แนะนำหนังสือ "ฟรีดริช ฮาเย็ก: ต้นธารความคิดเสรีภาพนิยมยุคใหม่"

4106 views

หลายๆ ท่านอาจจะรู้จักชื่อของ ฟรีดริช ฮาเย็ก (Friedrich Hayek) ในฐานะของนักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล หรือในฐานะคู่แข่งทางความคิดของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่อีกหนึ่งคนแห่งศตวรรษที่ 20 อย่างไรก็ตาม แนวคิดรวมไปถึงผลงานของฮาเย็กนั้นกลับไม่แพร่หลายนักทั้งในหมู่นักเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทย และนักเรียนสาขาวิชาสังคมศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดของฮาเย็ก อย่างเช่นรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่หนังสือ "ฟรีดริช ฮาเย็ก: ต้นธารความคิดเสรีภาพนิยมยุคใหม่" ได้ถูกตีพิมพ์ขึ้น เพราะอาจทำให้เราเข้าใจถึงแนวคิดของนักคิดผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยทำให้เห็นภาพรากฐานทางความคิดของฮาเย็กที่ส่งผลมาถึงปัจจุบันอีกด้วย

หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นด้วยการพาผู้อ่านไปรู้จักประวัติของฟรีดริช ฮาเย็ก ตั้งแต่แรกเริ่ม โดยเขาเป็นชาวออสเตรีย แต่ภายหลังอพยพลี้ภัยจากนาซีมาที่อังกฤษ ฮาเย็กนับได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้นำของเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรีย ที่เชื่อในเสรีภาพของปัจเจกชนอย่างสูง รวมไปถึงเชื่อในกลไกราคา และกลไกตลาด โดยหนังสือได้ฉายภาพฮาเย็กในฐานะนักคิดผู้ทรงอิทธิพลอย่างมากในช่วงศตวรรษที่ 20 โดยเขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมมองเปเรอแลง (Mont Pelerin Society) ที่มีนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล และนักคิดชื่อดังจำนวนมากเป็นสมาชิก นอกจากแนวคิดของฮาเย็กจะส่งผลต่อนักคิด และนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากแล้วยังมีอิทธิพลต่อนักการเมืองอย่างมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ซึ่งในภายหลัง แธตเชอร์ได้นำแนวคิดของฮาเย็กไปปฏิรูปเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรในช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

ในเนื้อหาถัดจากส่วนประวัติชีวิตนั้น หนังสือเล่มนี้ค่อยๆ พาเราไปสำรวจแนวคิดของฮาเย็กในมิติต่างๆ ผ่านการย่อยงานหลายๆ ชิ้นของฮาเย็กมาร้อยเรียงเป็นเรื่องต่อกัน ทั้งในเรื่องเชิงเศรษฐศาสตร์ อย่างเช่น เรื่องแนวคิดเกี่ยวกับกลไกตลาดและกลไกราคา รวมถึงเรื่องวัฏจักรรุ่งเรือง-ตกต่ำทางเศรษฐกิจ

แนวคิดเรื่องวัฏจักรเศรษฐกิจนี้เป็นแนวคิดสำคัญที่ฮาเย็กเห็นต่างไปจากเคนส์ เนื่องจากความเชื่อในเรื่องเสรีภาพของปัจเจกชนของฮาเย็ก จึงทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะขัดแย้งกับแนวคิดของเคนส์ที่ให้รัฐส่วนกลางเข้ามาจัดการเศรษฐกิจ กล่าวโดยง่ายก็คือ ในขณะที่ฮาเย็กมองว่า การที่เศรษฐกิจเกิดวัฏจักรที่รุ่งเรือง และตกต่ำสลับไปมานั้นเป็นผลมาจากการที่รัฐเข้ามาจัดการเศรษฐกิจ แต่เคนส์กลับมองตรงกันข้าม โดยเห็นว่า รัฐต่างหากที่เป็นตัวช่วยไม่ให้เศรษฐกิจตกต่ำ

ไม่ใช่เพียงแต่ขัดแย้งกับหลักการของเคนส์เท่านั้น แนวคิดของฮาเย็กยังขัดแย้งกับแนวคิดแบบสังคมนิยมอีกด้วย โดยเขามองว่า รัฐส่วนกลางไม่สามารถทราบความต้องการที่แท้จริงของปัจเจกบุคคลแต่ละคนได้ โดยหนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาอย่าง The Road to Serfdom ก็เป็นผลงานที่ถูกเขียนขึ้นเพื่อวิจารณ์ลัทธิสังคมนิยม นอกจากนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องทางเศรษฐศาสตร์หรือระบบเศรษฐกิจเท่านั้น แต่แนวคิดของฮาเย็กที่เชื่อในเสรีภาพของปัจเจกชนอย่างสูงยังส่งผลต่อแนวคิดในเรื่องอื่นๆ ของเขาด้วย ทั้งแนวคิดทางกฎหมาย และความยุติธรรมในสังคม

นอกจากประเด็นเรื่องเศรษฐศาสตร์ และกฎหมายแล้วนั้น หนังสือเล่มนี้ยังรวบรวมแนวคิดของฮาเย็กในเรื่องอื่นๆ มาประกอบอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นจิตวิทยา หรือแม้กระทั่งวิทยาศาสตร์ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ผู้เขียนอย่าง Eamonn Butler ได้รวบรวมความคิดแทบทุกด้านของฮาเย็กมาสรุปรวมไว้ในหนังสือ ทั้งนี้ ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ก็คือ ผู้เขียนยังได้รวบรวมข้อโต้แย้งแนวคิดของฮาเย็กในประเด็นต่างๆ ที่หนังสือพาไปสำรวจอีกด้วย ประโยชน์ของการนำข้อโต้แย้งมาไว้ในหนังสือก็คือทำให้ผู้อ่านได้เห็นมุมที่ปฏิปักษ์ต่อแนวคิดของบุคคลที่เป็นหลักในหนังสือ และกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามต่อแนวคิดของเขา โดยผู้เขียนหนังสือได้ลองจินตนาการว่า ถ้าเป็นฮาเย็ก เขาจะตอบข้อโต้แย้งเหล่านั้นว่าอย่างไรบ้าง ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจแนวคิดต่างๆ ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

หนังสือ "ฟรีดริช ฮาเย็ก: ต้นธารความคิดเสรีภาพยุคใหม่" เหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นประตูบานแรกเพื่อทำความรู้จักกับความคิดของนักคิดผู้ทรงอิทธิพลคนนี้ เนื่องจากได้รวบรวมแนวคิดต่างๆ มาได้อย่างครอบคลุม จึงสามารถเข้าถึงนักเรียนสังคมศาสตร์ได้หลากหลายแขนง มิใช่เพียงแค่นักเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์เท่านั้น อีกทั้งหนังสือยังใช้ภาษาที่ไม่ยากในการอธิบายกรอบความคิดต่างๆ ของฮาเย็ก ส่วนหนึ่งมาจากตัวผู้เขียนอย่าง Eamond Butler เอง แต่อีกส่วนสำคัญก็ต้องยกความดีความชอบให้แก่รองศาสตราจารย์ ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ที่แปลออกมาได้อย่างเข้าใจง่ายด้วยเช่นกัน

แม้ว่าชื่อหนังสือ และตัวละครหลักของหนังสืออาจจะไม่ดึงดูดใจผู้อ่านทั่วไปที่ไม่ได้มีความสนใจเกี่ยวข้องกับประวัติแนวคิด แต่หนังสือเล่มนี้มีประโยชน์ที่จะช่วยให้ผู้อ่านทำความเข้าใจถึงรากฐานทางความคิดจากศตวรรษที่ 20 ที่ได้ส่งผลมาสู่ปัจจุบัน โดยรากฐานแนวคิดของฮาเย็กหลายๆ อย่างเองก็อาจจะส่งผลต่อรากฐานทางความคิดของเราโดยที่เราไม่รู้ตัวมาก่อน ดังนั้น การทราบถึงรากฐานทางความคิดที่เป็นมาก็เป็นประโยชน์ที่จะทำให้เราได้สำรวจปัจจุบัน และอาจมองไปถึงอนาคตข้างหน้าเช่นเดียวกัน

หนังสือ: ฟรีดริช ฮาเย็ก: ต้นธารความคิดเสรีภาพนิยมยุคใหม่ แปลจากเรื่อง Friedrich Hayek: The Ideas and Influence of the Libertarian Economist

ผู้แต่ง: Eamonn Butler

ผู้แปล: พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

สำนักพิมพ์ bookscape,

ปีที่พิมพ์ 2564

สรงกรณ์ เตชวณิชย์พงศ์
ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ได้ชื่อจริงใหม่ๆตลอด เพราะไม่ค่อยมีใครอ่านถูก