สำรวจสภาพความเหลื่อมล้ำไทย ตอนที่ 3 : ดัชนีและความท้าทายของข้อมูลความเหลื่อมล้ำ

2594 views
เป็นสัปดาห์ที่ 3 แล้วกับงานเสวนาวิชาการออนไลน์ในหัวข้อ “สำรวจสภาพความเหลื่อมล้ำไทย” ที่จัดโดยศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โดยใน ตอนที่ 3 นี้เป็นเรื่องของ “ดัชนีและความท้าทายของข้อมูลความเหลื่อมล้ำ” ซึ่งมี ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ อาจารย์ธนสักก์ เจนมานะ ดำเนินรายการโดยอาจารย์กุศล เลี้ยวสกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

การสัมมนาในครั้งนี้เจาะประเด็นหลักไปที่ดัชนีและความท้าทายเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลในการชี้วัดความเหลื่อมล้ำในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรายได้ ทรัพย์สิน ที่สาธารณชนและแวดวงวิชาการได้ให้ความสนใจอย่างมาก ไปจนถึงความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา การเข้าถึงเทคโนโลยี การเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข และด้านสิ่งแวดล้อม



อาจารย์เฉลิมพงษ์เริ่มต้นการสัมมนาครั้งนี้ด้วยการปูพื้นฐานเกี่ยวกับประเด็นความเหลื่อมล้ำในไทย โดยได้ระบุว่างานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สกสว. และการสนับสนุนข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจนถึงปี 2562 ดังนั้นประเด็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากวิกฤต COVID-19 จะยังไม่ปรากฏในการสัมมนาครั้งนี้

ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และทรัพย์สินทางการเงิน 

การวัดด้วยสัมประสิทธิ์จินี พบว่า ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ประจำมีทิศทางโดยรวมที่ดีขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีทิศทางแย่ลงในปี 2560 แต่ก็ปรับตัวดีขึ้นภายหลังในปี 2562  เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของรายได้ประจำของครัวเรือน จะสามารถแบ่งออกเป็นรายได้จากการประกอบอาชีพ (ค่าจ้างและเงินเดือน รายได้จากการประกอบธุรกิจและจากการทำเกษตรกรรม) เงินบำเหน็จบำนาญ เงินชดเชย เงินช่วยเหลือประเภทต่าง ๆ รายได้จากค่าเช่าและดอกเบี้ย รวมถึงรายได้ที่ไม่เป็นตัวเงิน พบว่ารายได้จากการประกอบอาชีพมีส่วนสำคัญในการสร้างความเหลื่อมล้ำมากถึงเกือบ 40% จากองค์ประกอบทั้งหมด 

อาจารย์เฉลิมพงษ์พิจารณาเพิ่มเติมในเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่เกิดจากการประกอบอาชีพ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 70% ของรายได้ครัวเรือน พบว่ามีทิศทางความเหลื่อมล้ำที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับรายได้ประจำ แต่ก็มีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ก็แย่ลงในปี 2560 เช่นเดียวกับรายได้ประจำ ส่วนปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำของรายได้จากการประกอบอาชีพค่อนข้างสูง ได้แก่ จำนวนปีการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน ขนาดของครัวเรือน การเข้าถึงเทคโนโลยี และทรัพย์สินทางการเงิน ตามลำดับ

ในประเด็นต่อมา อาจารย์เฉลิมพงษ์ได้กล่าวถึงความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินทางการเงิน พบว่ามีขนาดความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง ค่าสัมประสิทธิ์จินีลดลงอยู่บ้างในช่วงปี 2554-2558 แต่โดยรวมแล้วมีแนวโน้มแย่ลงตั้งแต่ 2560 แม้จะดีขึ้นในปี 2562 ก็ยังแย่กว่าปี 2558  เมื่อพิจารณาความแตกต่างของค่าเฉลี่ยของทรัพย์สินทางการเงินระหว่างกลุ่มคนจนที่สุดและกลุ่มคนรวยที่สุด (Top 20%) จะยิ่งพบความน่าตกใจที่ว่าทั้งสองกลุ่มมีทรัพย์สินเฉลี่ยแตกต่างกันถึง 10 เท่า ทั้งนี้ ทรัพย์สินเฉลี่ยของกลุ่มคนรวยที่สุดยังลดลงค่อนข้างมากโดยคาดว่าเป็นสัดส่วนของเงินออมที่ลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี ฉะนั้นอาจอนุมานได้ว่าแนวโน้มความเหลื่อมล้ำที่ดีขึ้นไม่ได้เกิดจากคนจนที่รวยขึ้น หากแต่เกิดจากคนรวยจนลง  ในส่วนของการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัจจัยที่กำหนดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินทางการเงิน อาจารย์เฉลิมพงษ์ได้ยกตัวอย่างประเภทที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดที่อาศัย จำนวนสมาชิกครัวเรือน อายุของหัวหน้าครัวเรือน จำนวนปีการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน และรายได้ต่อหัว ปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อกันเป็นลูกโซ่  อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่นำมาศึกษาอาจมีจุดอ่อนจากการประเมินค่าที่ต่ำเกินไป เนื่องจากไม่สามารถเก็บข้อมูลที่แท้จริงจากกลุ่มคนรวยได้

ความเข้าใจต่อช่องว่างระหว่างข้อมูลระดับจุลภาคกับระดับมหภาคด้านรายได้และทรัพย์สิน
ในช่วงถัดมาของการสัมมนา อาจารย์ธนสักก์ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อบกพร่องของดัชนีชี้วัดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และแนวทางในการพัฒนาเพื่อติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ โดยเริ่มต้นจากการอธิบายอย่างง่าย ๆ ว่าสถิติความเหลื่อมล้ำทางรายได้เปรียบเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็ง ส่วนความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินเป็นส่วนที่อยู่ใต้น้ำที่เรามองไม่เห็น  ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา มีกระแสงานวิจัยที่ตั้งคำถามต่อข้อค้นพบเกี่ยวกับสถิติความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะที่คำนวณมาจากข้อมูลสำรวจครัวเรือน ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของความเหลื่อมล้ำมากก็จริง แต่โดยธรรมชาติแล้วจะมีปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลของกลุ่มคนรวย ซึ่งอาจทำให้ตัวชี้วัดด้านความเหลื่อมล้ำทั่วไปเพี้ยนไปจากความเป็นจริง 

ในกรณีของประเทศไทย เราเข้าใจมาตลอดว่าความเหลื่อมล้ำของไทยปรับตัวดีขึ้นมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2535 แต่ขณะเดียวกัน มีหลายสิ่งที่ทำให้เกิดความสงสัยเกี่ยวกับสถิตินี้ ไม่ว่าจะเป็นรายงานเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน ความแตกต่างระหว่างรายได้เฉลี่ยต่อหัวระหว่างจังหวัดที่สูงมาก ไปจนถึงความรู้สึกทั่วไปที่มีต่อความเหลื่อมล้ำในประเทศ 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีงานวิจัยมากมายที่ให้ความสนใจกับการกระจายรายได้ในระดับมหภาคซึ่งก็คือระหว่างปัจจัยการผลิต (Functional income distribution) อันได้แก่ (1) สัดส่วนของรายได้ที่เป็นเงินปันผล ดอกเบี้ย ค่าเช่า (capital share) และ (2) สัดส่วนของรายได้ที่เป็นค่าจ้าง เงินสมทบทุน ประกันสังคม (labor share) ซึ่งในเชิงทฤษฎี 2 ส่วนนี้จะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความเหลื่อมล้ำระหว่างประชากร ในโลกทุนนิยมสมัยใหม่คนที่มีรายได้จากการว่าจ้างสูงก็จะมีรายได้จากทรัพย์สินสูงเช่นกัน 

เมื่อเปรียบเทียบผลจากแบบจำลองและข้อมูลจริง อาจารย์ธนสักก์พบว่า ข้อมูลจากสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือน (SES) ไม่ค่อยมีปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลรายได้จากการว่าจ้างและข้อมูลรายได้ผสม  การกระจุกตัวของรายได้จากการว่าจ้างและรายได้ผสมปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ ในกลุ่ม Top 10% ซึ่งภาพก็ค่อนข้างสอดคล้อง แต่การกระจุกตัวของรายได้จากทรัพย์สินนั้นสูงกว่ารายได้ประเภทอื่น ๆ มาก  ในกรณีของ Top 1% เราจะพบว่าภาพการกระจุกตัวของรายได้ทรัพย์สินแกว่งมากกว่าความเป็นจริง ซึ่งอาจารย์ธนสักก์อธิบายว่าน่าจะเป็นปัญหาในการอธิบายรายได้ของกลุ่มนี้ในข้อมูล SES 

หลายประเทศใช้ข้อมูลภาษีมาช่วยคำนวณด้วยเนื่องจากครอบคลุมคนรวยได้ดีกว่า ข้อมูลภาษีซึ่งครอบคลุมประชากรผู้ใหญ่ไทยประมาณ 20% ครอบคลุมรายได้จากทรัพย์สินประมาณ 20-30% ของบัญชีรายได้ประชาชาติ และยังครอบคลุมรายได้จากการว่าจ้างในรายได้ประชาชาติสูงถึง 70-80%  ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงแม้ในมุมมองจากรายได้จากการว่าจ้าง ขณะเดียวกัน หลังจากพิจารณาภาพการกระจุกตัวของรายได้จากการว่าจ้างอย่างเดียว เราจะค้นพบว่าความเหลื่อมล้ำไทยสูงกว่าที่คิดเยอะมาก และกลุ่มที่รวยที่สุด 10% มีส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติถึงประมาณ 50%  ยิ่งถ้าหากเรานำข้อมูลภาษีแก้ภาพความกระจุกตัวของข้อมูลรายได้จากทรัพย์สิน จะพบว่าความเหลื่อมล้ำไทยอาจเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างน้อยคือตั้งแต่ปี 2007 และในปี 2019 สถิติชี้ว่ากลุ่มคนรวยที่สุด 10% มีส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติเกือบ 58% ถือว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกเทียบได้กับบราซิล ชิลี เม็กซิโก  โดยสรุปแล้วงานวิจัยชิ้นนี้พบว่าปัจจุบันข้อมูลจาก SES ข้อมูลภาษี และบัญชีประชาชาติชี้ว่าไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มากขึ้นเรื่อย ๆ และอยู่ในกลุ่มประเทศที่เหลื่อมล้ำที่สุดในโลก 

ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
จากข้อมูล SES อาจารย์เฉลิมพงษ์พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยมีค่าเฉลี่ยปีการศึกษาที่สูงขึ้น และพบว่ามีลักษณะความเหลื่อมล้ำที่ดีขึ้น คนมีจำนวนปีการศึกษาที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาระหว่างกลุ่มคนที่มีรายได้แตกต่างกันก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่ เช่น ในกรณีกลุ่มคนที่มีอายุ 15-17 ปี พบว่าประมาณ 97% ของกลุ่มคนรวยที่สุดยังอยู่ในสถานศึกษา ขณะที่สัดส่วนของกลุ่มคนจนที่สุดที่อยู่ในสถานศึกษาอยู่ที่ 82% ตัวเลขนี้หมายความว่ามีเด็กกลุ่มหนึ่งในกลุ่มยากจนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไป เมื่อลองแยกส่วนประกอบของความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา จะพบว่า 4 ปัจจัยหลักที่เป็นตัวกำหนดคือจำนวนปีการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน อายุของหัวหน้าครัวเรือน ความแตกต่างของภูมิภาค การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ตามลำดับ 

ต่อมา อาจารย์เฉลิมพงษ์ได้เจาะไปที่ประเด็นความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งแตกต่างไปตามแต่ละภูมิภาคและระดับชั้นรายได้ โดยสัดส่วนของครัวเรือนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอาศัยอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑลมีมากถึง 90% ขณะที่ครัวเรือนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเพียง 63-64% เท่านั้น  นอกจากนี้ยังพบว่าประมาณ 93% ของกลุ่มคนรวยที่สุดสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และมีคนจนที่สุดเพียง 58% เท่านั้นที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้

อันที่จริงแล้ว การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นเพียงขั้นแรกของความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัลเท่านั้น ในขั้นต่อไปจะเป็นทักษะการใช้อินเทอร์เน็ตในการทำงานระดับที่สูงขึ้น และขั้นสุดท้ายคือทักษะที่มีไปส่งผลต่อมิติอื่น ๆ เช่น รายได้ที่เพิ่มขึ้น สุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งอาจารย์เฉลิมพงษ์ได้สร้างดัชนีวัดทักษะการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตขึ้นมา โดยดัชนีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ เริ่มตั้งแต่สามารถพิมพ์งานระดับทั่วไปได้ ไปจนถึงสามารถติดตั้งโปรแกรมได้ พบว่ากลุ่มผู้อาศัยในกรุงเทพและปริมณฑลมีทักษะที่สูงกว่าในระดับภูมิภาค ส่วนระดับการศึกษาและระดับชั้นรายได้ก็มีผลต่อดัชนีทักษะอย่างชัดเจน ในด้านของดัชนีการใช้อินเตอร์เน็ต อาจารย์เฉลิมพงษ์ได้จำแนกเป็น 3 กลุ่มเช่นกัน คือ เพื่อความบันเทิง เพื่อทำธุรกรรม และเพื่อค้นคว้า โดยพบว่าผู้คนมีทักษะการใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อความบันเทิงสูงกว่า 2 ด้านที่เหลือ ความแตกต่างระหว่างภูมิภาค การศึกษา และระดับชั้นรายได้มีทิศทางเดียวกันกับทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลต่อทักษะการทำงานและความแตกต่างทางรายได้ที่มากขึ้น

ในประเด็นของสาธารณสุข พบว่าคนส่วนใหญ่ประมาณ 90% มีสวัสดิการสุขภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ความแตกต่างของแต่ละกลุ่มสวัสดิการก็ส่งผลต่อการเข้าถึงการใช้บริการด้วย ซึ่งกลุ่มที่มีประกันสุขภาพถ้วนหน้าและประกันสังคมมีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับการเข้าตรวจมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ในส่วนของการเข้าถึงการใช้บริการสุขภาพเชิงป้องกัน เช่น การตรวจสุขภาพ การฉีดวัคซีน ก็มีสัดส่วนที่แตกต่างกันไปตามแต่ละกลุ่มสวัสดิการเช่นกัน นอกจากนี้ประเด็นเกี่ยวกับทรัพยากรทางสาธารณสุขที่มีแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคก็ส่งผลด้วย เช่น กรุงเทพฯ มีจำนวนแพทย์ จำนวนโรงพยาบาล และจำนวนเตียงที่มากกว่าในต่างจังหวัด

ประเด็นสุดท้ายที่เชื่อมโยงกับเรื่องสุขภาพคือ ความเหลื่อมล้ำด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความกังวลที่มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของสภาพอากาศในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากการสำรวจพบว่ากลุ่มผู้มีรายได้ต่ำที่สุดมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมมากกว่า เช่น มีสัดส่วนผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อรังเกี่ยวกับ PM2.5 มากกว่า ในขณะเดียวกัน การจัดการขยะก็มีผลต่อกลุ่มรายได้ที่แตกต่างกัน โดยแสดงให้เห็นจากความเหลื่อมล้ำในการจัดการขยะของแต่ละจังหวัด ซึ่งเชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของแต่ละจังหวัดด้วย ทั้งนี้ปัญหาเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำด้านสิ่งแวดล้อมมักไม่ค่อยได้รับการเก็บข้อมูล จึงเป็นประเด็นที่เราควรติดตามต่อไป
ภิรมณ เสียงเจริญ
นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์