วิกฤตยูเครนในเอเปค : เมื่อเวทีเอเปคหนีไม่พ้นการเมืองและความมั่นคง

2381 views
ในปี 2022 เป็นวาระสำคัญของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งในฐานะของการเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ภายใต้หัวข้อ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” (Open. Connect. Balance.)  แต่ความคาดหวังของรัฐบาลไทยต่อการผลักดันการประชุมและสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเวทีเอเปคในปี้อาจจะไม่สดใสนัก  รัฐบาลไทยต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตยูเครนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรอีก 4 ประเทศวอล์คเอาท์จากที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค เพื่อเป็นการประท้วงการรุกรานยูเครนของรัสเซีย (Nikkei Asia b, 2022) และในการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมก็ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมได้ (Bangkok Post, 2022)  บทความชิ้นนี้จึงอยากจะขอเชิญชวนผู้อ่านไปสำรวจความสัมพันธ์ของรัสเซียกับเอเปค ผลกระทบจากปัญหาวิกฤตยูเครน และขบคิดถึงปัญหาที่รัฐบาลไทยอาจจะต้องพบในอนาคต

รัสเซียกับเอเปค

ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 รัสเซียซึ่งเป็นประเทศเกิดใหม่ต้องเผชิญปัญหาหลายด้าน ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจที่กำลังปรับเปลี่ยนจากระบอบคอมมิวนิสต์มาสู่ประบอบประชาธิปไตยและทุนนิยม รวมทั้งการแสดงบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ  ภูมิภาคหนึ่งที่รัสเซียให้ความสนใจคือ ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เนื่องจากรัสเซียมีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ใกล้ชิดกับภูมิคภาคนี้ ได้แก่ เขตไซบีเรีย (Siberia) และภูมิภาคตะวันออกไกล (Russian Far East)  ช่องที่น่าสนใจสำหรับการบูรณาการทั้ง 2 เขตและการแสดงบทบาทของรัสเซียในเวทีของภูมิภาคนี้ในทศวรรษ 1990 คือ เอเปคซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1989 เนื่องจากเอเปคจะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับรัสเซียในการส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดเอเชีย-แปซิฟิก การสร้างโอกาสและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่รัสเซีย และการพัฒนาเศรษฐกิจของรัสเซีย โดยเฉพาะกับภูมิภาคไซบีเรียและตะวันออกไกล (Paradorn, 2009, 134) ซึ่งทั้ง 2 ภูมิภาคเป็นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แต่ขาดการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ  

แม้รัสเซียจะเป็นสมาชิกในปี 1997 และเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคในปี 1998 แต่การให้ความสนใจกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและเอเปคก็ยังน้อย เนื่องจากนโยบายของรัสเซียให้ความสำคัญกับยุโรปมากกว่า (จิตติภัทร พูนขำ, 2018)  กระทั่งการขึ้นมาเป็นผู้นำของนายวลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) การกำหนดท่าที่ต่อเอเปคของรัสเซียที่ชัดเจนขึ้น โดยรัสเซียจะพยายามที่จะเพิ่มการบูรณาการตนเองทางเศรษฐกิจเข้ากับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เข้มข้นมากขึ้น ส่งเสริมบทบทของรัสเซียในกิจกรรมต่าง ๆ ของเอเปค ส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการธุรกิจในภูมิภาคตะวันออกไกลและไซบีเรียกับกลุ่มธุรกิจของเอเปค และประการสุดท้าย ส่งเสริมความหลากหลายและการสร้างสมดุลของการเชื่อมโยงกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สร้างโอกาสการเข้าถึงตลาดของภูมิภาคและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อพัฒนาภูมิภาคตะวันออกไกลและไซบีเรีย (Paradorn, 2009, 135)  ดังนั้น เอเปคจึงเปรียบเสมือนหัวรถจักรในการนำรัสเซียแสดงบทบาทในฐานะมหาอำนาจของภูมิภาค การค้าและการลงทุนจากต่างประเทศของรัสเซียในภูมิภาคเอเปคเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ดังข้อมูลในตารางที่ 1  แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ อย่างจีน ญี่ปุ่นหรือสหรัฐอเมริกาแล้ว รัสเซียก็ยังมีสัดส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกน้อยกว่ามาก


วิกฤตการเมืองในยูเครนตั้งแต่ปี 2014 และการรุกรานยูเครนของรัสเซียในปัจจุบันที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกด้วย โดยเฉพาะการรุกรานยูเครนของรัสเซียส่งผลทั้งการเมืองระหว่างประเทศ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ขณะที่หลายประเทศพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะประเทศไทยที่คาดหวังความสำเร็จในเวทีเอเปคก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

ไทยกับการเป็นเจ้าภาพเอเปค : ความคาดหวังและปัญหาจากวิกฤตยูเครน

ประเทศไทยรับไม้ต่อการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปค 2022 ต่อจากนิวซีแลนด์  การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคเป็นความคาดหวังของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมบทบาทที่โดดเด่นในเวทีเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ ภายหลังจากการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี 2003 ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงและการเป็นประธานอาเซียนในปี 2019 ท่ามกลางความขัดแย้งด้านความมั่นคงในภูมิภาคและความขัดแย้งจีน-สหรัฐอเมริกา แต่รัฐบาลไทยก็สามารถสรุปองค์ประกอบสำคัญของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) และออกรายงานมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the IndoPacific: AOIP) ได้สำเร็จ (Tita Sanglee a, 2021)  นอกจากนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ (Nikkei Asia a, 2022; Nikkei Asia c, 2022) และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลต่อการคาดหวังในการสร้างผลสำเร็จจากเวทีเอเปคของรัฐบาลอีกด้วย

การรุกรานยูเครนของรัสเซียที่เริ่มขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ระหว่างประเทศไป   การสู้รบของทั้ง 2 ประเทศส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้า โดยเฉพาะสินค้าประเภทธัญพืชและปุ๋ย ซึ่งทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ในตลาดโลก รวมทั้งราคาที่สูงขึ้นของสินค้าพลังงาน  การประชุมเอเปคที่กำลังจะเกิดขึ้นถูกจับตามอง เนื่องจากรัสเซียและฝ่ายต่อต้านรัสเซีย อย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ต่างก็เป็นสมาชิกของเอเปค  แม้ว่านายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของไทยจะเชื่อว่า วิกฤตยูเครนจะไม่ส่งผลกระทบต่อการประชุมเอเปค (กรุงเทพธุรกิจ, 2565) แต่การประชุมรัฐมนตรีด้านการค้าเอเปค (Ministers Responsible for Trade Meeting: MRT) ระหว่างวันที่ 21-22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ก็แสดงให้เห็นว่าเวทีเอเปคไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวได้  มีการวอล์คเอาท์ประท้วงรัสเซียของสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรเกิดขึ้น  แม้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะออกแถลงการณ์และให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ยังคงสนับสนุนเชิงบวกต่อเวทีเอเปคของไทย และรัสเซียพยายามแสดงท่าทีไม่นำประเด็นทางการเมืองมาเกี่ยวข้องกับเอเปค แต่สหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรยังคงมีความเห็นว่าประเด็นเศรษฐกิจและปัญหายูเครนเป็นปัญหาสำหรับเวทีเอเปคด้วย (Prensa Latina, 2022; Office of United States Trade Representative, 2022)  เช่นเดียวกับท่าทีของผู้แทนทางการค้าของแคนาดาที่ว่า การประท้วงรัสเซียในเอเปคยังน่าจะดำเนินต่อไปด้วยในอนาคต (Bloomberg, 2022) 

อีกด้านหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซียซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุม G-20 ในปีนี้ได้แสดงท่าทีและมีปฏิสัมพันธ์ต่อปัญหาวิกฤตยูเครนชัดเจนมากกว่าไทย โดยเฉพาะท่าทีของ โจโก วีโดโด (Joko Widodo) ผู้นำอินโดนีเซีย ที่พยายามหารือกับผู้นำทั้งยูเครนและรัสเซียเพื่อบรรเทาวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรม (Reuters, 2022) จนอาจจะกล่าวได้ว่า อินโดนีเซียได้เปลี่ยนวิกฤตที่เกิดขึ้นให้เป็นโอกาสแสดงบทบาทในฐานะประธานการประชุม G-20 ได้อย่างเด่นชัด

ความคาดหวังผลสำเร็จของรัฐบาลไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปค 2022 อาจจะต้องทบทวนเป้าหมายใหม่อีกครั้งท่ามกลางสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  วิกฤตยูเครนไม่เพียงทำลายความฝันของรัฐบาลไทยที่จะอาศัยเวทีเอเปคสร้างผลงานสำคัญท่ามกลางวิกฤตการเมืองภายในประเทศ (Tita Sanglee b, 2022) เท่านั้น แต่วิกฤตยูเครนยังดึงเอเปค เวทีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เข้าสู่ความขัดแย้งทางการเมืองและความมั่นคงตามไปด้วย

รายการอ้างอิง

บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับเอเปค ศูนย์ศึกษาเอเปค สถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศิวศิลป์ จุ้ยเจริญ
นักวิจัยประจำสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจัยที่กำลังศึกษาและพยายามหาประเด็นหลักสำหรับชีวิตวิชาการ