ถึงเวลาที่รัฐบาลไทยควรออกตราสารหนี้ภัยพิบัติแล้วหรือยัง ?

23 พฤศจิกายน 2564
3076 views

บทนำ

ทุกวันนี้ โลกประสบภาวการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภมิอากาศและโรคระบาด ดังที่เราจะเห็นได้จากภัยพิบัติที่เกิดในไทยบ่อยครั้งขึ้นในช่วง 10-2ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยพบภัยทางธรรมชาติธรณีพิบัติและสึนามิเมื่อปี 2543 อุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 ตลอดจนโรคระบาดโควิด-19 ที่ยังคงระบาดอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ภัยพิบัติเกิดขึ้นนำมาซึ่งความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ดังที่แสดงในตารางที่ 1



ที่มา: 1/Emergency Event Database (EM-DAT) Te Centre for Research on the Epidemiology of Disasters (CRED) within the Université Catholique de Louvain (UCLouvain)

ในแต่ละครั้งที่เกิดภัยพิบัติ รัฐบาลไทยมักจะช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยด้วยการจ่ายเงินชดเชยตรงให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ อาทิ เงินชดเชยแค่แรงงานที่ไม่สามารถไปทำงานได้ เงินชดเชยแก่เกษตรกรที่พื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับผลของภัยพิบัติ เงินช่วยเหลือค่าซ่อมแซมเคหสถาน และออกมาตรการทางการเงินด้านสินเชื่อ อาทิ การลดอัตราดอกเบี้ย การพักชำระหนี้และงดชำระดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งมาตรการช่วยเหลือส่วนใหญ่จะเป็นมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการภายหลังจากที่เกิดภัยพิบัติ (Ex post) และอาจจะก่อให้เกิดปัญหาด้านการคลัง หากไม่สามารถบริหารจัดการการใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสม 


ในต่างประเทศ นอกจากรัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนภายหลังจากภัยพิบัติ ยังมีมาตรการก่อนเกิดเหตุ (Ex ante) เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดภาระทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นกับรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นนโยบายส่งเสริมให้เอกชนซื้อประกันภัยด้วยการลดภาษีนิติบุคคล ตั้งหน่วยงานรัฐระดมทุนและสร้างนวัตกรรมทางการเงินเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย หนึ่งในนโยบายที่ได้รัฐบาลหลายประเทศนำมาใช้ คือ การออกตราสารหนี้ภัยพิบัติ (Catastrophe bond)


ตราสารหนี้ภัยพิบัติคืออะไรและทำงานอย่างไร?

ตราสารหนี้ภัยพิบัติ (Catastrophe bond/ CAT bond) เป็นเครื่องมือทางการเงินทางเลือกหนึ่งที่ภาครัฐสามารถนำมาใช้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ และบริหารความเสี่ยงทางการเงินที่เกิดจากภัยพิบัติได้ โดยอาศัยหลักการถ่ายโอนความเสี่ยงภาระทางการคลังของภาครัฐไปสู่ภาคเอกชนและตลาดทุน ซึ่งผลตอบแทนของการถือตราสารหนี้ฯจะอ้างอิงกับมูลค่าความเสียหายจากเหตุภัยพิบัติที่เกิดขึ้น เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติที่กำหนดไว้และมูลค่าความเสียหายเกินกว่าระดับที่กำหนด ผู้ออกตราสารหนี้ฯจะหักเงินต้นหรือดอกเบี้ยตามระดับที่ตกลงไว้ เพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น แต่หากไม่เกิดเหตุภัยพิบัติตามที่ระบุไว้ในช่วงเวลาที่กำหนด นักลงทุนก็จะได้รับดอกเบี้ยและเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนด


ตราสารหนี้ภัยพิบัติเป็นเครื่องมือทางการเงินชนิดหนึ่งที่ดอกเบี้ยชำระรายงวดหรือคูปอง[1] (Coupon) และเงินต้น (Principal) มีความผูกพันกับความน่าจะเป็นของการเกิดภัยพิบัติ กล่าวคือ หากไม่เกิดภัยพิบัติตลอดอายุของตราสารหนี้ฯ นักลงทุนที่ถือตราสารหนี้ฯ นอกจากจะได้รับคูปองแล้ว ยังจะได้เงินต้นคืนด้วย อย่างไรก็ดี หากเกิดภัยพิบัติตามที่ระบุไว้บนตราสารหนี้ฯ เงินต้นบางส่วนหรือทั้งหมดจะถูกนำไปใช้เพื่อการบริหารจัดการและฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัตินั้น


ภาพที่ 1 แสดงโครงสร้างการออกและบริหารกระแสเงินของตราสารหนี้ภัยพิบัติ รัฐบาลสามารถจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle: SPV) เพื่อทำหน้าที่ออกตราสารหนี้ภัยพิบัติ (สัญญาประกัน) โดยนิติบุคคลดังกล่าวจะทำหน้าที่รับเบี้ยประกันเพื่อชดเชยความเสี่ยงจากเหตุภัยพิบัติ (Spread payments) จากรัฐบาล ระดมเงินทุนจากนักลงทุน (Par) ชำระดอกเบี้ยรายงวดให้กับนักลงทุน (Coupon Payments) และทำหน้าที่ในบริหารจัดการเงินทุน (Investment) ผ่านบัญชีหลักประกัน (Collateral Account) ตลอดจนเข้าสู่กระบวนการชำระบัญชีเพื่อโอนเงินเยียวยาไปยังรัฐบาลไทยหากเกิดภัยพิบัติ (Recoveries) หรือคืนเงินต้นบางส่วนหรือทั้งหมดกลับไปยังนักลงทุนเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อไม่มีเหตุภัยพิบัติตามที่ระบุไว้ในสัญญา (Principal at maturity)


ภาพที่ 1 กระแสเงินสดของตราสารหนี้ภัยพิบัติ



เมื่อนักลงทุนซื้อตราสารหนี้ภัยพิบัติจากนิติบุคคลเฉพาะกิจ นิติบุคคลดังกล่าวจะนำเงินทุนที่รับจากนักลงทุนไปบริหารจัดการเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนเพิ่มเติม นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยรายงวด (Coupon) โดยที่นักลงทุนสามารถซื้อขายตราสารหนี้ภัยพิบัติในตลาดรองได้อย่างอิสระ


ในกรณีที่ครบกำหนดไถ่ถอนและไม่มีภัยพิบัติเกิดขึ้น เงินลงทุนที่อยู่ในบัญชีของนิติบุคคลเฉพาะกิจจะถูกนำมาชำระคืนเงินต้นให้กับนักลงทุนผู้ถือตราสารหนี้ฯ ในทางกลับกัน หากเกิดภัยพิบัติก่อนกำหนดไถ่ถอน เงินต้นหรือเงินลงทุนดังกล่าวจะถูกหักออกไปเพื่อชดเชยให้กับทางรัฐบาล โดยหลักการแล้ว การประเมินเกณฑ์ความเสียหายจะทำโดยหน่วยงานกลางหรือหน่วยงานอิสระที่ได้รับการยอมรับ เพื่อให้นักลงทุนมั่นใจว่าจะถูกหักเงินต้นอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

 

การบังคับใช้ตราสารหนี้ภัยพิบัติ

โดยทั่วไป ตราสารหนี้ภัยพิบัติมีเกณฑ์ในการบังคับใช้เมื่อเกิดภัยพิบัติอยู่อย่างน้อย 5 รูปแบบ[2] ดังนี้


1. เกณฑ์ค่าชดเชยความเสียหาย (Indemnity trigger) จะคำนวณจากค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง หากภัยพิบัติก่อให้เกิดมูลค่าความเสียหายเกินกว่าที่ตราสารหนี้ฯระบุไว้ นิติบุคคลเฉพาะกิจก็จะจ่ายเงินเยียวยาให้รัฐบาล


2. เกณฑ์ดัชนีอุตสาหกรรม (Index trigger) ใช้ค่าดัชนีวัดระดับความเสียหายที่ถูกจัดเก็บโดยหน่วยงานที่เป็นกลาง หากค่าดัชนีดังกล่าวสูงกว่าระดับที่ระบุไว้ในตราสารหนี้ฯ เงินต้นก็จะถูกนำมาชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น


3. เกณฑ์ดัชนีความเสียหายที่ได้จากแบบจำลอง (Modeled loss index trigge) อ้างอิงผลการคำนวณความเสียหายจากบริษัทผู้ออกแบบแบบจำลองด้านภัยพิบัติที่ได้รับการยอมรับระดับโลก


4. เกณฑ์ดัชนีพาราเมตริก (Parametric trigger) ใช้ข้อมูลทางสถิติที่ได้รับการยอมรับในทางวิทยาศาสตร์ อาทิ ปริมาณน้ำฝน ระดับความรุนแรงของแผ่นไหว เป็นเกณฑ์สำหรับบังคับใช้ตราสารหนี้ฯ หากปริมาณน้ำฝนหรือระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวเกินระดับที่ระบุไว้ในตราสารหนี้ฯ รัฐบาลก็จะได้รับการชดเชยความเสียหายจากภัยพิบัติ


5. เกณฑ์ลูกผสม (Hybrid trigger) อาจมีการนำเกณฑ์ในข้อ 1-4 มาประกอบกัน เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการจ่ายค่าชดเชยให้กับรัฐบาล


การออกแบบเกณฑ์การบังคับใช้ของตราสารหนี้ฯและการกำหนดขอบเขตภัยพิบัติมีลักษณะเฉพาะตามพื้นที่ที่กำหนดและประเภทของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นมีความสำคัญมากต่อการบังคับใช้ตราสารหนี้ฯในทางปฏิบัติ เพราะอาจทำให้ผู้ลงทุนสูญเสียเงินต้นทั้งหมดเมื่อเกิดภัยพิบัติ หรืออาจเป็นกรณีที่รัฐบาลไม่ได้รับการเยียวยาแม้ว่าภัยพิบัตินั้นเกิดความเสียหายเป็นจำนวนมหาศาล


กรณีตราสารหนี้ภัยพิบัติวาตภัยของนิติบุคคลเฉพาะกิจ Mariah Re เป็นตัวอย่างกรณีที่ตราสารหนี้มีผลบังคับใช้และนักลงทุนสูญเสียเงินลงทุนทั้งหมดเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ[3] ในปี 2553 นิติบุคคลเฉพาะกิจ Mariah Re เป็นตัวแทนให้กับบริษัท American Family Mutual Insurance (AFMI) ได้ทำการออกขายตราสารหนี้วาตภัย เพื่อถ่ายโอนความเสี่ยงของ AFMI ที่อาจเกิดจากพายุและทอนาโดในพื้นที่ทั่วสหรัฐอเมริกาไปยังนักลงทุนในตลาด หากภัยพิบัติดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมประกันภัยมีมูลค่าความเสียหายสูงเกิน 825 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา AFMI จะได้รับการชดเชยเป็นมูลค่าสูงสุดที่ระดับ 100 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งในปี 2554 หน่วยงานกลางโดย AIR Worldwide  ได้ทำการประเมินความเสียหายจากภัยพิบัติดังกล่าวพบว่าทอนาโดในสหรัฐฯสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมประกันภัยสูงถึงประมาณ 955 ล้านดอลลาร์ สรอ. จึงทำให้ AFMI ได้รับเงินชดเชยไปเต็มจำนวน ขณะเดียวกันนักลงทุนก็สูญเสียเงินต้นทั้งหมด


ในบางกรณีตราสารหนี้ฯไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้เนื่องจากการระบุขอบเขตพื้นที่ภัยพิบัติไม่ครอบคลุมเพียงพอในเชิงปฏิบัติ ทำให้ภาครัฐไม่ได้รับการชดเชยแม้ว่าภัยพิบัติก่อให้เกิดความความเสียหายเป็นวงกว้าง ดังเช่น กรณีตราสารหนี้ธรณีพิบัติของประเทศเม็กซิโก ซึ่งในปี 2553 ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.2 ริกเตอร์ นอกขอบเขตพื้นที่ที่ตราสารหนี้ฯกำหนด ส่งผลให้รัฐบาลไม่สามารถบังคับใช้ตราสารหนี้ฯได้ นอกจากนี้ ในปีเดียวกัน พายุเฮอริเคนอเล็ก (Hurricane Alex) ก็ก่อให้เกิดความเสียหายกับตัวเมืองนอกขอบเขตที่ตราสารหนี้ฯกำหนด ทำให้ไม่สามารถนำเงินจากนักลงทุนมาเยียวยาความเสียหายได้


จากกรณีตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่า แม้มีโอกาสที่จะสูญเสียเงินต้นทั้งหมด แต่นักลงทุนบางกลุ่มก็ยังให้ความสนใจลงทุนในตราสารหนี้ภัยพิบัติ เพราะมีความเป็นไปได้ที่ตราสารหนี้ฯอาจจะไม่ถูกบังคับใช้ อาจเพราะกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้สูงเกินไป เหตุการณ์เกิดขึ้นนอกพื้นที่คุ้มครอง หรือไม่มีภัยพิบัติเกิดขึ้น นอกจากนั้น เนื่องด้วยการเกิดภัยพิบัติเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากและไม่ได้มีความเกี่ยวเนื่องกับวัฏจักรเศรษฐกิจแต่อย่างใด นักลงทุนจึงสามารถกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในตราสารหนี้ภัยพิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจขาลงได้อีกด้วย (Lichtenberger et al., 1996; Cummins, 2008)


บทสรุป
ปัจจุบัน ภัยพิบัติเกิดขึ้นบ่อยครั้งและสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รัฐบาลควรมีทั้งมาตราการเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงทางการคลัง ในระดับสากล ตราสารหนี้ภัยพิบัติถูกนำมาใช้ในการระดมทุนผ่านองค์กรต่าง ๆ ขณะที่รัฐบาลไทยยังไม่มีการนำตราสารหนี้ภัยพิบัติมาใช้ในการบริหารการเงินสาธารณะ ดังนั้น การหาแนวทางการใช้ประโยชน์จากตราสารหนี้ภัยพิบัติที่เหมาะสมกับประเทศไทยจึงเป็นสิ่งที่ควรได้ทำการศึกษา เพื่อเป็นเครื่องมือทางเลือกในการระดมทุนยามประเทศไทยเผชิญวิกฤติภัยพิบัติให้ได้เงินครบถ้วน ทันเวลา ทั้งยังเป็นการลดความเสี่ยงภาระทางการคลังระยะยาว และสร้างความหลากหลายในการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยอีกด้วย


เอกสารอ้างอิง

Cummins, J. (2008). Cat bonds and other risk‐linked securities: state of the market and recent developments. Risk management and insurance review, 11(1), 23-47.

Cummins, J. (2012). CAT bonds and other risk-linked securities: Product design and evolution of the market. Available at SSRN: http://dx.doi.org/10.2139/ssrn.1997467

Götze, T., & Gürtler, M. (2020). Hard markets, hard times: On the inefficiency of the CAT bond market. Journal of Corporate Finance, 62, 101553.

Litzenberger, R., Beaglehole, D., & Reynolds, C. (1996) Assessing catastrophe reinsurance-linked securities as a new asset class. Journal of Portfolio Management, 76-86.



[1] โดยทั่วไป คูปองคำนวณจากอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (อาทิ LIBOR) และผลตอบแทนชดเชยความเสี่ยง (Risk Premium) โดยงานศึกษา Gotze and Gurtler (2020) ได้พบว่า ผลตอบแทนชดเชยความเสี่ยงนอกจากจะแปรผันตามความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่ตราสารหนี้ฯกำหนดแล้ว ยังขึ้นอยู่กับคุณลักษณะเฉพาะ อาทิ ประสบการณ์ ชื่อเสียง ความแข็งแกร่งทางการเงิน (Financial Strength) ของผู้ออกตราสารหนี้ (Sponsor) อีกด้วย 

[2] ผู้สนใจเกณฑ์การบังคับใช้ตราสารหนี้ภัยพิบัติรูปแบบอื่น สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ใน Cummins (2012)
[3] Mariah Re Ltd. (Series 2010-1), รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.artemis.bm/deal-directory/mariah-re-ltd-series-2010-1/

พนิต วัฒนกูล
อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์