แทบทุกครั้งที่มีข่าวคราวเกี่ยวกับการเตรียมจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดก็มักจะมีฝ่ายนายจ้างออกมาให้ความเห็นทำนองว่า ผลิตภาพแรงงาน (labor productivity) ของไทยยังต่ำ ดังนั้นก่อนที่จะมีการจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำก็ควรจะมีการพัฒนาผลิตภาพแรงงานเสียก่อน เพราะการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะไปกระทบกับค่าจ้างในระดับอื่นๆ เป็นลูกโซ่ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ดังเช่นรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยท่านหนึ่งกล่าวว่า "การปรับขึ้นค่าจ้างควรจะเป็นวิธีสุดท้าย ควรปรับขึ้นตามผลิตภาพ"
การกล่าวในลักษณะเช่นนี้ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดในสองประเด็น เรื่องแรกคือ ทำให้เข้าใจผิดว่าค่าจ้างขั้นต่ำเป็นสิ่งที่ควรเพิ่มหรือลดตามผลิตภาพแรงงาน และเรื่องที่สองคือผลิตภาพแรงงานหมายความถึงหรือเป็นสิ่งเดียวกับฝีมือของคนงาน (Labor skill) ดังนั้นการมีผลิตภาพแรงงานสูงหรือต่ำจึงหมายถึงการที่แรงงานหรือคนงานมีความสามารถสูงหรือต่ำ
ความเข้าใจผิดในประเด็นแรกได้มีผู้กล่าวถึงไว้แล้วในหลายโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฝ่ายคนงานที่รับค่าจ้างขั้นต่ำที่พยายามอธิบายว่า ค่าจ้างขั้นต่ำนั้นหมายถึงค่าจ้างที่น้อยที่สุดที่จะทำให้คนงานสามารถดำรงชีพอยู่ได้ โดยค่าจ้างขั้นต่ำนั้นจะจ่ายให้กับคนงานไร้ฝีมือที่เพิ่งเข้าทำงานใหม่ ดังนั้น หน้าที่ของค่าจ้างขั้นต่ำจึงมิได้เกี่ยวข้องกับผลิตภาพแรงงาน
อย่างไรก็ตาม ในที่นี้จึงจะกล่าวถึงเฉพาะแต่เรื่องความเข้าใจผิดในประเด็นที่สองที่ว่า ผลิตภาพแรงงานหมายถึงความสามารถของแรงงานหรือคนงาน
ความจริงแล้วแม้ว่าผลิตภาพแรงงานจะมีความเกี่ยวข้องกับความสามารถของคนงานหรือแรงงานอยู่ไม่น้อย แต่ผลิตภาพแรงงานนั้นก็มีองค์ประกอบอีกหลายประการโดยมิได้จำกัดอยู่แค่เพียงเรื่องความสามารถของแรงงานเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางประการนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการผลิตเสียด้วยซ้ำ บทความของวีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจรเรื่อง "ผลิตภาพแรงงาน" ในเศรษฐสาร ได้กล่าวถึงไว้แล้วอย่างดียิ่งว่า ผลิตภาพแรงงานสามารถเพิ่มขึ้นได้ด้วยวิธีการทางการตลาดด้วย ในบทความนี้จึงจะขอกล่าวถึงเฉพาะผลิตภาพแรงงานในประเด็นที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตเท่านั้น
โดยทั่วไปแล้วในทางเศรษฐศาสตร์มักนิยามผลิตภาพแรงงานกว้างๆ ว่าหมายถึง "อัตราส่วนของผลผลิตกับแรงงานในระบบเศรษฐกิจ" หรือพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ ผลิตภาพแรงงานหาได้จากการที่เอาผลผลิตทั้งหมดตั้งแล้วหารด้วยจำนวนแรงงานที่ใช้ในการผลิต อย่างไรก็ตาม บทความเรื่อง ผลิตภาพแรงงานปัจจัยกำหนดรายได้ที่ยั่งยืน ของศศิวิมล ตันติวุฒิ ซึ่งอ้างถึงอยู่ในบทความเรื่องผลิตภาพแรงงานของวีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ผลิตภาพแรงงานหมายถึง
"ความสามารถในการทำงานที่สามารถพัฒนาหรือเพิ่มศักยภาพให้สูงขึ้นได้หลายวิธี เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานโดยให้แรงงานทำงานกับเครื่องจักรมากขึ้น การฝึกอบรมแรงงานทั้งก่อนหรือขณะปฏิบัติงานเพื่อให้มีความเข้าใจและมีทักษะที่ถูกต้อง การส่งเสริมให้แรงงานมีการศึกษาสูงขึ้นการปรับปรุงวิธีการบริหารจัดการธุรกิจและอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น"
จากนิยามแรกจะเห็นได้ว่าผลิตภาพแรงงานมิได้เกี่ยวกับความสามารถของแรงงานเท่านั้น เพราะจำนวนผลผลิตจะมีมากหรือน้อยนั้นย่อมจะต้องเกี่ยวพันกับสิ่งอื่นๆ ในกระบวนการผลิตด้วย เช่น เครื่องจักรเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตเป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณานิยามที่สองก็จะยิ่งชัดเจนว่าผลิตภาพแรงงานสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ด้วยการบริหารจัดการธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งการบริหารจัดการทางธุรกิจนั้นแม้จะเป็นเรื่องที่ใช้ความสามารถของคน แต่หากกล่าวโดยเคร่งครัดก็มิใช่บทบาทของแรงงานหรือคนงาน หากแต่เป็นบทบาทของผู้ประกอบการหรือฝ่ายนายจ้างในการที่จะต้องปรับปรุงกระบวนการและขั้นตอนการผลิตให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ดังนั้นจึงเป็นที่ชัดเจนว่าผลิตภาพแรงงานนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของความสามารถของคนงานเท่านั้นและดังนั้นจึงไม่ใช่ความรับผิดชอบของคนงานแต่เพียงฝ่ายเดียว
การกล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่าฝ่ายแรงงานจะไม่ต้องร่วมรับผิดชอบกับการเพิ่มผลิตภาพแรงงานเสียเลย เพราะแน่นอนว่าการมีเทคโนโลยีหรือเครื่องมือที่ดีที่ทันสมัยเพียงอย่างเดียวย่อมไม่เกิดประโยชน์ หากคนงานไม่สามารถใช้เครื่องมือนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เปรียบเสมือนการใช้รถขุดดินย่อมจะสามารถขุดดินได้มากและเร็วกว่าการใช้จอบเสียมขุดดิน แต่หากคนงานไม่มีความสามารถในการควบคุมรถขุดดิน ปริมาณดินที่ขุดได้ในหนึ่งวันอาจน้อยกว่าการใช้จอบเสียมขุดดินเสียอีกก็เป็นได้
เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นลองพิจารณาถึงสถานการณ์ที่มีคนงานสองคนที่มีความสามารถในการใช้จอบขุดดินได้เท่ากัน โดยที่คนงานคนแรกสามารถบังคับรถขุดดินได้ด้วยในขณะที่คนงานคนที่สองไม่สามารถทำได้ และในการทำงานมีเครื่องมือสองชนิดคือรถขุดดินกับจอบ เราสามารถจับคู่คนงานกับเครื่องมือได้เป็น 4 กรณี ซึ่งทุกคนคงจะทราบได้ไม่ยากว่า กรณีการจับคู่คนงานคนแรกกับรถขุดดินจะสามารถสร้างผลผลิตได้มากที่สุด ในขณะที่กรณีจับคู่คนงานคนแรกกับจอบและกรณีจับคู่คนงานคนที่สองกับจอบก็จะได้ผลผลิตเท่ากัน ส่วนการจับคู่คนงานคนที่สองกับรถขุดดินจะได้ผลลผลิตน้อยที่สุดเพราะคนงานคนที่สองไม่สามารถใช้รถขุดดินได้
สถานการณ์ตัวอย่างนี้จึงสามารถแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าการกล่าวถึงการพัฒนาผลิตภาพแรงงานจึงมิควรหมายถึงการโยนภาระให้แรงงานเป็นผู้รับผิดชอบไปเพียงฝ่ายเดียว เพราะแม้คนงานควรจะต้องฝึกหัดและเรียนรู้ในการใช้งานรถขุดดินให้เป็น แต่คนงานย่อมมิได้มีหน้าที่ในการซื้อรถขุดดินมาทำงานให้นายจ้าง หากแต่เป็นฝ่ายนายจ้างที่จะต้องลงทุนในเครื่องจักรเครื่องมือในการทำงาน มิเช่นนั้นแล้ว แม้ว่าคนงานคนที่หนึ่งจะมีทักษะฝีมือดีกว่าคนงานคนที่สองเพราะสามารถขับรถขุดดินได้ แต่ทักษะฝีมือนี้ก็จะไร้ความหมายและผลิตภาพแรงงานของคนงานทั้งสองคนก็จะเท่ากันหากนายจ้างไม่จัดหารถขุดดินมาเป็นเครื่องมือในการทำงาน ดังนั้นการที่ฝ่ายนายจ้างกล่าวว่าก่อนที่จะขึ้นค่าจ้าง (ขั้นต่ำ) นั้น แรงงานควรจะต้องมีการพัฒนาผลิตภาพแรงงานเสียก่อน จึงไม่ได้เป็นแค่เพียงข้ออ้างของฝ่ายนายจ้างที่ไม่ต้องการจะขึ้นค่าจ้างเท่านั้น แต่ยังได้สร้างความเข้าใจผิดให้กับสังคมดังที่ได้อธิบายมานี้ด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายวิชาการที่จะต้องพยายามสร้างความเข้าใจให้สังคมรับทราบว่า การเพิ่มผลิตภาพแรงงานนั้นเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกฝ่ายทั้งนายจ้างและลูกจ้างรวมถึงภาครัฐ และไม่ควรที่จะใช้เรื่องที่ว่าผลิตภาพแรงงานของไทยยังต่ำมาเป็นเหตุผลในคัดค้านการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ