เมื่อราวสิบปีที่แล้ว การเห็นภาพศิลปินหรือนักแสดงชาวเกาหลีใต้ปรากฏตัวบนป้ายโฆษณาผลิตภัณฑ์ด้านความงามคงจะเป็นเรื่องชินตาสำหรับคนไทยในเมืองใหญ่หลายคน แต่บัดนี้ หากจะกล่าวว่าผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบต่างก็ให้ความสนใจกับการจ้างผู้มีสื่อเสียงชาวเกาหลีใต้มาเป็นภาพลักษณ์ของสินค้าหรือองค์กรของตนก็คงไม่ผิดนัก พัฒนาการของระบบอินเทอร์เน็ตทำให้ประชากรต่างวัย ต่างเชื้อชาติเริ่มเรียนรู้ว่า BTS ไม่ใช่ชื่อของระบบขนส่งมวลชนในประเทศไทยแต่อย่างเดียว และ Blackpink ก็ไม่ใช่ชื่อของสีเพียงเท่านั้น ปัจจุบันนี้ ไม่ว่าพวกเราจะไปที่ไหนหรือทำอะไร พวกเรามักจะเห็น ได้ยิน หรืออ่านเกี่ยวกับผู้คนเหล่านี้เสมอ…เหล่าผู้ให้ความบันเทิงต่างชาติที่อาศัยห่างจากพวกเราไปกว่าสามพันกิโลเมตร ท่ามกลางมหาสมุทรอันเชี่ยวกรากของกระแสสื่อบันเทิงที่ไหลหลากเข้ามาผ่านอินเทอร์เน็ตในยุคโลกาภิวัตน์นี้…อะไรคือปัจจัยที่ทำให้กระแสนิยมเกาหลีสามารถพุ่งทะยานและทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของศตวรรษที่ 21 ได้
ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ประชากรทั่วโลก โดยเฉพาะจากจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างก็ได้รับอิทธิพลจากกระแสนิยมเกาหลี (Korean Wave) หรือ Hallyu ซึ่งหมายถึงความนิยมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์จากเกาหลีใต้ไปทั่วโลก ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นมาเองหรือเป็นผลจากโชคชะตาที่กำหนดเอาไว้ แต่เป็นผลิตผลจากหนึ่งในนโยบายการปฏิรูปและฟื้นฟูภาพลักษณ์ของเศรษฐกิจเกาหลีใต้หลังวิกฤติการณ์การเงินในทศวรรษ 1990 รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี คิม แด-จุง ตระหนักว่าเศรษฐกิจของเกาหลีใต้นั้นถูกวางไว้บนอุ้งมือของกลุ่มแชบอล (Chaebol) ซึ่งได้ดำรงตนเป็นเสาหลักด้านความมั่งคั่งของชาติมาอย่างช้านาน การส่งออกเทคโนโลยีและวัฒนธรรมจึงถูกเลือกให้เป็นอนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยง
นับจากนั้นรัฐบาลเกาหลีใต้ได้วางตนเป็นผู้สนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศอย่างกระตือรือร้นและต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน เมื่อได้ยกเลิกกฎหมายการเซ็นเซอร์ (Censorship Law) ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของการเจริญเติบโตในอุตสาหกรรมนี้อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1996 คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถจึงสามารถแสดงศักยภาพของตนให้เป็นที่ประจักษ์ได้อย่างเต็มที่ ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงวัฒนธรรม การกีฬา และการท่องเที่ยว (Ministry of Culture, Sports, and Tourism) ยังจัดตั้งสำนักต่าง ๆ เช่น Content Policy Bureau ที่ประกอบไปด้วยฝ่าย Cultural Industry Policy Division, Film and Video Content Industry Division, Game Content Industry Division, Popular Culture Industry Division และ Hallyu Content Cooperation Division เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมนี้โดยเฉพาะ อีกทั้งในปี ค.ศ. 2021 ท่ามกลางมรสุมของการแพร่กระจายที่รวดเร็วและรุนแรงของโควิด-19 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ส่งสัญญาณการให้ความสนับสนุนที่น่าสนใจและไม่เคยมีมาก่อน เมื่อประธานาธิบดีท่านปัจจุบัน มุน แจ-อิน ได้แต่งตั้งวง BTS ศิลปินบอยแบนด์ชื่อดังของเกาหลีใต้ เป็นทูตพิเศษของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ด้านคนรุ่นอนาคตและวัฒนธรรม ณ ทำเนียบประธานาธิบดีบลูเฮาส์ ในกรุงโซล ก่อนที่สมาชิกวงจะติดตามประธานาธิบดีไปร่วมในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ภายใต้หัวข้อ "เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" (Sustainable Development Goals-SDG) ประจำปี 2021 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในวันจันทร์ที่ 20 กันยายน 2021
ด้วยการสนับสนุนที่เอาจริงเอาจังของภาครัฐ ภาคเอกชนก็สามารถปั้นอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ให้ผงาดและเติบโตได้อย่างเต็มที่ เริ่มจากภาพยนตร์สายลับเรื่อง “Shiri” ในปี ค.ศ. 1999 ภาพยนตร์และซีรีย์จากเกาหลีใต้ก็เริ่มเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น สื่อบันเทิงเหล่านี้ให้รสชาติที่แปลกใหม่และน่าประทับใจผ่านเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ เรื่องราวความรักสุดซาบซึ้ง และการเขียนบทและกำกับภาพอันเป็นเอกลักษณ์ วงการดนตรีของเกาหลีใต้ หรือ K-POP ก็ได้เจริญรอยตามความสำเร็จของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ด้วยการสร้างบรรยากาศที่สดใหม่โดยการใช้ท่วงทำนอง ท่าเต้นชวนสนุก และเนื้อเพลงภาษาอังกฤษเข้าผสมผสาน อุตสาหกรรมทั้งสองประเภทนี้สร้างรายได้กว่า 12,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่เกาหลีใต้ ในปี ค.ศ. 2019 และความสำเร็จดังกล่าวยังสำแดงเดชให้เห็นอย่างต่อเนื่องเมื่อภาพยนตร์สัญชาติเกาหลีใต้ที่ตีแผ่ประเด็นความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างมีมิตินามว่า “ชนชั้นปรสิต” (Parasite) ที่เข้าฉายในปี ค.ศ. 2019 สามารถกวาดรางวัลใหญ่จากหลากหลายเวทีในระดับนานาชาติรวมถึง Acedemy Awards และยังได้รับการบันทึกจาก Guinness World Records ว่าเป็นภาพยนตร์นานาชาติเรื่องแรกที่ได้รับทั้งรางวัลภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม (Best International Feature Film) และรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture) จากเวทียักษ์ใหญ่อย่างออสการ์ (Oscar) ในด้านของผู้กำกับ บง จุน โฮ ที่ได้แสดงฝีไม้ลายมือในวงการฮอลลีวูดมาแล้ว ก็ได้คว้ารางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Director) จากเวทีเดียวกัน นอกจากนี้ ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวยังได้รับการบันทึกว่าเป็นภาพยนตร์นานาชาติที่ได้รับรางวัลมากที่สุดจากเวทีออสการ์ด้วย การได้รับรางวัลครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่อย่างเป็นประวัติการณ์ในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ และอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สื่อบันเทิงสัญชาติเดียวกันได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นไปอีก หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือความสำเร็จในระดับโลกของซีรีย์ Squid Game ในปี ค.ศ. 2021 ซึ่งได้นำเสนอประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำและความอัปลักษณ์ของการใช้อำนาจทางการเงินในทางที่ผิดได้อย่างดุเดือดและรุนแรงเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของอุตสาหกรรมบันเทิงในระดับเวทีโลกคงเป็นไปไม่ได้เลยหากปราศจากการสนับสนุนที่เข้มแข็งจากประชาชนในชาติ วัฒนธรรมเกาหลีสามารถเข้าแทรกซึมวัฒนธรรมอื่นได้อย่างง่ายดาย แต่ความรู้สึกชาตินิยมที่ยังเข้มข้นทำให้วัฒนธรรมต่างชาติต้องพิสูจน์ตนเองเป็นอย่างมากกว่าจะคว้าใจผู้บริโภคเชื้อชาตินี้ได้ ในปี ค.ศ. 2018 ภาพยนตร์สัญชาติเกาหลี “ฝ่า 7 นรกไปกับพระเจ้า 2” (Along with the Gods: The Last 49 Days) ทำรายได้ในประเทศจากการฉายในโรงภาพยนตร์ไปกว่า 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่ารายได้ในประเทศจากการฉายภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากตะวันตกทั้ง Bohemian Rhapsody และ Mission Impossible-Fallout ที่เข้าฉายในปีเดียวกัน
แน่นอนว่าเกาหลีใต้ไม่ใช่ประเทศแรกและประเทศเดียวที่เล็งเห็นความสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) และได้ใช้พลังของ Soft Power เข้าแทรกซึมและแผ่อิทธิพลของชาติโดยปราศจากการตั้งโรงงานขนาดมหึมาหรือการยึดครองอาณาเขตในแบบที่พวกเรามักจะคุ้นตากันดี ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฮ่องกงเป็นผู้นำที่โดดเด่นในธุรกิจสื่อบันเทิงในภูมิภาคเอเชียมาอย่างช้านาน พ่อมดผู้อยากรู้อยากเห็น Harry Potter และพยัคฆ์ร้ายสายมาร์ตินี่ James Bond ก็ได้สร้างรายได้มูลค่ามหาศาลให้แก่กลุ่มประเทศมหาอำนาจเดิมอย่าง สหราชอาณาจักรเช่นกัน…แล้วประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศกำเนิดของบุคลากรทั้งในวงการภาพยนตร์และวงการดนตรีระดับนานาชาติหลายท่าน จะสามารถขึ้นมายืนและโลดแล่นบนเวทีโลกได้เช่นกันหรือไม่
อุตสาหกรรมบันเทิงไทยเองก็ได้แสดงพัฒนาการที่เด่นชัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ การคว้ารางวัลมากมายจากเวทีทั้งในและนอกประเทศของภาพยนตร์แนวจารกรรมสุดตื่นเต้นอย่าง “ฉลาดเกมโกง” (Bad Genius) ที่ได้รับเลือกให้ฉายในงาน ASEAN Cinema Week ณ เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ รวมถึงกระแสตอบรับที่ดีเกินคาดในหมู่ประเทศเพื่อนบ้านของภาพยนตร์โรแมนติกคอมเมดี้เรื่อง “Friend Zone ระวังสิ้นสุดทางเพื่อน” และกระแสตอบรับอันล้นหลามจากฐานแฟนคลับอันเหนี่ยวแน่นในหลากหลายประเทศของซีรีย์ “เพราะเราคู่กัน” (2gether The Series) เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในด้านนี้อย่างชัดเจน การใช้สถานที่ถ่ายทำและการเขียนบทที่เกี่ยวข้องกับประเทศในอาเซียนและตลาดกำลังซื้อสูงอย่างประเทศจีนดังที่สามารถเห็นได้ทั้งในภาพยนตร์เรื่อง “Friend Zone ระวังสิ้นสุดทางเพื่อน” และเรื่อง “อ้าย…คนหล่อลวง” (The Con-Heartist) แสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของกลุ่มตลาดดังกล่าวแล้ว ดังนั้น…ในอนาคตเมื่อภาครัฐได้ผนึกกำลังเข้าสนับสนุนและช่วยเหลือภาคเอกชนในการผลักดันอุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศอย่างแข็งขัน เราอาจจะได้เห็นนักท่องเที่ยวจากดินแดนอันไกลโพ้นเดินทางเข้ามาตามรอยละครไทยเช่นกันก็เป็นได้
อ้างอิง
Roll, M. (2021, October 21). Korean Wave (Hallyu) - rise of Korea's Cultural Economy & Pop culture. Martin Roll. Retrieved December 25, 2021, from https://martinroll.com/resources/articles/asia/korean-wave-hallyu-the-rise-of-koreas-cultural-economy-pop-culture/
South Korean yearly box offic. (n.d.). Retrieved December 25, 2021, from https://www.boxofficemojo.com/year/?area=KR
Eck, T. (2019, February 15). The legacy of nationalism in Korea. Retrieved December 25, 2021, from https://www.lowyinstitute.org/the-interpreter/legacy-nationalism-korea
Organisation. Welcome to the website of the Ministry of Culture, Sports and Tourism of the Republic of Korea. (n.d.). Retrieved December 25, 2021, from http://www.mcst.go.kr/english/about/orgChart.jsp
สมาชิกวง "BTS" เข้าทำเนียบรับตำแหน่งทูตพิเศษของปธน. เตรียมบินร่วมประชุม UN. www.thairath.co.th. (2021, September 15). Retrieved December 25, 2021, from https://www.thairath.co.th/news/foreign/2193780
"The 92nd Oscar Nominees". Academy of Motion Picture Arts and Sciences. 13 January 2020. Archived from the original on 12 December 2019. Retrieved 25 December 2021.
"Oscars: The Complete Winners List". The Hollywood Reporter. 9 February 2020. Archived from the original on 12 February 2020. Retrieved 25December 2021.
"First film to win both the Best International Feature Film and Best Picture Oscar". Guinness World Records. Archived from the original on 17 November 2020. Retrieved 25 December 2021.
"Most Oscar wins for an international feature film". Guinness World Records. Archived from the original on 17 November 2020. Retrieved 25 December 2021.
Matichon. (2021, October 8). ละคร ฉลาดเกมส์โกง สนั่นเอเชีย คว้ารางวัลจากเวที "Asia contents awards". มติชนออนไลน์. Retrieved December 26, 2021, from https://www.matichon.co.th/entertainment/news_2980628
nationthailand. (2021, April 21). Thai film 'Friend zone' to be shown at ASEAN Cinema Week in Busan. nationthailand. Retrieved December 26, 2021, from https://www.nationthailand.com/in-focus/30378342
Mendoza, K. A. (2020, May 28). How Thai LGBT show, 2gether: The series, became an instant hit. South China Morning Post. Retrieved December 26, 2021, from https://www.scmp.com/magazines/style/news-trends/article/3086453/how-thai-lgbt-show-2gether-series-became-automatic-hit
ขอขอบคุณ ภาพจาก
https://www.imdb.com/title/tt6751668/
https://www.hancinema.net/korean_drama_Squid_Game-picture_1366766.html
https://www.imdb.com/title/tt8116428/
https://mgronline.com/entertainment/detail/9630000083316
https://tv.line.me/2gethertheseries