“แนวโน้มเศรษฐกิจไทย 2565 : เสือตัวอื่นกระโจนไกล แต่เสือไทยขอหมอบ”

2474 views

หากเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทยกับบัวทั้ง 4 เหล่า เศรษฐกิจในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา คงเปรียบได้กับ “บัวปริ่มน้ำ” ที่ถึงแม้จะมีความพยายามในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรูปแบบต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภาวะแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 มากเท่าใด แต่เมื่อการแพร่ระบาดระลอกใหม่กลับมาเยือนพร้อมกับความรุนแรงที่ทวีคูณมากขึ้น บรรดาโครงการและนโยบายต่าง ๆ ที่มุ่งเป็นไปเพื่อฟื้นฟูประเทศไทยก็ต่างพังครืนสู่จุดเริ่มต้น จนกลายเป็นภาวะ “ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ” ทางเศรษฐกิจ ให้เห็นจวบจนปัจจุบัน  

ด้วยเหตุนี้ เพื่อไม่ให้ปีหน้าฟ้าใหม่เกิดการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างผิดพลาดจนซ้ำรอยเดิม สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์  จึงได้จัดงานสัมมนาประจำปีภายใต้หัวข้อ “ทางรอด 2022 Survival Guide” ขึ้น เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์เศรษฐกิจและผลการวิเคราะห์ถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปี 2565  ในช่วงแรกจะเป็นการอภิปรายหัวข้อ เศรษฐกิจไทยปี 2565 เกี่ยวกับทิศทางของเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมทั้งประเทศในช่วง 1 ปีหลังจากนี้ ผ่านมุมมองการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ 4 ท่าน อันได้แก่ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ. หลักทรัพย์ ภัทร ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร CIMB THAI และ ดร.ชนินทร์ มโนภินิเวส นักเศรษฐศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน ธนาคารโลก พร้อมทั้งวิเคราะห์ถึงปัญหา โอกาส อุปสรรค และความเป็นไปของประเทศต่อไปในอนาคต จากบทเรียนตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

สำหรับปี 2564 ดร.พิพัฒน์ ได้คาดการณ์ไว้ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะจบปีด้วยอัตราการเติบโตที่ไม่เกิน 1% ซึ่งไม่เพียงพอที่จะชดเชยกับความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากภาวะการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา  ยิ่งไปกว่านั้น ในปีหน้าฟ้าใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ ก็อาจจะยังไม่ใช่ปีแห่งการกลับมาเฉิดฉายแบบที่หลาย ๆ คนกำลังวาดฝันไว้ 

ตามการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 4 ท่าน พบว่า ตลอดทั้งปี 2565 เงินบาทจะยังคงอ่อนอย่างต่อเนื่อง และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะอยู่เพียงแค่ราว 3.8 - 3.9% เท่านั้น ซึ่งปัจจัยหลักล้วนเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกโดยตรง ประกอบกับการเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติของบรรดากิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนรูปแบบต่าง ๆ และการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชน  แต่ถึงกระนั้น กำลังซื้อก็ยังคงกระจุกตัวอยู่เพียงแค่ในหมู่ประชาชนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไปเท่านั้น  ด้วยเหตุนี้ ภาครัฐจึงต้องเข้ามามีบทบาทในฐานะแรงสนับสนุนสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ เพื่อรอให้กำลังซื้อของภาคประชาชนและภาคเอกชนกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายหลังจากการระบาดคลี่คลาย  

ในมุมมองของ ดร.อมรเทพ การที่ภาครัฐจะกลายเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นใหญ่ชิ้นหนึ่งที่สามารถเติมเต็มระบบเศรษฐกิจได้นั้น จำเป็นจะต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้เงินให้เป็นไปในรูปแบบที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว เช่น กาารสร้าง “Work Fare” หรือการจ้างงานแลกเงิน ควบคู่ไปกับการให้ Welfare  นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยร่วมด้วย เพื่อสนับสนุนให้คนที่มีเงินนำเงินออกมาใช้มากขึ้น เพราะสิ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ คือ ภาวะ “คนมีเงินไม่ใช้ ส่วนคนใช้ไม่มีเงิน” แต่ก็ไม่ควรดำเนินนโยบายในลักษณะนี้ ยาวนานจนเกินไป เพราะท้ายที่สุดแล้ว ประเทศไทยก็ยังคงต้อง “ภาวนา” ไม่ให้การแพร่ระบาดกลับมารุนแรงซ้ำ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถก้าวต่อไปได้ดั่งใจปรารถนา 

การภาวนาเพียงอย่างเดียว ยังไม่เพียงพอสำหรับการนำพาประเทศไทยไปสู่ทางออกที่แท้จริงได้ เพราะนอกจากการแพร่ระบาดของ COVID – 19 แล้ว ยังคงอุปสรรคอื่น ๆ ที่ฉุดรั้งประเทศไทยไว้ ยกตัวอย่างเช่น การเผชิญหน้ากับ “กับดักรายได้ปานกลาง” ทำให้ประเทศไทยในขณะนี้ประสบกับชะตากรรมไม่ต่างไปจากรถที่กำลังติดหล่ม การก้าวต่อไปข้างหน้าพร้อมกับชาติอื่น ๆ หรือการหันหลังกลับไปเริ่มต้นพัฒนาประเทศใหม่เป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่งเช่นเดียวกับความพยายามประคองตัวอยู่ในภาวะสมดุลท่ามกลางปัญหาด้วยบุญเก่าที่สั่งสมมา ซึ่งเริ่มร่อยหรอลงไปทุกทีตามระยะเวลาที่ถูกประวิงออกไป โดยไม่มีโอกาสได้สร้างบุญใหม่มาเติมเต็มเลย ดังนั้น เพื่อความอยู่รอดของระบบเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนในระยะยาว ประเทศไทยในปี 2565 จึงจำเป็นจะต้องไล่ตามกระแสของโลกที่หมุนไปอยู่เสมอให้ทันเพื่อพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันของตนเอง

แม้ว่าในปีขาลที่กำลังจะมาถึงนี้ ประเทศไทยจะยังคงเป็น “เสือหมอบ” และ “เสือเลียแผล” อยู่ แต่ช่วงเวลา 1 ปีถัดจากนี้ ดร.ชนินทร์ มองว่า เป็นช่วงเวลาอันดีที่จะใช้ไปเพื่อทบทวนทิศทางสำหรับก้าวต่อไปของระบบเศรษฐกิจไทย ภายหลังวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 โดยจำเป็นจะต้องออกแบบนโยบายให้มีความสอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา อันจะนำมาซึ่งการตีกลับของโลกาภิวัตน์โดยไม่ตั้งใจ หรือภาวะเงินเฟ้อที่เริ่มปรากฏให้เห็นขึ้นบ้างแล้วในประเทศที่ระบบเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาที่เงินเฟ้อแตะ 6.8% เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากการสะดุดตัวของ Global Supply Chain ที่ได้รับผลกระทบส่งต่อมาเป็นลูกโซ่จากการดำเนินนโยบายปิดประเทศในหลาย ๆ ประเทศ ทั้งประเทศต้นน้ำและกลางน้ำ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในช่วงรอบปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้นทุนในการขนส่งเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ความแม่นยำของการขนส่งได้กลับลดลงสวนกระแส ทำให้บรรดาประเทศปลายน้ำจึงประสบกับภาวะ Supply Disruption อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 
ลักษิกา สถาปัตยานนท์
นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ที่อยากเห็นคนทั่วไปเข้าเศรษฐศาสตร์มากกว่าวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจ