หากผู้อ่านได้ติดตามข่าวสารการแก้ปัญหา COVID-19 ของรัฐบาลอังกฤษ อาจจะตกอกตกใจอยู่ไม่น้อยที่พาดหัวข่าวในสื่อหลัก มุ่งประเด็นที่รัฐบาลอังกฤษอาจปล่อยให้ประชากรกว่า 60% ของประเทศติดเชื้อ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันร่วม ที่เรียกว่า Herd immunity ซึ่งเปรียบได้กับการสร้างวัคซีนธรรมชาติในการต่อสู้กับการระบาดของโรค [1] จนทำให้การระบาดรอบต่อๆ ไปเบาบางลง กลายเป็นโรคประจำถิ่นเช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ในที่สุด ประกอบกับการที่นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ แถลงข่าวมีใจความตอนหนึ่งว่า โรค COVID-19 เป็นโรคแห่งยุคสมัย และคนอังกฤษต้องเตรียมตัวเตรียมใจ หากจะต้องสูญเสียคนที่เรารักก่อนเวลาอันควร
จากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ [2] หลายคนเมื่อได้อ่านและได้ฟังดังนั้นต่างก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าเหตุใดรัฐบาลอังกฤษจึงกล้าเสี่ยงเอาชีวิตของประชาชนมาวางเดิมพันกับการแก้ปัญหาในครั้งนี้ เพราะถ้าหาก 60% ของประชากรติดเชื้อ จะทำให้มีผู้ป่วยราวๆ 40 ล้านคน ในจำนวนนี้ อาจทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 1 ล้านคน ตามสถิติอัตราการเสียชีวิต (mortality rate) ของโรคนี้ [3]
ในขณะที่จีนและประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ เลือกใช้วิธีการปิดประเทศปิดเมือง (Lockdown) แต่อังกฤษกลับเลือกใช้วิธีการที่แตกต่างออกไป เพราะอังกฤษไม่สามารถทุ่มเททรัพยากรได้มหาศาลอย่างที่จีนทำ การหาวิธีการที่เหมาะสมกับสถานการณ์และทรัพยากรทางการแพทย์ที่จำกัดจึงมีความจำเป็น
เอาหละครับคราวนี้เราลองมาทำความเข้าใจแนวทางและเหตุผลเชิงนโยบายของรัฐบาลอังกฤษกันครับ
ในการออกชุดของนโยบาย ทางการอังกฤษเรียกประชุมฉุกเฉินคณะทำงานเฉพาะกิจที่เรียกว่า COBRA (Cabinet Office Briefing Room A) ซึ่งเป็นการประชุมเฉพาะกิจเพื่อการตัดสินใจในวาระหรือวิกฤติการณ์ครั้งสำคัญของประเทศซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 1972 [4] ในคราวนี้ ที่ประชุมได้มีการประสานองค์ความรู้จากสหวิทยาการหลากหลายสาขาโดยคลอดพิมพ์เขียวเป็นแผนการปฏิบัติงาน (Coronavirus action plan) เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน [5]
ตามแผนปฏิบัติงาน มีการจัดแบ่งระดับขั้นของการระบาดและการแก้ปัญหาออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่
ระยะควบคุม Contain phase เป็นระยะที่มีการสอบสวนโรค รักษา และการจำกัดวงการระบาดของโรค
ระยะที่ 2 คือ Delay phase เป็นระยะเวลาที่มีการถ่วงเวลาการระบาดในวงกว้างให้ยาวนานที่สุด ตรงนี้มีชุดของมาตรการตามมา ซึ่งจะได้อธิบายต่อไป
ระยะที่ 3 คือ Research phase เป็นการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจพยาธิวิทยาของโรค ค้นหายาและวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ โดยแผนนี้ดำเนินควบคู่ไปตั้งแต่เริ่มต้นที่มีการระบาด และ
ระยะที่ 4 คือ Mitigate phase คือการจัดการปัญหาให้บรรเทาเบาบางลง รวมถึงการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจสังคมภายหลังการระบาดใหญ่ [6]
ความสำคัญของแผนปฏิบัติการดังกล่าวอยู่ที่ระยะ Delay phase ลองมาพิจารณาว่าทางการอังกฤษมีชุดมาตรการหรือนโยบายอะไรออกมาบ้าง
การชะลอการระบาด ในระยะ Delay phase ดังที่กล่าวข้างต้น มีความสำคัญมากต่อการบริหารจัดการ โดยทางการมุ่งหวังว่า อย่างน้อยที่สุดระดับการระบาดสูงสุดควรจะต้องผ่านพ้นช่วงฤดูใบไม้ผลิหรือเข้าสู่ฤดูร้อนถ้าเป็นไปได้ ซึ่งจะทำให้มีเวลาและสามารถบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อรับมือกับเชื้อไวรัสได้ดีขึ้น ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่คนส่วนใหญ่หายจากโรคทางเดินหายใจที่มักมีอาการในช่วงฤดูหนาวเป็นประจำทุกปี
คราวนี้มาสู่ประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กรณีการทำให้เกิดภูมิคุ้มกันร่วม ที่เรียกว่า Herd immunity ซึ่งรัฐบาลโดยที่ปรึกษารัฐบาลด้านวิทยาศาสตร์ Patrick John Thompsom Vallance ให้เหตุผลว่า ในความเป็นจริงนั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะหยุดการแพร่ระบาด ("it is not possible to stop everyone from getting it") ซึ่งในแง่มุมมองทางวิทยาศาสตร์ถือเป็นการเพิ่มภูมิต้านทานต่อโรคของประชากรเพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสในอนาคต หรือเมื่อเป็นก็ไม่รุนแรงเท่าเดิม [8] แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าจะปล่อยให้ทุกคนได้รับเชื้อในทันทีทันใด ซึ่งเป็นไปไม่ได้และเสี่ยงต่อการสูญเสียมากเกินไป ดังจะเห็นได้จากชุดมาตรการเสริมตามแผนการชะลอการระบาดดังที่กล่าวข้างต้น เป้าหมายคือ ถ่วงเวลาจนกว่าจะมียาและวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมาใช้
หลายท่านอาจมีคำถามว่า ทำไมไม่เลือกใช้มาตรการที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดด้วยการปิดประเทศ หรือปิดเมืองอย่างที่ประเทศอื่นๆ ทำ
ประการแรกเลย อังกฤษเห็นตัวอย่างการปิดเมืองของอิตาลี ซึ่งทำให้คนจากพื้นที่แพร่ระบาดหนีออกไปอยู่พื้นที่อื่นและประเทศอื่น การระบาดจึงลุกลามไปทั่วประเทศและทำให้ปัญหายุ่งยากและซับซ้อนขึ้น
ประการต่อมา อังกฤษประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลที่รุนแรงเกินไป อันเนื่องมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างจะต้องหยุดชะงักลง และ
ประการสุดท้าย คือความมั่นคงทางอาหาร (Food security) ซึ่งมีเฉพาะสินค้าปศุสัตว์ เนื้อ นม ไข่ เท่านั้นที่อังกฤษสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ส่วนสินค้าอุปโภคและบริโภคอื่นๆ ยังพึ่งพาการนำเข้าค่อนข้างมากการขาดแคลนอาหารหรือสินค้าจำเป็นพื้นฐาน อาจทำให้เกิดปัญหาความโกลาหลและปัญหาอื่นๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้นได้
กล่าวโดยสรุป โดยสาระสำคัญของมาตรการจะสังเกตได้ว่าไม่ต่างอะไรกับที่ประเทศอื่นดำเนินการ เพียงแต่ประเทศเหล่านั้นไม่ได้อธิบายชัดๆ ในเรื่องเป้าหมายปลายทางเกี่ยวกับประเด็น Herd immunityสิ่งที่แตกต่างคืออังกฤษเลือกที่จะไม่ใช้วิธีการปิดเมืองปิดประเทศ ซึ่งต้องจับตาดูกันต่อไปว่าผลลัพธ์ของมาตรการจะประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด
ในท้ายที่สุด ขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรงผ่านช่วงวิกฤติของโรคนี้โดยปลอดภัย
[3]https://www.bbc.co.uk/news/health-51674743
[4]https://inews.co.uk/news/cobra-meeting-what-stand-for-when-uk-government-coronavirus-meeting-966481
[5]https://www.gov.uk/government/publications/coronavirus-action-plan
[7]https://www.telegraph.co.uk/health-fitness/body/treat-coronavirus-self-isolating-home/