เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์กับการแก้ปัญหากลุ่มโรค NCDs: ประสบการณ์จากต่างประเทศ

1664 views
ทั่วโลกต่างเผชิญกับการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อ (Noncommunicable Diseases) หรือกลุ่มโรค NCDs ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญอันดับหนึ่งของโลก (World Health Organization, 2021) ขณะที่ความรุนแรงของสถานการณ์ในประเทศไทยก็ไม่แตกต่างกัน โดยคาดการณ์ว่าปัญหาของกลุ่มโรค NCDs จะเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขที่ต่อเนื่องยาวนานไปในอนาคต อันเป็นผลมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตยุคใหม่ ทั้งพฤติกรรมการบริโภค ลักษณะการทำงาน และปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ร่างกายต้องสะสมปัจจัยเสี่ยงทางชีวภาพ (Biological Risk Factor) มากมาย ที่เป็นต้นเหตุของกลุ่มโรค NCDs เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคไต เป็นต้น 

การออกแบบนโยบายเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก  ในภาพรวมนั้น Sustein (2014) ได้จัดหมวดหมู่ของชุดนโยบายเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ มาตรการเชิงบังคับและการห้ามปราม (Mandates and bans) มาตรการจูงใจเชิงเศรษฐกิจ (Economic Incentive) และการชี้แนะเพื่อปรับพฤติกรรม (Nudges) บทความนี้มุ่งเน้นนำเสนอกรณีศึกษานโยบายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ (เฉพาะชุดนโยบายสองกลุ่มหลัง) โดยจะนำผู้อ่านไปสำรวจแนวนโยบายด้านสาธารณสุขที่ผู้กำหนดนโยบายในต่างประเทศนำมาใช้ 

มาตรการจูงใจเชิงเศรษฐกิจ (Economic Incentives)

ในการใช้มาตรการจูงใจเชิงเศรษฐกิจ (Economic Incentives) มีรูปแบบมาตรการจูงใจผ่านนโยบายภาษีและการอุดหนุน มีการดำเนินนโยบายทั้งในฝั่งของผู้ผลิตและประชาชนทั่วไป (Landes, 2009) โดยมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ดังนี้ 

กรณีศึกษาที่ 1: The Food Fat Tax ของรัฐบาลเดนมาร์ก  
ในเดือนตุลาคม ปี 2554 ทางการเดนมาร์กได้มีการจัดเก็บภาษีในกลุ่มสินค้าเนย นม ชีส พิซซ่า รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวเกินกว่าร้อยละ 2.3 (BBC News, 2011) นโยบายนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะแก้ปัญหาโรคอ้วน ซึ่งประชาชนชาวเดนมาร์ก ร้อยละ 47 ของจำนวนประชากร มีปัญหาน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และอีกร้อยละ 13 ประสบปัญหาโรคอ้วน  อย่างไรก็ดี ต่อมาทางการเดนมาร์กได้ยกเลิกนโยบายนี้ หลังจากที่มีบังคับใช้นโยบายได้เพียงปีเศษ เนื่องจากไม่สามารถปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารของคนเดนมาร์กได้เท่าที่ควร และสร้างประโยชน์ในภาพรวมน้อยมาก (Smed et al., 2016) ขณะเดียวกัน จากการที่ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 ส่งผลให้ชาวเดนมาร์กเดินทางข้ามพรมแดนไปยังประเทศเยอรมนี เพื่อซื้อสินค้าที่มีราคาถูกกว่ามาบริโภค (BBC News, 2012) 

กรณีศึกษาที่ 2: เครดิตทางภาษีเพื่อสุขภาพ (Health Tax Credit) ของประเทศแคนาดา
ทางการแคนาดาให้เครดิตภาษีเพื่อการมีสุขภาพที่ดี ภายใต้โครงการ Healthy Living Tax Incentiveเป็นโครงการที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน โดยสาระสำคัญของนโยบายนี้ เป็นการให้เครดิตทางภาษีประมาณ 500 ดอลลาร์แคนาดา (13,180 บาท) ต่อเด็กและเยาวชนหนึ่งคน โดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการสมัครเข้าร่วมกิจกรรมการกีฬาหรือสันทนาการที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ แรกเริ่มโครงการนี้มีกลุ่มเป้าหมาย เฉพาะเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ต่อมาในปี 2553 ได้ขยายโครงการครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนทุกคนมีสุขภาพดีและแข็งแรง สำหรับประเภทกีฬาและสันทนาการที่สามารถนำมาขอเครดิตทางภาษี จะต้องเป็นกิจกรรมที่ขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการต่อหน่วยงานด้านส่งเสริมสุขภาพของทางราชการ (Canada Tax Credit, 2021)

กรณีศึกษาที่ 3: การอุดหนุนผู้ประกอบการอาหารสุขภาพของสิงคโปร์ 
ประเทศสิงคโปร์ประกาศสงครามกับโรคเบาหวานในปี 2559 และเพื่อเป็นการสนับสนุนการต่อสู้กับโรคดังกล่าว คณะกรรมการสนับสนุนสุขภาพ (Health Promotion Board: HPB) ของสิงคโปร์ เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินนโยบาย เพื่อสนับสนุนโครงการอาหารสุขภาพ จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการ Healthier Ingredient Development Scheme (HIDS) เริ่มดำเนินโครงการ เมื่อปี 2560 และโครงการ Healthier Ingredient Promotion Scheme (HIPS) เริ่มดำเนินโครงการในปีถัดมา ทั้งสองโครงการมีเป้าหมายเดียวกันคือ สนับสนุนเงินทุนในราว 2-3 แสนดอลลาร์สิงคโปร์ แก่ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหาร ตั้งแต่ผู้ผลิตจนถึงร้านอาหารให้มีส่วนร่วมในสร้างนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ 

ความน่าสนใจของการดำเนินนโนบายอุดหนุนผู้ประกอบการอาหารสุขภาพของสิงคโปร์ คือ นโยบายนี้เป็นการสนับสนุนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน นอกจากผู้ประกอบการจะขอเงินอุดหนุนในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตแล้ว การดำเนินกิจกรรมการตลาดก็สามารถของบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐได้เช่นเดียวกัน เช่น กิจกรรมการตลาดและประชาสัมพันธ์ การส่งเสริมการขาย รวมถึงการส่งผ่านอาหารสุขภาพถึงผู้บริโภค โดยเมนูสุขภาพจะได้รับ Healthier Choice Symbol เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ 

สำหรับผลของการดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าว ทางหน่วยงาน Health Promotion Board ได้เผยแพร่เอกสารในปี 2564 ระบุจำนวนร้านค้าและผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการอาหารเพื่อสุขภาพ (HPB’s Healthier Dining Programme) ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานและได้รับตรารับรอง Healthier Choice Symbol จำนวนทั้งสิ้น 1,961 ราย ทั่วประเทศสิงคโปร์ (Singapore Health Promotion Board, 2021)

รูปที่ 1: ฉลากอาหารสุขภาพของสิงคโปร์
       
(ก) ตัวอย่างฉลากอาหารสุขภาพ                  (ข) ตัวอย่างการติดฉลากอาหารสุขภาพ

การชี้แนะเพื่อปรับพฤติกรรม (Nudges)
การชี้แนะเพื่อปรับพฤติกรรม (Nudges) มาตรการนี้เปรียบเสมือนเข็มทิศนำทางเพื่อให้บุคคลได้ปรับพฤติกรรมในแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสาธารณะ ซึ่งสิ่งสำคัญสำหรับมาตรการนี้ คือ ให้อิสระเสรี (Freedom of Choices) แก่กลุ่มเป้าหมาย เพื่อการตัดสินใจตามหนทางของตนเอง สำหรับมาตรการนี้ มีตัวอย่างของชุดนโยบายเป็นจำนวนมากที่ประยุกต์ใช้ในด้านสาธารณสุข สิ่งที่น่าสังเกตคือมาตรการนี้ไม่จำเป็นต้องขับเคลื่อนโดยภาครัฐอย่างเดียว โดยนโยบายต่างๆ อาจริเริ่มและนำไปใช้ในระดับองค์กร เช่น บริษัทห้างร้านทั่วไป สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล องค์กรพัฒนาเอกชน เป็นต้น สำหรับกรณีศึกษาการนำ Nudges รูปแบบต่างๆ มาใช้ในงานด้านสาธารณสุข มีกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ ดังนี้ 

กรณีศึกษาที่ 4 : การเลือกเมนูอาหารสุขภาพผ่าน Myplate.gov ของสหรัฐอเมริกา
Myplate.gov ดำเนินงานโดย Center for Nutrition Policy & Promotion ภายใต้กระทรวงเกษตรของสหรัฐ (U.S. Department of Agriculture) มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ คือ การส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับประชาชนชาวอเมริกา และการดำเนินงานวิเคราะห์และวิจัยเกี่ยวกับโภชนาการ 

การส่งเสริมการบริโภคตามหลักโภชนาการของ Myplate.gov เป็นการใช้หลักการของ Nudges คือ การทำให้ง่ายและสะดวกเข้าไว้ (Make it simple and make it easy) โดยมีถาดอาหารที่สื่อสารเข้าใจง่าย เพื่อส่งเสริมการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพแบบเป็นกิจวัตร โดยเน้นรับประทานที่มีความหลากหลายทั้งผลไม้ ผัก ธัญญาหาร โปรตีนจากเนื้อสัตว์และพืช รวมถึงการเลือกเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีรูปแบบการใช้งานผ่าน 2 ช่องทาง คือ เว็บไซต์ https://www.myplate.gov/ และผ่าน Application: MyPlate App 

รูปที่ 2: หลักการรับประทานอาหารประจำวันตามคำแนะนำของ MyPlate.gov

         

(ก) การแบ่งสัดส่วนอาหารที่บริโภคประจำวัน (ข) ตัวอย่างการปรับใช้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย

กรณีศึกษาที่ 5: บันไดเปียโน  (The Piano Stairs)
ทางการสวีเดนได้เล็งเห็นปัญหาของคนกลุ่มวัยทำงานที่มีหน้าที่การงานรัดตัว จึงมีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง จึงได้ร่วมมือกับบริษัทเอกชน Volkswagen ได้นำไอเดียจากการส่งเข้าประกวดกว่า 700 ไอเดีย 200 ประเทศทั่วโลก มาทำการคัดเลือกเพื่อกำหนดเป็นโยบาย โดยโครงการบันไดเปียโน (The Piano Stairs) ณ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน Odenplan ในกรุงต็อกโฮม สวีเดน เป็นหนึ่งในโครงการที่ส่งเสริมการเคลื่อนไหวร่างกายที่ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยหลักการของ Nudge ภายใต้กิจกรรมนี้คือ ทำให้น่าสนใจ (Make it attractive) 

บริษัท Volkswagen ได้ติดตั้ง Motion-sensor Piano เมื่อมีการเดินบนบันไดดนตรีจะทำให้เกิดเสียงดนตรี ซึ่งโครงการนี้ได้รับความสนใจจากผู้คนที่ใช้รถไฟฟ้าใต้ดินเป็นอย่างมาก ผลอีกประการคือ เมื่อเห็นอีกคนใช้บันไดดนตรี คนอื่นๆ ก็มีพฤติกรรมทำตามๆ กัน โดยเมื่อทำการเปรียบเทียบก่อนและหลังการติดตั้งพบว่า มีการใช้บันไดเพิ่มขึ้นถึง 66% จากจุดเริ่มต้นในสวีเดน ปัจจุบันมีการนำมาประยุกต์ใช้หลายแห่งทั่วโลก 

รูปที่ 3: บันไดเปียโน
ที่มา: Behavioural Inside Team, UK (2010) 

อนึ่ง การออกแบบนโยบายที่นำเสนอในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของนโยบายที่ถูกนำมาใช้ทั่วโลก โดยประยุกต์ใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับมาตรการแรงจูงใจทั้งมาตรการเชิงบวกและมาตรการเชิงลบ ผ่านนโยบายภาษีและการอุดหนุน ขณะเดียวกัน ยังมีการนำเสนอการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมผ่านแนวทางของ Nudges โดยในกรณีของ Nudges ยังมีกรณีศึกษาที่โดดเด่นและถูกพูดถึงอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้อ่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ เช่น โครงการ MiHealth และแคมเปญ Change4Life ของรัฐบาลอังกฤษ โครงการ Food Pyramid ของรัฐบาลสเปน หรือโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพที่พัฒนาโดยเอกชน ผ่าน Application Stickk.com เป็นต้น 

สำหรับมิติในการออกแบบนโยบายสุขภาพของสังคมไทย ยังคงมุ่งเน้นมาตรการเชิงบังคับ รวมถึงมาตรการเชิงภาษีเป็นส่วนใหญ่ เช่น ภาษีสุรา ภาษีบุหรี่ ภาษีความหวาน และกำลังมีแนวโน้มที่จะจัดเก็บภาษีความเค็มและภาษีความมันเป็นลำดับต่อไป ซึ่งที่ผ่านมายังขาดการศึกษาทบทวนถึงผลสิทธิในเชิงนโยบายว่าประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ส่วนมิติในการอุดหนุนสินค้าเพื่อสุขภาพยังมีให้เห็นไม่มากนัก ขณะที่ มาตรการ Nudges ยังมีการดำเนินนโยบายอยู่ในวงจำกัด จึงยังมีช่องว่างเชิงนโยบายที่ผู้กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องจะได้เล็งเห็นถึงการออกแบบนโยบายรูปแบบใหม่ๆ เพื่อนำมาปรับใช้กับสังคมไทยต่อไป  
เอกสารอ้างอิง
BBC News. (2011). Denmark introduces world's first food fat tax. Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-europe-15137948
BBC News. (2012). Denmark to abolish tax on high-fat foods. Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-europe-20280863
Behavioural Insights Team. (2010). Applying behavioural insight to health. Retrieved from https://www.gov.uk/government/publications/applying-behavioural-insight-to-health-behavioural-insights-team-paper
Canada Tax Credit. (2021). Health Tax Credit | Healthy Living Tax Incentive. Retrieved from https://www.canadataxcredit.ca/health-tax-credit-healthy-living-tax-incentive/
Landes, X. (2009). The use of Incentives and the Promotion of Healthy Behaviours. The Case of Unhealthy Food. Retrieved from Quebec, Canada: https://www.ncchpp.ca/127/Publications.ccnpps?id_article=260
Singapore Health Promotion Board (2021). Healthier Choice Symbol Development. Retrieved from https://www.hpb.gov.sg/healthy-living/food-beverage/healthier-ingredient-schemes/about-the-healthier-ingredient-development-scheme
Smed, S., Scarborough, P., Rayner, M., & Jensen, J. D. (2016). The effects of the Danish saturated fat tax on food and nutrient intake and modelled health outcomes: an econometric and comparative risk assessment evaluation. European Journal of Clinical Nutrition, 70(6), 681-686.
Sunstein, C. R. (2019). Nudging: a very short guide. Business Economics, 54(2), 127-129. 
United States Department of Agriculture. (2021). Start Simple with MyPlate App. Retrieved from https://www.myplate.gov/
World Health Organization. (2021). Noncommunicable diseases. Retrieved from https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/noncommunicable-diseases

ลอยลม ประเสริฐศรี
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์