ความเหลื่อมล้ำสามารถมองได้หลายมุมและหลายมิติ บทความนี้จะเน้นไปที่ความเหลื่อมล้ำซึ่งพิจารณาจากกลุ่มลักษณะต่างๆ ทางประชากร โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทย (SES) ตั้งแต่ปี 2535 – 2562 (ในปีที่มีข้อมูลด้านรายได้) คำนวณสัดส่วนประชากรในแต่ละกลุ่มลักษณะต่าง ๆ ได้แก่ เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ สถานภาพการจ้างงาน ภาคการผลิต และการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ที่กระจายตัวไปตามกลุ่มชั้นรายได้ โดยนักวิจัยแบ่งชั้นรายได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มรายได้น้อยสุด 20% แรก (Bottom 20%) เพื่อสะท้อนกลุ่มเปราะบางในส่วนของเศรษฐกิจฐานราก กลุ่มรายได้ต่ำ 30% ถัดมา (Low 30%) กลุ่มรายได้ปานกลาง 40% (Middle 40%) กลุ่มรายได้สูง 9% (Upper 9%) และกลุ่มรายได้สูงสุด 1% (Top 1%) มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้
กลุ่มอายุ สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นในทุกชั้นรายได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุในกลุ่มรายได้น้อย 50% ล่างสุด มีแนวโน้มที่มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าสัดส่วนผู้สูงอายุในกลุ่มรายได้ปานกลางและรายได้สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี 2562 ในกลุ่มรายได้น้อยสุด 20% มีสัดส่วนครัวเรือนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเป็นเกือบร้อยละ 40 (รูปที่ 1) เป็นตัวชี้ให้เห็นว่าครัวเรือนผู้สูงอายุนั้นเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องให้ความสนใจ
รูปที่ 1 สัดส่วนครัวเรือนผู้สูงอายุในแต่ละชั้นรายได้
ที่มา: คำนวณโดยผู้วิจัยด้วยการใช้ข้อมูล SES
ลักษณะประชากรด้านการศึกษา (รูปที่ 2) พบว่า สัดส่วนประชากรในกลุ่มที่มีรายได้น้อย 20% ล่างสุด ส่วนใหญ่จะมีการศึกษาในระดับประถมศึกษา โดยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 70 ขึ้นไป ขณะที่กลุ่มที่จบระดับมัธยมศึกษา จะเห็นภาพความเหลื่อมล้ำระหว่างชั้นรายได้ที่ลดลง แต่กลุ่มที่มีการศึกษาตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยหรือปวส. ขึ้นไปจะมีแนวโน้มของความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น
แม้ว่าในกลุ่มรายได้น้อย 50% ล่างจะมีสัดส่วนผู้จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเพิ่มสูงขึ้นแล้วก็ตาม โดยตั้งแต่ปี 2554 – 2562 จะเห็นความแตกต่างของสัดส่วนประชากรที่มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยได้ชัดเจนมาก ทั้งนี้ในปี 2562 กลุ่มรายได้น้อย 20% ล่างสุด จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเพียงร้อยละ 4 ขณะที่กลุ่มรายได้สูง 9% และสูงสุด 1% จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยถึงร้อยละ 52 และ 56 ตามลำดับ ขณะที่ชั้นรายได้ปานกลางก็มีการปรับสัดส่วนประชากรที่จบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเพิ่มสูงขึ้นด้วย
รูปที่ 2 สัดส่วนประชากรตามระดับการศึกษาในแต่ละชั้นรายได้
ที่มา: คำนวณโดยผู้วิจัยด้วยการใช้ข้อมูล SES
ทั้งนี้ ผลของระดับการศึกษาจะเชื่อมไปยังทักษะของแรงงาน ลักษณะอาชีพ และรายได้ที่แรงงานได้รับ โดยที่การศึกษาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนมีรายได้ที่สูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน การศึกษาก็มีส่วนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นได้เช่นกัน เนื่องจากผู้ที่มีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดแรงงานยังไม่มีแรงงานที่จบการศึกษาในระดับสูงเพียงพอ จะมีโอกาสได้รับรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก อย่างไรก็ดี เมื่อตลาดแรงงานเริ่มมีอุปทานแรงงานที่มีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ประโยชน์ส่วนเพิ่มจากระดับการศึกษาที่สูงขึ้นจะลดน้อยถอยลง
ในส่วนของสถานภาพการทำงาน (รูปที่ 3) พบว่า กลุ่มลูกจ้างภาครัฐและรัฐวิสาหกิจมีรายได้ที่ปรับตามโครงสร้างเศรษฐกิจโดยยังคงสถานะในกลุ่มผู้มีรายได้สูง 10% บนสุดมาโดยตลอด ขณะที่กลุ่มลูกจ้างเอกชนในช่วง 10 ปีหลังที่ผ่านมาก็มีแนวโน้มกระจายตัวในแต่ละชั้นรายได้ดีขึ้น (เหลื่อมล้ำลดลงเมื่อเทียบกับปี 2535) นอกจากนี้ ในช่วงเวลา 2535-2562 นายจ้างสามารถเลื่อนจากกลุ่มรายได้น้อยสุดมาเป็นกลุ่มรายได้สูงและสูงสุด
ขณะที่กลุ่มจ้างงานตัวเองจะมีความแตกต่างในสัดส่วนประชากรในแต่ละช่วงชั้นรายได้มากขึ้น หรือมองได้ว่ามีแนวโน้มเหลื่อมล้ำสูงขึ้น โดยเฉพาะจากสถานการณ์โควิดยิ่งจะทำให้กลุ่มจ้างงานตนเองเป็นกลุ่มเปราะบางมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มนอกภาคทางการ (Informal sector) ที่ไม่มีสวัสดิการแรงงานรองรับ
รูปที่ 3 สัดส่วนประชากรตามสถานการทำงานในแต่ละชั้นรายได้
ที่มา: คำนวณโดยผู้วิจัยด้วยการใช้ข้อมูล SES
หากพิจารณาลักษณะอาชีพโดยเชื่อมกับการใช้ทักษะจะพบว่า ผู้มีรายได้น้อยจะยังคงเข้าไม่ถึงอาชีพที่ต้องใช้ทักษะสูงและมีรายได้สูง ได้แก่ ผู้จัดการ ข้าราชการชั้นสูง ผู้บัญญัติกฎหมาย ผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่างๆ เจ้าหน้าที่เทคนิค โดยในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย 20% ล่างสุดจะมีอาชีพดังกล่าวเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น (และเพิ่มเป็นร้อยละ 4 ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย 30% ถัดมา) ขณะที่ระดับชั้นรายได้สูงจะมีอาชีพดังกล่าวสูงถึงร้อยละ 45-56 ของกลุ่มรายได้สูง 9% และสูงสุด 1% ตามลำดับ
โดยจะเห็นว่ากลุ่มเปราะบางยังคงเป็นกลุ่มที่มีทักษะต่ำ ประกอบอาชีพงานพื้นฐาน ขณะที่ทักษะกึ่งฝีมือ ได้แก่ เสมียน พนักงานบริการ ช่างฝีมือ ผู้ควบคุมเครื่องจักรโรงงาน หรืองานทางด้านเกษตร ป่าไม้ ประมง ยังคงเป็นกลุ่มที่กระจายตัวอยู่ในระดับรายได้น้อย 50% ล่างสุด และรายได้ปานกลาง 40% ถัดมา ซึ่งไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำในมุมของทักษะยังมีลักษณะต่อเนื่อง (Persistence) ตลอดช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา
ในบริบทของภาคการผลิต (รูปที่ 4) จะพบว่ากลุ่มรายได้น้อยสุด 20% จะมีสัดส่วนเป็นภาคเกษตรสูงถึงเกือบร้อยละ 70 โดยสัดส่วนดังกล่าวไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ขณะที่กลุ่มรายได้น้อย 30% ถัดมา จะมีสัดส่วนของผู้ที่ทำงานภาคเกษตรลดลง และมีสัดส่วนของผู้ที่ทำงานในภาคบริการเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มรายได้ปานกลาง 40% โดยกลุ่มรายได้สูงสุด 10% มีสัดส่วนของภาคบริการอยู่สูงถึงร้อยละ 70 ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตจะกระจายอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลาง และรายได้สูงเป็นหลัก ดังนั้น ภาคเกษตรยังคงเป็นภาคการผลิตที่เป็นกลุ่มเปราะบางอย่างชัดเจน
รูปที่ 4 สัดส่วนประชากรตามภาคการผลิตหลักในแต่ละชั้นรายได้
ที่มา: คำนวณโดยผู้วิจัยด้วยการใช้ข้อมูล SES
ด้านการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ พบว่า ผู้มีรายได้น้อยสุด 50% ล่างจะสามารถเข้าถึงสวัสดิการด้านสุขภาพได้จากประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นหลัก ขณะที่กลุ่มรายได้ปานกลางจะใช้ในส่วนของสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม และกลุ่มรายได้สูงสุด 1% เลือกที่จะซื้อประกันสุขภาพของตนเองถึงร้อยละ 22 อย่างไรก็ดี ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีโอกาสเข้าถึงสวัสดิการอื่นๆ ได้แก่ เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุ เงินสงเคราะห์ผู้พิการ โครงการช่วยเหลือเกษตรกร และกองทุนหมู่บ้าน ได้มากขึ้น
ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า ความเหลื่อมล้ำมีพลวัต บางกลุ่มประชากรมีลักษณะความเหลื่อมล้ำที่ลดลง ขณะที่บางกลุ่มประชากรยังคงเผชิญกับความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่อง หากจะสรุปกลุ่มเปราะบางจากการวิเคราะห์ในภาพรวมนี้ จะได้ว่า กลุ่มเปราะบางจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า มีสถานภาพอาชีพเป็นผู้จ้างงานตนเอง กลุ่มอาชีพที่ใช้ทักษะต่ำ และผู้ที่ทำงานในภาคเกษตร