ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เห็นจนชินตาคนไทย คือ ภาพการประกาศปิดกิจการของบรรดาห้างร้านต่าง ๆ ที่ทนพิษบาดแผลเรื้อรังของภาวะการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ในช่วงปีที่ผ่านมาไม่ไหว ภาคธุรกิจที่ยังเหลือรอดอยู่จึงคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ปีหน้าฟ้าใหม่ เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ ทาง
สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ จึงได้จัดงานสัมมนาประจำปีขึ้นในหัวข้อ
“ทางรอด 2022 Survival Guide” เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา
การสัมมนาหัวข้อนี้ได้รับเกียรติจากตัวแทนนักธุรกิจจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ มาร่วมสะท้อนผลกระทบ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และอภิปรายถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ที่จะมาถึงนี้ เพื่อช่วยภาคธุรกิจไทยในการประคองตัวให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤตนี้ไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง จำนวน 4 ท่าน ดังนี้
1. ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอสซีบีเท็นเอกซ์ จำกัด
2. คุณภูมิพัฒน์ สินาเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พราว เรียลเอสเตท
3. คุณมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย
4. คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์
หากกล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยได้ก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งความเสียหายและเข้าสู่ขั้นตอนการฟื้นฟูอย่างเป็นทางการแล้ว ตามการคาดการณ์ของ ดร.อารักษ์ พบว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับสู่จุดเดิม ณ ปี 2562 ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ได้อย่างเร็วที่สุดในช่วงกลางปี 2566 เนื่องจากตลอดทั้งปีหน้าฟ้าใหม่นี้ ประเทศไทยจะมีแนวโน้มที่จะยังคงเผชิญหน้ากับความผันผวนและความไม่แน่นอนเช่นนี้ต่อไป ทำให้อัตราการเติบโตตลอดทั้งปี จึงอยู่ที่ราว ๆ 3% เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องความ “ไม่เท่าเทียม” และ “ไม่ทั่วถึง” ของการฟื้นตัวตามลักษณะโดยธรรมชาติของแต่ละอุตสาหกรรมที่มีความแตกต่างกันร่วมด้วย โดยเป็นผลมาจากรูปแบบความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกของแต่ละอุตสาหกรรมที่มีความแตกต่างกัน อันจะเห็นได้จากแนวโน้มการฟื้นตัวที่เป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าของอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงการส่งออกค่อนข้างมากหรือเป็นส่วนหนึ่งของ Global Supply Chain เมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับปัจจัยด้านความแตกต่างระหว่างทุนดำเนินการกับโอกาสในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งขึ้นอยู่กับธรรมชาติของกิจการนั้น ๆ เป็นสำคัญ ทำให้กิจการใดที่มีสายป่านยาวกว่าอย่างเช่นธุรกิจของกลุ่มนายทุนย่อมมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้รวดเร็วกว่าบรรดาธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่เผชิญหน้ากับความท้าทายด้านความสามารถในการแข่งขันบนเวทีระดับโลกอยู่เป็นทุนเดิม ดังนั้น การให้บริการสินเชื่อของภาคธนาคารจึงจำเป็นต้องลดข้อจำกัดต่าง ๆ ลง เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับประคองกิจการต่อไปในระบบเศรษฐกิจได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งผลที่ตามมาอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้คือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนหนี้เสีย
คุณภูมิพัฒน์ สินาเจริญ
ธนาคารหลาย ๆ แห่งได้เริ่มชะลอการให้บริการเงินกู้ในภาคอื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่ต้องแบกรับลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อเพื่ออสังหาริมทรัพย์ที่มักจะมีการพึ่งพิงเงินกู้ในสัดส่วนที่ค่อนข้างมากสำหรับการลงทุน ในปี 2564 ที่ผ่านมา ตัวเลขการจดทะเบียนบ้านในเขตกรุงเทพและปริมณฑลจึงลดลงถึง 30% จากสภาวะปกติ ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือ ธุรกิจคอนโดมิเนียม โดยยอดขายลดลงจากช่วงก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ถึง 53% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะการล้นเกินของอุปทานในตลาดดังกล่าวที่สั่งสมมาตั้งแต่ช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตการณ์ ที่บังเอิญมาประจวบเหมาะกับภาวะการหดตัวอย่างฉับพลันและรุนแรงของเศรษฐกิจภายในประเทศที่เรื้อรังมาตลอด 2 ปีแห่งการแพร่ระบาด ทำให้การตัดสินใจจับจ่ายใช้สอยเพื่อการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลง ในมุมมองของคุณภูมิพัฒน์ จำเป็นต้องอาศัยเวลากว่า 2 – 3 ปี สำหรับการฟื้นตัวให้ภาคอสังหาริมทรัพย์กลับมาคึกคักดังเดิมอีกครั้งหนึ่ง
คุณมาริสา สุโกศล หนุนภักดี
แต่สำหรับภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนักมาตั้งแต่ก่อนหน้าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ระยะเวลาเพียงแค่ 2 – 3 ปี อาจยังไม่เพียงพอสำหรับฟื้นตัวให้อุตสาหกรรมนี้กลับคืนสู่สภาวะปกติได้ เนื่องจากตลาดหลักของอุตสาหกรรมอย่างจีนและอินเดียยังไม่กลับเข้ามา ประกอบกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทำให้ภาคการท่องเที่ยวที่กำลังเปราะบางจากภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น จึงยิ่งต้องดิ้นรนเพื่อหาทางอยู่รอด วิธีการที่พบเห็นส่วนใหญ่ มักเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและจำนวนค่าตอบแทนเพื่อประคองไม่ให้สถานประกอบการต้องปิดตัวลงในภาวะวิกฤต เมื่อไม่มีทางเลือก พนักงานบางส่วนที่ถูกปลดออกหรือตัดสินใจลาออกเพราะโดนลดจำนวนค่าจ้างลง จึงได้ตัดสินใจเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมและหันไปประกอบอาชีพในภาคเศรษฐกิจอื่นแทน เป็นเหตุให้ ภาวะการขาดแคลนแรงงานมีประสบการณ์และสามารถยอมรับเงื่อนไขการทำงานและเงินเดือนได้ จึงเริ่มปรากฏให้เห็นเป็นวงกว้างในหมู่ธุรกิจโรงแรม ซึ่งสำหรับโรงแรมขนาดใหญ่ สถานการณ์ดังกล่าวอาจไม่ใช่ปัญหาที่น่าวิตกกังวลเท่าใดนัก เพราะอยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกและกระแสการท่องเที่ยวที่กำลังกลับมา แต่สำหรับโรงแรมขนาดเล็ก ปัญหานี้ได้กลายเป็นภาวะกลืนไม่เข้า คายไม่ออกที่ทำให้หลาย ๆ โรงแรมตัดสินใจปิดกิจการไป โดยเป็นผลมาจากการขาดแคลนเงินทุนและทรัพยากรสำหรับการจัดจ้างพนักงานใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์แต่เรียกร้องค่าจ้างเต็มจำนวนเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ คุณมาริสาจึงคาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2565 ที่จะมาถึงนี้ โรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็กที่กระจุกตัวอยู่ตามจังหวัดท่องเที่ยว อาจจะลดจำนวนลง เพราะไม่มีความสามารถที่จะประคองกิจการได้อีกต่อไป แม้ว่ากระแสการท่องที่ยวจะเริ่มกลับมาแล้วก็ตาม
คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล
กล่าวโดยภาพรวมของอุตสาหกรรมไทยในช่วงปี 2565 ที่จะมาถึงนี้ คุณเกรียงไกรคาดการณ์ไว้ว่า กำลังซื้อและความต้องการสินค้าไทยจากต่างประเทศจะเริ่มกลับมาตามแผนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศต่างๆทั่วทุกมุมดลกด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลง ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าว เริ่มปรากฏให้เห็นเค้าลางมาตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อันจะเห็นได้จากตัวเลขการส่งออก 10 เดือนแรกของปี 2564 ที่เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 15.5% แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงมีอุปสรรคอยู่บ้าง เนื่องจากตั้งแต่ก่อนหน้าวิกฤตการณ์แพร่ระบาด อุตสาหกรรมไทยเผชิญกับความท้าทายด้าน Digital Transformation อยู่แล้วเป็นทุนเดิม ดังนั้น เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยหลัง COVID – 19 คลี่คลาย ต้องหยุดชะงักอีกครั้งหนึ่ง ทางสภาอุตสาหกรรมจึงได้ออกแผนการเพื่อการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก ให้สอดรับกับกระแสเศรษฐกิจชีวภาพและมีความเป็น 4.0 มากขึ้น โดยจะเน้นไปที่การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ผ่านการนำความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่ในประเทศไทยมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมที่สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา