อ่าน ทุน วัง คลัง (ศักดิ) นา

การทำความเข้าใจสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะเศรษฐกิจมีหลากมิติที่ซับซ้อนผสมปนเปจนยากจะเข้าใจความเป็นเหตุและผล  เป็นต้นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ก็เป็นหนึ่งในปัญหาที่มีความพยายามค้นหาเหตุและผลต่อสภาพปัจจุบันอยู่ไม่น้อย  บ้างก็ว่าเป็นเรื่องความแตกต่างระหว่างความสามารถและความพยายามส่วนบุคคล ระบบการศึกษาที่กระจุกตัวทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ การขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรเพื่อเพิ่มผลิตภาพในอนาคต ฯลฯ  ทว่าสภาพปัญหาที่พบเห็นได้ในปัจจุบันมักมีรากฐานก่อตัวขึ้นในอดีตทั้งสิ้น  ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยก็มีรากเหง้าและที่มาจากอดีตไม่แตกต่างกัน

หนังสือ “ทุน วัง คลัง (ศักดิ) นา” โดย อภิชาต สถิตนิรามัย และ อิสร์กุล อุณหเกตุ สองอาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พาผู้อ่านสำรวจภาพความเหลื่อมล้ำช่วงรอยต่อระหว่างการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475  หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงแต่อัดแน่นไปด้วยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ทรัพย์สิน การใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งก่อนและหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ยังได้พยายามสำรวจบทบาทอำนาจของชนชั้นปกครองเก่ากับชนชั้นปกครองใหม่ การปรับตัวของชนชั้นนำไปตามสภาพเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก และปมปัญหาความขัดแย้งที่ส่งผลมาจนถึงยุคปัจจุบัน ทั้งหมดนี้วางอยู่บนกรอบแนวคิดแบบเศรษฐศาสตร์สถาบันเป็นหลัก  สถาบัน (institution) ในที่นี้หมายถึงกรอบระเบียบกติกาในสังคมเศรษฐกิจทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการอย่างตัวบทกฎหมาย และรูปแบบที่ไม่เป็นทางการอย่างจารีตประเพณีและวัฒนธรรม

หากเปรียบหนังสือเล่มนี้เป็นสำรับอาหารชุดหนึ่ง บทแรกก็เสมือนเป็นอาหารเรียกน้ำย่อยชั้นดีที่อธิบายกระบวนการเปลี่ยนผ่านของชนชั้นนำ จากการควบคุมปัจจัยการผลิตอย่างแรงงานไปสู่การบุกเบิกครอบครองที่ดินเพื่อการปลูกข้าว ซึ่งเห็นได้จากความคืบหน้าในการขุดคลองประกอบกับราคาข้าวในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นจากความต้องการที่มีมากขึ้น การยึดกุมอำนาจเหนือแรงงานมีต้นทุนสูงขึ้นและให้ผลตอบแทนน้อยกว่าการถือครองที่ดิน และเป็นเหตุผลในการยกเลิกระบบทาสในปี 2448  การถือครองที่ดินยังเป็นหมุดหมายสำคัญของระบบทุนนิยมในสยามเพราะสิ่งที่ต้องตามมาคือระบบกรรมสิทธิ์ เพราะเป็นกลไกป้องกันไม่ให้ผู้อื่นซึ่งไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ใช้หรือหาประโยชน์ได้จากทรัพย์สินส่วนบุคคล 

อาหารจานหลักถูกยกออกมาเสิร์ฟในบทที่ 2 และ 3 เมื่อผู้เขียนวิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นปกครองเก่าและใหม่ตั้งแต่ก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รวมถึงนโยบายการคลังในช่วงเวลาดังกล่าว  สองบทนี้พยายามสะท้อนให้เห็นว่าชนชั้นปกครองเก่าพยายามอย่างยิ่งที่รักษาไว้ซึ่งอำนาจในการขูดรีดส่วนเกินจากปัจจัยการผลิต แม้แต่ระบบภาษีในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งโดยทั่วไปควรเป็นเครื่องมือในการกระจายทรัพยากรให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นกลับซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำให้ทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก ความขัดแย้งในการกำหนดตัวบทกฎหมายจึงปะทุขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  เราในฐานะผู้อ่านอาจเคยฟังคำวิพากษ์เค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ว่ามีความสุดโต่งจนถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งนั่นเป็นเพราะว่าเนื้อหาในเค้าโครงการเศรษฐกิจสั่นคลอนอำนาจชนชั้นปกครองเก่าอย่างมาก  แม้ว่าเวทีในการเจรจาตกลงแบ่งผลประโยชน์กันพอมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่สุดท้ายความพยายามในการปฏิรูปสถาบันที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำอย่างกฎเกณฑ์ในการถือครองและใช้ประโยชน์จากที่ดินกลับไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงนัก

“กินคาวไม่กินหวาน” คงไม่สมบูรณ์ในหนึ่งสำรับอาหาร ของหวานปิดท้ายสำหรับหนังสือเล่มนี้คือบทที่ 4 ที่ฉายภาพหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตามที่คณะราษฎรได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ในหลัก 6 ประการ  การพัฒนาด้านสาธารณสุขและการศึกษาถือว่ามีความคืบหน้าเห็นได้จากจำนวนและสัดส่วนของค่าใช้จ่ายภาครัฐ แม้ว่าจะเกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปมากและไม่ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน  ความสัมพันธ์และอำนาจทางการเมืองมีบทบาทสำคัญอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ส่วนหนึ่งที่การพัฒนาทั้งสองด้านดังกล่าวรุดหน้าไปได้เป็นผลมาจากผู้นำในประเทศที่แสวงหาพันธมิตรและความช่วยเหลือจากต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาโดยการมอบทั้งเงินช่วยเหลือ ผู้เชี่ยวชาญ และคำแนะนำในการวางระบบรัฐสมัยใหม่ ซึ่งก็ถือว่าเป็นรากฐานของการกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทยหลัง พ.ศ. 2500 

แม้เศรษฐกิจไทยจะพัฒนาขึ้นตามลำดับจากการพัฒนาอุตสาหกรรมมาจนสู่เศรษฐกิจบนฐานภาคบริการ แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ได้รับการปฏิรูปและส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้  คุณูปการของหนังสือเล่มนี้คงหนีไม่พ้นการแสดงให้เห็นการยึดยื้อของอำนาจและบทบาทของกฎเกณฑ์ในระบบเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อปัจเจกบุคคลแม้เราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม  หากผู้อ่านยังไม่อิ่มจุใจกับหนังสือเล่มนี้ สามารถอ่าน “รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ” ของหนึ่งในผู้เขียน (อภิชาต สถิตนิรามัย) ได้อย่างต่อเนื่อง รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจเล่าเนื้อหาตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2490 มาจนถึงยุคการสะสมทุนของนายธนาคารและวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ส่วนหนึ่งนั้นก็สะท้อนให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำกับทุนนิยมไทยนั้นยังคงอยู่คู่กันตลอดมาแม้ว่ารูปแบบจะเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคมโลกและเวลา
วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์