หนทางสู่รัฐสวัสดิการ ความเป็นไปได้ของสังคมไทย

4704 views

ในการอภิปรายในหัวข้อ “หนทางสู่รัฐสวัสดิการ ความเป็นไปได้ของสังคมไทย” เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2565 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร เพื่อถกประเด็นการจัดสรรรัฐสวัสดิการในสังคมไทย  กลุ่ม We Fair ได้เรียนเชิญผู้ทรงคุณวุฒิอันได้แก่ คุณนิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคก้าวไกล รศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมการเสวนา

คุณนิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ

คุณนิมิตร์ เทียนอุดม ได้นำเสนอในประเด็น บทเรียนจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสู่ความเป็นไปได้ระบบบำนาญประชาชน  ในปัจจุบันสังคมไทยไม่ได้อยู่ในบรรยากาศของสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนสามารถเรียกร้องสิทธิของตนเองได้อย่างเต็มที่ ซึ่งทำให้การขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการไม่เป็นไปตามเจตนารมย์ของภาคประชาชน  หากสังคมไทยยังปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการอยู่ ภาคประชาชนจะขาดการมีส่วนร่วมในกระบวนการขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการ

เนื่องจากนักการเมืองที่มีอำนาจในการตัดสินใจนั้น เป็นตัวแปรสำคัญที่ผลักดันรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นได้ในสังคมไทย ภาคประชาชนจึงจำเป็นต้องกดดันและชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ของรัฐสวัสดิการที่สังคมจะได้รับ  อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองมักจะใช้คะแนนเสียงเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินนโยบาย  แม้ว่าสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ฐานคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นด้วย แต่ก็ต้องเปรียบเทียบกับคะแนนเสียงของกลุ่มทุนที่เสียผลประโยชน์จากการจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นและเสียผลประโยชน์ทับซ้อนอื่น ๆ เช่นกัน 

ทั้งนี้ ในการผลักดันรัฐสวัสดิการต้องอาศัยความเข้มแข็งของเครือข่ายประชาชนที่มีอยู่กว่า 15 เครือข่าย จำเป็นต้องมีจุดร่วมเดียวกันไม่แตกแยกทางความคิด และร่วมกันวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการ  ในความเห็นของคุณนิมิตร์ เทียนอุดม การเคลื่อนไหวของเครือข่ายประชาชนนั้นได้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว เพราะมีการพูดถึงประเด็นดังกล่าวเป็นวงกว้างทั้งในระดับภาคประชาชน นักวิชาการ และนักการเมือง ส่งผลให้มีความเป็นไปได้ของรัฐสวัสดิการมากยิ่งขึ้น  ยิ่งไปกว่านั้น การผลักดันรัฐสวัสดิการจำเป็นต้องมีการผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียก่อน เพื่อกำหนดให้รัฐบาลได้มีหน้าที่สร้างรัฐสวัสดิการแก่ประชาชน รวมไปถึงทุก ๆ คนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย 

หากต้องการให้รัฐสวัสดิการมีความยั่งยืน จะต้องมีกลไกการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดตั้งหน่วยงานที่บริหารจัดการได้ครบทั้งระบบอย่างเป็นอิสระ เช่น ระบบบำนาญจากเดิมที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ควรจะต้องมีหน่วยงานที่บริหารบำนาญประชาชนโดยเฉพาะ เพื่อมีอำนาจและเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดข้อจำกัดของระบบราชการที่ซับซ้อน

คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคก้าวไกล

การทำรัฐสวัสดิการให้เป็นจริงได้นั้นเกิดขึ้นจากการจัดสรรงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่ประเด็นอภิปรายถัดไปในหัวข้อ How to การจัดงบประมาณเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ โดย คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคก้าวไกล ในปัจจุบันสังคมไทยได้เผชิญกับสภาพปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงซึ่งสามารถนิยามได้ว่าเป็น THAILAND ประกอบด้วย 8 มิติความเหลื่อมล้ำดังต่อไปนี้

T = Technology ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล  ประชาชนเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตกว่าร้อยละ 68 และขาดแคลนคอมพิวเตอร์กว่าร้อยละ 79 ซึ่งเป็นต้นตอของความเหลื่อมล้ำในมิติอื่น ๆ อีก เช่น ระบบการศึกษาในปัจจุบันที่ถดถอยลง หรือประชาชนที่ตกหล่นจากการลงทะเบียนรับสิทธิสวัสดิการ

H = Healthcare ความเหลื่อมล้ำทางสาธารณสุข  ในปัจจุบันแบ่งแยกเป็น 3 ระบบ ได้แก่ บัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ โดยข้าราชการมีงบประมาณต่อหัวสูงกว่าระบบอื่น ๆ อยู่ 4-5 เท่า ยิ่งไปกว่านั้นจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ในกรุงเทพมหานครมีจำนวนแพทย์ต่อคนไข้ในสัดส่วน 1:600 แต่จังหวัดบึงกาฬมีสัดส่วนที่มากกว่าถึง 1:5000 ซึ่งมีความแตกต่างอย่างชัดเจน

A = Affluence ความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สิน  ในปัจจุบันมีประชากรเพียงร้อยละ 1 ที่ถือครองทรัพย์สินเป็นมูลค่ากว่า 2 ใน 3 ของทรัพย์สินทั้งหมดของประเทศ สาเหตุหนึ่งมาจากการควบรวมอำนาจของกิจการใหญ่ ๆ มากขึ้น หรือการมีสิทธิพิเศษด้านภาษี

I = Identity ความเหลื่อมล้ำทางเพศในสิทธิสมรส  นอกจาก พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมจะเป็นการรับรองความรักของคนสองคนแล้ว ยังเอื้อให้เกิดสิทธิประโยชน์ด้านเศรษฐกิจอีกด้วย

L = Learning  ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สามารถจำแนกออกเป็น 3 ประเด็น คือ 1. การเรียนฟรีไม่มีอยู่จริง เพราะเด็ก ๆ ต้องมีค่าใช้จ่ายปีละไม่น้อยกว่า 2,000-6,000 บาท เป็นค่าเดินทาง ค่าเล่าเรียน ฯลฯ 2. โรงเรียนมีคุณภาพการศึกษาที่แตกต่างกัน และ 3. การสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีค่าใช้จ่ายสูง ยิ่งไปกว่านั้นหลักสูตรที่ใช้เป็นข้อสอบยังไม่มีสอนในห้องเรียน เป็นเหตุให้มีการเรียนกวดวิชาราคาแพงมากขึ้น

A = Area ความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ทางเศรษฐกิจ  กรุงเทพมหานครมีมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 33% ของทั้งประเทศ แม้ว่าจะมีประชากรเพียงร้อยละ 11 เท่านั้น ดังนั้นจึงควรเป็นอย่างยิ่งในการกระจายอำนาจเพื่อปลดล็อกการกระจายการพัฒนา อันได้แก่ “งาน” ท้องถิ่นต้องมีอำนาจการตัดสินใจจัดการบริการสาธารณะอย่างเต็มที่ “เงิน” เพิ่มงบประมาณที่ท้องถิ่นสามารถบริหารได้เองจากร้อยละ 23 เป็นร้อยละ 50 และ “คน” ผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดต้องมาจากการเลือกตั้งเพื่อสรรหาคนที่มีความรู้ความสามารถที่ประชาชนไว้วางใจ

N = Natural Resources ความเหลื่อมล้ำจากการถือครองที่ดินและการจัดสรรทรัพยากรน้ำ  มีรายงานที่ชี้ให้เห็นว่างานชลประทานได้จัดสรรงบประมาณอย่างไม่เป็นธรรมในบางจังหวัด เช่น พัทลุง ประจวบคีรีขันธ์ บุรีรัมย์ เป็นจังหวัดที่ไม่เสี่ยงต่อภัยแล้งแต่ได้งบประมาณสูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยด้านการเมือง

D = Democracy ความเหลื่อมล้ำทางการเมืองในปัจจุบัน เช่น สว. เพียง 250 คน มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี เทียบเท่ากับประชาชนจำนวน 19 ล้านคน สะท้อนความไม่เป็นประชาธิปไตยในสังคมไทยอย่างชัดเจน



นอกจากสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยที่เป็นไปดังเช่นที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีปัจจัยที่ตอกย้ำให้ความเหลื่อมล้ำของไทยสถานการณ์แย่ลง  ประการแรก เทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่แรงงานไม่ต่ำกว่า 4.9 ล้านคนในอีกเพียง 10 ปีหลังจากนี้ ซึ่งจะกระทบต่อภาคเกษตรกรรม ภาคการผลิต และภาคการค้าปลีก  อีกประการหนึ่ง คือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน ซึ่งมีสัดส่วนคนทำงานต่อผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนอาจมีสัดส่วนที่ 1:1 ในอีกเพียง 20 ปีข้างหน้านี้ ด้วยเหตุนี้จะยิ่งส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำแย่ลงมากขึ้น  ประการถัดไปเป็นปัญหาจากภาวะโลกรวน เช่น ภัยพิบัติต่าง ๆ ฝุ่น PM2.5 จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนรายได้น้อยอย่างเกษตรกรหรือคนค้าหาบเร่ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสุขภาพ เป็นต้น  ประการสุดท้ายเป็นผลพวงมาจากโลกาภิวัตน์ที่ทำให้ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งกดทับกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้

หนทางสู่รัฐสวัสดิการในสังคมไทยต้องตั้งอยู่บนแนวคิดว่ารัฐสวัสดิการเป็นการลงทุน เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในทุก ๆ มิติ และสร้างประโยชน์ได้ถึง 4 เด้ง ดังนี้  เด้งที่ 1 ประชาชนจะมีตาข่ายรองรับในสถานการณ์ที่คาดการณ์ได้ยาก  เด้งที่ 2 ประชาชนจะมีศักยภาพมากขึ้น ได้รับสวัสดิการที่ดี  เด้งที่ 3 รัฐบาลจะยิ่งมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากความเต็มใจจ่ายภาษีของประชาชน เพราะไว้วางใจในการทำงานของรัฐบาล  และเด้งสุดท้ายคือ สังคมจะลดความเหลื่อมล้ำได้ในทุก ๆ ด้าน ซึ่งส่งผลให้สังคมมีความสงบสุข ลดปัญหาสังคมและอาชญากรรมต่าง ๆ ลงได้

ในส่วนท้าย คุณพริษฐ์ได้อภิปรายเพิ่มเติมในประเด็นของการจัดสรรงบประมาณอย่างไรให้เกิดรัฐสวัสดิการจริง ปัจจุบันประเทศไทยมีรายได้ที่ 2.49 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่ารายจ่ายหรืองบผูกมัดอยู่ 0.23 ล้านล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 1.02 ล้านล้านบาทจากการกู้เพิ่ม เรียกงบประมาณส่วนนี้ว่าเป็นพื้นที่แห่งการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่การผลักดันให้รัฐสวัสดิการเป็นรายจ่ายหรืองบผูกมัดเพื่อให้ถูกจัดสรรงบประมาณได้อย่างคงที่ เช่น การอุดหนุนเงินให้แก่ประชาชนในวัยแรกเกิดเป็น 1200/คน/เดือน วัยเรียนเป็น 800/คน/เดือน วัยทำงานเป็นการปฏิรูปประกันสังคม และวัยสูงอายุเพิ่มเบี้ยคนชราเป็น 3000/คน/เดือน  นอกจากนี้ จะเป็นสวัสดิการที่ไม่ใช่ตัวเงินได้แก่ Lifelong Learning Platform น้ำประปาดื่มได้ ผ้าอนามัยฟรี และการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น  ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะทำให้เกิดรัฐสวัสดิการได้จริงเป็นมูลค่ากว่าร้อยละ 4.8 ของ GDP หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าจากที่ผ่านมา

ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

เนื่องจากการสร้างรัฐสวัสดิการจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จึงได้อภิปรายในหัวข้อ แนวทางการปฏิรูประบบภาษีสู่รัฐสวัสดิการ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มรายได้เพื่อจัดสรรงบประมาณเป็นรัฐสวัสดิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำเสนอจำแนกออกเป็น 7 แนวทาง คือ 

แนวทางแรกเป็นการปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากสถานการณ์ที่ผ่านมานี้ประเทศไทยยังไม่สามารถจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ครอบคลุมฐานทั้งหมดได้ อีกทั้งยังมีสิทธิลดหย่อนภาษีอีกประมาณร้อยละ 80 เป็นของกลุ่มที่รวยที่สุดร้อยละ 10 ซึ่งหมายความว่าคนกลุ่มล่างจะไม่ได้สิทธิเหล่านี้เลย  แนวทางที่สำคัญในการปฏิรูปภาษีนี้คือ ต้องขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมคนให้มากขึ้น สร้างมาตรการให้คนได้ยื่นแบบแสดงเงินได้  สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ต้องยกเลิกการลดหย่อนภาษีที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มรายได้สูง ในขณะเดียวกันต้องมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการลดหย่อนภาษีที่มีรายได้ปานกลาง หรือน้อยกว่านั้น

นอกจากนี้ การปฏิรูปภาษีเงินได้นิติบุคคลก็สำคัญมากเช่นกัน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นรัฐบาลได้ลดการจัดเก็บภาษีส่วนนี้ลงทำให้สูญเสียรายรับที่ควรจะได้ไปอย่างมาก ต้องกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมและไม่ลดมากจนเกินไป เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี BOI และใช้มาตรการอื่นดึงดูดนักลงทุนแทน




อีกประการหนึ่งที่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีมาตรการอย่างชัดเจนคือ การปฏิรูปภาษีส่วนเพิ่มของทุน ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสามารถหารายได้เข้ารัฐเพิ่มได้ เช่น การเก็บภาษีจากการหากำไรจากการซื้อขายหุ้น อสังหาริมทรัพย์ สินทรัพย์ดิจิทัล

แนวทางถัดมาเป็นการปฏิรูปภาษีมูลค่าเพิ่ม สังคมไทยตอนนี้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มค่อนข้างต่ำหากเทียบกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเพียง 1% จะทำให้รัฐมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาทต่อปี  อย่างไรก็ตาม อาจทำให้กระทบต่อผู้มีรายได้น้อยมากกว่ากลุ่มที่มีรายได้มาก เนื่องจาก ราคาสินค้าต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้น เป็นไปได้ว่าการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มนี้จะเป็นที่ยอมรับมากขึ้น หากรัฐบาลได้ไปลดสิทธิทางภาษีที่เอื้อกลุ่มทุนออกไปด้วย 

การปฏิรูปภาษีทรัพย์สินหรือภาษีการรับมรดกเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มรายได้แก่รัฐเช่นกัน เนื่องจากแรกเริ่มมีการยกเว้นภาษีมรดกที่มีมูลค่าเท่ากับ 50 ล้านบาท แต่ทว่าในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นเป็นเท่ากับ 100 ล้านบาท ต้องลดจำนวนมูลค่าสำหรับยกเว้นภาษีมรดกลง

แนวทางถัดมาเป็นการปฏิรูปภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในปัจจุบันรัฐบาลได้ประกาศลดการจัดเก็บภาษีส่วนนี้ไปกว่าร้อยละ 90 ยกเว้นฐานภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับการใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรและอยู่อาศัยลดลงจาก 50 ล้านบาท เป็น 5 ล้านบาท ดังนั้นแนวทางที่สำคัญคือต้องขยายฐานภาษีให้กับ อปท. ให้มีรายได้ภาษีเพิ่มมากขึ้น หากการปฏิรูปภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจมหภาค ดังนั้นจึงสามารถปรับเพิ่มการจัดเก็บภาษีส่วนนี้ได้อีก

แนวทางประการสุดท้ายคือการปฏิรูปภาษีสิ่งแวดล้อม เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีการก่อมลพิษเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน การจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมนี้นอกจากจะเพิ่มรายได้แก่รัฐแล้ว ยังช่วยลดการก่อมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมอีกด้วย นอกจากนี้ยังต้องมีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างโปร่งใสเพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดเก็บภาษีให้ดีมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ในการปฏิรูประบบภาษีเพื่อจัดทำรัฐสวัสดิการมีหลักการที่ต้องคำนึงถึงคือ รายจ่ายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นหลัก ปรับเปลี่ยนงบประมาณการซื้ออาวุธทางการทหาร และปรับปรุงงบประมาณที่ซ้ำซ้อน สิ้นเปลือง ซึ่งอาจทำให้มีงบประมาณเพียงพอแก่การจัดสรรสวัสดิการโดยที่ไม่ต้องเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม 

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์

เบื้องหลังทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อรับรู้ความเป็นไปได้ของการขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการ  รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้อภิปรายในหัวข้อ ฐานะการเงินการคลัง โครงสร้างประชากรกับความเป็นไปได้ของรัฐสวัสดิการ  ประเทศไทยมีระบบสวัสดิการที่ต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วนเลยคือ ระบบประกันสังคม เป็นระบบสวัสดิการที่ใหญ่และครอบคลุมมากที่สุด สืบเนื่องจากการมีระบบประกันสังคมอย่างเป็นรูปธรรมภายหลังปี 2540 ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในขณะนั้นประเทศไทยมีพรรคการเมืองที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคประชาชนมากขึ้น รับรู้ได้จากการออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค 

ในปัจจุบันการจัดทำรัฐสวัสดิการเพื่อสานต่อระบบประกันสังคมนั้น รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ได้ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยนั้นมีศักยภาพเพียงพอที่จะจัดทำรัฐสวัสดิการได้ เช่น บำนาญผู้สูงอายุ 3,000 บาท ซึ่งใช้งบประมาณที่ 4.5 แสนล้าน และการดูแลเด็กเล็กเดือนละ 1,000 บาท ฯลฯ หากศึกษาโครงสร้างประชากรของไทยในปี 2564 ประเทศไทยต้องใช้งบประมาณดูแลผู้สูงอายุไม่ต่ำกว่า 7.5 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.43 ของ GDP ซึ่งเป็นจำนวนที่เติบโตขึ้นมาก  ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบในปี 2576 ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่รัฐควรให้ความสำคัญกับรัฐสวัสดิการมากขึ้น และจำเป็นต้องมีกลไกอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ระบบการออมเพื่อชราภาพ การจ่ายสมทบของประชาชนและรัฐบาล และการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนรัฐสวัสดิการได้อย่างเป็นระบบ



มายาคติอย่างหนึ่งของรัฐสวัสดิการที่ฝ่ายต่อต้านมักกล่าวถึงประเด็นประสิทธิภาพการทำงานของประชาชน เช่น ประชาชนจะขี้เกียจและไม่ทำงาน  ในความเป็นจริงแล้ว มีงานวิจัยให้ผลการศึกษาว่า หากสวัสดิการดี คนจะยิ่งมีผลิตภาพสูงขึ้นตามไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคง และสังคมมีเสถียรภาพ ไม่เกิดความรุนแรงทางการเมือง

ปัจจุบันระบบประกันสังคมขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอันเนื่องมาจากปัจจัยทางการเมือง ประเทศไทยที่มีการปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการจะต้องปรับเปลี่ยนให้สังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตยมากขึ้น เพื่อการขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการได้อย่างเต็มที่ และผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง จึงจำเป็นต้องอาศัยพลังของภาคประชาชนเพื่อผลักดันให้เกิดการออกแบบรัฐสวัสดิการที่ดีได้ ทั้งการตื่นรู้ การมีส่วนร่วมทางการเมือง และการมีอำนาจทางการเมืองของประชาชน ดังเช่นการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในสถานประกอบการ เกิดจากการรวมกลุ่มเจรจาต่อรอง เพื่อการจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม

ทั้งนี้ในการผลักดันทางการเมืองแล้ว เราต้องก้าวข้ามข้อจำกัดทางภาษีเหล่านี้ด้วย ได้แก่การผลักดันภาษีทรัพย์สินเพื่อให้รัฐมีรายได้เพียงพอกับการจัดรัฐสวัสดิการ  หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรปแล้วประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษีดังกล่าวน้อยกว่าถึง 6 เท่าและน้อยกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา  นอกจากนี้ ยังต้องขยายขอบเขตให้ครอบคลุมหลากหลายกลุ่มมากที่สุด ซึ่งเป็นแนวทางการเพิ่มรายได้ทางภาษีแก่ประเทศและทำให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้


ภัคชัย อนันธนานฤภร
นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ผู้หลงใหลวัฒนธรรมชาติตะวันออก