ในโลกที่เต็มไปด้วยการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง “ความผันผวน” ที่เกิดมาจากเรื่องราวที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างการลื่นไหลฟุ้งกระจาย ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือ จึงเป็นสถานการณ์ธรรมดาสามัญที่เราทุกคนต่างต้องเผชิญหน้าและรับมือ ในยุคที่สังคมมีความเปราะบางเช่นนี้ การมีภูมิคุ้มกันจากการรับรู้เพื่อเตรียมรับมือล่วงหน้าย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าสำหรับประชาชน
ด้วยเหตุนี้ เนื่องในโอกาสครบรอบ 73 ปี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงจัดการเสวนาหัวข้อ “
เศรษฐศาสตร์ในโลกแห่งความผันผวน (VUCA World)” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และมุมมองทางเศรษฐศาสตร์อันมีประโยชน์ต่อการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่สังคมผ่านการถ่ายทอดมุมมองและข้อคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่ง ผู้มีความชำนาญทางด้านเศรษฐศาสตร์และนโยบาย 3 ท่าน คือ ดร. พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน). คุณกษิดิ์เดช คำพุช นักวิจัย 101 PUB – Public Policy Think Tank และ อ.ดร. เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการคณะทำงานสัมมนาเผยแพร่ จัดการองค์ความรู้และสื่อสารสาธารณะ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การเสวนาครั้งนี้ มี รศ.ดร. พีระ เจริญพร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
(ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ คุณกษิดิ์เดช กำพุช อ.ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว และ รศ.ดร.พีระ เจริญพร
ขอบคุณภาพจาก คุณสุธี สนธิ)
ดร. พชรพจน์ นันทรามาศ
งานเสวนาเริ่มต้นด้วยการ “ตีแผ่” เรื่องราวหลังบ้านนักเศรษฐศาสตร์ ผู้ทำหน้าที่พิสูจน์และค้นหาเหตุผลเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม. ดร. พชรพจน์ ได้กล่าวไว้ว่า แม้ว่า “ความผันผวน” ที่กำลังเผชิญหน้าอยู่อย่างเป็นกิจวัตรนี้จะไม่ใช่ประเด็นแปลกใหม่ แต่คงไม่มีนักเศรษฐศาสตร์คนใดปฏิเสธ หากจะกล่าวว่า สิ่งนี้เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการตั้งโจทย์ให้ตรงประเด็นและครอบคลุมความสนใจของวงสังคม แต่ถึงกระนั้น ความผันผวนดังกล่าวก็ไม่ได้ “ขัดแข้งขัดขา” ความพยายามในการอธิบายปรากฏการณ์ด้วยหลักคิดทางเศรษฐศาสตร์ไปเสียทีเดียว เพราะหลายต่อหลายครั้งที่ความผันผวนนี้ ได้กลายเป็นเครื่องมือส่งเสริมความเป็นเศรษฐศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญ อันจะเห็นได้จากบรรดาบทความวิเคราะห์หรือข้อคิดเห็นวิจารณ์จำนวนมากที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขา ซึ่งล้วนแล้วแต่สะท้อนออกมาผ่านมุมมอง เงื่อนไข และประสบการณ์ที่แตกต่างกันไปของแต่ละบุคคลทั้งสิ้น จึงไม่น่าแปลกใจ หากการทำนายอนาคตอันใกล้ด้วยข้อมูลอันหลากหลายบนหลักคิดทางเศรษฐศาสตร์ไม่ได้ถูกต้องแม่นยำเสมอไป เพราะผู้คนไม่ได้เข้าใจในประเด็นเดียวกันอย่างถ่องแท้เหมือนกันหมด. ด้วยเหตุนี้ ดร. พชรพจน์ จึงได้แนะนำให้เหล่านักเศรษฐศาสตร์หรือผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการวิเคราะห์ วิจัย และพัฒนา นำ “ความผันผวน” และผลพวงที่เกิดขึ้นนี้ ไปเป็นเครื่องมือสำหรับการตรวจสอบการทำนายต่อไป เพื่อให้คำทำนายใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น โดยยังคงตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีและหลักคิดทางเศรษฐศาสตร์ดังเดิม
คุณกษิดิ์เดช คำพุช
แม้ว่าทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์จะเป็นตัวกำหนดและวางรากฐานคำทำนายที่มักมาควบคู่กับการประยุกต์ใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจมากมาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว “ทฤษฎี” ก็เป็นเพียงหลักคิด ไม่ใช่เรื่องราวที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ในชีวิตจริง อันจะเห็นได้จากเรื่องราวชีวิตนักศึกษาจบใหม่ที่เพิ่งก้าวเข้าสู่วัยทำงานไปได้เพียงแค่ 3 สัปดาห์ของคุณกษิดิ์เดช คำพุช ที่บ่อยครั้งต้องเจอกับภาวะ “ผันผวนในตน” เมื่อบทเรียนที่เคยสัมผัสมาก่อนหน้านี้ ไม่สามารถใช้ได้จริงกับการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ เนื่องจากสังคมมีความซับซ้อนและไม่ได้แยกส่วนประกอบภายใต้ข้อสมมุติที่ถูกทำให้ง่ายดังเนื้อหาในบทเรียน แต่กลับเป็นเรื่องราวที่บูรณการมิติต่าง ๆ เข้ามา ด้วยเหตุนี้ บทบาทของทฤษฎีจึงลดลงเหลือเพียงการเป็นเข็มทิศนำทางที่ไม่อาจบอกได้ว่าระหว่างทางจะเจอกับอะไร และปลายทางจะเป็นแบบไหน
ปรากฏการณ์นี้ ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ในแวดวงของนักวิจัยเท่านั้น เพราะเมื่อพิจารณาให้ดี จะพบว่า เราทุกคน ล้วนเจอความผันผวนจากความแปลกใหม่และซับซ้อน เช่นเดียวกับคุณกษิดิ์เดช เป็นเหตุให้ ในบางสังคมที่ภูมิคุ้มกันต่อความผันผวนค่อนข้างเปราะบาง. ผู้คนในสังคมนั้นได้สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาเพื่อปกป้องตัวเองจากความผันผวนที่เกิดขึ้น ซึ่งมักสะท้อนผ่านภาพของการกราบไหว้สิ่งที่เชื่อกันโดยสมัครใจจากการบอกกล่าวต่อกันมาว่ามีพลังเหนือธรรมชาติชนิดที่สามารถคลายทุกข์ร้อนและบันดาลสิ่งที่กำลังปรารถนาให้แก่ผู้บูชาได้ ซึ่งไม่ใช่การกระทำที่ผิดแต่อย่างใด เพราะเป็นไปเพื่อความสบายใจส่วนบุคคล
อ.ดร. เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา อ.ดร. เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว นักเศรษฐศาสตร์ผู้เฝ้าสังเกตการณ์สถานการณ์บ้านเมืองมาอย่างต่อเนื่อง เล็งเห็นว่า ความปรารถนาของผู้คน ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องราวในชีวิตประจำวัน จึงไม่แปลกใจที่โอกาสแห่งโชคที่เฝ้ารอกันอยู่นั้น เพียงน้อยนิดชนิดที่มาไม่ถึงเราเสียที เพราะทุกคนต่างก็เฝ้ารอโชคนี้อยู่เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ อ.ดร. เกียรติอนันต์ จึงขอนำเสนอวิธีที่จะเพิ่มโอกาสแห่งโชคเหล่านั้น โดยการเปลี่ยน “โชค” ให้เป็น “ชะตา” ผ่านการนำหลักคิดทางเศรษฐศาสตร์ มาใช้ในการออกแบบเส้นทางสู่เป้าปรารถนาของตัวเอง เพื่อลดความไม่แน่นอนจากความผันผวนของอนาคตที่กำลังจะผันแปรจาก “โชค” กลายเป็น “ชะตา” อย่างแท้จริง ผ่านการเลือกที่มีประสิทธิภาพนับครั้งไม่ถ้วนในชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้นได้ วิทยากรทั้งสามท่าน มีความเห็นตรงกันว่า ควรทำให้สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์สามารถถึงได้ง่าย และเหมาะกับสภาพสังคมที่เผชิญกับความผันผวนอยู่เสมอเสียก่อน ผ่านการทำให้เศรษฐศาสตร์สามารถสื่อสารออกมาได้อย่างเป็น “ภาษาคน” เพราะใจความเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่การแก้สมการทางคณิตศาสตร์ยาวเหยียดเพื่อหาตัวเลขตัวหนึ่งออกมาสำหรับการอธิบายความเป็นไปของระบบเศรษฐกิจ แต่เป็นเพียงหลักการคิดอันเป็นเหตุเป็นผลที่สามารถใช้อธิบายความเป็นไปของสังคมเท่านั้น

(รศ.ดร.พีระ เจริญพร อ.ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ ดร. พชรพจน์ นันทรามาศ และ คุณกษิดิ์เดช คำพุช
ขอบคุณภาพจากคุณสุธี สนธิ)
ด้วยเหตุนี้ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงวางแผนที่จะก้าวสู่ปีที่ 74 ด้วยโฉมใหม่ที่ทันสมัยและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างแท้จริงยิ่งกว่าเดิม ผ่านการปรับรูปแบบการเรียนรู้ให้นักศึกษาคิดนอกกรอบและเผชิญบทเรียนแห่งชีวิตมากยิ่งขึ้น เพื่อทำให้เศรษฐศาสตร์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่กระตุ้นให้นักศึกษาเกิดความอยากเรียนรู้อย่างแท้จริง