่องจำเป็น