สำรวจความเหลื่อมล้ำในไทย ตอนที่ 2 : ความเหลื่อมล้ำในมิติเชิงประชากร

2 กุมภาพันธ์ 2565
3346 views

สืบเนื่องจากการสัมมนาภายใต้หัวข้อเดียวกันในตอนที่หนึ่ง เมื่อวันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เวลา 20.00-21.00 น. คณะผู้ดำเนินการได้จัดการสัมมนาเรื่อง “สำรวจความเหลื่อมล้ำในไทย” ตอนที่สองผ่านทาง Facebook Live ของศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันได้แก่ ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์ และ อ.ดร.ถิรภาพ ฟักทอง ได้ร่วมให้ความรู้เรื่องสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มมิติประชากรและสถานการณ์ความเปราะบางในเด็กตามลำดับ การสัมมนาครั้งนี้ได้ อ.นนท์ นุชหมอน เป็นผู้ร่วมเสวนา

ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์ กล่าวว่า การศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มมิติประชากรในระยะยาวเป็นหนึ่งในโครงการสำรวจสังคม (Social Monitoring) ที่ตนจัดทำอยู่ โดยเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งกลุ่มประชากรคือ อายุ การศึกษา อาชีพ สถานภาพการจ้างงาน ภาคการผลิต/บริการ และการเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ โดยประชากรที่ถูกศึกษามาจากกลุ่มรายได้ 5 กลุ่มดังต่อไปนี้
1. กลุ่มรายได้น้อยสุด 20% (Bottom 20%) อันเป็นกลุ่มบุคคลที่สามารถสะท้อนปัญหาความเปราะบางในระดับฐานรากได้
2. กลุ่มรายได้ต่ำ 30% (Low 30%) สองกลุ่มแรกนี้มีค่าเทียบเท่ากับกลุ่มรายได้น้อย 50% (Bottom 50%) ในการศึกษาของต่างประเทศ
3. กลุ่มรายได้ปานกลาง 40% (Middle 40%)
4. กลุ่มรายได้สูง 9% (Upper 9%)
5. กลุ่มรายได้สูงสุด 1% (Top 1%) 
เมื่อใช้อายุเป็นเกณฑ์ ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์ได้แบ่งกลุ่มประชากรออกเป็น 5 กลุ่มเช่นกัน ได้แก่
1. วัยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
2. ผู้มีอายุ 15-30 ปี
3. ผู้มีอายุ 30-45 ปี
4. ผู้มีอายุ 45-60 ปี
5. ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือ ผู้สูงอายุ

การศึกษาพบว่า สัดส่วนของผู้สูงอายุในกลุ่มรายได้น้อย 50% (Bottom 50%) มีแนวโน้มการขยายตัวที่มากกว่าสัดส่วนผู้สูงอายุในกลุ่มรายได้ที่สูงกว่า อีกทั้งแนวโน้มความเหลื่อมล้ำในครัวเรือนผู้สูงอายุ (ครัวเรือนอันประกอบไปด้วยผู้สูงอายุเกินกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกครัวเรือน) ยังเพิ่มขึ้นด้วย การขยายตัวนี้สังเกตได้ชัดในกลุ่มรายได้น้อยสุด 20% (Bottom 20%) เป็นพิเศษ

เมื่อพิจารณาเงื่อนไขทางการศึกษา ประชากรราวร้อยละ 70 ของกลุ่มรายได้น้อย 50% (Bottom 50%) มีการศึกษาสูงสุดในระดับชั้นประถมศึกษาเท่านั้น ผู้ที่จบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาไม่พบปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้มากนัก แต่ผู้มีการศึกษาสูงสุดในระดับมหาวิทยาลัยกลับพบปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างมาก

ในด้านสถานภาพการทำงาน กลุ่มนายจ้างได้เลื่อนตนจากกลุ่มรายได้น้อยสุดมาเป็นกลุ่มรายได้สูงและกลุ่มรายได้สูงสุดในช่วงปี พ.ศ. 2554-2562  ผศ.ดร.ชญานี กล่าวว่า ปรากฏการณ์นี้เป็นผลของการสะสมทุนตามเวลา กลุ่มจ้างงานตัวเองเป็นกลุ่มที่พบปัญหาความเหลื่อมล้ำมากที่สุดเนื่องมาจากกลุ่มเกษตรกรอันมักประกอบไปด้วยกลุ่มผู้มีรายได้น้อยนั้นนิยามตนเองอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ลูกจ้างภาครัฐและรัฐวิสาหกิจเป็นผู้อยู่ในกลุ่มรายได้สูงเสมอมาอันเกิดจากการได้รับการปรับค่าจ้างตามโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มลูกจ้างเอกชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ปรากฏความแตกต่างทางรายได้มากนัก อีกทั้งแนวโน้มความเหลื่อมล้ำยังพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นอีกด้วย. ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์สันนิษฐานว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ภาคเอกชนได้ขยายตัวเป็นอย่างมาก ทำให้รายได้ต่อหัวที่เคยสูงได้ถูกกระจายอย่างทั่วถึงตามจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น ความเท่าเทียมทางรายได้ในกลุ่มนี้จึงเพิ่มขึ้นเช่นกัน

เมื่อขยายความเรื่องกลุ่มจ้างงานตัวเองอันเป็นกลุ่มที่พบความเหลื่อมล้ำสูงที่สุด ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์ เรียกกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำในสถานภาพการทำงานดังกล่าวว่า “กลุ่มผู้ประกอบการที่มีความเปราะบาง”  ผลจากการวิเคราะห์ถดถอย (Regression Analysis) ชี้ให้เห็นว่า ผู้มีรายได้น้อยในกลุ่มสถานภาพนี้มักมีการศึกษาสูงสุดในระดับชั้นประถมศึกษา ประกอบอาชีพในภาคการเกษตร ใช้ทักษะในการหาเลี้ยงชีพที่ไม่สูงมากนัก ไม่สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ต และไม่มีประกันสังคม โดยเมื่อใช้ภูมิภาคเป็นเกณฑ์ ประชากรส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบอาชีพในภาคการเกษตรไม่ได้เป็นผู้มีรายได้น้อยเสมอไปเนื่องจากรายละเอียดปลีกย่อยของกิจการของแต่ละประเภทนั้นกว้างมาก แต่โดยรวมแล้วกลุ่มรายได้สูง 10% (กลุ่มรายได้สูงรวมกับกลุ่มรายได้สูงสุด) ทำกิจการค้าขาย การผลิต และก่อสร้างเป็นส่วนมาก และกลุ่มรายได้น้อยสุด 20% ประกอบไปด้วยผู้ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมมากถึงร้อยละ 70 

ด้านทักษะในการประกอบอาชีพ ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรที่ใช้ทักษะสูงอันเป็นทักษะเฉพาะด้านที่ต้องได้รับการศึกษาเป็นเวลานานและทักษะระดับปานกลางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้ใช้ทักษะกึ่งฝีมือ เช่น พนักงานในโรงงาน มีจำนวนลดลงเช่นกัน 

ผศ.ดร.ชญานี แบ่งสวัสดิการที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาความเหลื่อมล้ำออกเป็นสองประเภท ได้แก่ สวัสดิการสุขภาพ และสวัสดิการอื่น ๆ  ในด้านสวัสดิการสุขภาพ กองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองสามารถครอบคลุมการใช้จ่ายของกลุ่มรายได้น้อย 50% ได้มากที่สุด ส่วนในกลุ่มรายได้สูงอันมักประกอบไปด้วยข้าราชการและลูกจ้างเอกชนใช้ประกันสังคม สวัสดิการราชการ และสวัสดิการจากนายจ้างเป็นส่วนมาก  กลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด 1% มักใช้ประกันสุขภาพของตนเอง สวัสดิการอื่น ๆ ซึ่งได้แก่ เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุ เงินสงเคราะห์ผู้พิการ โครงการช่วยเหลือเกษตรกร และกองทุนหมู่บ้าน ก็ได้รับการเข้าถึงมากขึ้นในปีในปีพ.ศ. 2554-2562 เช่นกัน

ท้ายสุด ผศ.ดร.ชญานี ได้สรุปประเด็นสำคัญในการนำเสนอไว้ดังนี้
1. แนวโน้มความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุอย่างเห็นได้ชัด
2. การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันประชากรให้ขึ้นมาอยู่ในกลุ่มรายได้ที่สูงกว่า
3. ระดับการศึกษาสูงสุดเชื่อมโยงกับระดับทักษะในการทำงานซึ่งเชื่อมโยงกับระดับรายได้เป็นทอด ๆ
4. กลุ่มนายจ้างประสบความสำเร็จในการเลื่อนตนขึ้นมาในระดับชั้นรายได้สูง ความเหลื่อมล้ำในกลุ่มจ้างงานตัวเองเพิ่มขึ้นมาก กลุ่มลูกจ้างทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูงมาโดยตลอด
5. ประชากรส่วนใหญ่ในกลุ่มรายได้น้อยอยู่ในภาคการเกษตร กลุ่มผู้มีรายได้สูงส่วนมากประกอบอาชีพในภาคบริการ
6. กลุ่มเปราะบางส่วนมากเป็นประชากรที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ประกอบอาชีพที่ใช้ทักษะต่ำ ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ที่ทันสมัย คอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต และไม่มีประกันสังคม

จากนั้น อ.ดร.ถิรภาพ ฟักทอง เริ่มกล่าวถึงความสำคัญและอุปสรรคของการศึกษาเรื่องความเปราะบางในเด็ก โดยใช้ข้อมูลจากปี พ.ศ. 2552-2562  ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าประเทศไทยมีเด็กและเยาวชนที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเปราะบางกว่า 8 แสนคน และตัวเลขนี้ก็ไม่ได้มีวี่แววที่จะลดลงเลย การเติบโตในครอบครัวที่ไม่สามารถสนับสนุนปัจจัยต่าง ๆ ในการดำรงชีวิตอันได้แก่อาหาร การดูแลความปลอดภัย การเรียนรู้ และสุขภาพนั้นส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตในช่วงปฐมวัย และผลเสียเหล่านี้สามารถสะสมเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่รุนแรงมากขึ้นได้ในอนาคต  ส่วนอุปสรรคสำคัญคือการติดตามการย้ายที่อยู่ของเด็กและเยาวชนกลุ่มดังกล่าว เนื่องจากครอบครัวของกลุ่มเด็กเหล่านี้มักต้องย้ายถิ่นอาศัยเพื่อประกอบอาชีพที่หลากหลายบ่อยครั้ง ทำให้คณะวิจัยไม่สามารถทำการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม อ.ดร.ถิรภาพ ได้อ้างอิงข้อมูลจากหลากหลายองค์กร เช่น ดัชนีจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกอบกับเกณฑ์กำหนดความยากจนที่เป็นสากล เช่น Natural Poverty Line เพื่อหาข้อสังเกตในสถานการณ์นี้

อ.ดร.ถิรภาพ กล่าวว่าสาเหตุของความเปราะบางในเด็กนั้นมีหลากหลาย แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดทางข้อมูล สาเหตุสำคัญ ๆ จึงสามารถสรุปได้ดังนี้
1. ฐานะทางการเงินของครอบครัว เช่น ครอบครัวที่มีรายน้อยมักไม่สามารถให้การสนับสนุนทางการศึกษาต่อบุตรหลานได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสามารถส่งผลให้เด็กมีผลการเรียนที่ตกต่ำและสามารถถูกให้ออกจากโรงเรียนได้ตามลำดับ
2. โครงสร้างของครอบครัว เช่น ครอบครัวที่ประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูก หรือครอบครัวที่มีเพียงพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว 
3. สัญชาติ โดยปัจจัยนี้มีความเชื่อมโยงต่อถิ่นที่อยู่อาศัยของเด็กด้วย อีกทั้งการติดตามข้อมูลของกลุ่มเด็กเหล่านี้สามารถทำได้ยากที่สุด เนื่องจากครอบครัวที่มาจากชนกลุ่มน้อยอาจจะไม่มีถิ่นที่อยู่ที่ถาวร
4. การระบาดของโควิด-19 (COVID-19) โดยปัจจัยสุดท้ายนี้เป็นตัวขยายผลกระทบของปัจจัยอื่น ๆ ก่อนหน้า

ผลจากการศึกษาในช่วงสิบปีดังกล่าวพบว่าจำนวนเด็กเปราะบางไม่ได้ลดลงเลย แต่การเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจคือการกระจายตัวของกลุ่มเด็กที่จากเดิมที่มีการกระจุกตัวอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เปลี่ยนมากระจายตัวอยู่ตามเขตชายแดนมากขึ้น เช่นในภาคเหนือ ได้แก่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดบุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สระแก้ว และในภาคใต้ เช่น จังหวัดนราธิวาส และปัตตานี อย่างไรก็ตาม อ.ดร.ถิรภาพ ได้เน้นย้ำอีกครั้งว่ารายชื่อจังหวัดดังกล่าวเกิดจากการประเมินโดยคร่าวเท่านั้น เนื่องการกลุ่มเด็กเหล่านี้มักย้ายที่อยู่บ่อยดังที่กล่าวมาแล้ว

เมื่อใช้รายจ่ายเพื่ออาหารและเครื่องดื่มต่อครัวเรือนมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา อ.ดร.ถิรภาพ พบว่าครัวเรือนจากชาติพันธุ์ต่าง ๆ มีระดับการใช้จ่ายที่น้อยที่สุด ครัวเรือนอื่น ๆ ที่จัดอยู่ในกลุ่มยากจนยังมีการใช้จ่ายในหมวดนี้ที่หลากหลายมากกว่าถึงแม้ว่าก็ยังจัดอยู่ในระดับที่ต่ำเช่นกัน นอกจากนี้ครัวเรือนที่ประกอบด้วยพ่อเลี้ยงเดี่ยวหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวเท่านั้นมีแนวโน้มที่จะพึ่งพาโครงการอาหารกลางวันมากกว่าครอบครัวกลุ่มอื่น อย่างไรก็ปัจจุบันนี้ประเทศไทยได้จัดสรรงบประมาณการศึกษาในระดับประถมวัยไว้ค่อนข้างน้อย อีกทั้งศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพก็มีจำนวนไม่มากและมักกระจุกตัวอยู่ตามเมืองใหญ่  ทำให้ภาระในการดูแลบุตรหลานไม่ได้ถูกบรรเทาโดยภาครัฐมากนัก

ข้อมูลทางประชากรศาสตร์ (Demography) แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างครอบครัวและสัญชาติของเด็กส่งผลต่อระดับรายได้ของครอบครัวเป็นอย่างมาก แม้ว่าร้อยละ 54 ของกลุ่มเด็กเปราะบางอยู่ในครัวเรือนที่มีทั้งพ่อและแม่ แต่ร้อยละ 21 และ ร้อยละ 20 ของกลุ่มเด็กเหล่านี้อยู่ในครอบครัวที่มีเพียงแม่เลี้ยงเดี่ยวและครัวเรือนจากกลุ่มชาติพันธุ์ตามลำดับ มีเพียงร้อยละ 5 ของกลุ่มเด็กเท่านั้นที่มาจากครอบครัวที่ประกอบด้วยพ่อเลี้ยงเดี่ยวเพียงอย่างเดียว

สิ่งที่มาควบคู่กับการระบาดของโควิด-19 ก็คือการ Lockdown หรือการกักตัวอยู่บ้านเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ มาตรการนี้ทำให้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กต่างก็ต้องประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่บ้านของตนเท่านั้น ทว่าผลการศึกษาแสดงให้เห็นได้ชัดว่าจังหวัดที่มีจำนวนโทรศัพท์มือถือเฉลี่ยต่อครัวเรือนน้อย (2 เครื่องต่อ 10 ครัวเรือน) นั้นมีมากถึงเกือบครึ่งประเทศ และจังหวัดที่มีจำนวนมือถือเฉลี่ยเพียงพอต่อการศึกษาออนไลน์นั้นมีเพียง 4 จังหวัดเท่านั้น ดังนั้นสามารถสรุปได้สภาวการณ์ปัจจุบันของประเทศไทยไม่เอื้อต่อการศึกษาด้วยระบบออนไลน์ ครัวเรือนที่ไม่มีความพร้อมอาจต้องก่อหนี้สินเพื่อสรรหาอุปกรณ์ให้เพียงพอต่อความจำเป็นของบุตรหลาน กล่าวคือหลายครัวเรือนกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการผลักภาระทางการศึกษาในช่วงการระบาดของโควิด-19
อ.ดร.ถิรภาพ สรุปการสัมมนาไว้ว่าครัวเรือนที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์นั้นเป็นกลุ่มเปราะบางมาก กลุ่มบุคคลเหล่านี้ต้องพึ่งพานโยบายของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นจึงจะสามารถหลุดพ้นจากกับดักความยากจนได้  อ.นนท์ นุชหมอน ได้แสดงความเห็นว่านโยบายของภาครัฐส่วนใหญ่มักเป็นนโยบายที่มุ่งเน้นความครอบคลุมเป็นหลัก แต่จากข้อมูลที่ได้รับฟังพบว่าการออกแบบนโยบายที่ตรงต่อลักษณะทางสังคมของกลุ่มเด็กเปราะบางในแต่ละพื้นที่น่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า


จิดาภา ลู่วิโรจน์
นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ)