ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยได้เปลี่ยนแปลงจากการพึ่งพาภาคเกษตรและภาคการผลิตไปสู่ภาคธุรกิจบริการมากขึ้น ภาคบริการได้กลายเป็นเครื่องจักรใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (new engine of growth) และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในแง่ของรายได้ การจ้างงานและสนับสนุนภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยในปี 2564 ภาคบริการมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มสูงถึงร้อยละ 59 ของ GDP และมีการจ้างงานร้อยละ 46 ของการจ้างงานทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ภาคบริการไทยยังพึ่งพาสาขาบริการแบบดั้งเดิม เช่น การท่องเที่ยว การขนส่ง ฯลฯ ที่อาศัยแรงงานเป็นหลัก สาขาบริการดั้งเดิมมักมีมูลค่าเพิ่มน้อยและมีผลิตภาพต่ำแต่การจะทำให้เศรษฐกิจไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เราจำเป็นต้องพัฒนาหรือสร้างนวัตกรรมการบริการและผลิตภาพของภาคบริการให้สูงขึ้น
สาเหตุที่ทำให้ภาคบริการของไทยมีผลิตภาพต่ำและมีนวัตกรรมน้อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระดับการแข่งขันในธุรกิจภาคบริการของประเทศไทยมีน้อย ภาคบริการไทยยังไม่เปิดเสรีอย่างเต็มที่ ภาครัฐต้องการปกป้องธุรกิจบริการในประเทศ ไทยมีดัชนีการกีดกันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI Restrictiveness Index ในภาคบริการสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสาขาบริการสมัยใหม่ (modern service) ที่มีแนวโน้มใช้เทคโนโลยี เช่น การสื่อสาร การเงิน บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การวิจัย ฯลฯ ดังนั้นการปิดกั้นการลงทุนในสาขาดังกล่าวจึงส่งผลลบต่อการพัฒนานวัตกรรมภาคบริการไทยได้
บทความนี้จึงจะมาเล่าให้เห็นลักษณะของกิจกรรมด้านนวัตกรรมในธุรกิจบริการเพื่อให้เข้าใจความแตกต่างระหว่างการสร้างนวัตกรรมในภาคธุรกิจการกับภาคอุตสาหกรรมได้อย่างชัดเจน แล้วค่อยนำเสนอความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมในธุรกิจบริการ อุปสรรคของการพัฒนานวัตกรรมในธุรกิจบริการ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในธุรกิจบริการ
กิจกรรมด้านนวัตกรรมในธุรกิจบริการไทยเป็นอย่างไร?
จากการวิเคราะห์ผลการสำรวจการวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมนวัตกรรม ปี 2562 แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจบริการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมในไทยส่วนใหญ่มีลักษณะสำคัญ คือ มักมีสัดส่วนบริษัทต่างชาติสูงกว่า พึ่งพารายได้จากการส่งออกสูงกว่า และมีกิจกรรมทางเทคโนโลยีมากกว่า เช่น การซื้อเทคโนโลยี การฝึกอบรม
ในด้านความร่วมมือด้านนวัตกรรม ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้ระหว่างธุรกิจบริการกับลูกค้า ซัพพลายเออร์หรือบริษัทแม่ แต่ความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยยังมีความสำคัญน้อย และธุรกิจบริการได้สนับสนุนจากภาครัฐต่ำซึ่งอาจเป็นเพราะผู้ประกอบการไม่ทราบถึงมาตรการช่วยเหลือหรือรูปแบบการสนับสนุนยังไม่ตรงตามความต้องการของธุรกิจบริการ
สำหรับปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้ธุรกิจบริการไทยดำเนินกิจกรรมนวัตกรรม ได้แก่ การปรับปรุงคุณภาพของสินค้า และการเข้าสู่ตลาดใหม่ และแหล่งข้อมูลเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความสำคัญ ได้แก่ ลูกค้า และแหล่งข้อมูลภายในบริษัท ธุรกิจบริการไทยส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับอุปสรรคในด้านการขาดบุคลากรและเงินทุนเพื่อทำกิจกรรมด้านนวัตกรรม มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยไม่ใช่แหล่งข้อมูลเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญ กฎระเบียบด้านการจัดซื้อจัดจ้างและมาตรฐานต่าง ๆ ของรัฐไม่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของธุรกิจบริการไทย
แล้วเราจะส่งเสริมนวัตกรรมของธุรกิจบริการในไทยได้อย่างไร?
ธุรกิจบริการที่เน้นความรู้มีระดับของนวัตกรรมที่เทียบได้กับธุรกิจในภาคการผลิตที่มีเทคโนโลยีสูง แต่นวัตกรรมของธุรกิจบริการมีลักษณะเฉพาะบางอย่างที่แตกต่างจากภาคอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งทางด้านทรัพยากรที่ใช้ในการสร้างนวัตกรรม ลักษณะของกิจกรรม R&D และลักษณะนวัตกรรม ตัวอย่างเช่น ธุรกิจบริการจะใช้งบลงทุนในการวิจัยและพัฒนาน้อยกว่า และใช้ ‘นวัตกรรมที่ไม่ใช่เทคโนโลยี’ มากกว่า เมื่อเทียบกับภาคการผลิต
นอกจากนี้ การสร้างนวัตกรรมในธุรกิจบริการเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ซัพพลายเออร์และคู่แข่ง ตามแนวคิดนวัตกรรมแบบเปิด (open innovation) และนวัตกรรมของธุรกิจบริการอาศัยสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน เช่น ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ ทุนมนุษย์ การออกแบบและโมเดลธุรกิจใหม่ มากกว่าภาคอุตสาหกรรมการผลิต
แต่ที่ผ่านมา การส่งเสริมนวัตกรรมของไทยยังคงเน้นการส่งเสริมกิจกรรม R&D และส่งเสริมนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก ซึ่งเป็นมุมมองการส่งเสริมนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ดังนั้น รัฐควรปรับมาตรการส่งเสริมนวัตกรรมให้เหมาะสมกับภาคบริการ เช่น การส่งเสริมนวัตกรรมที่ไม่ใช่เทคโนโลยี (non-technological innovation) ทั้งทางนวัตกรรมการตลาด นวัตกรรมกระบวนการ และนวัตกรรมด้านองค์กร
นอกจากนี้ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) ไปควบคู่กับ นวัตกรรมทางเทคโนโลยี มีส่วนสำคัญต่อการเพิ่มผลิตภาพของธุรกิจบริการ ดังนั้น รัฐจึงไม่ควรส่งเสริมนวัตกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวแต่ควรส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจในยุคดิจิทัล (digital transformation) รวมทั้ง ควรจัดการกับความล้มเหลวของระบบ (systemic failure) ที่ยับยั้งการพัฒนานวัตกรรมของธุรกิจบริการด้วย
ทำไมเราจึงควรการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรมของธุรกิจบริการในไทย
แม้ว่าการพัฒนาบุคลากรจะเป็นหัวใจสำคัญของการส่งเสริมนวัตกรรมในภาคบริการ และที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐของไทยได้ส่งเสริมเสริมความสามารถของผู้ประกอบการและทรัพยากรมนุษย์ในภาคบริการ แต่การส่งเสริมนวัตกรรมต้องส่งเสริม ‘ระบบนิเวศนวัตกรรม’ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นวัตกรรมในภาคบริการที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs
ทั้งนี้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบนิเวศนวัตกรรม ที่ประกอบไปด้วยธุรกิจบริการขนาดใหญ่ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อย (SMEs) สตาร์ทอัพ หน่วยงานของภาครัฐ สถาบันการศึกษา วิจัย สถาบันการเงิน องค์กรร่วมทุน ฯลฯ นั้นล้วนแล้วแต่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีปฏิสัมพันธ์และมีอิทธิพลซึ่งกันและกันต่อกระบวนการการสร้างและพัฒนานวัตกรรม และที่สำคัญ การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมต้องส่งเสริมพัฒนาการของกลุ่มผู้เล่น กิจกรรมและบริการใหม่ รวมไปถึงส่งเสริมกฎกติกา กลไกเชิงสถาบันและความสัมพันธ์ของผู้เล่นในระบบนิเวศที่ช่วยส่งเสริมนวัตกรรม
ประเทศไทยยังไม่มียุทธศาสตร์เฉพาะในการส่งเสริมนวัตกรรมในภาคบริการในภาพรวม แม้ว่าในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) จะระบุเรื่องการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการแห่งอนาคต แต่ก็ไม่มีแผนระดับปฏิบัติการมารองรับอย่างชัดเจน ขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2565-2569) ก็ไม่มีแผนการส่งเสริมภาคบริการในภาพรวม แต่มีการกำหนดจุดหมายด้านการพัฒนาภาคบริการในสาขาที่สำคัญเช่น ในด้านการท่องเที่ยว การเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ การพัฒนาโลจิสติกส์ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล
จะเห็นได้ว่าการส่งเสริมนวัตกรรมในภาคบริการของไทยขาดเจ้าภาพที่ชัดเจนทำให้การทำงานมีลักษณะกระจัดกระจาย การดำเนินงานและกฎระเบียบขึ้นอยู่กับหลายหน่วยงาน ขาดความเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ มีลักษณะต่างคนต่างทำ ขาดความเป็นเอกภาพ ดังนั้น ภาครัฐควรการประสานความร่วมมือและให้ความสำคัญอย่างจริงจังและต่อเนื่องของภาครัฐ เพื่อให้มาตรการที่ใช้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวโดยสรุปคือ ประเทศไทยยังขาด ‘สถาบันตัวกลาง’ (intermediaries) ที่เข้มแข็งในการแก้ไขปัญหา ‘ความล้มเหลวของระบบนวัตกรรมในภาคบริการ’
นอกจากนี้ ระบบนิเวศนวัตกรรมของธุรกิจบริการไทยยังขาดนโยบายและระเบียบข้อบังคับที่เหมาะสม มาตรการต่าง ๆ มักจะอยู่ในรูปแบบของนโยบายสนับสนุนที่รวมไปกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมที่เอื้อไปในการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีในรูปแบบ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมกระบวนการ ซึ่งเหมาะสำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตมากกว่าภาคธุรกิจบริการ
สำหรับตัวอย่างของมาตรการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรมของธุรกิจบริการ ได้แก่ การเปิดให้เข้าถึงผลงานวิจัยของหน่วยงานรัฐ และเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม การส่งเสริมพัฒนาความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนในด้านต่าง ๆ โดยรักษาความสมดุลระหว่างการแข่งขันกับการสร้างความร่วมมือ การจัดหาระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เพียงพอ การส่งเสริมการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นโยบายเพื่อส่งเสริมการเคลื่อนย้ายทรัพยากรมนุษย์ข้ามศาสตร์และข้ามบริษัท/หน่วยงาน การดึงดูดการลงทุนกิจกรรม R&D เพื่อการพัฒนานวัตกรรมการบริการของบริษัทข้ามชาติให้เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมทั้ง มาตรการด้านอุปสงค์จูงใจให้เกิดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในธุรกิจบริการและช่วยสร้างตลาดสำหรับนวัตกรรมด้วยการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมของบริการของผู้ประกอบการไทย
ในภาพรวมแล้ว การแข่งขันและการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าบริการในตลาดโลกเป็นแรงกดดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและการพัฒนาผลิตภาพในภาคบริการ ดังนั้น ภาครัฐควรส่งเสริมแข่งขันและการเปิดเสรีภาคบริการ ส่งเสริมการลงทุนของธุรกิจบริการจากต่างประเทศที่มีศักยภาพสูง แต่ต้องรักษาสมดุลระหว่างการเปิดเสรีและความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการและผู้บริโภคในประเทศ คำนึงถึงความปลอดภัยและรักษาความเป็นส่วนตัวจากเทคโนโลยี รวมทั้ง ควรเปิดให้มีการทดลองเพื่อหาแนวทางใหม่ เปิดให้มี Regulatory Sandbox ให้ภาคธุรกิจและประชาชนได้ทดลองใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีไปพร้อมกับการที่รัฐได้เรียนรู้และเก็บข้อมูลที่จำเป็นในการออกแบบกฎกติกาที่เหมาะสม
ที่สำคัญคือ กระบวนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐควรสอดคล้องกับแนวคิดนวัตกรรมที่ภาครัฐต้องรับความเสี่ยง ความล้มเหลวและความไม่แน่นอนได้ รัฐควรเปิดกว้างให้มีการนำเครื่องขับเคลื่อนนโยบายใหม่ เช่น มาตรการร่วมทุนด้านนวัตกรรมกับภาคเอกชนที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ปัจจุบัน รัฐบาลได้ไทยริเริ่มมาตรการอย่างเช่น มาตรการสนับสนุนทุนสำหรับผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามโจทย์ความต้องการของภาครัฐ หรือ ความต้องการจากภาคเอกชนที่มีตลาดใหญ่ (Thailand Business Innovation Research: TBIR / Thailand Technology Transfer Research: TTTR) รวมทั้งมาตรการส่งเสริมนวัตกรรมต่าง ๆ ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม 2564 (Thai Bayh Dole Act)
ทั้งนี้มีข้อควรระวังในการผลักดันนโยบายส่งเสริมนวัตกรรมของธุรกิจบริการดังนี้ ประการแรก เจ้าหน้าที่ของภาครัฐ/ผู้กำหนดนโยบายควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาคบริการมากขึ้นและการกำหนดนโยบายควรอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ชัดเจนแต่ตอนนี้ประเทศไทยเรามีข้อมูลเหล่าค่อนข้างน้อย ดังนั้น ภาครัฐควรปรับปรุงฐานข้อมูลเกี่ยวเศรษฐกิจและกิจกรรมการ R&D และนวัตกรรมของภาคบริการไทย
ประการที่สอง ภาครัฐต้องไม่ควบคุมและกำกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากเกินไป (over regulation) รัฐควรทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้น (catalyst) ให้เกิดการพัฒนาผลิตภาพไม่ใช่ผู้ดำเนินการเอง โดยควรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนโดยสร้างกลไกการบริหารจัดการ เช่น คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคบริการระดับชาติ คณะอนุกรรมการธุรกิจบริการรายสาขาที่มีศักยภาพ รวมทั้ง อาจจัดตั้ง ‘กองทุน’ เพื่อการยกระดับผลิตภาพและนวัตกรรมในภาคบริการเพื่อแก้ปัญหาความไม่ต่อเนื่องของการดำเนินงานภายใต้ระบบงบประมาณที่ไม่เอื้อต่อการสร้างความเชื่อมั่นในระบบนิเวศนวัตกรรม เป็นต้น
และสุดท้าย การพัฒนาผลิตภาพและนวัตกรรมของธุรกิจบริการควรคำนึงถึงการกระจายรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นด้วย ธุรกิจบริการจำนวนมากเป็น SMEs และมีที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค การส่งเสริมนวัตกรรมในธุรกิจบริการในท้องถิ่นควรเน้นที่การนำเอานวัตกรรมที่เหมาะสมกับระดับความสามารถของผู้ประกอบการ ภาครัฐอาจส่งเสริมความเชื่อมโยงภายในระบบนิเวศนวัตกรรมในพื้นที่ ช่วยเชื่อมโยงธุรกิจภาคบริการในพื้นที่กับสถาบันการศึกษาและศูนย์วิจัย/ศูนย์ส่งเสริมนวัตกรรมของภูมิภาค เพื่อการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมในภาคบริการเป็นไปอย่างยั่งยืนและสร้างความเสมอภาค
เอกสารอ้างอิง
พีระ เจริญพร และ เณศรา สุขพานิช (2565). การวิเคราะห์ระบบนิเวศนวัตกรรมของธุรกิจบริการไทย. ประเด็นวิจัยเพื่อรับการสนับสนุนการวิจัยสำหรับใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติและการบริหารราชการแผ่นดิน สนับสนุนโดย สถาบันคลังสมองแห่งชาติ