หากกล่าวถึงสิ่งมีชีวิตที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “มนุษย์” ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์อาจอธิบายสัตว์ชนิดนี้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่อยู่ ณ จุดสูงสุดของวิวัฒนาการ อันจะเห็นได้จากการมีกระดูกสันหลังที่ตั้งตรงฉากกับพื้นดิน และการมีสมองขนาดใหญ่ไว้สำหรับประมวลผลและสั่งการ แต่ในทางสังคมศาสตร์ บทบาทของ “มนุษย์” กลับแตกต่างออกไป “มนุษย์” เป็นเพียงสัตว์สังคมรูปแบบหนึ่งที่มีการรวมกลุ่มกันเพื่อการอยู่รอดผ่านการสร้างและสั่งสมวัฒนธรรม โดยการจะเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยแวดล้อมหลายประการ ซึ่งในตำราเรียนของหลาย ๆ สำนักอาจกล่าวไว้ว่า สิ่งเหล่านี้คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค แต่ในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์เราต้องการมากกว่านั้น เพราะวิวัฒนาการ “ความเป็นมนุษย์” ไม่เคยหยุดเปลี่ยนแปลง
ตลอดหลายพันปีแห่งประวัติศาสตร์มนุษยชาติ บทบาทของมนุษย์ค่อย ๆ มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามเงื่อนไขทางสังคมที่ถูกสร้างขึ้นและถูกส่งต่อกันในแต่ละยุคสมัย ด้วยเหตุนี้ ปัจจัย 4 ที่เคยเพียงพอสำหรับวิถีชีวิตของมนุษย์จึงอาจกลายเป็นเพียงหนึ่งในประเด็นพื้นฐานที่ทุกคนคำนึงถึง เพื่อสนับสนุนการดำรงอยู่ของปัจจัยที่เกิดขึ้นตามมาในภายหลังเพราะวิวัฒนาการของโครงสร้างสังคม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกลไกหลักที่คอยเชื่อมมนุษย์ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมทั้งสิ้น ทำให้รูปแบบการถ่ายทอดวิทยาการที่ครอบคลุมไปถึงประเด็นทางด้านศีลธรรมจากรุ่นสู่รุ่นจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นไปของกระแสสังคมปัจจุบัน ภายใต้เงื่อนไขการมีคุณภาพชีวิตที่ดีตั้งแต่ครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน ด้วยเหตุนี้ ทางคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้จัด ปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 18 ขึ้น เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ในหัวข้อ “เลี้ยงลูกในโลกใหม่ : พัฒนาการเด็ก ประชาธิปไตย และโลกใหม่ของทุกคน” โดยได้รับเกียรติจากจิตแพทย์และนักเขียนผู้มากไปด้วยประสบการณ์และความสามารถอย่าง นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ มาร่วมบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตตลอด 60 กว่าปีบนผืนแผ่นดินไทยท่ามกลางมรสุมและการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจและการเมือง