ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเผชิญสภาวะกับดับรายได้ปานกลาง ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากในอดีตประเทศไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยการพึ่งพาทรัพยากรราคาถูก เช่น แรงงาน เป็นหลัก ส่งผลให้มีข้อจำกัดการเติบโต นอกจากนี้ ประเทศไทยขาดการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสม ทำให้สูญเสียโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าและบริการ ไม่สามารถเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในระดับสากล และไม่สามารถยกระดับรายได้ของประเทศไทย
การผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เป็นแนวทางหนึ่งในการลดปัญหาดังกล่าว เนื่องจากเศรษฐกิจสร้างสรรค์ส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการประยุต์วัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและบริการ สินค้าและบริการดังกล่าวจึงลอกเลียนแบบได้ยาก และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเฉพาะ กลุ่มการผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะเปิดโอกาสให้ประเทศไทยยกระดับความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก นอกจากนี้ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีวิสาหกิจชุมชนเป็นผู้เล่นอยู่จำนวนมาก จะช่วยส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่ต่าง ๆ สนับสนุนให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง มีการกระจายรายได้ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในที่สุด
ในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทย จังหวัดหนองคายมีความน่าสนใจในเนื่องจากจังหวัดหนองคายมีจุดเด่นด้านวัฒนธรรมบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงที่เป็นเอกลักษณ์ มีวิสาหกิจที่ผลิตสินค้าและบริการเชิงสร้างสรรค์จำนวนหนึ่งอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นสมาชิกของโครงการ OTOP นอกจากนี้ จังหวัดหนองคายยังเป็นจังหวัดชายแดน ซึ่งอยู่ตรงข้ามนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ทำให้มีโอกาสทำการค้ากับสปป.ลาว ได้ง่าย และยังได้รับประโยชน์จากนโยบายที่สนับสนุนการค้าอื่น ๆ เช่น นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ
การศึกษาแนวทางการพัฒนาภาคสินค้าเชิงสร้างสรรค์ในจังหวัดหนองคายนี้ ได้ประยุกต์ใช้แนวคิด "รอยยิ้มนวัตกรรม" (Stan Shih's Smiling Curve) ที่อธิบายกระบวนการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า 7 ขั้นตอนตลอดห่วงโซ่คุณค่า ได้แก่ การวิจัยและการพัฒนา การสร้างตราสินค้าการออกแบบผลิตภัณฑ์ การผลิต การกระจายสินค้า การประชาสัมพันธ์ และการส่งเสริมการขาย โดยแต่ละขั้นตอนส่งผลให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าเชิงสร้างสรรค์แตกต่างกันไปตามรูปรอยยิ้ม
ภาพที่ 1 : The Stan Shih's Smiling Curve
ที่มา : Shih, 1992
จากการศึกษากระบวนการสร้างสรรค์สินค้าของวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดหนองคายตามแนวคิดรอยยิ้มนวัตกรรมพบว่า ในด้านการวิจัยและการพัฒนา (R&D) มีวิสาหกิจเพียงร้อยละ 12 ของทั้งหมดที่มีการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและการพัฒนา นอกจากนี้ ความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตสินค้ามักมาจากวิสาหกิจชุมชนเองหรือประธานกลุ่มชุมชน แสดงให้เห็นว่าวิสาหกิจชุมชนโดยส่วนใหญ่ยังเข้าถึงแหล่งที่มาของความคิดสร้างสรรค์ที่จำกัด
ในด้านการสร้างตราสินค้า วิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 60) มีการออกแบบตราสินค้าของตนเอง แต่ไม่ได้จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ วิสาหกิจร้อยละ 60 ออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยตนเอง แต่การออกแบบดังกล่าวใช้เทคโนโลยีหรือซอฟต์แวร์ไม่มาก
ในด้านการผลิต วิสาหกิจชุมชนทุกแห่งดำเนินกระบวนการผลิตสินค้าสร้างสรรค์ด้วยตนเองทั้งหมด อย่างไรก็ตาม กระบวนการผลิตยังอาศัยแรงงานคนค่อนข้างมาก ทำให้มีข้อจำกัดในการเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าตามยอดการสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในบางช่วงเวลา
ในด้านการกระจายสินค้า วิสาหกิจชุมชนมีช่องทางการกระจายสินค้าที่หลากหลาย เช่น การออกหน้าร้านของตัวเอง (ร้อยละ 35.9) การออกบูธในงานแสดงสินค้า (ร้อยละ 22.8) การขายผ่านตัวแทนจำหน่าย (ร้อยละ 12.5) อย่างไรก็ตาม วิสาหกิจชุมชนยังไม่ได้ใช้ช่องทางออนไลน์เท่าที่ควร (ร้อยละ 9.8) ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการขยายฐานลูกค้าใหม่ นอกจากนี้ ช่องทางกระจายสินค้าแบบออฟไลน์ยังกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดหนองคายและจังหวัดใกล้เคียงเท่านั้น แต่ไม่ได้เข้าถึงกรุงเทพมหานครและต่างประเทศอย่าง สปป.ลาว
ในด้านประชาสัมพันธ์ วิสาหกิจชุมชนมีช่องทางในการประชาสัมพันธ์ที่หลากหลาย ได้แก่ ช่องทางออนไลน์ (เช่น Facebook) ประมาณร้อยละ 54.5 การใช้ป้าย (ร้อยละ 28.7) การใช้แผ่นพับ (ร้อยละ 24.8) และอื่น ๆ (ร้อยละ 57.5) อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้วางแผนการประชาสัมพันธ์ในภาพรวมนอกจากนี้ ในด้านการส่งเสริมการขาย วิสาหกิจชุมชนมีการส่งเสริมการขาย เช่น จัดโปรโมชัน "ลด แลก แจก แถม" เป็นบางครั้ง แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการบริการหลังการขาย
ในภาพรวมจึงสรุปได้ว่า วิสาหกิจชุมชนที่ผลิตสินค้าเชิงสร้างสรรค์ในจังหวัดหนองคายกำลังเผชิญ 4 อุปสรรคที่สำคัญ ได้แก่ 1) วิสาหกิจชุมชนโดยส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าถึงแหล่งที่มาของความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลาย เนื่องจากไม่มีการดำเนินการวิจัยและการพัฒนา 2 )วิสาหกิจชุมชนโดยส่วนใหญ่ยังไม่ได้ดำเนินกระบวนการสร้างสรรค์สินค้าครบถ้วนตามแนวคิดรอยยิ้มนวัตกรรม โดยเฉพาะในขั้นตอนการวิจัยและการพัฒนา (R&D) ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มสูง 3) วิสาหกิจชุมชนในจังหวัดหนองคายยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยสังเกตได้จากช่องทางการกระจายสินค้าที่กระจุกตัวอยู่ในเฉพาะจังหวัดหนองคายและจังหวัดใกล้เคียง รวมไปถึงสูญเสียโอกาสในการดำเนินห่วงโซ่คุณค่าข้ามแดนเช่นกัน และ 4) วิสาหกิจชุมชนยังไม่ได้พึ่งพาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่จะมาเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตหรือลดต้นทุนการผลิตได้ นอกจากนี้วิสาหกิจชุมชนยังไม่ได้รับการผลักดันให้จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบไอเดีย
เพื่อลดอุปสรรคของวิสาหกิจชุมชนดังกล่าว การศึกษาวิจัยนี้นำเสนอกรอบแนวคิดเชิงนโยบาย 4Cประกอบด้วย Creativity Coherence Connectivity และ Competitiveness เพื่อพัฒนาสินค้าเชิงสร้างสรรค์ในจังหวัดหนองคายใน 4 มิติ ได้แก่ การสร้างความคิดสร้างสรรค์ การเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าตามรอยยิ้มนวัตกรรม การเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ และการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน ดังนี้
ภาพที่ 2 : กรอบแนวคิดเชิงนโยบาย 4Cs
ที่มา : คณะผู้วิจัย
ด้านการสร้างความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดหนองคายร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดหนองคายควรสร้างแนวคิดวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อกำหนดเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดหนองคายให้ได้รับการถ่ายทอดลงในสินค้าและสร้างจุดขายเฉพาะที่แตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ
ด้านการสนับสนุนการเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่า (Coherence) สำนักงานพาณิชย์จังหวัดหนองคายควรจัดโครงการฝึกอบรมพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าแต่ละขั้นตอนให้วิสาหกิจสร้างสรรค์เปิดโอกาสให้วิสาหกิจสร้างสรรค์สร้างมูลค่าในสินค้าเชิงสร้างสรรค์ได้ในทุกขั้นตอนตั้งแต่ การวิจัยและการพัฒนา การออกแบบ การผลิต การกระจายสินค้า การตลาด และการส่งเสริมการขาย เกิดเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและสร้างรายได้ได้มาก
ด้านการสนับสนุนการเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ (Connectivity) สำนักงานพัฒนาชุมชนและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดหนองคายควรร่วมกันให้คำปรึกษาการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ตลาดต่างประเทศและการขายผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น Line@ Facebook และ Youtube รวมถึงการทำ Digital Marketing เพื่อให้วิสาหกิจที่ผลิตสินค้าเชิงสร้างสรรค์เข้าถึงตลาด สปป.ลาวได้มากขึ้น
ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) SME Bank จังหวัดหนองคาย ควรส่งเสริมการให้สินเชื่อแก่วิสาหกิจสินค้าเชิงสร้างสรรค์ที่ต้องการลงทุนในเทคโนโลยี เพื่อต้นทุนการผลิตหรือการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต นอกจากนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ควรสนับสนุนให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา
**หมายเหตุ: บทความนี้นำเนื้อหามาจากการวิจัยในโครงการพัฒนาเครือข่ายการค้าสินค้าเชิงสร้างสรรค์ในจังหวัดหนองคาย สนับสนุนโดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)
คณะผู้วิจัยประกอบด้วย ศ.ดร. พิริยะ ผลพิรุฬห์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ศ.ดร. ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ธีระวัฒน์ เจริญราษฎร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย อ.อัครนัย ขวัญอยู่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายกิตติศักดิ์ ศรีแจ่มดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)