เมื่อกล่าวถึงคำว่า “ความเหลื่อมล้ำ” คนไทยโดยทั่วไปมักจะเข้าใจว่า เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากความแตกต่างทาง “รายได้” ระหว่างชนชั้นทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะหากสำรวจสถิติที่รายได้เฉลี่ยของคนไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่ารายได้มัธยฐานมากขึ้นในทุก ๆ ปี แม้ว่าสังคมทุกวันนี้เป็นไปด้วยการเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียม แต่การเรียกร้องการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ยังไม่เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง และทั้ง ๆ ที่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เป็นที่สนใจของนักวิชาการมาเป็นเวลานาน เหตุใดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้จึงยังคงอยู่และทวีความรุนแรงมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้อาจารย์วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเกิดความสนใจที่จะศึกษาคำอธิบายในเชิงวิธีคิดในหัวข้อ “ยุติธรรมทัศน์กับความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากรอบแนวคิดด้านอุดมการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำ ควบคู่ไปกับการศึกษาปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในประเทศไทยที่สะท้อนให้เห็นถึงมโนทัศน์ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ หรือกล่าวอย่างง่ายก็คือคนไทยมีแนวคิดในลักษณะที่ส่งเสริมให้ความเหลื่อมล้ำนั้นคงอยู่ตลอดมาหรือไม่ แนวคิดดังกล่าวสะท้อนออกมาผ่านปรากฏการณ์ใด ก่อนจะนำมาวิเคราะห์ในขั้นตอนสุดท้ายด้วยวิธีการวิเคราะห์ถดถอยเพื่อทดสอบนัยสำคัญ
สำหรับคำว่า “ยุติธรรมทัศน์” อาจารย์วีระวัฒน์ได้อธิบายไว้ว่าเป็นทฤษฎีที่กล่าวถึงความเชื่อของมนุษย์ในความยุติธรรมบางประการ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้อย่างมีเป้าหมายและเต็มเปี่ยมไปด้วยความคาดหวัง เช่น ความคาดหวังต่อผลลัพธ์จากการกระทำของตน โดยหนึ่งในตัวอย่างวลีที่อาจารย์วีระวัฒน์ยกขึ้นมาเพื่อให้เห็นภาพ “ยุติธรรมทัศน์” ในสังคมไทยชัดเจนมากยิ่งขึ้น คือ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” หรือ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” เป็นสุภาษิตในพระพุทธศาสนาที่พยายามอธิบายความสำเร็จและความล้มเหลวว่าเป็นผลมาจากการกระทำของตัวปัจเจก สุภาษิตนี้สะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างการกระทำกับผลที่ตามมา งานศึกษาในต่างประเทศชี้ให้เห็นว่าหากคนในสังคมเชื่อว่าความมั่งคั่งเป็นผลมาจากความขยันหมั่นเพียร และความยากจนเป็นผลมาจากความเกียจคร้าน ความพยายามลดความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้นจะขาดน้ำหนักและแรงสนับสนุน เพราะความสำเร็จและความล้มเหลวล้วนมาจากการตัดสินใจของปัจเจกเอง และมีแนวโน้มที่คนในสังคมจะมองข้ามปัจจัยในเชิงโครงสร้างอื่น ๆ ไป
นอกเหนือจากพระพุทธศาสนาแล้ว สังคมไทยยังมีอรรถาธิบายที่สะท้อน “ความยุติธรรม” ในระดับปัจเจกอีกจำนวนมากและยังถูกผลิตซ้ำอยู่บ่อยครั้ง ตัวอย่างเช่น บทเรียนความสำเร็จและการล้มลุกคลุกคลานของมหาเศรษฐีในรูปแบบหนังอัตชีวประวัติที่พยายามสะท้อนให้เห็นถึงเส้นทางชีวิตอันแร้นแค้นและเต็มไปด้วยอุปสรรคแต่ก็ยังสามารถประสบความสำเร็จได้ เพราะ “ความขยันหมั่นเพียร” หรือรายการวาไรตี้ที่นำเสนอประสบการณ์ชีวิตของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมักไม่ได้มีเนื้อหาสาระของวิธีการประกอบธุรกิจ แต่มีเนื้อหาที่ลักษณะของตัวบุคคลว่าจำเป็นต้องลำบากพากเพียรเพียงใด ในเวลาว่างจะต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ อ่านหนังสือเพื่อเดินตามรอยเท้าของผู้ประสบความสำเร็จในระดับโลก “คุณสมบัติอุดมคติ” ของปัจเจกชนเหล่านี้ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในหลากหลายรายการ หรืออาชีพอย่าง “ไลฟ์โค้ช” ที่มักมีการสื่อสารในลักษณะคล้ายคลึงกัน เนื้อหาเหล่านี้แพร่หลายอย่างยิ่งในสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา
ภาครัฐเองก็มีส่วนในการเสริมสร้างความคิดเชิงปัจเจก ยกตัวอย่างเช่น วลี “จน เครียด กินเหล้า” ที่พยายามเชื่อมโยงประเด็นความยากจนเข้ากับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งยังถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความเลว เห็นได้ชัดจากการรณรงค์ “งดเหล้า เข้าพรรษา” ที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกวางให้เป็นขั้วตรงข้ามกับพุทธศาสนาที่เป็นตัวแทนของความดีอีกด้วย
แต่ใช่ว่าคนไทยทุกคนจะเชื่อในคุณสมบัติเหล่านี้ที่ส่งผลต่อความสำเร็จ กระแสการรวยทางลัดแบบไม่ต้องทำงานหรือ Passive Income คำกล่าวอย่าง “Don’t work hard, work smart” หรือการเสี่ยงโชคกับสลากกินแบ่งรัฐบาลก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน อย่างไรก็ดี ผู้ประสบความสำเร็จจากการให้เงินทำงานนั้นยังคงต้องอาศัยความรอบรู้ การพัฒนาตนเอง ทักษะในการปรับตัว ซึ่งก็เป็นคุณค่าในยุคสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและไม่แน่นอน แต่คุณค่าเหล่านี้ก็ยังเพ่งเล็งไปที่ลักษณะเชิงปัจเจกอยู่เช่นเดิม
นโยบายต่าง ๆ ที่ผลิตขึ้นและถูกเลือกใช้เพื่อแก้ไขปัญหาจึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างความเท่าเทียมทางโอกาสสำหรับปัจเจกชน มากกว่าการคำนึงถึงองค์รวมของสังคม เช่นนโยบายแบบเจาะจงไปที่คนจน นโยบายด้านการศึกษา เพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรในบางจังหวะของชีวิต แต่ถึงกระนั้น “โอกาส” ที่พยายามสร้างให้เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียมนั้นท้ายที่สุดแล้วจะส่งให้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้บรรเทาลงได้หรือไม่ เพราะในแต่ละช่วงชีวิตของคนจะต้องลงแข่งขันกันในอีกหลายสนาม กติกาในสนามต่าง ๆ นั้นเอื้อให้แข่งขันได้อย่างเป็นธรรมหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจต่อรองในตลาดแรงงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ภาษีที่เป็นเครื่องมือเพื่อเฉลี่ยทุกข์สุขโดยตรง การเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง หรือปัญหาคอร์รัปชัน เป็นต้น
แม้คุณสมบัติอุดมคติเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีต่อบุคคลและสังคมในภาพรวม แต่ในสังคมที่คนยึดโยงผลลัพธ์ความสำเร็จหรือล้มเหลวจากการกระทำส่วนบุคคลเท่านั้นนั้นย่อมผลักดันให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ การมองเห็นต้นตอที่แท้จริง และนโยบายที่จะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริงได้ยาก ในขณะที่คนร่ำรวยนั้นเข้าใจว่าน้ำพักน้ำแรงของตนนำพาไปสู่ความสำเร็จ คนยากจนอาจจมปลักกับการโทษพฤติกรรมตนเองที่ทำให้วนเวียนในวัฏจักรของความลำบากยากแค้น การปลูกฝังและผลิตซ้ำแนวคิดเหล่านี้ย่อมทำให้การหาทางออกร่วมกันเป็นเรื่องยาก และอาจสร้างความขัดแย้งในสังคมได้ต่อไปในระยะยาว