ก้าวต่อไปของ Digital Platform ไทยสำรวจต่างประเทศ ตกตะกอนสถานการณ์ไทย

เมื่อการพักผ่อน การเรียนรู้ และกิจกรรมอีกหลายอย่างเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกดิจิทัล สื่อดิจิทัลจึงเข้ามามีบทบาทต่อผู้คนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มนี้เกิดขึ้นทั้งในบริบทของต่างประเทศรวมถึงประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยมีผู้ผลิตสื่อดิจิทัลที่มีศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันเกิดขึ้นหลายราย. อย่างไรก็ดี สื่อสัญชาติไทยเหล่านั้นโดยส่วนใหญ่แล้วต้องให้บริการบนแพลตฟอร์มของต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Youtube หรือ Netflix

ไม่เพียงเป็นการยากต่อการกำกับดูแลเท่านั้น การที่สื่อดิจิทัลไทยต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มของต่างประเทศในการนำเสนอยังทำให้สื่อไทยขาดข้อมูลของผู้บริโภค ตลอดจนเม็ดเงินโฆษณาไหลออกนอกประเทศ เกิดคำถามสำคัญตามมาคือ ประเทศไทยควรมีดิจิทัลแพลตฟอร์มของตัวเองหรือไม่ และถ้ามีจะต้องดำเนินการอย่างไร ควรสร้างระบบนิเวศน์ (Ecosystem) เพื่อรองรับไปจนถึงควรวางยุทธศาสตร์ในลักษณะใด  ปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องมีบทสนทนาเพื่อตกผลึกและตัดสินใจร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Transactions Development Agency: ETDA) และเครือข่ายจึงได้จัดงานสัมมนาออนไลน์หัวข้อ ดูแลเพื่อเกื้อหนุน สร้างกลไกให้เกิดและเพิ่มโอกาสพัฒนา DigitalMedia Platform ของคนไทย มีนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง ท่าน ประกอบด้วย ผศ.ดร.วรรวิภางค์ มานะโชติพงษ์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผศ.ดร.ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง คณะนิติศาสตร์ และ รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมสัมมนา

แต่ละประเทศจัดการกันอย่างไรภาพรวมการกำกับดูแล Digital Platform ในระดับโลก

ผศ.ดร.ปิยะบุตร ให้ภาพรวมของสถานการณ์การกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลในระดับโลก โดยชี้ว่าเครื่องมืออย่างกฎหมาย กฎระเบียบ ไปจนถึงข้อตกลงที่เคยกำกับดูแลผู้เล่นท้องถิ่นภายใต้กรอบคิดรัฐชาติ กำลังถูกท้าทายอย่างสำคัญโดยแพลตฟอร์มที่เป็นผู้เล่นระดับโลก เนื่องจากมีกฎและกติกาเป็นของตัวเอง ซึ่งปัจจุบันมี ประเด็นสำคัญที่ถูกให้ความสนใจ ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลลิขสิทธิ์ข้อมูลส่วนบุคคล (personal data), ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (cybersecurity), อาญากรรมทางไซเบอร์ (cybercrime) ไปจนถึงประเด็นเรื่องการแข่งขัน

จากประเด็นข้างต้น แต่ละประเทศจัดวางตำแหน่งตามความกังวลและการดำเนินการที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาที่มีกลุ่มธุรกิจแพลตฟอร์มขนาดใหญ่อยู่เยอะ เลือกที่จะใช้นโยบายที่ค่อนข้างเปิดให้แข่งขันกันได้อย่างเสรี ไม่มีการกำกับดูแลมากนัก ไปจนถึงจีนซึ่งวางนโยบายที่ค่อนข้างปิดและมีการกำกับดูแลอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ดีสำหรับส่วนของประเทศไทยยังไม่สามารถหาตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองได้ จึงยังไม่มีการดำเนินการที่แน่ชัด

อนุกรรมการกฎหมาย ภายใต้คณะกรรมการธุรกรรมทางดิจิทัล เน้นย้ำว่าหากรัฐอยากช่วยผู้เล่นท้องถิ่นเพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้เล่นระดับโลกได้ อย่างน้อยต้องมีการสนับสนุนงบประมาณที่ชัดเจน เพื่อที่จะให้เกิดผลอย่างจริงจัง ส่วนวิธีการสนับสนุนผ่านการให้สัมปทานอย่างที่ผ่านมานั้น มักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

การส่งเสริม OTT[1] กรณีศึกษาจาก ประเทศ

รศ.ดร.พิจิตรา จำแนกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียออกเป็นฝั่งผู้ประกอบการและผู้บริโภค เป้าหมายของผู้บริโภคสื่อคือการได้ชมเนื้อหาที่หลากหลายและมีคุณภาพ ในขณะที่ฝั่งผู้ประกอบการเองก็มีหลายลักษณะ ทั้ง OTT จากในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้แต่ละประเทศมีนโยบายการส่งเสริมกิจการ OTT ที่ต่างกันออกไป ด้วยวิธีมองที่คล้ายกับตลาดสินค้าทั่วไป กล่าวคือหากเปิดเสรีก็จะช่วยให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกที่หลากหลาย ในขณะที่การตั้งกำแพงก็จะช่วยปกป้องผู้ประกอบการภายในประเทศ ซึ่งสินค้าสื่ออาจมีประเด็นที่อ่อนไหวขึ้น เนื่องจากเป็นสิ่งประกอบสร้างอัตลักษณ์ของคนในประเทศ ประเด็นพิจารณาสำคัญคือการจัดวางนโยบายของสินค้าประเภทสื่อให้มีความสมดุล ไม่ชาตินิยมจนเกินไป และไม่สูญเสียรายได้ไปยังประเทศอื่น

อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาเชิงเปรียบเทียบนโยบายการส่งเสริม OTT ที่แตกต่างกันใน ประเทศ ไล่เรียงจากสิงคโปร์ที่พยายามวางตัวเป็นศูนย์กลาง (Hub) ของภูมิภาค ผ่านการเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกให้ต่างประเทศเข้ามาตั้งสาขาการดำเนินงาน เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องขนาดประเทศที่ไม่สามารถผลิตจนถึงระดับที่จะทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of scale) ได้ เช่นเดียวกันกับประเทศอังกฤษที่มีการเปิดเสรีอยู่ในระดับสูง มี BBC เป็นผู้ผลิตสื่อสาธารณะที่ใหญ่มากเข้ามาในตลาด OTT มาตั้งแต่ต้น กลยุทธ์สำคัญของอังกฤษคือผลิตและส่งออกคอนเทนท์ที่มีคุณภาพ (High-end product) ไปยังตลาดโลก

ในขณะที่เกาหลีที่มีจุดเด่นเรื่องคอนเทนท์ K-Pop และ soft power ที่เป็นที่นิยมในระดับโลกนั้น มีนโยบายค่อนไปทางชาตินิยม จัดวางตัวเองเป็นผู้ผลิตเนื้อหาและส่งออกไปยังแพลตฟอร์มต่างประเทศพร้อมๆ กับปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวกันของช่องโทรทัศน์เอกชนสร้างแพลตฟอร์มแห่งชาติที่ชื่อ Wavve ซึ่งรัฐบาลคอยให้การสนับสนุนเงินทุน ประเทศต่อมาคือญี่ปุ่นที่มีการแข่งขันในประเทศอย่างเข้มข้น มีการรวมกลุ่มกันของ Broadcaster สร้าง OTT กลางอย่าง Tver ซึ่งมีการนำกฎหมายลิขสิทธิ์เข้ามาดำเนินการเพื่อให้มีความโปร่งใสและยุติธรรมระหว่างผู้เผยแพร่แต่ละราย  

“...มันจะมีการตกลงกันว่าช่องต่างๆ อย่างฟูจิทีวี เอาคอนเทนท์ตัวเองมาลงแพลตฟอร์มกลาง อาจลงมาแค่หนึ่งเดือนแล้วค่อยถอนมาไว้ในแพลตฟอร์มของตัวเอง สาเหตุที่เขาอยากมีแพลตฟอร์มกลางก็เพราะจะช่วยให้เห็นข้อมูลหลังบ้าน และระบบการดูสดแบบเป็นระบบเรตติ้งซึ่งเป็นก้อนสำคัญที่จะนำไปสู่การหารายได้ของทั้ง Broadcaster และคนทำรายการทีวี” รศ.ดร.พิจิตราให้ภาพสถานการณ์ OTT ในญี่ปุ่น 

ความท้าทายของวงการสื่อไทยในโลกยุคดิจิทัล

ผศ.ดร.วรรณวิภางค์ ให้ภาพการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ตลาดดิจิทัลว่าอินเทอร์เน็ตได้ทำให้พรมแดนทางภูมิศาสตร์ของตลาดภาพเคลื่อนไหวหายไป ผู้ชมเคลื่อนย้ายตัวเองเข้าไปเป็นผู้บริโภคในตลาดโลก จากเดิมที่สื่อไทยมักมีอำนาจตลาดสูง มีระดับการแข่งขันไม่รุนแรง เนื่องจากพื้นที่โฆษณามีช่องทางน้อย ปัจจุบันถูกบีบให้เข้ามาอยู่ในโลกออนไลน์ที่มีระดับการแข่งขันสูงมาก ไม่เพียงแข่งกับสื่อด้วยกันเท่านั้น แพลตฟอร์มออนไลน์ประเภทอื่น เช่น สื่อสังคมออนไลน์ก็เป็นคู่แข่งแย่งการให้บริการโฆษณาด้วยเช่นกัน   

จากการสำรวจรายการดิจิทัลทีวี ผศ.ดร.วรรณวิภางค์ ระบุว่า ไม่ใช่คอนเทนท์ทุกประเภทที่จะอยู่ได้ด้วยรายได้จากโฆษณา กล่าวคือ ในบริบทของไทยนั้น มีเพียงช่องที่มีจุดเด่นด้านรายการวาไรตี้และละครเท่านั้น ที่สามารถอยู่ได้ด้วยรายได้จากโฆษณาและมีผลประกอบการที่ดี ในขณะที่ช่องที่เน้นรายการประเภทข่าว สารคดี รายการเด็ก ไปจนถึงรายการกีฬานั้นไม่สามารถอยู่ได้จากรายได้โฆษณา

ที่เป็นเช่นนี้เพราะการจะผลิตเนื้อหาคุณภาพดีและหลากหลายนั้น มีต้นทุนการผลิตในระดับสูง และยิ่งต้องการผลิตงานที่ดีเพื่อดึงดูดดผู้ชมก็ยิ่งมีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งหากเรามองว่าสื่อสาธารณะทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน การปล่อยให้รายการข่าวขาดทุนจนถึงขั้นหายไป จะทำให้ประชาชนสูญสียประโยชน์ที่ควรจะได้รับ แพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อกำไรก็ไม่สามารถทดแทนบทบาทนี้ของสื่อสาธารณะได้

อย่างไรก็ดี การสนับสนุนจากรัฐบาลอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีนัก เนื่องจากจะทำให้ความเป็นอิสระของสื่อลดน้อยลง ส่งผลสืบเนื่องไปยังความเชื่อมั่นของผู้ชม ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศจึงดำเนินการเก็บเงินจากผู้ชมผ่าน TV license ตัวอย่างเช่น BBC ในอังกฤษ และ NHK ของญี่ปุ่น ไปจนถึงค่ารับชม (cable subscription fee) นอกเหนือจากค่าโฆษณา การดำเนินการลักษณะนี้นอกจากช่วยเพิ่มช่องทางรายได้ให้ตัวสื่อแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้สื่อพัฒนาเนื้อหาเพื่อตอบสนองผู้ชมมากยิ่งขึ้น

ในกรณีของประเทศไทยนั้น รายการบันเทิง วาไรตี้อาจไม่อยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง แต่ในส่วนของรายการกีฬาโดยส่วนใหญ่แล้วยังเป็นเนื้อหาจากต่างประเทศ การส่งเสริมเนื้อหาการแข่งขันจากในประเทศร่วมด้วยอาจช่วยให้สามารถตอบสนองผู้ชมได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่กลุ่มรายการที่ท้าทายที่สุดคือรายการข่าว เนื่องจากผู้ชมได้เข้าไปอยู่ในตลาดโลกแล้ว จำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพ ความน่าเชื่อถือ ความเป็นอิสระ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ชมและแข่งขันได้ในตลาดโลก       


[1]  Over-the-top การให้บริการผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในรูปแบบเปิด

ศุภวิชญ์ สันทัดการ
นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ผู้ไม่ดื่มกาแฟ ไม่ฟังเพลง และไม่เป็นทาสแมว