ผีน้อยที่ไม่น้อย
เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมาทำให้เกิดการปิดประเทศขึ้นในหลายๆ ประเทศทั่วโลกรวมไปถึงประเทศเกาหลีใต้ด้วย ซึ่งนั้นเองเป็นผลให้แรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ หรือที่เรียกกันว่า "ผีน้อย" ได้อพยพกลับเข้าสู่ประเทศไทย จนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ว่า ผีน้อยเหล่านั้นจะนำเชื้อไวรัส COVID-19 มาแพร่สู่ผู้คนในประเทศไทย เมื่อวันพุธที่ 11 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ได้จัดงานเสวนาพูดคุยในหัวข้อ ผีน้อยที่ไม่น้อย ดำเนินการเสวนาโดย รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.ไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประเด็นแรกของงานเสวนาคือ ที่มาของคำและการปรากฏตัวขึ้นของผีน้อย ซึ่ง รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ ได้กล่าวว่า ที่มาของคำว่าผีน้อยนั้นไม่ปรากฏชัดเจน โดยบางคนบอกว่ามาจากภาษาตากาล็อกหรือภาษาฟิลิปปินส์ที่ออกเสียงว่า ปินอย คำว่า ปิ หมายถึงประเทศฟิลิปปินส์ และคำว่า นอย หมายถึงคนฟิลิปปินส์ เชื่อว่าในเกาหลีเดิมทีมีแรงงานชาวฟิลิปปินส์ที่ทำงานอย่างผิดกฎหมายอยู่มากจนภายหลังได้เพี้ยนมาเป็นผีน้อยในปัจจุบัน อีกกรณีหนึ่ง อาจเป็นคำไทยที่หมายถึงคนที่ไม่มีตัวตน และต้องแอบลักลอบไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้จนถูกเรียกว่าเป็นผีน้อย
ในส่วนของการปรากฏตัวขึ้นของผีน้อยพบว่า ในช่วงคริสต์ศักราช 1960 – 1990 ประเทศเกาหลีใต้ยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนา ก็ได้ส่งออกแรงงานไปยังต่างประเทศ เช่น ประเทศในฝั่งตะวันออกกลาง แต่ภายหลังจากปีคริสต์ศักราช 1990 ประเทศเกาหลีใต้ได้กลายมาเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างเต็มตัว ส่งผลให้ประเทศเกาหลีใต้มีความต้องการแรงงานมาก จนทำให้แรงงานทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายหลั่งไหลเข้าไปทำงานรวมถึงประเทศไทยด้วย เนื่องจากในปีดังกล่าวได้เกิดวิกฤตอ่าวเปอร์เซียและคดีเพชรซาอุจนทำให้แรงงานไทยที่ทำงานในแถบประเทศดังกล่าวไม่เป็นที่นิยมต่อไปจึงต้องไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้แทน การลักลอบเข้าไปแบบผิดกฎหมายจำนวนมากจนคนเกาหลีไม่พอใจกับการกระทำดังกล่าว ทางรัฐบาลเกาหลีจึงได้ทำการเปลี่ยนระบบของแรงงานเป็นระบบฝึกงานอุตสาหกรรม หรือ Industrial Training System (ITS) คือ ให้แรงงานฝึกงานเป็นเวลา 1 ปี แต่จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานไม่ได้รับค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามกฎหมาย ส่งผลให้มีแรงงานจำนวนมากเลือกที่จะออกจากระบบและไปเป็นแรงงานผิดกฎหมายในที่สุด
การเปลี่ยนแปลงระบบแรงงานต่างด้าวดังกล่าวจึงนำไปสู่ประเด็นที่สองคือ การเปลี่ยนระบบแรงงานเป็นแบบแบบ Employment Permit System (EPS) เป็นระบบที่ทางประเทศเกาหลีใต้นำมาใช้เพื่อลดปัญหาแรงงานผิดกฎหมายจากระบบ ITS โดยกำหนดจำนวนแรงงานที่ต้องการให้แก่ 16 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วยแรงงานเหล่านี้จะกระจายไปตาม 5 อุตสาหกรรมซึ่งเป็นอุตสาหกรรมการผลิต ได้แก่ ยานยนต์ ก่อสร้าง การเกษตร ประมง และงานบริการ ซึ่งประเทศไทยสามารถส่งแรงงานได้ 5,000 – 6,000 คนต่อปี ทำให้ยอดสะสมของแรงงานไทยที่ถูกกฎหมายอยู่ที่ประมาณ 20,000 คน แต่ในขณะเดียวกัน จำนวนแรงงานผิดกฎหมายกลับเยอะขึ้นเป็นหลายเท่า ทำให้ยอดสะสมของแรงงานไทยที่ผิดกฎหมายในปัจจุบันอยู่ที่ 150,000 คน เนื่องมาจากแรงงานส่วนใหญ่ไม่กลับเข้ามาในประเทศไทยและยังมีแรงงานผิดกฎหมายรายใหม่เพิ่มจำนวนไปด้วย
รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ ได้กล่าวถึงปัญหาของระบบแรงงานแบบ EPS ที่เป็นผลให้จำนวนผีน้อยเพิ่มมากขึ้นว่า แรงงานเข้าไปอยู่ในระบบค่อนข้างยาก เนื่องด้วยขั้นตอนต่างๆ ที่ใช้เวลานานและยุ่งยากทำให้เกิดอุปสรรคในการเข้าสู่ระบบของแรงงาน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาผีน้อยในเชิงโครงสร้างที่บางงานไม่เปิดโอกาสให้กับแรงงาน แต่กลับมีความต้องการมากในประเทศเกาหลีใต้ จึงทำให้บางอุตสาหกรรมมีการลักลอบนำแรงงานผิดกฎหมายเข้ามา เช่น ธุรกิจหมอนวด นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการเดินทางเข้ามาในประเทศเกาหลีใต้ที่ค่อนข้างง่ายเนื่องจากประเทศเกาหลีใต้ได้ให้ Tourist Visa 90 วัน แก่ประเทศไทย ด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้จึงทำให้จำนวนผีน้อยที่เดินทางไปยังประเทศเกาหลีใต้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ
เมื่อเป็นเช่นนั้นประเด็นที่สาม คือ การจัดการกับผีน้อยในประเทศเกาหลีใต้และผลกระทบต่อประเทศไทยจากผีน้อย รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ ได้ให้ข้อเสนอว่ามาตรการในประเทศเกาหลีใต้เบาบาง และมีการปรามไว้เพื่อไม่ให้แรงงานผิดกฎหมายเหล่านั้นออกนอกกรอบเท่านั้น รวมไปถึงมีการนิรโทษกรรมให้กับแรงงานเหล่านั้นด้วย โดยเชื่อว่าถ้าหากประเทศเกาหลีใต้มีเศรษฐกิจดีทำให้เกิดความต้องการใช้แรงงานจำนวนมาก ทางการเกาหลีใต้จะไม่เข้มงวดในการปราบปรามผีน้อยมากนัก แต่ถ้าหากเศรษฐกิจเกาหลีใต้ไม่ดีส่งผลให้คนท้องถิ่นไม่มีงานทำ ทางการเกาหลีใต้ก็จะเข้มงวดในเรื่องดังกล่าวมากยิ่งขึ้น จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้เป็นปัจจัยสำคัญต่อเรื่องดังกล่าว และการจัดการกับผีน้อยเป็นไปได้ยากเพราะส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยในเรื่องค่าแรงที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่าแรงภายในประเทศไทย โดยที่ประเทศเกาหลีใต้ค่าแรงอยู่ที่ 227 บาทต่อชั่วโมง ทำให้ในปี พ.ศ. 2560 มีจำนวนเงินที่ถูกส่งกลับมาจากประเทศเกาหลีใต้ประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งรวมของทั้งแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ
ปัจจัยของค่าจ้างที่ต่างกันเป็นแรงดึงให้แรงงานไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้มากขึ้น ซึ่งผลกระทบของผีน้อยที่มีต่อประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นหลายประการดังนี้
ประการแรก นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินไปทางไปยังประเทศเกาหลีใต้โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวหญิงเดินทางไปยากมากขึ้นและโดยอย่างยิ่งในช่วงฤดูร้อน ซึ่งปัญหาดังกล่าวในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ผลกระทบภายนอก คือ การกระทำบางอย่างที่ส่งผลต่อบุคคลอื่น ประการที่สอง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คนเกาหลีส่วนมากมองประเทศไทยในแง่ลบ ทำให้เกิดความไม่พอใจตามมาเนื่องจากเมื่อผีน้อยเจ็บป่วยจะต้องลดค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผีน้อย นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องของภาระการคลังอธิบายได้ว่า ถ้าหากแรงงานทำงานอย่างถูกกฎหมายจะมีการจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อนำมาช่วยเหลือแรงงานในด้านต่าง ๆ แต่ผีน้อยไม่ได้จ่ายเงินในส่วนนี้ ทางสถานทูตจึงต้องทำการสงเคราะห์ผีน้อยเหล่านั้นทำให้เกิดภาระการคลังขึ้น และปัญหาของผีน้อยจะเพิ่มมากยิ่งขึ้นในกรณีที่ให้กำเนิดบุตร ทางสถานทูตจึงมีภาระที่ต้องแจ้งเกิดเพิ่มขึ้นไปอีก ปัญหาเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจไทยที่มีปัญหา โดยไม่ได้ให้โอกาสแก่ชนชั้นแรงงานในการขยับฐานะไปสู่ฐานะที่ดีขึ้น
ในประเด็นสุดท้าย รศ.ดร. กิริยา กุลกลการได้กล่าวถึง แนวทางในการแก้ปัญหาผีน้อยทั้งในด้านของปัญหาทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของ COVID-19 ว่า รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เพื่อลดความหวาดกลัวที่มีต่อผีน้อย และเตรียมแผนการรองรับพร้อมแถลงการณ์ให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ และการแก้ปัญหาผีน้อยให้ลดลงได้มีการเสนอว่ารัฐบาลจะต้องคิดวิธีการทำให้ผีน้อยกลับเข้าสู่ระบบแรงงานมากขึ้น โดยอาจจะเชิญชวนนักลงทุนชาวเกาหลีให้หันมาลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น หรือกระทรวงแรงงานควรมีการเจรจาในการเปิดเสรีทางแรงงานในภาคอุตสาหกรรมบางส่วน นอกจากนี้ ยังต้องมีการพัฒนาทักษะแรงงานในด้านภาษาเพิ่มมากขึ้น
จากงานเสวนาในครั้งนี้ได้ทำให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีผลต่อระบบแรงงานในประเทศไทย ทำให้แรงงานหันไปทำงานเป็นแรงงานผิดกฎหมายมากขึ้น ซึ่งนั้นเองเป็นสาเหตุให้จำนวนผีน้อยเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาตามหัวข้อในการเสวนานั้นคือ ผีน้อยที่ (มีจำนวน) ไม่น้อย นั่นเอง