คำนิยามของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ท่องกันจนติดปากที่สุดคงหนีไม่พ้น “เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อตอบสนองความต้องการที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด” คำถามที่น่าสนใจคือทำไมต้องจัดสรรทรัพยากร
ทุกวันนี้เราอาจคุ้นเคยกับระบบการจัดสรรทรัพยากรที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่ถ้าเราลองจินตนาการถึงสังคมมนุษย์ในสมัยที่ยังไม่มีแบบทุกวันนี้ มนุษย์กลุ่มเล็ก ๆ ไปพบเจอทรัพยากรที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ ก็จะเกิด ปัญหาพื้นฐานในวิชาเศรษฐศาสตร์ ที่เราเรียกกันติดปากว่า ผลิตอะไร ผลิตอย่างไร แจกจ่ายอย่างไร (what, how, for whom)
หากพิจารณาปัญหาเหล่านี้ลึกลงไปอีกสักหน่อยจะพบว่า ผลิตอะไร ไม่ได้หมายถึงแค่การตัดสินใจเลือกสินค้าขั้นสุดท้ายที่ใช้ในการบริโภค แต่การผลิตอะไรยังเกี่ยวโยงกับการตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ดังนั้น ผลิตอะไรสื่อนัยว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสินค้าอะไรเป็นที่ต้องการ ผลิตอย่างไร ไม่ได้พิจารณาเพียงกระบวนการผลิตอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ แต่การผลิตเป็นสิ่งที่ต้องลงแรง มีต้นทุน ดังนั้น ผลิตอย่างไรก็มีนัยของแรงจูงใจในการผลิตด้วย แจกจ่ายอย่างไร ไม่ได้เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วไปสู่มือผู้บริโภคเท่าไรนัก แต่หมายถึงการคัดสรรว่าสุดท้ายแล้วการได้รับสินค้าไปบริโภคนั้นจะต้องทำอย่างไร หรือใครสมควรได้บริโภคสินค้าเหล่านั้น การตอบปัญหาพื้นฐานนี้ ทุกสังคมจึงต้องอาศัย ระบบการจัดสรรทรัพยากร ที่เกริ่นไว้ข้างต้น
ตัวอย่างเช่นตลาดเสรี (free market) เป็นระบบที่ตอบปัญหาพื้นฐานด้วยแรงจูงใจจากประโยชน์ส่วนตน (self-interest) การตัดสินใจว่าควรผลิตอะไรขึ้นอยู่กับการให้ค่าของผู้บริโภคผ่านราคา ซึ่งเป็นสัญญาณไปหาผู้ผลิตที่ถูกจูงใจด้วยการแสวงหากำไร และการจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างอัตโนมัติด้วยกลไกราคา มูลค่าในระบบเศรษฐกิจจึงไหลเวียนอย่างไม่สิ้นสุดผ่านการแลกเปลี่ยนในตลาดสินค้าและตลาดปัจจัยการผลิต
กระแสหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของตลาดเสรี (Circular Flow)
หนังสือสังคมศาสตร์หรือเศรษฐศาสตร์ส่วนมากสรุปแบบไร้ข้อกังขาว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบการจัดสรรทรัพยากรแบบผสม (mixed economy) คำว่าระบบผสมในที่นี้โดยทั่วไปหมายถึงการผสานระหว่างตลาดเสรีกับการกำกับดูแลของรัฐ ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาเป็นตัวแทนของระบบตลาดเสรี ในขณะที่ประเทศเกาหลีเหนือเป็นตัวแทนของระบบวางแผนจากส่วนกลาง (central planning)
ถ้าใช้เกณฑ์ในการแบ่งระบบการจัดสรรทรัพยากรตามการแทรกแซงตลาด การสรุปโดยง่ายว่าประเทศไทยใช้ระบบการจัดสรรทรัพยากรแบบผสมจะกรอบความคิดของผู้เริ่มเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ให้คับแคบ เพราะไม่ว่าจะเป็นประเทศเสรีอย่างสหรัฐอเมริกาก็มีการแทรกแซงจากภาครัฐผ่านนโยบายต่าง ๆ ประเทศวางแผนจากส่วนกลางอย่างเกาหลีเหนือก็มีการแลกเปลี่ยนผ่านระบบตลาดเช่นกัน[1] ดังนั้นประเทศใด ๆ บนโลกนี้ก็ล้วนแต่ใช้ระบบผสมทั้งสิ้น สาระจึงไม่ได้อยู่ที่การแบ่งแบบขาวดำว่าประเทศนั้นนี้ใช้ระบบอะไร แต่อยู่ที่การทำความเข้าใจว่าแต่ละประเทศมีความเข้มข้นในการพึ่งพิงตลาดเสรีแตกต่างกัน
ระดับการแทรกแซงตลาดในการจัดสรรทรัพยากร
การแทรกแซงตลาดได้รับการยอมรับว่าเป็นเงื่อนไขจำเป็น เนื่องจากสินค้าบางอย่างหรือบางสถานการณ์ ตลาดเสรีไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรได้ หรือจัดสรรได้แต่ไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหาดังกล่าวเรียกว่า ความล้มเหลวของตลาด (market failures) นอกจากนั้นยังมีปัญหาเศรษฐกิจรูปแบบอื่น ๆ ที่ตลาดไม่ได้ให้ความสำคัญ เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ พัฒนาการของรูปแบบสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ในแต่ละประเทศมีความหลากหลายและซับซ้อนมากกว่าการแทรกแซงตลาด ความหลากหลายนี้เป็นเพราะบริบทและวิธีคิดพื้นฐานของแต่ละสังคม
วิธีการหนึ่งในการจัดระเบียบความซับซ้อนนี้ได้เช่นการเพิ่มมิติ การถือครองปัจจัยการผลิต ในการพิจารณาเข้าไปอีกแกนหนึ่ง ก็จะทำให้สามารถจัดประเทศต่าง ๆ ได้เป็น 4 กลุ่ม ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างระบบที่เรียกว่า Dirigisme ซึ่งเป็นคำที่อาจไม่ค่อยได้พบเจอตามหน้าหนังสือบทเรียนสักเท่าไร คำนี้เกิดขึ้นมาจากประเทศฝรั่งเศสในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี ค.ศ. 1950 เป็นระบบเศรษฐกิจที่ให้เอกชนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต แต่รัฐมีบทบาทในการชี้นำทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมาก รูปแบบเศรษฐกิจนี้ถูกนำมาใช้ในประเทศ สี่เสือแห่งเอเชีย ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ในบริบทเศรษฐกิจสมัยใหม่อย่างเช่นประเทศจีน รัฐกำหนดทิศทางผ่านการอุดหนุนงานศึกษาวิจัยพัฒนา หรือการสร้างสถาบันวิจัยของรัฐขึ้น[2]
การพิจารณาระบบการจัดสรรด้วยการแทรกแซงตลาดและการถือครองปัจจัยการผลิต
สังคมมนุษย์ย่อมมีความหลากหลายซับซ้อนเป็นอาจิณ แม้แต่ทุนนิยมเองก็มีความหลากหลายและมีพลวัตอยู่ตลอด[3] ระบบการจัดสรรที่แตกต่างกันจะนำไปสู่เป้าหมายที่แต่ละสังคมต้องการบรรลุ การศึกษาความหลากหลายของสังคมน่าจะเป็นประโยชน์ในการทำให้เรามองเห็นทางเลือกของการพัฒนามากมาย และอาจจะมองเห็นเป้าหมายที่ไกลไปกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นการเจริญเติบโตแบบแข็งทื่อ
เอกสารอ้างอิง
[1] Frank, Ruediger (April 6, 2017). "Consumerism in North Korea: The Kwangbok Area Shopping Center". 38 North. U.S.–Korea Institute, Johns Hopkins University School of Advanced International Studies. Archived from the original on April 11, 2017. Retrieved August 23, 2019.
[2] Models of dirigisme in East Asia: perspectives from Eastern Europe, by Dragsbæk Schmidt, Johannes. 1996. Between Western Europe and East Asia, p. 196-216,
[3] https://www.the101.world/capitalism-and-grand-strategy/