American Factory (กำกับโดย Steven Bognar และ Julia Reichert) เป็นภาพยนตร์สารคดีที่ได้รับรางวัล Best Documentary Feature จากงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมาแกนเรื่องนั้นเกี่ยวกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในจีนที่หันมาลงทุนเปิดโรงงานในสหรัฐอเมริกาหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ ค.ศ. 2008 ที่ส่งผลให้โรงงานประกอบรถยนต์ General Motors (GM) ปิดตัวลง ชาวเมือง Dayton ตกงานกันเป็นจำนวนมาก เปิดช่องทางให้นายทุนจากจีนเข้ามาทำโรงงานใหม่แทน โดยเปลี่ยนรูปแบบเป็นโรงงานผลิตกระจกสำหรับรถยนต์ภายใต้แบรนด์ "ฝูเหยา กลาส อเมริกา" มีการจ้างแรงงานชาวอเมริกันทำงานร่วมกับแรงงานชาวจีนที่โยกย้ายมา ปัญหาต่างๆ ดูเหมือนจะคลี่คลาย ชาวเมืองมีงานทำ มีเงินจับจ่ายใช้สอย ทว่ากลับเกิดปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นมานั้นก็คือวัฒนธรรมและวิธีการทำงานที่แตกต่างกันเกินไประหว่างชาวอเมริกันกับชาวจีน จนทำให้เกิดสถานการณ์อันตึงเครียดหลายๆ อย่างตามมา
สหรัฐอเมริกาและจีนต่างก็มีวัฒนธรรม สังคม ค่านิยมและทัศนคติที่แตกต่างกัน ในขณะที่สหรัฐอเมริกาเน้นไปทางเรื่องเสรีภาพทางเศรษฐกิจและเสรีภาพในชีวิต ตามคติของประชาธิปไตยและเสรีนิยม ซึ่งจะเห็นว่ามีการรวมกลุ่มตามระบบอุตสาหกรรมสัมพันธ์ ลูกจ้างสามารถเจรจาต่อรองกับนายจ้าง เพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกันของสภาพการจ้างงานได้ ด้วยเหตุนี้แรงงานอเมริกันจึงตระหนักถึงสิทธิการทำงาน เพื่อคุ้มครองจากการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมและเลือกปฏิบัติ ในทางกลับกัน จีนเน้นไปที่ความมั่งคั่งของประเทศ ความกินดีอยู่ดีของคนในชาติ สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีผ่านคติแนวคิดแบบสังคมนิยมทำให้แรงงานจีนทำงานอย่างขยันขันแข็งและมองข้ามสิทธิการทำงานของตัวเองไป มองว่าเราต้องทำเพื่อส่วนรวม แม้ว่าบริษัทฝูเหยาได้พยายามเรียนรู้และปรับตัวตามวัฒนธรรมอเมริกัน หรือ "เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม" แต่ด้วยวิธีคิดที่แตกต่างกัน ผู้บริหารมองว่าควรเน้นที่ประสิทธิภาพการทำงานและผลิตภาพแรงงานโดยไม่ให้สหภาพแรงงงานเข้ามายุ่งเกี่ยว ทำให้สภาพการทำงานความเป็นอยู่ของแรงงานอเมริกันแตกต่างจากเดิมมาก เช่น ค่าจ้างที่ลดลงมากกว่าครึ่ง สภาพแวดล้อมการทำงานที่ย่ำแย่ ไม่มีความปลอดภัย บางคนต้องทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานภายใต้พื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงถึง 200 องศาฟาเรนไฮต์ บางคนต้องเจอกับอุบัติเหตุใหญ่ ทั้งๆ ที่ไม่เคยต้องเจอกับอุบัติเหตุเลยขณะทำงานกับ GM มามากกว่า 10 ปี
ความขัดแย้งในการทำงานค่อยๆ ปริแตกออกมาเมื่อแรงงานอเมริกันรู้สึกเหมือนไม่ได้รับความเคารพในการทำงาน มีหลายสิ่งที่แรงงานอเมริกันรู้สึกว่าไม่เข้าที่เข้าทางทางออกจึงกลายเป็นการเรียกร้องให้ก่อตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมา แรงงานอเมริกันออกไปประท้วงเรียกร้องจน United Auto Works (UAW) หรือสหภาพแรงงานยานยนต์ของอเมริกาเข้ามาแทรกแซง จัดการโหวตผลการจัดตั้งสหภาพ ในขณะเดียวกัน บริษัทฝูเหยาตอบโต้โดยการไล่พนักงานบางคนที่สนับสนุนการก่อตั้งสหภาพออก จ้างบริษัทภายนอกมาเกลี้ยกล่อมพนักงานให้รับทราบถึงผลเสียของการจัดตั้งสหภาพ แรงงานอเมริกันหลายๆ คนจึงต้องเผชิญกับทางเลือกสองทาง ระหว่างความมั่นคงในอาชีพการงานกับการต่อสู้เพื่อความถูกต้องที่ตัวเองเชื่อมั่น ท้ายที่สุด การลงมติจัดตั้งสหภาพแรงงานมีผู้ไม่เห็นด้วยกว่าร้อยละ 60 จึงไม่มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้น
American Factory ตั้งคำถามสำคัญหลายประการ เป็นต้นว่า ถ้าคุณเป็นแรงงานเหล่านั้นคุณจะเห็นด้วยกับการจัดตั้งสหภาพหรือไม่ สหภาพแรงงานจะทำให้ความเป็นอยู่ของแรงงานดีขึ้นจริงหรือ คำถามที่หลายๆ คนก็ตอบไม่ได้แน่ชัด เพราะแต่ละสหภาพก็มีความแตกต่างกันแล้วแต่ในบริบทนั้นๆ ซึ่งหากสหภาพนั้นไร้วิสัยทัศน์หรือมุมมองทางธุรกิจแบบตายด้านจะเห็นได้ทันทีเลยว่าสหภาพนั้นเป็นการฉุดรั้งซึ่งนำไปสู่การล่มสลายขององค์กรได้ คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วแนวคิดแบบใดดีกว่ากัน ระหว่างแบบสหรัฐอเมริกาที่มาจากจิตวิญญาณและพื้นฐานแนวคิดลัทธิปัจเจกชน ที่ทำให้เกิดการเรียกร้องให้สหภาพแรงงานเข้ามา กับแบบจีนที่เน้นการได้บรรลุคุณค่ารวมหมู่ ซึ่งหากมองถึงความไม่ลงรอยและความไม่เข้าใจกันระหว่างสองประเทศที่ภาพยนตร์สื่อออกมา จะเห็นว่าแต่ละแนวคิดก็มีข้อดีและข้อเสียของตัวมันเอง แนวคิดแบบใดจะดีกว่าก็ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัยและการนำแนวคิดทั้งคู่นี้มาหาจุดกึ่งกลางที่พอดี
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผลิตภาพของแรงงานอเมริกัน และการทำงานอย่างบ้าบิ่นไม่ลืมหูลืมตาของแรงงานจีน ก็มีความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากแรงงานอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะการเจ็บป่วย ปัญหาทางด้านสภาพจิตใจ ฯลฯ ในท้ายที่สุด ฝูเหยาก็เปลี่ยนแรงงานมากกว่า 3,000 คน มาใช้งานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อผลการทำงานที่แน่นอนกว่าเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตให้สูงขึ้นลดต้นทุนค่าจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นผลดีต่อฝ่ายผู้ผลิต แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้แรงงานจำนวนมากตกงานส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ คนไม่มีงานทำ ไม่มีเงินเดือนเอามาบริโภค ใช้จ่าย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ได้ แม้จะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายอุปสงค์ส่งผลให้ราคาสินค้าเริ่มปรับสูงขึ้น บริษัทได้กำไรมากขึ้น เริ่มเพิ่มการผลิต แต่มันก็ไม่ได้รับประกันว่าการจ้างแรงงานจะเพิ่มขึ้น เพราะในปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาทในการผลิตมากขึ้นทุกวัน
อย่างไรก็ตาม ในเนื้องานที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ วางแผนทักษะการบริหารจัดการ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ รวมไปถึงการคิดค้นนวัตกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันนั้น หุ่นยนต์อัตโนมัติยังไม่สามารถทดแทนมนุษย์ได้ เพียงแต่ช่วยให้งานเหล่านี้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้เท่านั้น เศรษฐกิจยุคใหม่ย่อมมีโอกาสและงานประเภทใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ ภาคส่วนต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล เอกชน หรือปัจเจกไม่ควรมองว่าแรงงานไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป แต่จะออกแบบกลไกเศรษฐกิจอย่างไรให้แรงงานเหล่านี้ยังคงเป็นกลุ่มคนที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งโลกอนาคต
สุดท้ายนี้จะเห็นได้ว่าภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ได้ถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในการเปิดโรงงานของจีนในสหรัฐอเมริกา สะท้อนให้เราเห็นถึงวัฒนธรรม แนวคิดที่แตกต่างกัน เชื่อมโยงจนไปถึงประเด็นของการจ้างแรงงาน มุมมองของผู้บริหาร และเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เป็นภาพยนตร์ที่ทำให้เราฉุกคิดได้ในหลายๆ ประเด็นสามารถนำไปวิเคราะห์ต่อยอดได้จากความละเอียดและความสมจริงที่ผู้จัดทำได้ใช้ความทุ่มเทและระยะเวลาที่ยาวนานในการเก็บรวบรวมข้อมูล ถือเป็นภาพยนตร์สารคดีที่ควรค่ากับรางวัลออสการ์ในปีนี้อย่างแท้จริง