นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ RulebyLaw แบบไทย

7870 views

นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ RulebyLaw แบบไทย

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงานปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ครั้งที่ 17 ขึ้น ณ อุทยานเรียนรู้ 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล มาแสดงปาฐกถาในหัวข้อ "นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ RulebyLaw แบบไทย" อาจารย์ธงชัยได้แสดงทัศนะอันเกี่ยวข้องกับประเด็นการกล่าวปาฐกถาในวันนี้ว่า เป็นปัญหาหมักหมมจากประวัติศาสตร์ และได้ทวีความรุนแรงเพิ่มมาขึ้นในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ คสช. เรืองอำนาจ

ก่อนการปาฐกถาจะเริ่มต้นขึ้น อาจารย์ธงชัยได้กล่าวแนะนำตนเองผ่านการบอกเล่าถึงที่มาของความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์กฎหมายของท่านโดยได้กล่าวถึงความอยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยที่เกิดขึ้นมากมายนับครั้งไม่ถ้วนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถาบันตุลาการซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ได้รับความสนใจในเชิงวิชาการเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับกรอบมโนทัศน์พื้นฐานด้านต่างๆ ของสังคมไทยในยุคที่สังคมได้เปลี่ยนผ่านสู่สังคมสมัยใหม่ ดังที่อาจารย์ธงชัยได้เสนอเค้าโครงไว้แล้วในหนังสือ "เมื่อสยามพลิกผัน" ซึ่งเผยแพร่ในช่วงปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ อาจารย์ธงชัยยังได้กล่าวถึงจดหมายส่วนตัวระหว่างท่านกับอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ในช่วงปี 2521 พร้อมกับกล่าวถึงเหตุผลหลักที่อาจารย์ป๋วย ปฏิเสธการรับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า ยังไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้กระจ่างในคดีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หนึ่งในการชุมนุมทางการเมืองครั้งสำคัญของประเทศ อันมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยซึ่งนำโดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ นอกจากนี้ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมไปอีกว่า มหาวิทยาลัยไทยยังไร้เสรีภาพทางวิชาการและประเทศไทยเองก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างเเท้จริง

40 กว่าปีผ่านไป สิ่งที่อาจารย์ป๋วยได้ทิ้งไว้ให้สังคมไทยตระหนักยังคงเป็นความจริงทุกประการยิ่งไปกว่านั้นยังปรากฏเหตุการณ์ฆาตรกรรมกลางกรุงตามมาอีกหลายครั้งโดยไม่มีผู้ใดแสดงความรับผิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงเป็นการตอกย้ำว่าสังคมไทย "รัฐสามารถฆ่าคนได้" อาจารย์ธงชัยได้ให้เหตุผลว่า "ทั้งรัฐและกองทัพสามารถนิรโทษกรรมตนเองได้" ทำให้หนทางที่คนไทยจะดำรงชีวิตอย่างสงบสุขได้คือ การที่คนไทยจะต้องอยู่ให้เป็นโดยการคิดแบบเดียวกับรัฐ ส่วนคนที่อยู่ไม่เป็นกลุ่มคนเหล่านี้ก็มีทางเลือกไม่มาก ถ้าหากไม่ลี้ภัยไปต่างประเทศอย่างที่ อ.ป๋วย ก็ต้องใช้ชีวิตบนความเสี่ยงกับการต้องโทษจำคุก

ในการสร้างประชาธิปไตยของประเทศไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อาจารย์ธงชัยได้กล่าวในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยนั้นถูกย่ำยีจนอ่อนแอและไม่เคยเป็นใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองเมื่อปี 2549 และการรัฐประหารในปี2557 จากความเสื่อมที่เกิดขึ้น จึงกลายเป็นชนวนเหตุครั้งสำคัญที่ทำให้อาจารย์ธงชัยตัดสินใจทำการศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมาย เพื่อให้กลายเป็นทุนแก่บุคคลทั่วไปที่พยายามต่อสู้กับความอยุติธรรมผ่านการเรียกร้องอย่างตรงไปตรงมา โดยมุ่งหวังว่าสังคมไทยจะสามารถพัฒนาให้กลายเป็นสังคมที่ดีกว่านี้ได้ แม้ว่าจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มคนจำนวนหนึ่งว่าเป็นคนชังชาติก็ตาม

รายงานการวิจัยดังกล่าวนี้จะถูกนำมาใช้เป็นเอกสารอ้างอิงประกอบการปาฐกถาด้วยแต่ก่อนหน้าที่จะไปถึงการอภิปรายผลการวิจัยนั้น อาจารย์ธงชัยได้อธิบายถึงข้อเท็จจริงบางประการที่เกี่ยวข้องกับคำศัพท์อันเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญทางนิติศาสตร์อย่าง "Rule of Law" หรือ "หลักนิติธรรม" นี้ว่า เป็นการสร้างคำที่ปราศจากความตรงไปตรงมาและแฝงไปด้วยอคติทางการเมืองอย่างแรง เพราะถ้าหากแปลความตรงตามตัวอักษร จะพบว่า ความหมายที่ถูกต้องของคำว่า "Rule of Law" ในทัศนะของอาจารย์ธงชัย ควรจะเป็นคำว่า "การปกครองของกฎหมาย" มากกว่าสำหรับการสร้างประชาธิปไตยแล้ว "Rule of Law" หรือ "การปกครองของกฎหมาย" นี้ เป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากจำเป็นต้องมีระบบกฎหมายที่มีความยุติธรรมและเข้มเเข็งควบคู่กันไป ไม่สามารถแยกขาดจากกันได้

นอกจากนี้ อาจารย์ธงชัยได้แสดงทัศนะในเชิงไม่เห็นด้วยกับคำ 2 คำ อันได้แก่ "นิติรัฐ" และ "นิติธรรม" โดยการบอกเล่าถึงประวัติความเป็นมาไว้อย่างคร่าวๆ ว่า ในตอนต้น ทั้งสองกำเนิดมาจากรากแนวคิดที่มีความแตกต่างกัน แต่ท้ายที่สุดก็ได้ผสานรวมกันในช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ 20 ภายใต้หลักการร่วมกัน 5 ประการ ดังต่อไปนี้

ประการที่ 1 คือการมีกฎหมายที่ชัดเจนเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งดินแดนใต้ปกครองของรัฐ และประชาชนจะต้องสามารถเข้าถึง รับรู้กฎหมายนั้นได้

ประการที่ 2 กล่าวถึงการจำกัดอำนาจรัฐ เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิและทรัพย์สินของปัจเจกบุคคล

ประการที่ 3 คือความเสมอภาคเบื้องหน้าของกฎหมาย

ประการที่ 4 การมีรัฐธรรมนูญหรือรัฐสภาเป็นอำนาจสูงสุด ซึ่งขึ้นอยู่กับการปกครองของแต่ละประเทศว่ายึดถือสิ่งใดเป็นอำนาจสูงสุด และ

ประการสุดท้าย การมีหลักประกันความเป็นอิสระของตุลาการ

ระบบกฎหมายในสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่คนไทยคุ้นชินกันมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันนั้น ไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้างต้นเลย ทั้งที่นักนิติศาสตร์จำนวนมากกล่าวว่า ระบบกฎหมายของประเทศไทยนั้นดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนมาจากการบังคับใช้อย่างผิดเพี้ยนหรือผู้บังคับใช้ยังดีไม่พอ ดังนั้นทางออกของปัญหานี้จึงต้องหา 'คนดี' มาเป็นผู้บังคับใช้ คำตอบในลักษณะนี้ยังคงพบได้ทั่วไปในสังคมไทย ในความเป็นจริงแล้ว ความอยุติธรรมที่ประชาชนคนไทยกำลังเผชิญอยู่นี้ ก็ล้วนเป็นมาจากฝีมือของคนดีเหล่านั้นทั้งสิ้น จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่า ระบบและสถาบันทางกฎหมายของไทยอ่อนแอมากเสียจนกระทั่งไม่สามารถจำกัดความเสียหาย อันเป็นผลมาจากการกระทำของคนไม่ดีได้เลย หรือในทางกลับกัน ระบบและสถาบันทางกฎหมายเองก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่เอื้ออำนวยแก่การผิดเพี้ยนที่เกิดขึ้นอยู่ก็ได้ อาจารย์ธงชัยได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า ระบบกฎหมายและสถาบันทางกฎหมายดังกล่าวนั้น มีรากฐานมาจากนิติศาสตร์และระบบกฎหมายสมัยใหม่ของไทย ที่เกิดและพัฒนาขึ้นในบริบททางประวัติศาสตร์ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของสมบูรณาญาสิทธิราชย์และภาวะกึ่งอาณานิคมทำให้มีความแตกต่างไปจากนิติศาสตร์แบบบรรทัดฐานในสากลโลกอย่างมาก เนื่องจากถือกำเนิดขึ้นในบริบทประวัติศาสตร์ของยุโรป – อเมริกัน

การปาฐกถาเริ่มเข้มข้นขึ้นเมื่ออาจารย์ธงชัยได้กล่าวถึง นิติศาสตร์สมัยใหม่ทั้ง 2 กระแสอันได้แก่"นิติรัฐแบบรัฐมีอภิสิทธิ์" และ"นิติธรรมที่อิงกับพุทธและธรรมราชา" ซึ่งนักกฎหมายไทยส่วนใหญ่ล้วนได้รับอิทธิพลจากทั้ง 2 แนวคิดนี้อย่างผสมผสาน เนื่องจากได้ร่วมกันสร้างนิติศาสตร์และระบบกฎหมายสมัยใหม่ขึ้น ซึ่งไม่ใช่ Rule of Law หรือ การปกครองครองของกฎหมาย แต่เป็นการปกครองด้วยกฎหมาย หรือ Rule by Law ซึ่งในทางนิติศาสตร์ มีลักษณะตรงกันข้ามกับ Rule of Law โดยสิ้นเชิง และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ การมีลักษณะเฉพาะตัว อันบ่งบอกถึงความเป็นกฎหมายแบบไทยๆอย่างแท้จริง

อาจารย์ธงชัยได้ให้คำจำกัดความของคำว่า "นิติรัฐอภิสิทธิ์" ไว้ว่า เป็นระบบกฎหมายที่ให้อภิสิทธิ์แก่รัฐในการใช้อำนาจเพื่อละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมไปถึงทรัพทย์สินของเอกชนได้โดยให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำเพื่อสาธารณประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น ธรรมเนียมปกป้องการใช้อำนาจของรัฐเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของศาลในประเทศญี่ปุ่นเป็นต้น

สำหรับในกรณีของประเทศไทย อาจารย์ธงชัยได้ยกตัวอย่างถึง กฎหมายเกี่ยวกับป่าสงวนทั้งสิ้น 4 ฉบับที่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ออกโดยคำสั่งของคณะรัฐประหาร แต่ก็มีลักษณะไม่ต่างไปจากกฎหมาย 5ฉบับของสิงคโปร์ที่ถูกขนานนามว่าอวยอำนาจแก่รัฐเป็นอย่างมากเนื่องจากรัฐบาลสามารถขับไล่ประชาชนและสามารถละเมิดทรัพย์สินของเอกชนได้

อาจารย์ธงชัยได้กล่าวย้อนเล่าไปถึงในสมัยที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์เรืองอำนาจว่ามีสาธารณสมบัติหนึ่งที่ยังคงขึ้นขึ้นชื่อว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากจนสามารถอำนวยอำนาจได้อย่างล้นหลามให้แก่รัฐในฐานะที่อ้างว่า ผู้ปกป้องซึ่งก็คือ ความมั่นคงของชาติ นอกจากนี้ ยังมีอภิสิทธิอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากความมั่นคงของชาติไม่ว่าจะเป็น อภิสิทธิ์ในสภาวะยกเว้น อันจะเห็นได้จากการที่รัฐและกองทัพสามารถงดใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมตามปกติได้เมื่อครั้งกระทำการรัฐประหาร อีกทั้งยังสามารถประกาศให้ใช้กฎหมายพิเศษในสภาวะที่ไม่ปกติ เช่น ภาวะฉุกเฉิน รัฐธรรมนุญชั่วคราว กฎอัยการศึก คำสั่งต่างๆ ของคณะรัฐบาลแต่ละชุด เป็นต้น ได้อีกด้วย ซึ่งมีผลทำให้รัฐและคณะรัฐประหารหรือกองทัพอยู่เหนือรัฐธรรมนูญและตุลาการ

อภิสิทธิ์นี้สามารถพบได้ทั่วไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลก แต่ประเทศไทยมีความพิเศษกว่าประเทศอื่นๆ ตรงที่อภิสิทธิ์ของประเทศไทยนั้นมีความครอบคลุมกว้างขวางกว่ามากและมุ่งตามใจผู้ใช้อำนาจเป็นสำคัญ ในที่นี่ อาจารย์ธงชัยได้หมายความถึงรัฐและกองทัพเป็นหลัก อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอน ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ใดๆ ได้ จึงก่อให้เกิดความกลัวในหมู่ประชาชนขึ้น และสุดท้ายคือการมีอภิสิทธิ์ปลอดพ้นความผิดโดยมีที่มาจากความเกรงกลัวความผิดที่บุคคลนั้นได้กระทำขึ้นว่าจะส่งผลเสียหายต่อรัฐ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปกป้องบุคคลนั้นให้พ้นความผิดดังที่พบเห็นได้อยู่เป็นประจำในสังคมไทยแต่ในความเป็นจริงแล้ว การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดหลักการ Rule of Law อันเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการศึกษานิติศาสตร์อย่างแสนสาหัส

สำหรับอาจารย์ธงชัยแล้ว อภิสิทธิ์ปลอดความผิดที่ไม่น่าจะพึงกระทำมากที่สุด คือ "การนิรโทษกรรมตนเองหลังการรัฐประหาร" เนื่องจากเป็นอภิสิทธิ์ของกบฏที่รับรองโดยตุลาการ ผู้กระทำการในพระปรมาภิไธย จึงเป็นการสมรู้กระทำความผิดในระดับสูงสุดที่พึงเกิดขึ้นได้ในรัฐหนึ่งๆ

นับตั้งแต่ 2490 การรัฐประหารที่สำเร็จแต่ละครั้ง ได้ก่อให้เกิดสภาวะยกเว้นทางกฎหมายที่ทำให้ประเทศต้องถูกปกครองด้วยกฎอัยการศึกและกฎหมายความมั่นคง หรือด้วยรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ให้อำนาจแก่รัฐบาลทหารอย่างล้นหลาม อยู่บ่อยครั้งในแต่ละครั้ง ได้กินเวลาต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายปีบ้างก็นานกว่าที่ควรจะเป็น เช่นพื้นที่มากกว่า 1 ใน 3 ของประเทศที่ต้องอยู่ในเขตต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์อยู่หลายทศวรรษ หรือใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการประกาศงดใช้กฎหมายปกติอยู่เป็นระยะๆ กล่าวโดยสรุปคือ ประเทศไทยอยู่ภายใต้สภาวะยกเว้นจนแทบเป็นปกติและอยู่ภายใต้กฎหมายปกติแทบจะเป็นภาวะยกเว้นนั่นเอง

ส่วนคำว่า "ราชนิติธรรรม" นั้นหมายถึง หลักกฎหมายที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงดำรงเป็นหลักสูงสุดของกฎหมายและความยุติธรรม มิใช่รัฐธรรรมนูญหรือรัฐสภาดังที่ถือกันในบรรทัดฐานสากลเนื่องจากนิติธรรมนี้เป็นมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พัฒนาขึ้นในบริบทของการเมืองภายใต้ระบบเผด็จการทหารและวัฒนธรรมคลั่งไคล้บูชากษัตริย์ทำให้ธรรรมราชากลายเป็นทั้งหลักกฎหมายและความยุติธรรมของไทย

กษัตริย์จะทรงดำรงเป็นรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจเหนือกว่ารัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดซึ่งปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆที่บ่งบอกถึงพัฒนาการของชาติไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4 ประเด็น ดังต่อไปนี้

ประการแรก นักประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งพยายามผลักดันว่าพระมหากษัตริย์ในสมัยโบราณเป็นผู้ทรงความยุติธรรมสูงสุด แต่ไม่ใช้อำนาจในการบัญญัติกฎหมาย เพื่อแสดงให้เห็นว่ากษัตริย์ไทยไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์

ประการที่ 2 เกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตยภายหลังการปฏิวัติในปี 2475 ว่ายังคงเป็นของกษัตริย์หรือไม่ มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งได้อธิบายไว้ว่า อำนาจยังคงเป็นของกษัตริย์ แต่ได้พระราชทานให้กับคณะราษฎรเพื่อเป็นการเริ่มต้นระบอบการปกครองใหม่ ทำให้เมื่อมีการรัฐประหาร ล้มล้างประชาธิปไตยแต่ละครั้ง ต้องถือว่าอำนาจอธิปไตยได้กลับคืนสู่องค์พระมหากษัตริย์ดังเดิม จึงอาจกล่าวได้ว่าสิ่งนี้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของอำนาจอธิปไตยของไทยอย่างแท้จริง

ประเด็นต่อมา อาจารย์ธงชัยได้กล่าวถึงบทบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์ พฤษภา 2535 และวิกฤตการณ์ทางการเมืองนับตั้งแต่ปี 2549 ที่พระองค์ทรงสามารถยุติเหตุการณ์นองเลือดได้นั้น ก่อให้เกิดแนวคิดแบบกษัตริย์นิยมรุ่นใหม่ที่ว่า กษัตริย์มีบทบาทการเมืองอย่างเหมาะสม สามารถช่วยรักษาประชาธิปไตยของประเทศเอาไว้ได้ อย่างไรก็ตาม อาจารย์ธงชัยได้ตั้งข้อสังเกตทางประวัติศาสตร์ไทยไว้ว่า ทำไมเหตุการณ์ในเดือนตุลาคม ปี 2516 และ พฤษภาคม ปี 2535 มักจะถูกยกขึ้นมาเมื่อมีการกล่าวถึงบทบาททางการเมืองของพระมหากษัตริย์ไทย นอกจากนี้ ยังมีการหลีกเลี่ยงประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเหตุกาณ์ในเดือนตุลาคม ปี 2519 และ พฤษภาคม ปี 2553 อีกด้วย

ประการสุดท้าย อาจารย์ธงชัยได้กล่าวถึงการพยายามย้ำความสำคัญของทศพิธราชธรรมผ่านการเผยแพร่พระราชกรณียกิจต่างๆของพระบาทสมเด็จพระเจาอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นผลให้ ทศพิธราชธรรมกลับกลายมาเป็นหลักธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ในความจริงแล้ว เป็นเพียงหลักธรรมของพุทธราชาเท่านั้นโดยในสมัยรัชกาลที่ 9 ทศพิธราชธรรมมีฐานะไม่ต่างไปเลือดและเนื้อที่ห่อหุ้มโครงกระดูกของรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย จึงก่อให้เกิดความสงสัยว่ากษัตริย์ทรงดำรงอยู่เหนือกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะกษัตริย์ได้กลายเป็นรัฐธรรรมนูญ ตามแนวคิดของกลุ่มธรรมนิยม

หลักนิติธรรมที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันจึงเป็นเพียงเสื้อคลุมของนิติศาสตร์แบบไทย ซึ่งหมายถึง นิติรัฐอภิสิทธิ์ที่ผสมผสานกับราชนิติธรรม เป็นการอำพรางนิติศาสตร์แบบอำนาจนิยมให้ดูน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นผลของนิติศาสตร์แบบไทยทำให้สถานะของพระมหากษัตริย์ กับรัฐธรรมนูญ การเมือง และกฎหมายเปลี่ยนแปลงไปใน 3 ประเด็น ดังต่อไปนี้

ประเด็นแรกว่าด้วยเรื่องของความคิดแบบราชนิติธรรมที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญของประเทศไทยไม่สอดคล้องกับจารีตกฎหมายไทยเท่าใดนัก ทำให้ถูกยกเลิกการบังคับใช้ได้ง่าย ทั้งที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในทางกลับกัน กฎหมายที่ค้ำจุนกับสถาบันกษัตริย์และรัฐอย่างกฎมณเฑียรบาลและกฎอัยการศึกนั้น แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดใดเลย

ประการที่ 2 เป็นประเด็นอันเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับการเมือง โดยอาจารย์ธงชัยมีความเห็นว่า ฝ่ายกษัตริย์นิยมได้พยายามผลักดันให้กษัตริย์เป็นหนึ่งในอำนาจของระบอบการเมือง ถ้าหากนับตั้งแต่การปฏิวัติในปี 2475 เป็นต้นมา ไม่เคยมีกษัตริย์พระองค์ใดมีพระราชอำนาจโดยตรงเหนือกองกำลังอาวุธดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ทำให้นับแต่นี้ไป "เหนือการเมือง" ตามนิติศาสตร์แบบไทยจะไม่ใช่การไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกต่อไป แต่จะหมายถึงพระราชอำนาจในการแทรกแซงกิจการทางการเมืองการปกครองได้ในเวลาอันเหมาะสม บวรศักดิ์ อุวรรณโณ จึงได้ขนานนามตำแหน่งนี้ว่า องค์กรรมการผู้ประสานรอยร้าวสูงสุดแห่งชาติ

ประเด็นสุดท้าย อาจารย์ธงชัยได้กล่าวถึงการเปรียบเทียบระหว่างนิติรัฐ และ Rule of Law ของไทยกับแบบบรรทัดฐานว่า นิติศาสตร์ของไทยกำลังบอกว่าสถานะของกษัตริย์เป็นองค์อธิปัตย์ทำให้มีสถานะยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญและรัฐสภาที่สากลโลกทั่วไปยึดถือ

ในตอนท้ายของการปาฐกถา อาจารย์ธงชัยได้ฝากข้อคิดทิ้งท้ายเอาไว้ว่า การควบคุมอดีตนั้น เกิดขึ้นยากเพราะความทรงจำไม่ได้เป็นเพียงวัตถุหรือสิ่งก่อสร้างอีกต่อไป การเชิดชูเฉลิมฉลองอย่างฟุ้งเฟ้อเกินสมเหตุสมผลและการอาศัยความกลัวและกฎหมายอยุติธรรมประกอบกันเพื่อบังคบความคิด ไม่มีทางสร้างศรัทธาอย่างหนักแน่นและยืนยาวได้เนื่องจากคนรุ่นหลังไม่มีความทรงจำร่วมกับวัฒนธรรมประจบสอพลอ อันจะก่อให้เกิความเสื่อมของอารยธรรมไทย ดังนั้นสังคมไทยจึงควรเลิกเสพติดกับความคลั่งไคล้ เลิกอภิสิทธิ์สารพัดที่ถูกอ้างขึ้นในนามขอความมั่นคง และพยายามสร้างการปกครองของกฎหมายขึ้นมาให้ได้

"ประเทศไทย สังคมไทย ต้องการการปกครองของกฎหมาย ไม่ใช่การปกครองของผู้ยิ่งใหญ่ด้วยกฎหมาย"

หมายเหตุ : ดาวน์โหลดหนังสือปาฐกถาได้ที่ คลิ๊ก!!

ลักษิกา สถาปัตยานนท์
นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ที่อยากเห็นคนทั่วไปเข้าเศรษฐศาสตร์มากกว่าวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจ