เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์

23 พฤษภาคม 2565
4693 views
องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือยูเนสโก (UNESCO) ได้จัดตั้งเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) ขึ้นในปี 2547 เพื่อคัดเลือกเมืองที่ใช้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในการพัฒนาเมือง จากประเทศสมาชิกที่ได้สมัครเข้าร่วมเครือข่าย  เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) สร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างเมืองในเครือข่าย (2) จัดกิจกรรมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการใช้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์พัฒนาเมือง (3) ส่งเสริมการสร้างสรรค์ การผลิต การจัดจำหน่าย และการเผยแพร่งานศิลปวัฒนธรรม (4) ส่งเสริมนวัตกรรม และขยายโอกาสให้ผู้สร้างสรรค์และผู้ประกอบการ (5) ส่งเสริมประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ให้เข้าถึงงานศิลปวัฒนธรรม และ (6) นำอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาเป็นนโยบายการพัฒนาท้องถิ่น [1]

ในปัจจุบัน (2565) มีเมืองจำนวนมากกว่า 260 เมืองจากประเทศสมาชิกกว่า 80 ประเทศ เข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ใน 7 สาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้แก่ สาขาศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน (Crafts and folk art) สาขาอาหาร (Gastronomy) สาขาการออกแบบ (Design) สาขาดนตรี (Music) สาขาวรรณกรรม (Literature) สาขาภาพยนตร์ (Films) และสาขามีเดีย อาร์ต (Media arts) 

จำเพาะเพียงเมืองจากประเทศสมาชิกยูเนสโกในภูมิภาคเอเชียแล้ว มีเมืองที่เข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์รวม 70 เมือง เซินเจิ้น จากจีน โกเบและนาโกย่า จากญี่ปุ่น เป็น 3 เมืองแรกในภูมิภาคนี้ที่เข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ในสาขาการออกแบบตั้งแต่ปี 2551  จีน (16 เมือง) เกาหลีใต้ (11 เมือง) และญี่ปุ่น (10 เมือง) เป็น 3 ประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีจำนวนเมืองที่เข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์มากที่สุด (ดูแผนภาพที่ 1)  นอกจากนี้ สาขาศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน (20 เมือง) สาขาอาหาร (17 เมือง) และสาขาการออกแบบ (14 เมือง) ยังเป็นสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีเมืองเข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์มากที่สุดอีกด้วย (ดูแผนภาพที่ 2) 

สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมืองเปกาโลงัน (Pekalongan) ซึ่งตั้งอยู่ชายฝั่งตอนเหนือของจังหวัดชวากลาง ในอินโดนีเซีย และเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงเรื่องผ้าบาติก เป็นเมืองแรกที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ในสาขาศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านตั้งแต่ปี 2557  ไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนเมืองที่เข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์มากที่สุดในอาเซียน ตามด้วยอินโดนีเซีย (4 เมือง) และฟิลิปปินส์ (2 เมือง) ส่วนสิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซียมีจำนวนเมืองที่เข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์เพียงประเทศละเมืองเท่านั้น (ดูแผนภาพที่ 1)  นอกจากนี้ เช่นเดียวกับประเทศในภูมิภาคเอเชียโดยรวม สาขาการออกแบบ (5 เมือง) สาขาศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน (4 เมือง) และสาขาอาหาร (3 เมือง) เป็นสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่เมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์มากที่สุด (ดูแผนภาพที่ 2)



ที่มา รวบรวมจาก https://en.unesco.org/creative-cities/creative-cities-map

หมายเหตุ 1) คาซัคสถาน ตุรกี ปากีสถาน อัฟกานิสถาน อาเซอร์ไบจาน และอิหร่าน




ที่มา รวบรวมจาก https://en.unesco.org/creative-cities/creative-cities-map

หมายเหตุ 1) คาซัคสถาน ตุรกี ปากีสถาน อัฟกานิสถาน อาเซอร์ไบจาน และอิหร่าน


ในประเทศไทย มีเมืองที่เข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ จำนวน 5 เมือง ได้แก่ ภูเก็ต สาขาอาหาร ในปี 2558  เชียงใหม่ สาขาศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ในปี 2560  กรุงเทพ สาขาการออกแบบ และสุโขทัย สาขาศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ในปี 2562  และเพชรบุรี สาขาอาหาร ในปี 2564  นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเมืองที่มีแผนสมัครเข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์อีกด้วย เช่น สุพรรณบุรี นครปฐม เชียงราย และน่าน 

ในมุมทางด้านเศรษฐศาสตร์แล้ว งานศิลปวัฒนธรรมช่วยพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างน้อย 2 ช่องทาง (Bille and Schulze, 2006) คือ ในระยะสั้น งานศิลปวัฒนธรรมดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาเพิ่มมากขึ้น และในระยะยาวนั้น เมืองที่สวยงามและมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมหลากหลาย ยังดึงดูดแรงงานให้เข้ามาอยู่อาศัย โดยเฉพาะแรงงานชนชั้นสร้างสรรค์ (Creative class) รวมถึงยังดึงดูดผู้ประกอบการให้เข้ามาลงทุนในเมืองเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีคำอธิบายว่า งานศิลปวัฒนธรรมสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ภาคการผลิตอื่น ๆ อีกด้วย (OECD, 2005, 2018)

ด้วยเหตุนี้ ในระยะสั้น จึงเห็นว่าการเข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ จะสร้างชื่อเสียงให้เมืองเป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติ  ชื่อเสียงเหล่านี้ย่อมดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองมากยิ่งขึ้น  อย่างไรก็ตาม รายได้จากนักท่องเที่ยวจะช่วยให้เศรษฐกิจเมืองดีขึ้นมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับ 3 ส่วนคือ (1) ค่าใช้จ่ายโดยตรงของนักท่องเที่ยวในการเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมในเมือง เช่น ค่าตั๋วนิทรรศการ งานเทศกาล หรือละคอนเวที (2) ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเมือง เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก และค่าอาหาร และ (3) ค่าใช้จ่ายโดยตรงและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของนักท่องเที่ยวนั้น สร้างงานและสร้างรายได้ให้เมืองได้มากน้อยเพียงใด หรือที่เรียกกันว่าผลตัวทวีคูณ (Multiplier Effect)  ในส่วนของผลตัวทวีคูณนี้ หากเมืองสามารถผลิตสินค้าและบริการตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้เอง (รายจ่ายของนักท่องเที่ยวไม่รั่วไหลออกนอกพื้นที่) การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวย่อมสร้างงานและสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่มากขึ้น  ในทางตรงกันข้าม หากเมืองนำเข้าสินค้าและบริการจากพื้นที่อื่นเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวแล้ว (รายจ่ายของนักท่องเที่ยวรั่วไหลออกนอกพื้นที่) การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวย่อมสร้างงานและสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ลดน้อยลง (Bille and Schulze, 2006)  

ส่วนในระยะยาวนั้น แม้ว่าจะมีคำอธิบายว่าเมืองที่สวยงามและมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมหลากหลายดึงดูดแรงงานชนชั้นสร้างสรรค์ให้เข้ามาอาศัยในเมือง และดึงดูดผู้ประกอบการให้เข้ามาลงทุนในเมืองเพิ่มมากขึ้นนั้น  เอาเข้าจริงแล้ว การตัดสินใจย้ายถิ่นที่อยู่ลงหลักปักฐานอยู่อาศัยนั้นยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ไม่ว่าเครือข่ายญาติสนิทมิตรสหาย การคมนาคมขนส่ง ระบบสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายเรื่องที่พักอาศัย และโอกาสการทำงาน เป็นต้น  ปัจจัยเหล่านี้สำคัญมากกว่าความสวยงามและกิจกรรมทางวัฒนธรรมของเมือง  ในทำนองเดียวกัน ด้านการตัดสินใจเข้ามาลงทุนนั้น ผู้ประกอบการมักพิจารณาปัจจัยทางด้านธุรกิจมากกว่าปัจจัยทางด้านวัฒนธรรมของเมือง (Bille and Schulze, 2006)  นอกจากนี้ การใช้งานศิลปวัฒนธรรมพัฒนาพื้นที่เสื่อมโทรมในเมืองให้สวยงามนั้น (gentrification) อาจทำให้ราคาที่พักอาศัยแพงขึ้นจนศิลปิน แรงงานสร้างสรรค์ ตลอดจนคนท้องถิ่น โดยเฉพาะคนที่หาเช้ากินค่ำ ต้องย้ายออกจากย่านนั้นไป (OECD, 2005, 2018)

การได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์มิเพียงทำให้เมืองที่ได้รับคัดเลือกเหล่านี้ได้รับผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจดังกล่าวแล้วเท่านั้น แต่เมืองที่ได้รับคัดเลือกยังมีหน้าที่ปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์อีกด้วย อาทิ การเข้าร่วมการประชุมประจำปีของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้จากการใช้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์พัฒนาเมือง ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับเมืองอื่น ๆ ในเครือข่ายทั้งระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ การเข้าร่วมกิจกรรมของเครือข่ายเมือสร้างสรรค์ในระดับสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การจัดกิจกรรมตามแผนงานที่ยื่นไว้ในคราวสมัครเข้าร่วมเครือข่าย การรายงานผลการดำเนินการทุกรอบ 4 ปี และแจ้งข้อมูลการจัดกิจกรรมให้สำนักเลขาธิการเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ การร่วมคัดเลือกเมืองเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ การพิจารณาสมัครเป็นคณะกรรมการประสานงานในระดับสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ ของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์  

ในปัจจุบัน มิเพียงแต่ประเทศต่าง ๆ ได้ให้ความสนใจใช้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์พัฒนาเศรษฐกิจ เมืองอีกจำนวนไม่น้อยก็ให้ความสนใจใช้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยเช่นกัน  งานด้านศิลปวัฒนธรรมช่วยพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นทั้งในระยะสั้น จากการดึงดูดนักท่องเที่ยว และในระยะยาว จากการดึงดูดแรงงานและนักลงทุน  ด้วยแนวคิดพื้นฐานดังกล่าวนี้ เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก จึงเป็นอีกโครงการหนึ่งที่สนับสนุนให้เมืองต่าง ๆ ใช้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์พัฒนาท้องถิ่น จากการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเมืองในเครือข่าย ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการจัดงานศิลปวัฒนธรรม การส่งเสริมการสร้างสรรค์ การผลิต การจัดจำหน่าย และการเผยแพร่งานศิลปวัฒนธรรมในสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ การส่งเสริมนวัตกรรมและเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การขยายโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงงานศิลปวัฒนธรรม และการใช้อุตสาหกรรมวัฒนธรรมเป็นนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น

เอกสารอ้างอิง
Bille, Trine and Gunther G. Schulze (2006). “Culture in Urban and Regional Development”, in Ginsburgh, Victor A. and David Throsby (eds.), Handbook of the Economics of Art and Culture. Amsterdam: Elsevier.
OECD (2005). “Culture and Local Development”. Paris: OECD.
OECD (2018). “Culture and Local Development: Background Document”. Paris: OECD


สิทธิกร นิพภยะ
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์