เศรษฐสาร
เศรษฐศาสตร์
เศรษฐกิจ
เศรษฐจร
สารคดี
สารานุกรม
PODCAST
ฉบับที่ผ่านมา
เศรษฐสาร
เศรษฐศาสตร์
เศรษฐกิจ
เศรษฐจร
สารคดี
สารานุกรม
PODCAST
ฉบับที่ผ่านมา
setthasarn@econ.tu.ac.th
02-613-2407
ยุคมืดและแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ : ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจยุโรปหลังยุคมืด
จิดาภา ลู่วิโรจน์
18 เมษายน 2565
ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ
History of the World Economy
13315
views
ที่นาชื้นแฉะท้องฟ้ามืดครึ้มเสียงกระทบของเกราะเหล็กอัศวินและเงาของไม้กางเขนที่พาดผ่านทุกตารางนิ้วของทวีปยุโรปคงเป็นสิ่งที่สื่อถึงบรรยากาศในช่วงยุคมืด (Dark Age) หรือยุคกลาง (Medieval Ages) ซึ่งเป็นช่วงเวลากว่า 400 ปี ที่ทวีปยุโรปไม่ได้รับแสงสว่างจากอารยธรรมโรมันได้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม หลังจากสงครามทางศาสนาที่สำคัญที่สุดในโลกหรือสงครามครูเสด (Crusades) สิ้นสุดลง ยุโรปกลับกระโจนเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) ได้อย่างรวดเร็ว ยุโรปก็ได้ให้กำเนิดนักคิด นักประดิษฐ์ และนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญหลายท่านที่วางโครงสร้างและต่อยอดภูมิความรู้ของมนุษยชาติ อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ผืนทวีปที่หม่นหมองกลับฉายแววสุกสว่างได้อย่างรวดเร็ว…หรือว่าภายใต้ความมืดมิดนั้น สภาพสังคมของยุโรปได้แฝงลักษณะสำคัญอันเป็นรากฐานสู่พัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมของยุโรปไว้
หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน (Roman Empire) อันรุ่งโรจน์ ระบอบการปกครองและสภาพสังคมของยุโรปต้องปรับเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นและทนทานต่อการรุกรานของอนารยชนทางเหนือ เช่น พวกไวกิง (Vikings) มากยิ่งขึ้น การสร้างเมืองใหญ่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีมากกว่า ดังที่เห็นได้เมื่อครั้งอนารยชนกลุ่มกอธ (Goth) เข้าโจมตีกรุงโรม ดังนั้นระบบการเมืองและสังคมแบบศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism/Manorial System) จึงถือกำเนิดขึ้นโดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรปตะวันตก การสร้างเมืองที่กระจายกันไปตามพื้นที่สามารถลดความเสี่ยงต่อการตกเป็นเป้าโจมตีได้ ผู้ปกครองพื้นที่หรือท่านลอร์ด (Lords) และไพร่พลรวมถึงทหารหลายลำดับและอัศวิน (Knights) ได้รับอำนาจเด็ดขาดในการปกป้องและปกครองไพร่ (Peasants) ซึ่งเป็นผู้ทำงานติดที่ดินใหญ่ ระบบการเมืองและสังคมดังกล่าวนี้เรียกกันว่าเมเนอร์ (Manor)
ที่มา :
https://www.studentsofhistory.com/the-manor-system
และหนังสือ A Concise Economic History of the World
กลุ่มผู้ปกครองเก็บภาษีในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งผลิตผลทางการเกษตรและการใช้แรงงานเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการคุ้มครองนั้น เราสามารถเห็นสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ในเมเนอร์ได้จากภาพทางด้านซ้าย หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญคือ Manor House หรือที่อยู่อาศัยของท่านลอร์ด ปราสาทเหล่านี้มักสร้างจากหินที่มีความแข็งแรงสูงเพื่อใช้เป็นที่หลบภัยของทั้งผู้ปกครองและประชาชนในเมเนอร์ยามถูกรุกรานโดยข้าศึก พื้นที่ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ใช้สอยของประชาชนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการเกษตร การปศุสัตว์ การตีเหล็ก การอบขนม และการไปโบสถ์ เมเนอร์ยังมีองค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งคือป่าขนาดใหญ่ที่เป็นที่ล่าสัตว์ของชนชั้นปกครอง จากภาพทางด้านขวาเราสามารถเห็นได้ว่าเมเนอร์สามารถกินพื้นที่ได้กว่าพันเอเคอร์ ระบบดังกล่าวส่งผลกระทบสำคัญต่อทั้งระบบสังคมและเศรษฐกิจของยุโรปเป็นอย่างมาก
การป้องกันการถูกโจมตีเป็นเพียงหนึ่งในหลายปัจจัยที่เอื้อต่อการใช้ระบบศักดินาสวามิภักดิ์ในยุโรป มนุษย์ในก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ทำการเกษตรเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลักในสังคม เนื่องจากพวกเขาดำรงชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีความเจริญทางเทคโนโลยีน้อย ความแตกต่างที่เด่นชัดของเกษตรกรรมในยุคกลางกับในอารยธรรมเก่าแก่อื่น ๆ เช่น อารยธรรมบนลุ่มแม่น้ำไนล์ อย่างอารยธรรมอียิปต์ และอารยธรรมบนลุ่มแม่น้ำฮวงโห อย่างอารยธรรมจีน คือระบบชลประทาน (Irrigation) เกษตรกรรมในทวีปยุโรป ไม่ต้องพึ่งพาระบบชลประทานที่จัดสรรโดยภาครัฐเพราะพื้นที่ดังกล่าวพื้นที่ชุ่มน้ำจากฝน ดังนั้นรัฐบาลกลางจึงมีความสำคัญน้อยลงในยุคนี้และสามารถถูกแทนที่โดยการปกครองในระดับท้องถิ่นได้
ระบบชลประทานในอียิปต์
ที่มา :
https://www.irrigationaustralia.com.au/about-us/the-history-of-irrigation
ลักษณะทางสังคมสำคัญอีกประการหนึ่งที่มีผลต่อความเจริญทางเศรษฐกิจของยุโรปคือ ความสามารถในการพึ่งพาตนเองและการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของประชาชน หนึ่งในผลกระทบจากการล้มสลายของจักรวรรดิโรมันคือ การลดลงอย่างเห็นได้ชัดของอัตราการรู้หนังสือ (Literacy Rate) ในยุโรปยุคกลาง ถึงแม้ว่าศาสนจักรได้ธำรงตนเป็นผู้รักษาและคงไว้ซึ่งความรู้จากยุคคลาสสิค (Classics) ซึ่งก็คือยุคกรีกและโรมัน แต่ความรู้ดังกล่าวไม่ได้ถูกกระจายไปยังประชาชนในระดับรากหญ้า เนื่องจากกิจกรรมหลักของประชาชนคือการทำการเกษตร ซึ่งใช้ความรู้ที่แตกต่างจากวิทยาการที่กลุ่มผู้ปกครองและศาสนจักรดูแลอยู่โดยสิ้นเชิง และอาจจะกล่าวได้ว่าความสามารถในการอ่านเขียนไม่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในยุคนั้น ดังนั้นกลุ่มผู้ปกครองที่ดินจึงไม่มีความจำเป็นที่จะเข้ามายุ่งเกี่ยวในกิจการภายในของประชาชน ประชาชนกลุ่มนี้จึงมีอิสระมากกว่าประชาชนในกลุ่มอารยธรรมเก่าที่ต้องพึ่งพาทางการ พวกเขามีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจเรื่องการเก็บเกี่ยวผลผลิต การเลี้ยงสัตว์ การทำขนมปัง และการพัฒนาเครื่องมือ เสื้อผ้า และกระท่อมของพวกเขาได้อย่างเต็มที่
นอกเหนือจากการเกษตรแล้ว การทำงานฝีมือก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ปกติแล้วผลผลิตส่วนเกินจากเมเนอร์มักจะถูกส่งไปยังท่านลอร์ดในรูปของภาษี หรือไม่ก็ถูกนำไปขายยังตลาดในเมืองใกล้เคียง เมือง (Town) เป็นแหล่งรวมของผู้เชี่ยวชาญในงานฝีมือทั้งการตัดเย็บเสื้อผ้า การตีเหล็ก และการประดิษฐ์ของใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ช่างฝีมือเหล่านี้ต้องผ่านระบบการฝึกหัดที่เข้มข้นเป็นเวลาหลายปี โดยผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพเดียวกัน กว่าจะเป็นที่ยอมรับและสามารถเข้าร่วมในกิลด์ (Guild) หรือสมาคมของผู้ประกอบอาชีพนั้น ๆ จนสามารถทำงานได้อย่างเปิดเผย ถึงแม้ว่ากิจกรรมทางการเกษตรและทางการผลิตจะเกิดขึ้นในคนละพื้นที่ แต่กิจกรรมทั้งสองมีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังถูกผลิตในปริมาณน้อยเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการเท่านั้นเพราะผลตอบแทนจากการค้าในยุคนั้นค่อนข้างต่ำ
การทำงานของช่างฝีมือ
ที่มา :
https://www.conciliators-guild.org/guild
เราสามารถเห็นได้ว่า การมีอิสระทางความคิดและความคุ้มครองที่เหล่าประชาชนติดที่ดินได้รับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเกื้อหนุนความเจริญของยุโรปในยุคถัดมา อีกทั้งการกระจายตัวของเมืองเล็ก ๆ ที่ประกอบไปด้วยกิลด์ยังทำให้วิทยาการในระดับพื้นฐานของยุโรปสามารถกระจายไปได้อย่างทั่วถึงในระดับรากหญ้า เมื่อการใช้เงินตราแพร่หลายมากขึ้น เกษตรกรสามารถส่งผลิตผลและเงินเป็นภาษีแทนการใช้แรงงานได้ ประชาชนเหล่านี้จึงมีแรงจูงใจที่จะพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานของตนเพื่อที่จะมีเวลาพักผ่อน ลักษณะความคิดดังกล่าวได้ถูกสั่งสมตามกาลเวลาและส่งผลให้ประชาชนของยุโรปมีความคิดเป็นของตนเองและพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมา
และแล้วการเปลี่ยนแปลงที่ว่าก็มาถึง… สงครามครูเสดมีบทบาทอย่างมากในการช่วยทลายกำแพงที่คอยปิดกั้นพัฒนาการของทวีปยุโรป ประชาชนบางส่วนได้รับอิสระจากการเป็นไพร่ติดที่ดินผ่านการร่วมรบในสงคราม ผู้คนเหล่านี้จึงสามารถนำความรู้ที่มีติดตัวไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ สงครามครูเสดยังช่วยฟื้นฟูเส้นทางการค้าสำคัญที่ถูกทำลายลงหลังกรุงโรมล่มสลายอีกด้วย ก่อนการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน การค้าทางน้ำเป็นที่นิยมกว่าการค้าทางบกเพราะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ต่ำกว่าและสามารถขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ได้สะดวกกว่ามาก แต่หลังการรุกรานของ อนารยชน เส้นทางการค้าสำคัญหลายเส้นถูกทำลายลง ผู้คนในสมัยนั้นจึงต้องพึ่งพาผลผลิตจากเมเนอร์และการค้าในเส้นทางสั้น ๆ เป็นหลัก เมื่อสงครามสิ้นสุด พ่อค้าชาวมุสลิมและเหล่าเวณิชชาวอิตาลีได้ฟื้นฟูเส้นทางการค้าขึ้นมาอีกครั้ง ในระยะเวลาอันสั้น เมืองใหญ่ต่าง ๆ เช่น เจนัว เวนิส ไคโร และซีเรีย ก็กลายเป็นจุดค้าขายสำคัญในแถบเมดิเตอร์เรเนียน
อีกทั้งการระบาดของกาฬโรค (Black Death) ในคริสตศตวรรษที่ 14 ได้ลดจำนวนประชากรในทวีปยุโรปลงอย่างมาก กล่าวคือพื้นที่และทรัพยากรเฉลี่ยต่อหัวมีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรที่ยังมีชีวิตรอดสามารถเข้าจับจองพื้นที่รกร้างได้ และพวกเขาเหล่านี้ยังมีอำนาจการต่อรองมากขึ้นเพราะจำนวนแรงงานซึ่งเป็นที่ต้องการในการผลิตมีน้อยลง
พัฒนาการด้านเศรษฐกิจหลังยุคมืดของยุโรปยังไม่หยุดลงแต่เพียงเท่านี้ ผลผลิตหนึ่งของการค้าคือ การธนาคาร ในระยะเริ่มแรกชาวยิวเป็นผู้ริเริ่มระบบนี้ด้วยการสร้างระบบกู้ยืมเงินในหมู่คนยิวด้วยกันเป็นเครือข่ายทั่วทั้งยุโรป คริสตจักรในยุคนั้นมองว่าการธนาคารซึ่งนำไปสู่การจัดเก็บดอกเบี้ยเป็นการกระทำที่เป็นบาป ทำให้ชาวคริสต์ในสมัยนั้นไม่สามารถทำการธนาคารได้ ศูนย์การธนาคารสำคัญตั้งอยู่บริเวณอิตาลีตอนเหนือ ซึ่งคือบริเวณเดียวกันกับที่ตั้งของเมืองการค้าสำคัญต่าง ๆ สามารถกล่าวได้ว่าธนาคารในยุคบุกเบิกจากชาวยิวและอิตาลีก็เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาการทางเศรษฐกิจของยุโรปเช่นเดียวกัน
ธนาคารยุคแรกเริ่มในอิตาลี
ที่มา :
https://medieval.gumlet.net/wp-content/uploads/2013/04/florentinebanking.jpg?format=webp&compress=true&quality=80&w=1000&dpr=2.0
ดังนั้นเราสามารถเห็นได้ว่าลักษณะทางสังคมในยุคมืดนั้นมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของยุโรปในยุคถัดมา ปัจจัยทางการเมือง ภูมิศาสตร์ และความเชื่อต่างก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่ควรค่าต่อการศึกษาในครั้งนี้
Reference
The economy of medieval Europe: Expanding trade and cities. TimeMaps. (2021, June 29). Retrieved January 1, 2022, from
https://www.timemaps.com/encyclopedia/medieval-europe-economy-history/
North, D. C. (1981). The Rise and Decline of Feudalism. In Structure and change in economic history (pp. 124–142). essay.
ความรู้บางส่วนได้มาจากการศึกษาวิชา EE302 History of the World Economy ณ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ
History of the World Economy
จิดาภา ลู่วิโรจน์
นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ)
บทความอื่นของผู้เขียน
บทความแนะนำ
ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในยุครัฐบาลเปรม (2523-2531)
ตฤณ ไอยะรา
31 พฤษภาคม 2562
ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทย
เดินหน้าเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้ง
พันธิตรา ภูผาพันธกานต์
30 เมษายน 2562
เศรษฐกิจไทย
เศรษฐศาสตร์มหภาค
ตำบลช่อมะกอก : ภาพสะท้อนสังคมเศรษฐกิจไทย
ชญาภัส หงสไกร
29 มิถุนายน 2562
เศรษฐกิจไทย
เศรษฐศาสตร์การเกษตร
การพัฒนาชนบท