เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาล แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ( Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage)องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) มีมติให้ขึ้นทะเบียน ‘โนรา’ เป็นรายการที่เป็นตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ [1]   โนรานับเป็นรายการที่เป็นตัวแทนมรดกทางด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ลำดับที่ 3 ของประเทศไทย ต่อจากโขน เมื่อปี 2561 และนวดไทย เมื่อปี 2562 



ในมุมทางด้านเศรษฐศาสตร์แล้ว อาจมองมรดกทางด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) ได้หลากหลายแง่มุม  ในแง่มุมหนึ่ง มรดกทางด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เป็นทรัพยากรร่วม (common pool resources) หรือสินค้าร่วม (Common goods) (Cussia, 2020) กล่าวคือ มรดกทางด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นี้มีคุณสมบัติ 2 ประการคือ 1) ไม่สามารถกีดกันบุคคลอื่นมิให้ใช้ประโยชน์ได้ (non-excludable) และ 2) มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการบริโภค (rivalrous) 

ด้วยลักษณะการเป็นทรัพยากรร่วมของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ดังกล่าว ทุกคนสามารถได้รับประโยชน์โดยได้รับความภาคภูมิใจที่โนราเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและอยากให้โนราได้รับการสืบทอด แต่ไม่ค่อยมีใครอยากจะลงแรง (contribute) ฝึกโนราเพื่อให้โนราไม่สูญหายไป พิธีกรรมและศิลปะการแสดงโนราจึงมีจำนวนน้อยกว่าจำนวนที่เหมาะสมของสังคม จนอาจก่อให้เกิดปัญหาการสืบทอดโนราต่อไป  



เพื่อแก้ไขปัญหาความล้มเหลวของตลาด ประเทศต่าง ๆ จึงร่วมมือกันจัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขึ้น   อนุสัญญาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสงวนรักษามรดกทางด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เพื่อส่งเสริมให้มีความเคารพต่อมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของชุมชน เพื่อเพิ่มความตระหนักถึงความสำคัญของมรดกทางด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และเพื่อสร้างความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างประเทศ  นอกจากนี้ อนุสัญญาฯ ยังกำหนดให้มีกลไกความร่วมมือและความช่วยเหลือในระดับระหว่างประเทศ และยังกำหนดให้ประเทศสมาชิกมีมาตรการสงวนรักษามรดกทางด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ทั้งในระดับประเทศและในระดับระหว่างประเทศอีกด้วย

ในส่วนของความร่วมมือและความช่วยเหลือนั้น ได้มีความร่วมมือจัดตั้งกลไกช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการสงวนรักษามรดกทางด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และการให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการและงบประมาณ ในส่วนของมาตรการการสงวนรักษาในระดับประเทศนั้น อนุสัญญาฯ กำหนดให้ประเทศสมาชิกจัดทำบัญชีรายการมรดกทางด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ตลอดจนจัดตั้งหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการสงวนรักษามรดกทางด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และในส่วนของมาตรการสงวนรักษาในระดับระหว่างประเทศ อนุสัญญากำหนดให้คณะกรรมการฯ จัดทำบัญชีรายการที่เป็นตัวแทนมรดกทางด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ 

จากความสำเร็จของวิธีการจัดทำบัญชีรายการมรดกโลก (World Heritage List) ตามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางด้านวัฒนธรรมและธรรมชาติ จึงได้นำวิธีการดังกล่าวมาใช้กับการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้  อย่างไรก็ตาม เนื่องจากลักษณะของมรดกทางด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้มีลักษณะแตกต่างจากมรดกทางด้านวัฒนธรรมที่จับต้องได้ อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จึงกำหนดหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนที่แตกต่างออกไป  ในขณะที่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้นใช้หลักเกณฑ์คุณค่าที่โดดเด่นระดับสากล (Outstanding universal value) แต่การขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกทางด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นั้นไม่ได้ใช้เกณฑ์ดังกล่าว แต่กลับให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนแทน (Blake, 2019)

การกำหนดเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนในการสงวนรักษามรดกทางด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นั้น เนื่องจากตามนิยามมรดกทางด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของอนุสัญญาฯ แล้ว มรดกทางด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางด้านวัฒนธรรมของชุมชน สร้างเอกลักษณ์ให้ชุมชนและทำให้ชุมชนรู้รากเหง้าของตนเอง ชุมชนมีบทบาทอย่างสำคัญยิ่งในการถ่ายทอดมรดกทางด้านวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น และปรับปรุงเพิ่มเติมมรดกทางด้านวัฒนธรรมเหล่านั้นให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป อันทำให้วัฒนธรรมมีความหลากหลายและเป็นประจักษ์หลักฐานถึงความคิดสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ 

ด้วยเหตุข้างต้น ในการพิจารณาขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จึงปรากฎหลักเกณฑ์การมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างน้อย 2 ส่วน [3]  คือ ส่วนแรก การมีส่วนร่วมของชุมชนในการเสนอขึ้นทะเบียนรายการที่เป็นตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ดังที่กำหนดไว้ในเกณฑ์ข้อที่ 4 ที่ว่า ให้ประเทศสมาชิกแสดงว่าได้มีขอความเห็นชอบในการยื่นขึ้นทะเบียนรายการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ จากชุมชนที่เกี่ยวข้องกับมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นั้นให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ [4]  และส่วนที่สอง การมีส่วนร่วมของชุมชนในการออกมาตรการสงวนรักษามรดกทางด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้  ในส่วนที่สองนี้ แม้ว่ามิได้กำหนดไว้เป็นหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนไว้โดยเฉพาะ แต่ภายใต้เกณฑ์การขึ้นทะเบียนข้อที่ 3 ที่ว่าให้ประเทศสมาชิกออกมาตรการสงวนรักษาเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมมรดกทางด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นั้น [5]  ประเทศสมาชิกจะต้องอธิบายการมีส่วนร่วมของชุมชนในการออกและการนำมาตรการการสงวนรักษาไปปฏิบัติในเอกสารยื่นขึ้นทะเบียนด้วย [6]

ในมุมทางด้านเศรษฐศาสตร์แล้ว การขึ้นทะเบียน (Listing) ไม่เพียงแต่สร้างความภาคภูมิใจให้กับชุมชนที่สืบทอดมรดกทางด้านวัฒนธรรม และดึงความสนใจมายังมรดกทางด้านวัฒนธรรมเท่านั้น (Frey, 2019) แต่เงื่อนไขการมีส่วนร่วมของชุมชนทั้งการเสนอขึ้นทะเบียนและการออกมาตรการสงวนรักษามรดกทางด้านวัฒนธรรมนั้น จะช่วยทำให้แนวร่วมปฏิบัติ (Collective action) มีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น (Ostrom, 1990) จนสามารถแก้ไขปัญหาการสืบทอดมรดกทางด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งมีลักษณะเป็นทรัพยากรร่วมได้

รายการอ้างอิง
Blake, Janet (2019). ‘Further reflections on community involvement in safeguarding intangible cultural heritage’, in Natuko Akawa and Laurajame Smith (eds.), Safeguarding Intangible Heritage: Practices and Politics. Routledge: United States, 17-35. 
Cuccia, Tiziana (2020). 'Intangible Cultural Heritage' in Ruth Towse and Trilce Navareete Hernandez (eds.), Handbook of Cultural Economics. (3th edition), Cheltenham: Edward Elgar Publishing, 294-303. 
Frey, Bruno (2019). Economics of Art and Culture. Springer: Switzerland
Ostrom, Elinor (1990). Governing the Commons: The evolution of institutions for collective action. Cambridge University Press: Cambridge.


[3] หลักเกณฑ์ปรากฏในวิธีปฏิบัติในการดำเนินการ (Operational Directives) ดูได้ที่ https://ich.unesco.org/doc/src/2003_Convention_Basic_Texts-_2020_version-EN.pdf
[4] Criterion R.4, States shall demonstrate that the element has been nominated following the widest possible participation of the community, group or, if applicable, individuals concerned and with free, prior and informed consent. 
[5] Criterion R.3, States shall demonstrate that safeguarding measures are elaborated that may protect and promote the element.
[6] How have communities, groups or individuals been involved in planning the proposed safeguarding measures including in term of gender roles, and how will they be involved in their implementation? 


สิทธิกร นิพภยะ
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์