เจาะลึกมาตรการแก้ปัญหา COVID-19 ของรัฐบาลอังกฤษ
หากจะกล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาโรค COVID-19 ที่กำลังเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพอนามัยและชีวิตของผู้คนทั่วโลกในขณะนี้ แนวทางของประเทศอังกฤษกำลังเป็นที่จับตามองมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะประเด็นการสร้างภูมิคุ้มกันของคนหมู่มาก (Herd immunity) [1] แต่การที่จะสัมฤทธิ์ผลตามแนวทางนี้ ประชากรกว่าร้อยละ 60 ของประเทศจะต้องติดเชื้อโรคจนสร้างภูมิขึ้นมา ซึ่งเปรียบได้กับการสร้างวัคซีนธรรมชาติในการต่อสู้กับการระบาดของโรคจนทำให้การระบาดรอบต่อๆ ไปเบาบางลง
ผู้คนยิ่งตกอกตกใจกันไปใหญ่ หลังจากที่ นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ แถลงข่าวมีใจความตอนหนึ่งว่า "คนอังกฤษอาจจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจหากจะต้องสูญเสียคนที่เรารักก่อนเวลาอันควร จากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้" [2] เมื่อได้ยินได้ฟังดังนั้น มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เขียนจดหมายเปิดผนึกเพื่อให้รัฐบาลทบทวนนโยบายที่เสี่ยงต่อความสูญเสียครั้งใหญ่
แต่ถ้าหากผู้อ่านได้ศึกษา แผนการปฏิบัติงานแก้ปัญหาไวรัสโคโรนา(Coronavirus action plan) [3] โดยละเอียด จะพบว่าทางการอังกฤษมีแนวทางปฏิบัติงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ผ่านการประชุมฉุกเฉินของคณะทำงานเฉพาะกิจที่เรียกว่า COBRA (Cabinet Office Briefing Room A) ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อการตัดสินใจในวาระหรือวิกฤติการณ์ครั้งสำคัญของประเทศมาตั้งแต่ปี 1972 [4]
คีย์แมนคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบนโยบายเพื่อจัดการกับโรคระบาดคือ ศาสตราจารย์ Chris Whitty กับท่านเซอร์ Patrick Vallance ศาสตราจารย์ Chris Whitty เป็นนักระบาดวิทยาจาก University College London (UCL) เป็นที่ปรึกษาระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์และสาธารณะสุขของรัฐบาล ที่มีประสบการณ์จัดการระบาดของโรคไวรัสหลายต่อหลายครั้งในอดีต ส่วนท่านเซอร์ Patrick Vallanceเป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษาที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาล โดยก่อนหน้าที่จะมาร่วมงานกับรัฐบาล เคยเป็นผู้บริหารด้านการวิจัยและพัฒนายาในบริษัทยาข้ามชาติแห่งหนึ่ง [5]
ตามแผนปฏิบัติงาน ได้จัดแบ่งระดับขั้นของการระบาดและการแก้ปัญหาออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่
ระยะที่ 1 Contain phase มุ่งเน้นควบคุมและสอบสวนโรค เพื่อกำจำกัดวงการระบาดของโรค
ระยะที่ 2 Delay phase เป็นการถ่วงเวลาการระบาดในวงกว้างให้ยาวนานที่สุด
ระยะที่ 3 Research phase เป็นการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจพยาธิวิทยาของโรค ค้นหายาและวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ แผนการนี้ดำเนินมาตั้งแต่ต้น และ
ระยะที่ 4 Mitigate phase คือการจัดการปัญหาให้บรรเทาเบาบางลงโดยนำความรู้ด้านการวิจัยมาเป็นแนวทางจัดการปัญหานอกจากนี้ยังรวมถึงการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจสังคมด้วย
ความสำคัญของแผนปฏิบัติงานอยู่ที่ระยะ Delay phase ที่จะต้องถ่วงเวลาการระบาดให้ได้มากที่สุด โดยมีเป้าหมายคือ ช่วงที่มีการระบาดรุนแรงที่สุดต้องไม่เกินกว่าขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลที่จะรับได้ (Health service capacity) แผนงานและนโยบายที่สำคัญได้แก่
1) การลดความแออัดของโรคพยาบาล ผู้ป่วยโรค COVID-19 ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ที่มีอยู่ราวๆ 80% ผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้รักษาอาการอยู่ที่บ้าน โดยได้รับการสนับสนุนด้านเวชภัณฑ์และการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่หากมีความจำเป็น ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและวิกฤติเท่านั้นที่จะได้รับการรักษาในโรงพยาบาล มาตรการนี้ยังรวมถึงการขอความร่วมมือประชาชนที่มีอาการคล้ายหวัดทุกคน ให้กักตัวเองอยู่ในบ้าน (self-isolate) เป็นเวลา 14 วัน ถ้าคนในบ้านมีอาการ 1 คน ต้องกักตัวทั้งบ้าน ในกรณีสงสัยว่าเป็นอาการของโรค COVID-19 หรือไม่ ให้โทรเข้าสายด่วน 111 ห้ามเดินทางไปโรงพยาบาล ศูนย์การแพทย์ และร้านขายยา รวมถึงห้ามเดินทางโดยสารขนส่งสาธารณะ ทั้งนี้เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรค
2) การเพิ่มความพร้อมด้านบุคลากรและสถานที่ มีการเลื่อนนัดผ่าตัดผู้ป่วยและการนัดหมายที่ไม่สำคัญออกไปก่อนรวมถึงการขอให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เกษียณ และกลุ่มนักเรียนแพทย์พยาบาลชั้นปีสุดท้ายเข้าร่วมปฏิบัติงาน มีบุคลากรลงทะเบียนกลับเข้ามาช่วยงาน 25,000 อัตรา ทางด้าน Healthcare capacity เดิมทั่วประเทศมีรองรับผู้ป่วย ICU 5,000 เตียง ตอนหลังมีการสร้างโรงพยาบาลฉุกเฉินเพื่อรองรับผู้ป่วย COVID-19 โดยเฉพาะขนาด 3,500 เตียง [6] อีกทั้งรัฐบาลยังคุยกับสถานพยาบาลเอกชน และภาคเอกชนผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ จนทำให้สามารถเพิ่มเตียงรองรับได้อีก 8,000 เตียง
3) การปกป้องและรักษาชีวิต ทางการจะดูแลกลุ่มคนที่มีความเปราะบางและมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่สุดเป็นกรณีพิเศษ จำนวน 1.5 ล้านคน ประกอบด้วยกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป
ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ คนที่มีโรคประจำตัว คนพิการ และหญิงตั้งครรภ์ โดยกักตัวคนกลุ่มนี้ เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ทางการรับผิดชอบจัดส่งอาหารและของใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ผ่านความร่วมมือของเจ้าหน้าที่สาธารณะสุขชุมชน พนักงานส่งอาหาร (Food delivery) ร้านขายยาในชุมชน และอาสาสมัครในท้องถิ่น [7]
4) มาตรการการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) อังกฤษเลือกใช้มาตรการจูงใจทางเศรษฐกิจก่อนเป็นลำดับแรก โดยเลือกปิดเฉพาะสถานบริการที่มีการปฏิสัมพันธ์ของคน เช่น ร้านอาหาร ผับ บาร์ คาเฟ่ (ยกเว้น บริการแบบ Take-away) โดยจ่ายค่าจ้างรายเดือน 80% ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 2,500 ปอนด์ต่อเดือน เพิ่มเงินสวัสดิการให้เปล่าให้แก่ประชาชนกว่า 4 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ในกรณีที่แพทย์สั่งให้กักโรค (Self-isolate) จะได้รับเงินชดเชยการหยุดงาน (Statutory Sick Pay : SSP) สัปดาห์ละราว 94 ปอนด์ ส่วนภาคธุรกิจก็งดจ่ายภาษีไปจนสิ้นสุดเดือนมิถุนายน รวมถึงมีการปล่อยเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยระยะเวลา 6-12 เดือน โดยใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 5 หมื่นล้านปอนด์ [8]
5) มาตรการปิดเมือง (Lockdown) ทางการอังกฤษประกาศ Lockdown ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563[9] โดยห้ามออกจากเคหะสถานโดยไม่จำเป็น แต่มีการผ่อนปรนในบางกรณี ได้แก่ การซื้อของกินของใช้ที่จำเป็น การออกกำลังกายวันละครั้ง และการเดินทางไปทำงาน
6) มาตรการด้านอื่นๆ รัฐบาลสั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศแบบมีเงื่อนไข โดยบุตรของแรงงานที่สำคัญที่สนับสนุนการทำงานในช่วงนี้ จะยังคงสามารถไปโรงเรียนได้ เพื่อไม่เป็นภาระในการเลี้ยงดูบุตร ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ ทหาร ตำรวจ ครู พนักงานไปรษณีย์ คนส่งของ คนขับรถโดยสารสาธารณะ ส่วนมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ให้จัดการเรียนการสอนออนไลน์ [10]
มาสู่ประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กรณีการทำให้เกิดภูมิคุ้มกันร่วม ที่เรียกว่า Herd immunity ซึ่งที่ปรึกษารัฐบาลด้านวิทยาศาสตร์ ท่านเซอร์ Patrick Vallance ได้อธิบายในตอนหลังว่า Herd immunity เป็นเพียงผลพลอยได้ในระยะยาว แต่เป้าหมายสำคัญยังคงเป็นการชะลอการระบาดให้ได้มากที่สุด โดยถ่วงเวลาจนกว่าจะมียาและวัคซีนที่มีประสิทธิภาพนำมาใช้ การตัดสินใจทุกอย่างของรัฐบาลยังคงยึดมั่นในแนวทางตามหลักการและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทางการอังกฤษถูกวิพากษ์วิจารณ์มากคือ อังกฤษให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองน้อยเกินไป องค์การอนามัยโลก (WHO) เน้นย้ำว่า วิธีการทดสอบ TEST, TEST, TEST เพื่อให้การควบคุมและรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จในหลายประเทศ และทางการอังกฤษควรให้ความสำคัญมากกว่านี้ [11] อีกปัญหาหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกันคือ เมื่อมีการทดสอบน้อย และทดสอบเฉพาะคนที่จำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ป่วยบางรายมีการวินิจฉัยโรคล่าช้า ขาดโอกาสในการรักษาโรคอย่างทันท่วงที ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสีย รวมถึงมีผู้เสียชีวิตบางรายไม่มีโอกาสแม้แต่จะได้รักษาตัวในโรงพยาบาล [12]
[3] https://www.gov.uk/government/publications/coronavirus-action-plan
[4] https://inews.co.uk/news/cobra-meeting-what-stand-for-when-uk-government-coronavirus-meeting-966481
[7] https://www.facebook.com/10downingstreet/videos/220421315992868/