โค้งสุดท้ายก่อน 2030 : แผนพัฒน์ 13 กับการพลิกโฉมไทยสู่ความยั่งยืน

1342 views

ในวันที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤตอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีสถานะไม่ต่างจากนายท้ายเรือ ผู้ควบคุมทิศทางการขับเคลื่อนประเทศในอีก 5 ปีต่อจากนี้ จึงจำเป็นจะต้องถูกออกแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ โดยคำนึงถึงแนวทางการดำเนินนโยบายเพื่อนำพาประเทศไทยออกจากวังวนแห่งความเจ็บปวดนี้ได้เป็นสำคัญ ทั้งยังจำเป็นต้องครอบคลุมในทุกมิติของความท้าทายที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอนาคตร่วมด้วย  

 ด้วยเหตุนี้ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้ร่วมกันจัดงานเสวนาวิชาการสาธารณะขึ้นในหัวข้อ “โค้งสุดท้ายก่อน 2030 :  แผนพัฒน์ 13 กับการพลิกโฉมไทยสู่ความยั่งยืน เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ด้วยความมุ่งหวังว่า สารต่าง  ที่ถูกสื่อออกมาในฐานะความคิดเห็นจากนักวิชาการผ่านมุมมองของความเป็นประชาชนชาวไทยจะถูกส่งไปถึงหน่วยงานผู้พัฒนาแผนงานดังกล่าวอย่างสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อนจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการ 

การเสวนาในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ ผศ.ดร.มณเฑียร  สติมานนท์  และ ผศ.ชล บุนนาค โดยมี ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว เป็นผู้ดำเนินรายการ


รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ กลุ่มวิจัยความสามารถในการแข่งขัน (ICRC) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 การเสวนาเริ่มต้นด้วยการอภิปรายของ รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ ที่มุ่งปูพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทั้งสถานการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนแบ่งตลาดการส่งออก และการปรับตัวทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 โดยเปรียบเทียบกับประเทศต่าง  ทั่วโลกเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้รับฟังการเสวนาเห็นภาพความเป็นจริงร่วมกัน กล่าวคือ ปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่นี้ เป็นปัญหาที่เรื้อรังมาตั้งแต่วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น  ที่มีผลกระทบต่อการคำนวณ GDP โดยตรง หาใช่ความสามารถในภาคการส่งออกลดลงอย่างที่หลาย  คนเข้าใจไม่ ซึ่งเมื่อการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ถาโถมเข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว ทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มศักยภาพ สั่นคลอนยิ่งกว่าเดิม ด้วยเหตุนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่  13 ซึ่งกำลังจะประกาศใช้ในปี 2566 จึงมีความสำคัญ เพราะหากไม่วางแผนให้ครอบคลุมและสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงประเด็น ประเทศไทยที่กำลังเผชิญกับภาวะเคราะห์ซ้ำกรรมซัด อาจเผชิญกับความเสียหายที่ยากเกินแก้ไขและรับมือได้  

โดยภาพรวม รศ.ดร.อาชนัน ได้กล่าวชื่นชมว่า แผนงานฉบับนี้ ร่างออกมาได้ค่อนข้างสมเหตุสมผล เนื่องจากตอบโจทย์การแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งยังครอบคลุมมิติต่าง  ได้พอสมควร แต่ยังคงขาดการให้น้ำหนักกับผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ซึ่งกำลังกลายเป็นเนื้อร้ายที่สร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ประกอบกับยังไม่มีการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังอย่างชัดเจน ทำให้การนำไปปฏิบัติจริงในส่วนราชการต่าง  สามารถทำได้ยากลำบาก  ยิ่งไปกว่านั้น เป้าหมายของบางนโยบายกลับมีความขัดแย้งในตัวเอง เนื่องจากถูกออกแบบมาให้ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว ซึ่งถ้าหากประสบความสำเร็จก็นับว่าเป็นโชคดี แต่ถ้าหากไม่ประสบความสำเร็จ การดำเนินนโยบายดังกล่าวก็จะ “เสียของ” ไปโดยปริยาย

 

ผศ.ดร.มณเฑียร  สติมานนท์ ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เพื่อให้เห็นภาพรวมของโครงสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจไทย การเสวนาจึงได้ดำเนินต่อไปสู่มิติทางด้านสังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค  ผศ.ดร.มณเฑียร สติมานนท์ ได้เริ่มต้นจากการอภิปรายถึงประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย ทั้งความหมาย สาเหตุ ไปจนถึงสถานการณ์และความท้าทายของสังคม ก่อนจะเข้าสู่การประเมินร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ในแง่ของการจัดการปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำเป็นสำคัญ  ตลอดการเสวนา ผศ.ดร.มณเฑียร ได้ยกข้อความจากในร่างของแผนดังกล่าวมาวิพากษ์ในเชิงตั้งคำถามทีละประเด็น  ผศ.ดร.มณเฑียร มองว่า ในบางหัวข้อ ผู้ออกแบบยังไม่สามารถตอบคำถามได้ว่า ต้องการจะลดความเหลื่อมล้ำในแง่มุมใด ซึ่งเป็นผลมาจากการเลือกใช้ตัวชี้วัดที่ไม่มีความเป็นสากล นอกจากนี้ แนวคิดหลักที่ถูกนำมาใช้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้ง 4 แนวคิด ได้แก่ เศรษฐกิจพอเพียง, Resilience, SDGs และ BCG มีเพียง SDGs เท่านั้น ที่กล่าวถึงประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเนื้อหาภายในร่างก็กล่าวถึงเพียงเล็กน้อยไม่ต่างจากถูกยกมาพอเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปของแผน ด้วยเหตุนี้ ผศ.ดร.มณเฑียร จึงตั้งคำถามกลับไปยังผู้ออกแบบแผนพัฒนาฯ ชุดนี้ว่า จะสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ยังคงไม่ชัดเจนว่าให้น้ำหนักกับประเด็นใดเป็นสำคัญได้อย่างไร ในเมื่อเครื่องมือที่เลือกใช้แก้ปัญหา แทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำ 


รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ ศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว (PRO – Green) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ เองก็ตั้งคำถามสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วยเช่นกันเพราะเนื้อหาภายในหมุดหมายที่ 10 และ 11 ของร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งกล่าวถึงการมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำในประเทศไทย กับความสามารถในการลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ได้มีความสอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศจริงของประเทศไทย  รศ.ดร.นิรมล เห็นว่า ความเสมอภาคอย่างถ้วนหน้าในแง่ของการกระจายทรัพยากร ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของแผนฉบับนี้ มีแนวโน้มที่จะไม่ประสบความสำเร็จในทางปฏิบัติ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีประเด็นการเลือกใช้ตัวชี้วัดผิดวัตถุประสงค์ด้วย โดยตัวอย่างที่รศ.ดร.นิรมล ยกมาประกอบการบรรยายครั้งนี้ คือ “การจัดการทรัพยากรน้ำ” ซึ่งทางสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เลือกใช้เป็นตัวชี้วัดสำหรับสังคม ทั้งที่คม ทั้งที่ควรจะเป็นเรื่องของการวัดความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรดังกล่าวมากกว่า  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงการจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนาในระดับมหภาคที่ละเลยความสำคัญของระบบนิเวศไปอย่างสิ้นเชิง

อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปอย่างน่าผิดหวังคือ การสร้างแรงจูงใจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงร่วมกัน ซึ่งภายในเนื้อหาของร่างฉบับนี้ถูกกล่าวถึงอย่างค่อนข้างเป็นนามธรรม กับเรื่องของ Green Recovery Plan ที่อาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากการร่างแผนพัฒนาในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับภาวะรอยต่อ อันเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 เป็นเหตุให้ทีมผู้ออกแบบนโยบายละเลยการนึกถึงการนำประเทศไทยกลับไปสู่จุดเดิมก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดขึ้น  

อย่างไรก็ดี แผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ ยังคงมีส่วนที่ประทับใจอยู่บ้าง  รศ.ดร.นิรมล ได้ชื่นชมเนื้อหาของหมุดหมายที่ตนทำการประเมินนั้น มีความเป็นนวัตกรรมสูง เพราะปรากฏการทบทวนการจัดสรรงบประมาณ โดยให้ความสำคัญกับมาตรการลดความเสี่ยงและการป้องกันมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ปรากฏเพียงมาตรการเผชิญเหตุฉุกเฉินและฟื้นฟูเท่านั้น นอกจากนี้ ยังพบการนำเครื่องอย่างมาตรการการเงินและการคลัง รวมไปถึงเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์อื่น ๆมาใช้ด้วย แม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจนมากเท่าที่ควรก็ตาม


ผศ.ชล บุนนาค ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ก่อนที่การเสวนาจะจบลง ผศ.ชล บุนนาค ได้กล่าวสรุปปิดท้ายถึงภาพรวมของร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ว่า ได้มีการรับเอา Agenda 2030 มาปรับใช้กับแผนการพัฒนาประเทศอยู่มากพอสมควร แต่ยังคงไม่สามารถพลิกโฉมประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ เนื่องจากนโยบายหลาย ๆ อย่างยังคงตั้งอยู่บนฐานคิดเดิม เช่น เรื่องเทคโนโลยี 5G ที่ภายในแผนยังคงเกิดขึ้นบนแนวคิดการบริหารจัดการสาธารณะแบบ 3.0 อยู่ ทั้งที่โลกในทุกวันนี้ได้หันไปใช้ Governance กับ Good Governance เพื่อให้ได้ Effective Governance เป็นฐานคิดหลักแล้ว  นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า บางเป้าหมายของหลายๆหมุดหมายเองก็ไม่ได้เขียนอยู่บนพื้นฐานความเลวร้ายของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ในปัจจุบัน อันจะเห็นได้จากการให้ความสำคัญแต่เพียงมุมมองการเป็นศูนย์กลางการแพทย์มูลค่าสูง ทั้งที่ตลอด 2 ปีที่ประเทศไทยเผชิญกับภาวะการแพร่ระบาดได้สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบสุขภาพ 

เพื่อให้เป้าหมายของแผนการพัฒนาฉบับจริงมีความสมดุลมากยิ่งขึ้น ผศ.ชล จึงได้เสนอข้อเสนอแนะไว้ทั้งสิ้น 3 ประการ คือ

  1. ควรผนวกมิติของ Inclusiveness และ Resilience เข้าไปในทุกหมุดหมาย เนื่องจากในทุกนโยบายย่อมต้องเผชิญกับความเสี่ยงในอนาคตที่มีความผันผวน ดังงนั้นจึงมีผู้ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
  2. ควรคำนึงถึงการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วควบคู่ไปกับการมองไปข้างหน้าให้มากขึ้น ทั้งในแง่ของการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบสุขภาพ และการจัดการวิกฤตความยั่งยืนของประเทศด้านระบบการผลิตอาหารที่ไม่ยั่งยืน และ
  3. ยกกลไกเชิงระบบมาเป็นตัวชี้วัดหรือกลยุทธ์หลักในการสนับสนุนการร่วมขับเคลื่อนประเทศของทุกภาคส่วน
ลักษิกา สถาปัตยานนท์
นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ที่อยากเห็นคนทั่วไปเข้าเศรษฐศาสตร์มากกว่าวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจ